อาชีพหญิงบริการ ให้ความสุขกับผู้ชายเพื่อแลกกับเงินทอง จะมีใครรู้บ้างถึงเบื้องลึก ความรู้สึกจิตใจของหญิงสาวเหล่านั้นที่หลายคนสุดแสนเจ็บปวด มีหลายๆ เหตุผลต้องยอมขายตัวแต่ไม่ขายใจ เพื่อให้คนในครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แม้โดนสังคมตราหน้าเหยียดหยามศักดิ์ศรีว่าเป็น 'โสเภณี' ก็ตาม

หรือใครจะมองในลักษณะไม่ดีอย่างไร พวกเธอก็เป็นมนุษย์มีเลือดเนื้อและหัวใจ ไม่ใช่อาชญากร บ่อยครั้งมักถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐละเมิดสิทธิมองข้ามความเป็นคน ด้วยการล่อซื้อ ไม่ได้รับการปกป้องนำไปสู่การจับกุมในคดีค้าประเวณี และเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ถูกมองข้ามในเรื่องสิทธิ ไม่ได้รับการคุ้มครองแรงงาน เฉกเช่นเดียวกับคนในอาชีพอื่นๆ

“ทันตา เลาวิลวัณยกุล” ผู้ประสานงานมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนส่งเสริมโอกาสให้ผู้หญิงที่ทำงานในสถานบริการ ได้รับสิทธิเท่าเทียมกับคนทั่วไปในสังคม พูดคุยกับ ”ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์” ว่า การค้าประเวณีในไทยเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เนื่องจากมี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี 2539 ซึ่งหากใครทำอาชีพนี้หากไม่ถูกจับก็แล้วไป โดยที่ผ่านมาหญิงสาวหลายคนถูกเจ้าของสถานบริการกดขี่มาตลอด ไม่ได้รับการคุ้มครองแรงงาน ทำให้ถูกเอาเปรียบ ถูกบีบบังคับให้ไปกับลูกค้า

...

“ปัจจุบัน หญิงบริการ ต้องจ่ายค่าสถานที่ให้สถานบริการวันละ 300-500 บาท หลายคนถูกเอาเปรียบ ต้องทำเป้าดริ้งค์เยอะๆ ทำให้ต้องดื่มเหล้าเยอะ หากทำแก้วแตกก็ถูกหักเงิน ห้ามหยุด หากหยุดต้องโดนปรับเงิน 1-2 พันบาทต่อวัน ทำให้หญิงบริการในยุคนี้ออกมาทำเองอย่างอิสระในโซเชียล เพราะไม่อยากโดนบังคับ เอารัดเอาเปรียบ แม้จะดูเสี่ยงกว่าในการถูกจับก็ตาม เพราะไทยมี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี เป็นตัวก่อปัญหาที่สังคมไม่เข้าใจ ทำให้หญิงบริการถูกแสวงหาประโยชน์ เกิดการคอร์รัปชัน ค้ามนุษย์ และความรุนแรงต่างๆ ตามมา ไม่สามารถออกจากอาชีพนี้ได้ เพราะการค้าประเวณี เป็นความผิดอาญา มีการทำทะเบียนประวัติ ทำให้ไม่สามารถทำอาชีพอื่นได้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่มีระบบการฝึกอบรมให้เข้ากับยุคสมัย จึงไปไหนไม่ได้”

จากข้อมูลของเอ็มพาวเวอร์ พบว่า หญิงบริการกว่า 80% เป็นแม่มีลูกต้องเลี้ยงดู และเป็นเสาหลักต้องดูแลคนในครอบครัว หากมีสวัสดิการที่ดีและมีเงินที่สามารถดำรงชีพได้จริงๆ ก็จะสามารถดูแลลูกและคนในครอบครัวได้ แต่บางคนไม่มีหนทาง จึงจำเป็นต้องเข้ามาทำงานในอาชีพนี้ แม้รัฐบาลพยายามคิดนโยบายทำให้ดีขึ้น แต่ควรดูความเป็นจริงที่เกิดขึ้น อีกอย่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ใช้มานานกว่า 20 ปี ไม่เกิดประโยชน์อะไร หรือหากหายไป บอกเลยว่าไม่มีผลกระทบใดๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากปัจจุบันมี พ.ร.บ.ต่างๆ หลายฉบับ เช่น ป้องกันค้ามนุษย์ คุ้มครองเด็กเยาวชน เพราะฉะนั้น พ.ร.บ.ตัวนี้จึงไม่มีความจำเป็น หรือหากยกเลิก พ.ร.บ.ก็เกรงกันว่าจะนำ พ.ร.บ.ตัวอื่นเข้ามาแทนที่

