เวลา 22.54 น. โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ออกอากาศทางสถานีทุกช่อง โดยมีคำประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ก่อนกล่าวปิดท้ายว่า ขออภัยในความไม่สะดวก นับตั้งแต่วันนั้น ความเชื่อที่ว่า ประเทศไทยจะไม่มีรัฐประหารอีกแล้ว ก็ไม่เป็นความจริงอีกต่อไป
แม้คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะแปรสภาพเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และครองอำนาจไม่นานนัก ก่อนที่จะเปิดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ที่พรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นพรรคลูกที่แตกหน่อจากพรรคไทยรักไทย จะชนะการเลือกตั้ง ได้เสียงเข้าสภามากที่สุด พร้อมส่งนายสมัคร สุนทรเวช นักการเมืองมากประสบการณ์ขึ้นสู่จุดสูงสุดในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
การที่พรรคพลังประชาชน ชนะการเลือกตั้ง ทำให้การรัฐประหาร 2549 ของ คมช. ถูกค่อนขอดไล่หลังมาว่าเป็นรัฐประหารที่เสียของ
...
ประเด็นนี้ ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า การรัฐประหารปี 2549 เป็นรัฐประหารเสียของ แต่เป็นการเสียของเฉพาะกลุ่มชนชั้นนำเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น และประจักษ์ เน้นย้ำด้วยว่า รัฐประหาร 2549 เป็นการยึดอำนาจครั้งสำคัญ เพราะเป็นโมเดลตั้งต้น ที่ทำให้รัฐประหาร 2557 ใช้เป็นกรณีศึกษา
“เสียของ” แค่มุมมองของชนชั้นนำ
ประจักษ์ เริ่มต้นอธิบายว่า การเกิดขึ้นของรัฐประหาร 2549 เป็นรัฐประหารที่มีการร่วมมือกันของชนชั้นนำหลายกลุ่ม แม้ คมช.ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน จะเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารก็จริง แต่ก็มีอำนาจในมือจำกัด
“ถ้าเราดูตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พล.อ.สนธิ ไม่ได้เป็นนายกฯ แสดงว่าน่าจะมีการต่อรองกัน และในอีกหนึ่งปีหลังจากนั้น พล.อ.สนธิ ลาออกจาก คมช. เพื่อมาเป็นรองนายกฯ หากคุณเป็นถึงหัวหน้าคณะรัฐประหารแล้วเป็นได้แค่รองนายกฯ แสดงว่า คุณไม่ได้มีอำนาจจริง”
ข้อผิดพลาดของคมช.
การที่จะมองถึงข้อผิดพลาดของ คมช. ประจักษ์ อธิบายว่า ต้องมองย้อนกลับไปที่มุมมองของชนชั้นนำ ซึ่งถูกประเมินว่ามี 4 เรื่องด้วยกัน เรื่องแรก คมช. อยู่ในอำนาจสั้นเกินไป โดยใช้เวลาอยู่ในอำนาจแค่ปีเดียว เรื่องที่สอง ต่อเนื่องจากเรื่องแรกคือรีบจัดการเลือกตั้ง เรื่องที่สาม คมช. ไม่ได้แก้รัฐธรรมนูญแบบถอนรากถอนโคน เป็นแต่เพียงการปรับเล็กปรับน้อย โดยยังคงระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540
เรื่องสุดท้าย คมช. ไม่มีการปรับทัศนคติกับประชาชน สื่อ และนักวิชาการยังสามารถจัดงานวิชาการได้ คนที่ถูกเรียกมาคุยจะพุ่งเป้าไปที่นักการเมืองฝั่งทักษิณ
