“ผมก็ปล่อยข่าวไป เรื่องนี้เป็นเรื่องลับ จะให้สำเร็จก็ต้องลวงก่อน”

นี่คือวลีเด็ด ของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตผู้บัญชาการทหารบก และในฐานะอดีตหัวหน้า “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข” หรือ เรียกง่ายๆ สั้นว่า “คปค.” หลังทำการ รัฐประหาร วันที่ 19 กันยายน 2549

ย้อนกลับมามอง ประเทศไทย ถูกจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่เกิด “รัฐประหาร” ติดอันดับโลก

แน่นอน..การรัฐประหารที่เกิดขึ้น เป็นการสะท้อน “การเมือง” ในช่วงแต่ละยุคแต่ละสมัย

ทุกๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ถือเป็น “ประวัติศาสตร์” ซึ่ง “หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” เอง อยู่คู่กับบ้านเมืองไทยมายาวนาน เปรียบเสมือนสถาบันอันเก่าแก่ ที่คอยบันทึกเรื่องราวเหตุบ้านการเมืองที่เกิดขึ้นไว้ทั้งหมด

“ธงชัย ณ นคร” บรรณาธิการข่าวหน้า 1 นสพ.ไทยรัฐ โดยทำงานมานาน 44 ปี ซึ่งผ่านการรัฐประหารมาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่รัฐประหารปี 2519 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่สลดที่สุดในชีวิต จากนั้นก็มีเหตุการรัฐประหารเกิดขึ้นอีก 4 ครั้ง

...

ทุกๆ รัฐประหาร ต้องถูกวางแผน จุดสุกงอม “ทหาร” ล้ม “ทักษิณ”

สำหรับ เบื้องหลังหน้า 1 ในประวัติศาสตร์การเมือง เหตุรัฐประหารปี 2549 บรรณาธิการข่าวหน้า 1 ไทยรัฐออนไลน์ ได้รำลึกถึงเหตุการณ์นั้นวันนั้นว่า...

ในการรัฐประหารทุกๆ ครั้งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะผ่านการไตร่ตรองมาก่อนทั้งสิ้น หากเราอ่านประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ 2475 เราก็จะเห็นการวางแผนที่ซับซ้อนมากมาย

“แต่หากเราดูภาพรวมของการรัฐประหารสำหรับเมืองไทยแล้ว เราจะเห็นว่ามีการเสียเลือดเนื้ออยู่ไม่กี่ครั้ง เพราะผู้ที่จะทำการรัฐประหาร จะมีความมั่นใจในอำนาจ พละกำลัง และอาวุธ และพร้อมที่จะบล็อกคนที่จะต่อต้านไว้ได้ล่วงหน้า”

บรรณาธิการอาวุโส หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ย้อนเหตุก่อนจะมีรถถังบุกว่า การรัฐประหาร ปี 2549 เริ่มต้นจาก รัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร ได้บริหารประเทศมา 5 ปี จากนั้นเริ่มมีการปรากฏร่องรอยความไม่พอใจของผู้คน มีการตั้งข้อสังเกตด้านการใช้อำนาจมากเกินควร โดยเฉพาะเสียง ส.ส.ในสภา ซึ่งได้รับการชนะการเลือกตั้งอย่างท้วมท้น ทำให้มีเสียงมาก จนถูกกล่าวหาว่าเป็น “เผด็จการรัฐสภา” มีคำกล่าวที่เคลือบแคลงเหมือนเป็นการแบ่งแยกประชาชนว่า “หากที่ไหนไม่เลือก ก็จะไม่ให้งบประมาณไปดูแลประเทศ” และยังมีปัญหาอื่นๆ อีก จนกลายเป็นการ “สะสมความไม่พอใจ” จนมีการต่อต้านรัฐบาล เป็นที่มาของกลุ่ม “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” จนมีเหตุรุนแรง

ตรงนี้เอง “ทหาร” ก็มองอยู่.. จังหวะนี้เอง ที่ นายกฯ ทักษิณ กำลังเดินทางไปประชุมกับสหประชาชาติ ที่นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เรียกว่าเป็น “ฤกษ์งามยามดี” การรัฐประหารที่นายกรัฐมนตรีไม่อยู่ในประเทศมันทำให้ง่ายขึ้น แต่ถ้ากลับกัน หากอยู่ในประเทศ ก็อาจจะถูกควบคุมตัว..

ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ก่อนที่จะรัฐประหาร เรานักข่าวก็เริ่มได้กลิ่นมาก่อน...

