ต้องเข้าใจว่าสังคมไทยหลับตาข้างหนึ่งมานานแล้ว ถ้าถามว่าธุรกิจอาบอบนวดในอนาคตจะเป็นอย่างไร ถึงเวลาล่มสลาย หรือไม่มีวันตาย มุมมองจากปากผู้เคยคลุกคลีในวงการนี้มาอย่างโชกโชน “ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์”

อาบอบนวด” ธุรกิจไม่มีวันตาย? บางแห่งเติบโต หลายแห่งไปต่อไม่ไหว แต่ก็ยังมีหลายแห่งเกิดใหม่ จากอดีตจนถึงปัจุบันเป็นมาอย่างไร อนาคตจะไปต่อในทิศทางไหน ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ ขอให้ ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตหัวหน้าพรรครักประเทศไทย ผู้ถูกขนานนามว่า "กูรู" ทั้งเคยคลุกคลีในวงการนี้เป็นเวลากว่า 10 ปี เป็นคนไขคำตอบ ชูวิทย์ กล่าวว่า อาบอบนวดเป็นธุรกิจสีเทา และต้องเข้าใจว่าสังคมไทยหลับตาข้างหนึ่งมานานแล้ว หลายที่ถึงจะติดป้ายไว้ว่าห้ามค้าประเวณี แต่ก็รู้ว่าเขาทำอะไรกัน

จุดเริ่มแรกของธุรกิจอาบอบนวด มาพร้อมกับทหารจีไอ (Government Issue - G.I.) ทหารอเมริกันที่ส่งไปรบที่เวียดนาม เข้ามาพักที่ประเทศไทย ช่วงแรกๆ ธุรกิจมีมากที่ถนนเพชรบุรี ช่วงนั้นจะเห็นอาบอบนวดเต็มไปหมด ก่อนจะขยายไปในพื้นที่อื่น อีกทั้งช่วงหนึ่งมีกฎหมายโซนนิ่ง สถานบริการเหล่านี้จะจัดอยู่ในย่าน อาทิ รัชดา พัฒน์พงษ์ อาร์ซีเอ (RCA) ไม่เพียงเท่านั้น อาบอบนวดถือเป็นธุรกิจที่เป็นโมโนโพลีที่ต้องมีใบอนุญาตห้องในการทำธุรกิจ แต่ถ้าไปตรวจไม่มีทางที่จะมีใบอนุญาตตามจำนวนห้อง บางที่ก็ใช้วิธีการทำเป็นห้องสูท ซึ่งใน 1 ห้องสูท อาจจะห้องย่อยอยู่ด้านในอีก 5 ห้อง ถ้ามีใบอนุญาต 10 ห้อง ก็ได้ 50 ห้องย่อยแล้ว

...

ส่วนช่องโหว่กฎหมายนั้น อาบอบนวด หากสร้างในโซนนิ่ง เมื่อขออนุญาตแล้วเปิดได้เลย เรื่องใบอนุญาตต่างๆ ลืมไปเลย ชูวิทย์ บอกด้วยว่า หลายปีก่อนยังเคยมีการเปิดอาบอบนวดอยู่ใกล้บริเวณโรงเรียนด้วย ทั้งที่ตามกฎหมายกำหนดว่าห้ามใกล้วัด โรงเรียน สถานพยาบาล แต่ก็ยก พ.ร.บ.สถานบริการ มาเป็นวิธีแก้ โดยใช้พยานข้างเคียง 2 คน มารับรองว่าไม่ได้สร้างความรำคาญรบกวนแค่นั้นเอง

อนาคต “อาบอบนวด” ล่มสลาย?

