“ปลาหมอคางดำ” ได้ชื่อว่าเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์...เพราะได้สร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก คำว่า “เอเลี่ยนสปีชีส์” หรือ “ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น” ก็คือ...สิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่ชนิดพันธุ์ที่มีอยู่เดิมในท้องถิ่น แต่ถูกนำมาไว้ในพื้นที่ทางช่องทางใดช่องทางหนึ่ง

น่าสนใจว่า...นิยามคำนี้ไม่ใช่แค่ “สัตว์” เท่านั้น ยังมีความหมายครอบคลุมไปถึง “พืช” และ “จุลชีพ” หรือ...สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าอีกด้วย

สำหรับผลกระทบในการรุกรานของ “เอเลี่ยนสปีชีส์” สามารถแบ่งออกได้เป็นหลักๆ 3 ประเด็น คือ หนึ่ง...ผลกระทบต่อระบบนิเวศทำให้สังคมของสิ่งมีชีวิตกับสภาพแวดล้อมในพื้นที่หนึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางลบ อันเนื่องมาจากการเข้ามาของชนิดพันธุ์ต่างถิ่น

สอง...ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ส่งผลให้ทรัพยากรที่มีอยู่เดิมสูญเสียไป หรือส่งผลต่อคุณภาพและปริมาณผลผลิตทางการเกษตร การประมง และการเพาะเลี้ยง อันเนื่องมาจากการเข้ามาของชนิดพันธุ์ต่างถิ่น

...

รวมถึง...ปริมาณของงบประมาณที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

สาม...ผลกระทบต่อสุขภาพและอนามัย รวมทั้งสุขภาพจิตจากการเข้ามาของชนิดพันธุ์ต่างถิ่น

พลิกแฟ้มข้อมูล “ปลาหมอคางดำ” บันทึกไว้ว่าถูกนำเข้ามาจากประเทศกานา ตั้งแต่ปี 2553 จำนวน 2,000 ตัว ด้วยจุดประสงค์ในการทำวิจัย แต่สุดท้ายโครงการถูกยุติลงและทำลายปลาในปี 2554

ทว่า...ในปี พ.ศ.2555 “เกษตรกรชาวสมุทรสงคราม” พบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำและในปี พ.ศ.2561 “กรมประมง” ได้แก้ไขประกาศกระทรวงฯ ห้ามนำเข้าปลาหมอคางดำ ปลาหมอมายัน และปลาหมอบัตเตอร์ ใครฝ่าฝืนจะมีโทษทางกฎหมาย

คำถามสำคัญมีว่า... “ปลาหมอคางดํา” อันตรายยังไง? คำตอบก็คือเนื่องจากปลาหมอคางดำเป็นปลาที่ปรับตัวกับสภาพแวดล้อมได้ดี ทนกับความเค็มได้สูง ในขณะเดียวกันปลาสายพันธุ์นี้สามารถกินได้ทั้งพืช สัตว์ หรือซากของสิ่งมีชีวิต และสามารถย่อยอาหารได้ดี จึงทำให้มีอัตราการเติบโตที่รวดเร็ว

ปลาหมอคางดำเพศเมีย 1 ตัว มีไข่ประมาณ 50–300 ฟอง หรือมากกว่านั้น ใช้เวลาตั้งท้องเพียง 22 วัน...ใช้เวลาฟักไข่ในปากเพศผู้เพียง 4–6 วัน ก่อนจะดูแลตัวอ่อนประมาณ 2–3 สัปดาห์ไว้ในปากเช่นเดิม ส่งผลให้อัตราการรอดสูงกว่าปกติ

ที่สำคัญ...ปลาหมอคางดำสามารถผสมพันธุ์ได้ทุกฤดูกาล ซึ่งนับว่าเป็นการขยายพันธุ์ที่รวดเร็ว

ปลาหมอคางดำ...กลายเป็นปัญหาสำคัญที่ควรแก้ไขอย่างรวดเร็ว เพื่อไม่ให้ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศ รวมไปถึงชาวประมงและเกษตรกรไทย โดยลักษณะของ “ปลาหมอคางดํา” คล้ายกับปลาหมอเทศหรือปลาหมอสี เพียงแต่บริเวณใต้คางมีสีดำ จัดอยู่ในวงศ์ Cichlidae เมื่อโตเต็มวัย...จะมีขนาดยาวถึง 8 นิ้ว หรือมากกว่า

ย้ำว่า...ปลาสายพันธุ์นี้มีลักษณะพิเศษหลายอย่าง เช่น ทนต่อความเค็มได้สูง ปรับตัวกับสภาพแวดล้อมได้ดี ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว และแม้ว่าจะไม่สามารถระบุเพศได้อย่างชัดเจน แต่ก็มีข้อสังเกตเล็กๆน้อยๆ อย่างเพศผู้จะมีหัวและแผ่นปิดเหงือกที่มากกว่าเพศเมีย

ปัญหามีอยู่ว่า...ผ่านมาถึงวันนี้ปลาต่างถิ่นสายพันธุ์นี้ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนแล้วในวงกว้าง เมื่อระบบนิเวศของเรามีเอเลี่ยนสปีชีส์เข้ามา ผลกระทบของ “ปลาหมอคางดำ” ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะทำลายระบบนิเวศและปลาประจำถิ่นในหลายพื้นที่ ทั้งยังสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อเกษตรกรที่เลี้ยงปลา...กุ้งอีกด้วย

...