กลิ่นรัฐประหารโชย ก่อนหลายวัน กระทั่งเป็นจริง กับที่มาปฏิบัติการ “ลับ ลวง พราง”

ด้วยประสบการณ์ทำงานหนังสือพิมพ์มายาวนาน ชีวิตพบพานการรัฐประหารมาถึง 4 ครั้ง เมื่อถึงครานี้ จึงได้กลิ่นล่วงหน้าว่า “มาแน่ๆ” นายธงชัย เล่าต่อว่า เมื่อได้กลิ่นแล้ว จึงส่งนักข่าวไปหาข่าว หันไปถามใคร ก็บอกว่า “ไม่มีๆ”

“เราได้กลิ่นการรัฐประหารก่อนที่จะเกิดเหตุหลายวัน โดยเฉพาะวันที่ 19 กันยายน ในช่วงเช้า ภายในทำเนียบรัฐบาล นักข่าวพยายามติดต่อสัมภาษณ์กันวุ่นวาย”

ช่วงบ่ายถึงเย็นวันนั้น ข่าวลือการรัฐประหารเริ่มหนาหู..

ช่วงพลบค่ำ ทหารเริ่มเคลื่อนกำลังซึ่งก็มีการให้ข่าวว่า นำกำลังมาดูแลม็อบ (ตอนนั้นมีม็อบพันธมิตรฯ)

สักพัก...สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เริ่มยุติรายการปกติ เปิดเพลงปลุกใจต่างๆ เช่น “หนักแผ่นดิน”

“ตัวผมเอง เห็นแบบนี้ก็เริ่มมั่นใจล่ะ เดี๋ยวสักพักต้องมี “แตน แต่น แต๊น” แน่ๆ (ยิ้ม..)

กระทั่งเวลา 5 ทุ่ม มีการยืนยันปฏิบัติการครั้งนี้ โดยมีการแถลงข่าว นำโดย พล.อ.สนธิ

เบื้องหลังปฏิบัติการ กับที่มา วลี “ลับ ลวง พราง”

จริงๆ การยึดอำนาจครั้งนี้ ก็ไม่ได้ทำได้โดยเบ็ดเสร็จ เพราะระว่างคืนนั้น มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย เมื่อมองย้อนกลับไป บางเรื่องก็ดูสนุก แต่บางเรื่องก็พาให้เครียด นายธงชัย ได้เล่าเบื้องหลังการทำงานในวันนั้นให้ฟังว่า การจะทำรัฐประหารแต่ละครั้ง ผู้ทำต้องมั่นใจว่าชนะแน่ๆ แต่ครั้งนี้คู่ต่อสู้เองก็ไม่ยอม โดยในระหว่างที่ทหารกำลังเดินทางไปยึดสถานีโทรทัศน์ ก็เกิดเหตุไม่คาดคิดขึ้น

ในเมื่อนักข่าวยังได้กลิ่นรับรู้ มีหรือนักการเมืองมีหรือจะไม่รู้ นายธงชัย เล่าว่า “คุณทักษิณเขาก็รู้นะ แต่เขาก็ว่าไปตามเกม”

ซึ่งก็มีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้น เมื่อคุณทักษิณ ได้มีการประกาศ ปลด “พล.อ.สนธิ” โดยประกาศจากนิวยอร์ก โดยสั่งย้ายไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

โดยมีการประกาศผ่านช่อง 9 อสมท ซึ่งตอนนั้นเป็น นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ เป็น ผอ.อสมท ซึ่งตอนนั้นสัญญาณออกอากาศแบบ “ขาดๆ หายๆ”

สาเหตุที่ ช่อง 9 ออกอากาศ คำแถลงจากนายทักษิณ ได้เพราะ “ทหาร” ที่ได้รับคำสั่งให้ไปควบคุมช่อง 9 ดันเป็นทหารต่างจังหวัด ไม่คุ้นเคยเส้นทางในกรุงเทพฯ เขาหาสถานีช่อง 9 ไม่เจอ อย่างไรก็ดี เขาก็สามารถตามมาบล็อกได้ในเวลาต่อมา..

หลังเวลา 5 ทุ่ม เมื่อทาง คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ คมช. ควบคุมสถานการณ์ไว้ทั้งหมด ซึ่งมีการพูดคุยกันเองว่า “อย่าสู้เลย” เพราะยึดอำนาจไว้หมดแล้ว คนของคุณทักษิณ ถึงยอม ซึ่งหลังจากนั้น คุณทักษิณ ก็ไปอยู่อังกฤษ จากนั้นก็ร่อนเร่พเนจรไปเรื่อยๆ แม้ในช่วงเวลาหนี่ง พรรคการเมืองของตัวเองจะชนะการเลือกตั้ง มีโอกาสกลับเมืองไทยมาได้ แล้วสุดท้ายก็ต้องกลับออกไปอีก

สำหรับที่มาของวลี “ลับ ลวง พราง” นายธงชัย อธิบายว่า คำๆ นี้มาจาก การให้สัมภาษณ์คุณสนธิ หลังรัฐประหาร โดยนักข่าวพยายามถามว่าท่านวางแผนรัฐประหารนานไหม... ท่านก็ตอบว่า “ผมก็ปล่อยข่าวไป เรื่องนี้เป็นเรื่องลับ จะให้สำเร็จก็ต้องลวงก่อน”

