ชำแหละมาตรการรัฐบาลแก้ฝุ่นพิษ PM 2.5 ทำแล้วดีขึ้นหรือไม่ แก้ตรงจุดตรงใจประชาชนหรือเปล่า ฤาต้องใช้ยาแรง เอาไม้แข็งมาจัดการปัญหา...
ในช่วงเวลานี้หากจะไม่พูดถึงเรื่อง PM 2.5 หรือฝุ่นละอองขนาดไม่เกิด 2.5 ไมครอน คงจะไม่ได้ เพราะมองเห็นด้วยตา แต่บางวันค่าก็สูงเสียเหลือเกิน แต่เพราะอะไรคนในพื้นที่ค่า PM 2.5 สูง คล้ายจะยังไม่ค่อยให้ความใส่ใจสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากาก N95 ป้องกันฝุ่นพิษมากเท่าที่ควร หลายคนตั้งหลายข้อสงสัยว่า รัฐบาลประชาสัมพันธ์ไม่มากพอ? รัฐบาลบอกว่าอย่าตื่นตระหนก? รัฐบาลไม่เป็นตัวอย่างสวมหน้ากากอนามัย? และอีกหลายๆ คำถามที่อยากถามไปยังรัฐบาลว่ากำลังทำอะไรอยู่ ทำไปแล้วแน่หรือ ทำไมฝุ่นยังอยู่ วันนี้ ไทยรัฐออนไลน์มีคำตอบจากฝ่ายรัฐบาลและประธานอนุกรรมาธิการพิจารณาแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองและมลพิษทางอากาศ ว่ามาตรการการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 นั้นมีอะไรบ้าง ทำแล้วดีขึ้นหรือไม่ ได้ผลจริงไหม แก้ตรงจุดตรงใจประชาชนหรือเปล่า
ล่าสุด สดๆ ร้อนๆ วงประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563 ซึ่งประชุมไปเมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2563 ที่มี บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานการประชุม ก็มีผลออกมาว่าคงจะไม่ได้ใช้ “ยาแรง” ในการแก้ปัญหาฝุ่นพิษตามมาตรการทั้ง 12 ที่ออกมาก่อนหน้า ซึ่งในเรื่องนี้ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เหตุผลว่า เพราะแต่ละวัน แต่ละพื้นที่ค่าฝุ่น PM 2.5 ไม่เท่ากัน การจะใช้ยาแรงในทุกพื้นที่คงจะทำไม่ได้ เพราะการบังคับใช้อะไรที่ตึงเกินไปจะทำให้เกิดความเดือดร้อน เกิดผลกระทบทางลบมากกว่าบวก แต่นายกรัฐมนตรีมีการกำชับให้เข้มงวดในเรื่องของกฎหมายมากยิ่งขึ้น พร้อมอ้างอิงการปฏิบัติเรื่องฝุ่น PM 2.5 ตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2562 ที่ผ่านมา ในแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ เรื่องการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง โดยแบ่งเป็น 3 มาตรการ ดังนี้
...
มาตรการที่ 1
เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ ควบคุมมลพิษในช่วงวิกฤติสถานการณ์ฝุ่นละออง เป็นการดำเนินงานในระยะเร่งด่วน เพื่อควบคุมพื้นที่ที่มีปัญหาฝุ่นละออง และพื้นที่เสี่ยงปัญหาฝุ่นละออง โดยแบ่งเป็น 4 ระดับดังนี้
ระดับที่ 1 PM 2.5 มีค่าไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หน่วยงานดำเนินภารกิจตามสภาวะปกติ
ระดับที่ 2 PM 2.5 มีค่าระหว่าง 51-75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หน่วยงานดำเนินมาตรการให้เข้มงวดขึ้น
ระดับที่ 3 PM 2.5 มีค่าระหว่าง 76-100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ โดยใช้อำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องควบคุมพื้นที่ ควบคุมแหล่งกำเนิดและกิจกรรมที่ทำให้เกิดมลพิษ
ระดับที่ 4 PM 2.5 มีค่ามากกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เสนอให้จัดการประชุมคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอมาตรการต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการ
มาตรการที่ 2
การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง หรือแหล่งกำเนิด โดยมีแนวทางการดำเนินงานทั้งในระยะสั้น (พ.ศ.2562–2564) และระยะยาว (พ.ศ.2565–2567) คือ ควบคุมและลดมลพิษจากยานพาหนะ, ควบคุมและลดมลพิษจากการเผาในที่โล่ง ภาคการเกษตร, ควบคุมและลดมลพิษจากการก่อสร้างและผังเมือง, ควบคุมและลดมลพิษจากอุตสาหกรรม และควบคุมและลดมลพิษจากภาคครัวเรือน
มาตรการที่ 3
การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ เป็นการพัฒนาระบบ เครื่องมือ กลไกการบริหารจัดการ การศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ ดำเนินงานทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเช่นเดียวกัน ดังนี้ 1.พัฒนาเครือข่ายการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศและให้ท้องถิ่นติดตามตรวจสอบในพื้นที่ของตนเอง 2.ทบทวน ปรับปรุงกฎหมาย มาตรฐาน แนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับสถานการณ์ 3.ส่งเสริมการวิจัย พัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการติดตามตรวจสอบ การตรวจวิเคราะห์ และนวัตกรรมเพื่อลดมลพิษทางอากาศ รวมถึงเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ และถ่ายทอดองค์ความรู้ 4.แก้ไขปัญหามลพิษข้ามแดน 5.จัดทำบัญชีการระบายมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิด 6.พัฒนาระบบฐานข้อมูลและระบบเฝ้าระวังที่เป็นหนึ่งเดียว และ 7.พัฒนาระบบคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละออง
ทั้งนี้ ปัจจุบันปัญหาฝุ่น PM 2.5 ส่วนใหญ่อยู่ในระดับที่ 2 คือ 51-75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด หรือหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในแต่ละท้องที่เป็นผู้ดำเนินการ พิจารณาจากสถานการณ์แต่ละวัน เรื่องนี้ต้องใช้เวลาในการแก้ไข พร้อมถอดบทเรียนมาดำเนินการต่อไป ส่วนที่เห็นได้ชัดว่าค่าฝุ่น PM 2.5 ลดลงจริงคือช่วงที่สั่งหยุดการเรียนการสอน และเหลื่อมเวลาการเข้าทำงาน แต่ก็ไม่ได้อยากใช้วิธีนี้ไปตลอดเพราะจะกระทบการศึกษาของนักเรียน นักศึกษา นอกจากนี้ยังมีทหาร เจ้าหน้าที่ และจิตอาสา ออกมาฉีดน้ำทำความสะอาดฝุ่น PM 2.5 ที่ตกค้างตามต้นไม้หรือพื้นผิวถนนด้วย โดยโฆษกรัฐบาลฝากทิ้งท้ายไว้ว่า สุดท้ายแล้วการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ขอย้ำว่ารัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก และมีการติดตั้งเครื่องวัดคุณภาพอากาศใน 54 สถานีในกรุงเทพมหานคร รวมถึงแจ้งเตือนมาโดยตลอดของรัฐบาลและกรมควบคุมมลพิษ เพื่อให้ประชาชนรู้ล่วงหน้าเพื่อรับมือฝุ่นพิษและหาทางป้องกันรักษาสุขภาพตนเอง
ทางด้าน นายนิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการพิจารณาแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองและมลพิษทางอากาศ เห็นด้วยกับมาตรการของรัฐบาลที่จะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุและระยะยาว แต่มองว่าปัญหาที่แท้จริงนั้นคือ นายกรัฐมนตรีไม่จริงจังจริงใจในการแก้ปัญหา ถ้ายังบอกว่าแข็งแรงไม่เป็นไร แล้วคนที่อยู่ปลายแถวหรือผู้ปฏิบัติจะจริงจังได้อย่างไร การบริหารของรัฐบาลไม่มีความจริงจังในเรื่องสิ่งแวดล้อม เดินไม่ถูกจุด พร้อมแบ่งต้นเหตุของการเกิดฝุ่นพิษออกเป็น 2 ทาง คือ ควบคุมได้ อาทิ อุตสาหกรรม การคมนาคม การเกษตร การชิงเผา ส่วนที่ควบคุมไม่ได้ คือ สภาพดินฟ้าอากาศ
เรื่องการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เป็นสิ่งที่ควบคุมได้ สาเหตุหลักอย่างเช่น การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ก็ต้องใช้ไม้แข็งบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ส่วนการจราจร รัฐบาลก็ต้องทำให้การคมนาคมประชาชนสะดวกและเข้าถึงการใช้บริการรถสาธารณะ พร้อมตั้งคำถามไปยังรัฐบาลว่า โครงการที่ทำมาสามารถเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะได้จริงหรือไม่ แม้กระทั่งค่าโดยสารรถไฟฟ้ายังมีราคาสูงกว่าบางประเทศ หากทำในส่วนนี้ได้เชื่อว่าฝุ่นพิษจะลดลงอย่างแน่นอน
ในส่วนของสภาพดินฟ้าอากาศ เป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ แต่เราสามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งในเขตป่าและเขตเมืองเพื่อให้ดีขึ้นได้ ปลูกต้นไม้ผนวกกับวัฒนธรรมของคนในชุมชนหรือท้องถิ่นนั้นๆ ให้คนในชุมชนช่วยกันดูแลหวงแหน นอกจากช่วยดักจับฝุ่นได้แล้ว การท่องเที่ยวก็จะมาตามมาด้วย ทำให้ได้ประโยชน์พร้อมกันหลายทาง พร้อมกันนี้ ยังได้ยกตัวอย่างแนวคิดเรื่องการ "ชิงเผา" ด้วยว่า โดยปกติในช่วงอากาศแห้ง ใบไม้ในป่าร่วงหล่นทับถม มันจะใช้การทำแนวกันไฟแล้วเผาใบไม้เหล่านี้ แต่อยากให้เป็นความคิดเสียใหม่เป็นการ "ชิงเก็บ" โดยการจ้างคนในชุมชนมาเก็บใบไม้เหล่านี้ทำไปอัดแท่งทำถ่านส่งโรงงานใหญ่ๆ หากพื้นที่เหล่านี้มีโรงงานเล็กๆ ในการผลิตถ่านจากใบไม้เหล่านี้ก็จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับคนในพื้นที่และลดมลภาวะจากการเผาไปพร้อมๆ กัน
ในช่วงท้าย ประธานอนุกรรมาธิการพิจารณาแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองและมลพิษทางอากาศ ได้ฝากถึงนักการเมืองทุกพรรคด้วยว่า อยากให้ร่วมมือกันแก้ปัญหา เพราะต้องเกิดจากทุกภาคส่วน พรรคอนาคตใหม่ทำเพียงพรรคเดียวไม่ได้ ต้องเห็นพ้องและลงมือร่วมกันเพื่อประเทศของเราและแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน.