13 ปี ผ่านไปไวเหมือนโกหก หากย้อนเวลากลับไป เมื่อ 19 ก.ย. 2549 ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศในขณะนั้น) ตอนนี้ยศหายไปเหลือเพียงนายทักษิณ
หากจำกันได้ "ฟางเส้นสุดท้าย" ว่ากันว่า น่าจะเกิดจากกรณี ขายหุ้นชินคอร์ปของ ตระกูลชินวัตร-ดามาพงษ์ เป็นจุดแตกหักสำคัญ ทำให้ สนธิ ลิ้มทองกุล และ พลตรี จำลอง ศรีเมือง ประกาศจัดตั้งกลุ่มที่มีชื่อเรียกว่า “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อต้านรัฐบาล “ทักษิณ 2”
สถานการณ์การเมืองขณะนั้นอึมครึมมาก จนมีการประกาศ “ยุบสภา” เมื่อ 24 ก.พ. 2549 เพื่อมีการเลือกตั้งใหม่ โดยทุกฝ่ายคาดหวังว่า สถานการณ์จะคลี่คลายไปในทางที่ดี แต่ผลการเลือกตั้ง 2 เม.ย. 2549 กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น
...
เมื่อ 3 พรรคการเมือง "ประชาธิปัตย์, ชาติไทย และมหาชน" ประกาศไม่ส่งผู้สมัครเข้าร่วม ทำให้เกิดปัญหาในการเลือกตั้งมากมาย เช่น การฉีกบัตรเลือกตั้ง การใช้เลือดทำเครื่องหมายแทนปากกา ยอดจำนวนโหวต “โน” หรือไม่ออกเสียงเลือกพรรคใดเลย ราว 31% ของผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ซึ่งนั่นทำให้หลายๆ เขต มียอดผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนนมากกว่าคะแนนเสียงของผู้ชนะในหลายๆ เขต
นำมาซึ่งการฟ้องศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย ก่อนที่จะมีคำพิพากษา “ให้การเลือกตั้งเป็นโฆฆะ” และจัดการเลือกตั้งใหม่อีกครั้งในวันที่ 15 ต.ค.2549 แต่สุดท้ายก็ไปไม่ถึงฝั่งฝัน
ช่วงนั้นกระแสข่าว “รัฐประหาร” มีโชยมาตลอด ทำให้ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.ในขณะนั้น ออกมาปฏิเสธกระแสข่าว"รัฐประหาร" แทบจะวันเว้นวัน เดือน ส.ค. 2549 มีการเคลื่อนย้ายรถถังจำนวนหนึ่งเข้ามาส่วนกลาง ทำให้กระแสแรงขึ้น จนถึง ผบ.ทบ.ออกคำสั่ง 19 ก.ค.2549 สั่งโยกย้ายนายทหารระดับคุมกำลัง 129 นาย ซึ่งหลายคนต่างกล่าวถึงคำสั่งนี้ว่า เป็นการ “ถอดเขี้ยวเล็บ ตท.10” เลยทีเดียว
สถานการณ์ดูใกล้จะรุนแรงมากขึ้น เมื่อทั้งกลุ่มเสื้อเหลืองและกลุ่มเห็นต่าง นัดรวมตัวชุมนุมใหญ่ แสดงพลังกันทั้ง 2 ฝ่าย ในที่สุด 19 ก.ย. 2549 ผู้นำเหล่าทัพจึงได้เข้ายึดอำนาจได้เบ็ดเสร็จ
• เช้า 19 ก.ย. 49 – สถานการณ์ยังคงปกติเหมือนเช่นทุกวัน แต่กระแสเรื่องของการทำรัฐประหารแรงมากขึ้น
• ที่เวที่พันธมิตร นายสุริยะใส กตศิลา ขึ้นแถลงการณ์รายละเอียดการนัดชุมนุมใหญ่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ในวันที่ 20 ก.ย. 2549
• 08.00 น. มีการเรียกประชุมฝ่ายความมั่นคง โดย พล.ท.ปรีชา วรรณรัตน์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้โทรศัพท์แจ้ง พล.อ.สนธิ แต่ไม่มีผู้นำเหล่าทัพคนใดเข้าร่วมประชุมดังกล่าว เหตุผลคือ การเรียกประชุมนั้น “กระชั้นชิดเกินไป”
• ตอนสาย เริ่มมีกระแสข่าวว่า เย็นนี้จะมีทหารบางส่วนจากลพบุรีเข้ากรุงเทพฯ และเสียงโทรศัพท์ในฟากฝั่งของ เตรียมทหาร รุ่น 10 เริ่มกริ๊งกร๊างหากัน หลังจากการประชุมความมั่นคงในช่วงเช้า “ล่ม”
• พ.ต.ท.ทักษิณ นายกฯ ในขณะนั้น กำลังร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญครั้งที่ 16 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้กล่าวสุนทรพจน์มีใจความว่า ประเทศไทยยังคงมีประชาธิปไตยที่แข็งแรงอยู่
• พล.อ.สนธิ ผบ.ทบ. ยืนยัน กองทัพมีความพร้อมรับมือ “ม็อบชนม็อบ” มีแผน “ปฐพี149” 2 ขั้นตอน คือ 1. เตรียมพร้อมในที่ตั้ง 2. นำกำลังพลออกนอกหน่วยปฏิบัติภารกิจ
• กองทัพแจ้งว่า เป็นการเคลื่อนย้ายเพื่อสับเปลี่ยนกำลังในภารกิจ 3 จังหวัดชายแดนใต้
• 18.00 น. กระแสข่าวลือรุนแรงขึ้น หลังจากข่าวของการเคลื่อนกำลังทหารจำนวนมาก และกระแสข่าวชัดเจนขึ้นว่าจะเป็นการผลงานของขั้วตรงข้าม “ทักษิณ ชินวัตร”
• 18.30 น. พ.ต.ท.ทักษิณ แจ้งเลื่อนการกลับไทยเร็วขึ้น จากกำหนดเดิมวันที่ 22 ก.ย. เป็น 21 ก.ย. เวลา 05.00 น.
• 21.00 น. มีรายงานแจ้งว่า มีรถ OB ของทาง ททบ.5 วิ่งบนถนน โดยไม่ทราบพิกัดเป้าหมายปลายทางว่าไปยังที่ใด
• 21.30 น. สัญญาณมา! เมื่อ ททบ.5 ล้มผังรายการปกติ เปิดเพลงต่างๆ ที่ผิดไปจากปกติ
• 22.00 น. มีรายงานเข้ามาถึงความเคลื่อนไหวที่ถนนราชดำเนิน ว่า มีขบวนรถถังออกมาวิ่งบนถนน ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน โทรทัศน์ช่อง 9 อสมท ได้ตัดเข้ารายการสดผ่านทางโทรศัพท์ใจความว่า นายกฯ สั่งปลด พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. แต่ยังไม่ทันกล่าวจบ สัญญาณก็ตัดภาพไป พร้อมทหารเริ่มเต็มถนนต่างๆ
• 22.30 น. สถานีโทรทัศน์เริ่มทยอยตัดภาพเข้าสู่รายการพิเศษ ซึ่ง ณ เวลานั้น เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า มีการทำรัฐประหารเรียบร้อยแล้ว
• 23.15 น. พล.ต.ประภาส ศกุนตนาค อดีตโฆษก ททบ.5 อ่านแถลงการณ์คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. พร้อมประโยคที่หลายคนจำกันได้ไม่ลืมคือ “โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง”
มูลเหตุการตัดสินใจทำรัฐประหาร คือการระบุว่า มีการทุจริตผลประโยชน์ทับซ้อน การใช้อำนาจในทางมิชอบ การละเมิดจริยธรรมคุณธรรมของผู้นำประเทศ การแทรกแซงระบบการตรวจสอบทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ ข้อผิดพลาดเชิงนโยบายที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิเสรีภาพ และการบ่อนทำลายความสามัคคีของคนในชาติ
อย่างไรก็ตาม บทวิเคราะห์จากหลายฝ่ายชี้ให้เห็นว่า ยังมีสาเหตุอีกบางประการนอกเหนือจากเหตุผลของ คมช. ที่นำมาสู่รัฐประหาร เช่น ความขัดแย้งทางอำนาจที่เห็นได้จากการโยกย้ายนายทหารประจำปี และความขัดแย้งระหว่างนายกฯ และประธานองคมนตรีในขณะนั้น
ต่อเนื่องมาที่ วีรกรรมที่ นายทักษิณ กระทำ แล้วอยู่ในความทรงจำคนไทยทั้งประเทศไม่มีวันลืม คือ "ก้มกราบแผ่นดิน" เมื่อเจ้าตัวได้เดินทางกลับประเทศไทย เมื่อ 28 ก.พ. 2551 ที่ "สนามบินสุวรรณภูมิ" ทันทีเมื่อเท้าสัมผัสแผ่นดินแม่ หรือมีบางสื่อฯ ในขณะนั้นรายงานถึงขั้น "ก้มลงจูบแผ่นดิน" ด้วยซ้ำ
จนมาถึงวันที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องขออนุญาต "ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง" เดินทางออกนอกประเทศไปเมื่อ 31 ก.ค. 2551 โดยระบุว่า จะเดินทางไปชมมหกรรมแข่งขันกีฬา "โอลิมปิกเกมส์" ที่กรุงปักกิ่ง แล้วจะเดินทางกลับมาไทยวันที่ 11 ส.ค. ในปีเดียวกัน แต่แล้ว พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ไม่ได้เดินทางกลับมาสู่ผืนแผ่นดินแม่อีกเลย และหากนับวันนั้นจนถึงวันนี้ 13 ปีเต็ม
เมื่อมาถึงวันนี้ก็ต้องยอมรับว่า ความหวังในการกลับไทยแบบ "เท่ๆ" อย่างที่ "นายทักษิณ" เคยประกาศไว้ ดูเหมือนเลือนลางลงไปทุกที จนแทบมองไม่เห็นแล้ว....