ด้วยเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จึงเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรียนรู้และเลือกสร้างสิ่งที่แตกต่างไปจาก คมช. สำหรับการทำรัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
“ม็อบ” จุดร่วมที่ขาดไม่ได้
ในแง่นี้ประจักษ์ ให้ความเห็นว่า รัฐประหาร 2549 เป็นโมเดลตั้งต้น เสมือนแม่แบบการทำรัฐประหารที่จะต้องมีข้ออ้างเสียก่อน
“แบบแผนของการรัฐประหารในปี 2549 เริ่มต้นที่ม็อบ เพื่อให้เกิดความวุ่นวาย ซึ่งมันเป็นวิกฤติที่ถูกสร้างขึ้น มีการหนุนหลังของชนชั้นนำ ซึ่งเป็นที่มาของประโยคอมตะ ‘ม็อบมีเส้น’ ทำให้ไม่สามารถจัดการได้ด้วยกฎหมายปกติ สถานการณ์เลยยืดเยื้อ และนำไปสู่รัฐประหาร”
ประจักษ์ อธิบายเสริมต่อไปว่า ยังมีความคล้ายอีกอย่างหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ เพราะทั้งสองครั้ง รัฐบาลของนายทักษิณ และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ยุบสภา และกำลังมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ แต่ก็ถูกทำให้เป็นโมฆะ เลยยิ่งสร้างสภาวะเหมือนทางตัน ซึ่งปี 2557 ก็คัดลอกโมเดลนี้มาใช้
“ม็อบจึงเป็นจิ๊กซอว์ที่ขาดไม่ได้ของการรัฐประหารในเมืองไทย ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา”
ถอดบทเรียนรัฐประหาร 2549
ท้ายที่สุดแล้ว เมื่อถอดบทเรียนรัฐประหาร 2549 ออกมา จะเห็นได้ว่า เกิดความถดถอยในสามเรื่องสำคัญ
หนึ่ง รัฐธรรมนูญ 2560 มีความเป็นประชาธิปไตยน้อยกว่า รัฐธรรมนูญ 2550 เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่ตอบโจทย์ชนชั้นนำกลุ่มเล็กๆ แต่ไม่ตอบโจทย์ประเทศ มันสร้างระบบการเมืองที่อ่อนแอ จนนำมาสู่การเกิดรัฐบาลผสม 18 พรรค เยอะที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย นี่คือมรดกที่เกิดขึ้นจากปี 2549
สอง ประชาธิปไตยไทยถดถอย คำกล่าวอ้างที่บอกว่า ทำรัฐประหารเพื่อประชาธิปไตยที่ดีขึ้น เวลาผ่านไปก็เห็นได้ชัดว่า ถดถอยลงเรื่อยๆ
สาม ระดับสิทธิเสรีภาพตกต่ำ ภาคประชาชนถูกลดทอนความสำคัญ ความโปร่งใสลดลง ปัญหาคอร์รัปชันยังเหมือนเดิมและแย่ลง เมื่อดูจากดัชนีคอร์รัปชันของโลก อย่างไรก็ดี สภาพการเมืองเช่นนี้ ทำให้เกิดการตื่นตัวในหมู่คนรุ่นใหม่ และประชาชนทั่วไป ก็เริ่มหาข้อมูลข่าวสาร เรียนรู้ทางการเมืองมากขึ้น
“ของเราไม่ใช่รัฐประหารปี 2549 แล้วคืนประชาธิปไตย มีการเลือกตั้งแล้วจบ แต่มันมีปี 2557 มาซ้ำอีกครั้ง ซึ่ง 10 ปี เกิดรัฐประหาร 2 ครั้ง มันเป็นความผิดปกติที่คนรุ่นใหม่ย่อมมีคำถามในใจ ก็เลยอยากหาคำตอบว่ามันเกิดอะไรขึ้น”
นอกจากนี้ ยังมีกลไกรัฐธรรมนูญที่ประหลาด ส.ว. แต่งตั้งมีอำนาจมาก สามารถเลือกนายกฯ ได้โดยมีเสียงโหวตแตกแถว
“คำถามเหล่านี้ ไม่มีใครไปสอน ไม่มีใครปลุกปั่นแต่ประชาชนตื่นตัวเอง เพราะสภาพความผิดปกติ แปลกประหลาด พิสดารของการเมืองไทย ที่มันเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา” ประจักษ์ทิ้งท้าย