ถ้าถามว่าธุรกิจอาบอบนวดในอนาคตจะเป็นอย่างไร ชูวิทย์ บอกว่า “ถึงเวลาล่มสลายของอาบอบนวด” เหตุผลก็เพราะการมีเทคโนโลยีเข้ามามากขึ้น (โทรศัพท์มือถือ-อินเทอร์เน็ต) ผู้ใช้บริการไม่ต้องไปถึงสถานบริการให้เสี่ยงเจอคนรู้จัก อาบอบนวดสมัยนี้แตกต่างจากสมัยของตนในอดีตมาก เปรียบได้กับฟาสต์ฟู้ด ไม่ต้องเสียเวลา ไปนัดเจอกันผ่านช่องทางต่างๆ ทางโซเชียลได้ง่าย และเด็กสมัยใหม่คงไม่มีใครอยากไปนั่งในอาบอบนวด และบางที่ถึงแม้จะไม่ได้เรียกอาบอบนวด แต่มีบริการทางเพศแฝงอยู่ ขณะที่ในส่วนของผู้ใช้บริการ หากเป็นผู้มีชื่อเสียง หรือเป็นคนใหญ่คนโต ก็แน่นอนไม่อยากให้รู้ เกิดไปในอาบอบนวด แล้วเกิดมีคนจำได้ หรือแอบถ่ายรูปไว้ ก็มีอันจบเห่ 

“ปากบอกว่าค้าประเวณีเป็นเรื่องผิด แต่ที่ผู้ชายเข้าไปยืนชี้เลือกคน เขาขึ้นไปทำอะไร ถามว่าใช่การค้ามนุษย์หรือไม่ มันใช่ ทุกประเทศมีหมด แต่เขาไม่ได้ทำให้ใหญ่โตเหมือนไทย แถมเป็นที่ฟอกเงิน จะตรวจสอบเส้นทางการเงินก็ตรวจสอบได้ไม่ยาก แต่เราไม่ได้เอาจริงเอาจังกับเรื่องพวกนี้ ผลประโยชน์มันมีอยู่แล้ว สังคมไทยธุรกิจสีเทามากกว่า 50% สมัยตอนผมเป็น ส.ส. เคยเสนอว่า คนที่ทำงานในสถานบริการต้องถูกสอบประวัติหมด แต่ตำรวจก็บอกว่ามีการสอบอยู่แล้ว ซึ่งการสอบของตำรวจคือปั๊มนิ้วอย่างเดียว ไม่มีการตรวจสารเสพติด บอกเลยว่า มากกว่า 50% ฉี่ม่วง”

ในยุคสมัยนี้การสื่อสารง่ายมาก สมมติ ไปเที่ยวสถานบริการ ถามว่าไปเพราะสถานที่หรือเพราะพนักงาน ก็ต้องเพราะพนักงาน พอชอบแล้วก็ขอทางติดต่อ มันไม่ต้องไปถึงสถานที่เหมือนแต่ก่อนแล้ว ทำให้การย้ายของพนักงาน และการรับรู้ของแขกรวดเร็วขึ้น ส่วนตัวคิดว่าคนไทยในระดับล่างก็ไม่อยากทำงานแบบนี้แล้ว กลายเป็นต่างด้าวเสียส่วนมาก คนไทยอยากเป็นไซด์ไลน์ งานเอนเตอร์เทน วีไอพี

อีกเรื่องที่สำคัญคือ พัฒนาการอายุ ซึ่งตามกฎหมายคนที่จะทำงานอาบอบนวด ต้องอายุ 20 ปีขึ้นไป และเมื่อทำแล้วก็ต้องรีบหาทางเก็บเงิน บางคน 1 ปีเงินเก็บเป็นล้านก็มี แต่จากนั้นก็มีคลื่นลูกหลังมา ทำให้อยู่ในวงจรอาบอบนวดได้ไม่นาน ต้องออกไปอยู่ในส่วนอื่นๆ เช่น เอเจนซี่ เพราะเงินไม่พอใช้และทางนี้เป็นทางลัด และธุรกิจลักษณะนี้ไม่มีวันตาย ต่างจากอาบอบนวดที่บางแห่งต้องลงทุนเป็น 100 ล้านบาท กว่าจะคืนทุนอาจต้องใช้เวลาประมาณ 4-5 ปี.

อ่านเพิ่มเติม รายงานพิเศษ "ขายตัว แต่ไม่ขายใจ"