พร้อมยังแฉว่าปัจจุบันมีสถานบริการจ่ายส่วยให้กับเจ้าหน้าที่ ทำให้หญิงบริการต้องทำงานในสถานที่นั้น เนื่องจากรู้สึกว่าปลอดภัยกว่า ไม่เสี่ยงถูกจับ จึงยอมให้ถูกเอาเปรียบกดดันต่อไป ซึ่งความจริงแล้วหญิงบริการทุกคนอยากอยู่ภายใต้กฎหมายแรงงาน สามารถมีอำนาจต่อรอง ไม่ถูกเอาเปรียบจากสถานบริการ ส่วนแนวคิดของรัฐบาลที่ผ่านมา เสนอให้จัดโซนนิ่ง และนำไปสู่การจดทะเบียนหญิงบริการนั้น มองว่าต้องมีการพิมพ์ลายนิ้วมือ ซึ่งไม่ต่างจากอาชญากร โดยที่ผ่านมาไทยมีความพยายามจะจดทะเบียนหญิงบริการเหมือนอย่างเยอรมนีหรือสิงคโปร์ แต่มีคนเห็นด้วยเพียงแค่ 1 ใน 5 เท่านั้น เพราะเกรงว่าจะก่อให้เกิดการคอร์รัปชันอีกรูปแบบหนึ่ง หากมีการจดทะเบียนหญิงบริการ อาจมีการยัดเงินเจ้าหน้าที่ให้เคลียร์ประวัติ

นอกจากนี้ การจดทะเบียนจะต้องอยู่ในพื้นที่นั้นๆ ทั้งๆ ที่คนพวกนี้มีข้อจำกัด กลายมาเป็นถูกกดดัน ถามว่าทำไมหญิงสาวยังมาทำอาชีพนี้ ก็ต้องบอกว่าเพราะความเหลื่อมล้ำ ต้องการยกสถานะเพิ่มค่าครองชีพ เพื่อดูแลลูกๆ และเพื่อความมั่นคงในชีวิต ต้องการมีบ้าน แต่ที่ผ่านมาไม่มีศักยภาพเพียงพอ อาจปฏิเสธไม่ได้ที่มีคนเข้ามาทำไซด์ไลน์มากขึ้น มีบางคนจบปริญญาตรี เพราะปัจจุบันค่าครองชีพสูง กลายเป็นความสมัครใจเดินมาที่ร้าน ไม่มีคนบังคับหรือหลอกลวงมาทำอย่างในอดีต

“บางคนรู้ว่าทำอะไร และถูกเอาเปรียบ แต่ต้องทำ ไม่ใช่ไม่รู้ อีกอย่างผู้หญิงในสังคมไทยเติบโตมากับการสั่งสอนไม่ให้ยุ่งกับเรื่องเพศ ถูกคาดหวังต้องทำงานดีๆ แต่ทำไมต้องมีกฎหมายกำหนดว่าใครจะมีอะไรกับใครแลกเปลี่ยนด้วยเงิน ถูกมองเป็นเรื่องผิดไปหมด อยากให้ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี เพราะเปิดทางให้เจ้าหน้าที่ล่อซื้อ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา นำไปสู่การละเมิดสิทธิ ทำให้สังคมตีตราคนที่ทำงานในสถานบริการเป็นคนไม่ดี และเป็นคนที่ทำงานผิดกฎหมาย” ทันตา กล่าวในที่สุด

...

ขณะที่ "ศิริศักดิ์ ไชยเทศ" นักกิจกรรมอิสระเรื่องสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ผู้ชายไทยถูกวางภาพลักษณ์ต้องเป็นใหญ่ในครอบครัว หากไปขายตัวจะทำให้ศักดิ์ศรีหายไป ตรงข้ามกับเกย์และกะเทย ถูกเลือกปฏิบัติ ถูกมองคุณค่าความเป็นมนุษย์ว่าต้องขายตัว หากโตขึ้นมาจะแรด ขายตัวและเป็นเอดส์ตาย อย่างในพื้นที่เชียงใหม่และพัทยา พบว่าเจ้าหน้าที่จะจับแต่กะเทย แต่ผู้หญิงไม่จับ เพราะถูกตีตราว่าต้องขายตัว ไม่ต้องล่อซื้อ ทั้งๆ ที่องค์ประกอบการค้าประเวณียังไม่เกิด แค่ไปยืนในพื้นที่สาธารณะก็โดนจับ

ทั้งนี้มองว่า พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ไม่มีประโยชน์ หากมีคุณค่าจริงก็คงไม่คนทำอาชีพขายบริการ หรือแฝงค้าประเวณีในร้านคาราโอเกะ จึงถามว่าที่มีคนขายตัวอยู่ทุกวันนี้เพราะอะไร และมองว่า พ.ร.บ.นี้ได้ก่อให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์จากการปรับคนทำอาชีพขายบริการ ครั้งละ 100 บาท หรือ 500 บาทในแต่ละวัน โดยไม่มีใบเสร็จ ซึ่งคนเหล่านี้ต้องยอมจ่ายให้เจ้าหน้าที่เพื่อแลกกับการปล่อยตัว

“เจ้าหน้าที่รัฐหาประโยชน์กับคนเหล่านี้ อย่างในเชียงใหม่ มีกะเทยขายบริการไม่ถึง 20 คน แทบจำหน้ากันได้เลย บางคนไม่ได้ขายตัว แค่ออกมายืนข้างทางก็โดนจับ หรือในพัทยา มีการขอความร่วมมือลงทะเบียนประวัติอาชญากรเฉพาะกะเทย ประมาณ 200 กว่าคน และก่อนหน้านั้นมีการกวาดล้าง ถ่ายรูปกะเทย ถือเป็นการละเมิดสิทธิ อารมณ์เหมือนจัดการเด็กที่ไม่ดี เฉพาะกะเทยเท่านั้น ถามทำเพื่ออะไร ทำไมต้องเฉพาะกะเทย จึงอยากให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับหญิงบริการ และคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน ไม่ใช่เลือกปฏิบัติ ถูกมองเป็นพลเมืองชั้น 2 ขนาดไปซื้อของ ซื้อก๋วยเตี๋ยว ก็ถูกจับ โดยไม่ถามอะไร ถูกมองว่าขายตัวไปหมด”

...

พร้อมเสนอให้ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี และให้คุ้มครองแรงงานคนทำอาชีพบริการแบบลูกจ้างกับนายจ้าง ทั้งๆ ที่มีการตอกบัตรเหมือนพนักงานปกติ รวมถึงต้องมีสวัสดิการและมีความปลอดภัยขณะทำงานในร้าน เช่น ต้องไม่ถูกบังคับให้กินเหล้าทุกวัน หรือหากไม่จิกตาใส่ลูกค้า น้ำหนักตัวขึ้น ก็จะโดนปรับ หรือผู้ชายต้องไม่ถูกบังคับให้กินไวอากร้า ซึ่งหากเกิดผลกระทบต่อสุขภาพทางร้านต้องรับผิดชอบ แต่ที่ผ่านมาไม่สามารถทำได้ ถูกมองว่าไม่เป็นแรงงาน ไม่สามารถเรียกร้องใดๆ ได้ เหมือนนักแสดงอิสระ ไม่ได้รับการคุ้มครอง

อ่านเพิ่มเติม รายงานพิเศษ "ขายตัว แต่ไม่ขายใจ"

...