ซึ่งตามแผนที่วางไว้ คือ จะทำการรัฐประหารในวันที่ 21 กันยายน โดย คุณทักษิณ มีกำหนดกลับไทยในวันที่ 22 กันยายน พอทางนั้นรู้ข่าว คุณทักษิณ จึงเปลี่ยนเที่ยวบิน จะกลับมาก่อน แต่ทางนี้จึงต้องชิงลงมือก่อน จึงกลายเป็นที่มาของการ “หักเหลี่ยมเฉือนคม” กันและกัน

เบื้องหลังการทำงาน สื่อสารมวลชน วันดีเดย์ 19 กันยายน 2549

สำหรับเบื้องหลังการทำงานของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับประวัติศาสตร์นั้น นายธงชัย เล่าให้ฟังว่า เมื่อได้กลิ่นการรัฐประหาร ทางกองบรรณาธิการได้สั่งการทันทีว่า ให้นักข่าวทุกคนเข้าโรงพิมพ์ หรือใครอยู่ข้างนอกก็ไปประจำหน้าที่ของตนเอง ใครอยู่ในกอง ต้องเข้ากองให้หมด ส่วนใครที่ต้องตามแหล่งข่าวก็ให้ไปตาม “คีย์แมน” ของเหตุบ้านการเมืองนี้มา เช่น พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกฯ รักษาการนายกฯ ในกระทรวงก็มี คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อยู่ แต่ก็มีรัฐมนตรีบางคนเริ่มเก็บของ..

บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ประสบการณ์สูง เผยว่า การเตรียมตัวในการทำงานของเราต้องมีความพร้อมตลอดเวลา ยิ่งเมื่อได้ยินข่าวอะไรแปลกๆ แบบนี้ ก็ให้เข้ามาในโรงพิมพ์ก่อน ยิ่งมีเหตุการณ์ใหญ่ “หัวหน้าข่าวทุกคนก็จะเข้ามา มาช่วยทำงานคนละไม้คนละมือ เข้ามาช่วยคิดประเด็น”

สำหรับสิ่งที่เป็นอุปสรรคในการทำงาน สำหรับการรัฐประหารครั้งนี้ แม้ว่าเราพูดตอนนี้เหมือนการทำงานจะไม่ยาก แต่เวลาปฏิบัติงานจริงๆ ถือว่ายากมาก เพราะการจะได้ข้อมูล เหตุผล ซึ่งเราต้องจับสังเกตต่างๆ ท่าทีของบุคคลสำคัญ หรือ นักข่าวที่อยู่สายทหารคอยคลุกคลี

ช่วงนั้น คำว่า ลับ ลวง พราง แน่นอนย่อมมีการปล่อยข่าวต่างๆ เราจะตรวจสอบข้อมูลอย่างไร นายธงชัย ยิ้มรับ ก่อนตอบว่า ธรรมชาติของนักข่าวจะมีความมั่นใจในข้อมูลที่ตัวเองได้มา แต่การตัดสินใจนั้นขึ้นอยู่กับกองบรรณาธิการ วิธีการ คือ จะเอาข้อมูลทั้งหมดเทรวมกัน จากนั้นให้ผู้มีประสบการณ์ เช่น หัวหน้าข่าว บก.ข่าว มาวิเคราะห์ ซึ่งคนที่ได้ข้อมูลมากับคนที่ตัดสินใจ เป็นคนละคนกัน

สื่อกับทหาร อนาคตไทย กับ การรัฐประหาร

ในช่วงนั้น สื่อมวลชนกับทหาร ไม่มีปัญหาอะไร เพราะการรัฐประหารครั้งนี้ทำได้โดยง่าย มีบ้างที่จะขอความร่วมมือ เรียกว่า การรัฐประหารครั้งนี้ “ไม่มีการคุกคามสื่อ” แถมสื่อบางส่วนยังเข้าใจเหตุการณ์

เมื่อถามว่า ในฐานะที่ทำงานด้านข่าวมานาน มองรัฐประหารกับประเทศไทย อย่างไร นายธงชัย ตอบชัดๆ ว่า เชื่อว่าการรัฐประหารไม่หมดไปจากประเทศไทย เพราะเมื่อสถานการณ์มุ่งไปทางตันแล้ว ก็จะไม่มีทางแก้ทางอื่น นอกเสียจากการยึดอำนาจ

ทางออกอื่นไม่มีเลยหรือ? นายธงชัย วิเคราะห์ว่า ทางออกไม่มี..เพราะกับคนบางคนมักไม่ยอมกัน จากนั้นก็จะมีการก่อชนวนความรุนแรง มีม็อบ มีระเบิด สร้างสถานการณ์

“ประเทศไทยไม่เคยว่างเว้นการรัฐประหารเกิน 20 ปี แค่ชีวิตผมก็ผ่านมาแล้ว 4 ครั้ง และทุกๆ ครั้งก็มักมีสาเหตุให้อ้างได้เสมอ..”