“มูลนิธิชีววิถี” เฟซบุ๊กเพจ BIOTHAI ระบุกรณี “ปลาหมอคางดำ” จะอุบัติเหตุหรือจงใจ คนกินต้องหันไปพึ่ง บ.ยักษ์ใหญ่ปราศจากทางเลือก

“คนจับปลาจากธรรมชาติหมดอาชีพ คนเลี้ยงปลาแบบธรรมชาติหรือกึ่งธรรมชาติต้องเปลี่ยนไปเลี้ยงแบบอุตสาหกรรมในระบบปิดที่ต้องพึ่งพาบริษัทยักษ์ใหญ่ และผู้บริโภคถูกบีบให้ต้องกินปลาซึ่งมาจากอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงที่บริษัทกำหนด”

นึกถึงภาพของ “ไข้หวัดนก” ที่ทำให้การเลี้ยงไก่โดยรายย่อยต้องเปลี่ยนไปเป็นการเลี้ยงในระบบปิดที่ต้องพึ่งพาบรรษัท...คนเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งถูกจำกัดการเลี้ยง เช่นเดียวกับการระบาดของ ASF...โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ที่ทำให้การเลี้ยงหมูต้องเลี้ยงในระบบปิด และพึ่งพาบริษัทใหญ่มากยิ่งขึ้น

ทั้งสามกรณีข้างต้นนี้ทำให้ “เกษตรกรรายเล็กรายน้อย” สูญเสียอาชีพ ในขณะที่บริษัทเติบโตมีส่วนแบ่งการตลาด มีอิทธิพลเหนือตลาดตั้งแต่ “ต้นน้ำ” ยัน “ปลายน้ำ”

...

มูลนิธิชีววิถี ย้ำว่า ความแตกต่างคือในกรณีไก่และหมูเกิดขึ้นจากระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมในการเลี้ยงสัตว์ที่ค่อยๆเปลี่ยนไป ทำให้เกิดโรคระบาดสมัยใหม่ แต่กรณีการเลี้ยงปลา...การระบาดเกิดขึ้นจากมีผู้ทำให้เกิดขึ้น...ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุหรือจงใจก็ตาม?

นับรวมไปถึงมีการตั้งข้อสังเกตกันว่า...ปลายปี 2554 เริ่มพบในคลองยี่สาร และบ่อกุ้งที่เชื่อมติดคลอง แค่นี้ก็พิสูจน์ชัดแล้วหรือไม่? เจ้าของบ่อกุ้ง ชาวบ้านรอบๆคือประจักษ์พยานได้ไหม...เท็จจริงประการใดเรื่องใหญ่อย่างนี้คงพิสูจน์ได้ไม่ยาก

อีกทั้ง...การหลุดรอดก็สามารถมีโอกาสเกิดขึ้นได้โดยง่าย จากการถ่ายเทน้ำจากบ่อพักน้ำ 15-20 ไร่ จำนวน 3 บ่อ กับคลองสาธารณะ ผ่านเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่

หรือมักจะหลุดจากกระชังบ่อเลี้ยง 5 ไร่ ได้เสมอ เช่น กระชังขาด เหมือนปลานิล ทับทิม ไปยังบ่อพักน้ำขนาด 15 ไร่...หากแต่ทั้งหมดทั้งมวลมุมมองตั้งปุจฉาคงเทียบไม่ได้กับ “ความเป็นจริง” ที่มีเพียงหนึ่งเดียว

สะท้อนต่อเนื่องไปถึง “หน่วยงาน องค์กร”...ที่มีหน้าที่ควบคุม กำกับดูแล? ในการประชุมคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้า “ปลาหมอคางดำ” เพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

...

ที่มี นายแพทย์วาโย อัศวรุ่งเรือง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นประธานอนุ กมธ. วาระการพิจารณาความเห็นและสาเหตุการระบาดของปลาหมอคางดำ โดยได้เชิญนายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง, ตัวแทนนักวิชาการ, สภาทนายความ และตัวแทนผู้ได้รับความเดือดร้อนแต่ละจังหวัดมาให้ข้อมูล

พุ่งเป้าชัดเจนว่า...เรื่องนี้ใช้วิทยาศาสตร์สืบสาวถึงต้นปัญหาได้

นายแพทย์วาโย บอกว่า ปลาหมอคางดำมาจากที่ไหนหรือใครเอาเข้ามา น่าจะหาต้นตอได้โดยการตรวจรหัสทางพันธุกรรม ซึ่งรายงานการวิจัยโดยกรมประมงที่ตีพิมพ์ช่วงปี 2565 มีชื่อว่า...การวิเคราะห์เส้นทางการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำตามพื้นที่ชายฝั่งของไทย

โครงสร้างทางพันธุกรรมของประชากร พบว่า ความใกล้ชิดกันของพันธุกรรมปลา มีความใกล้ชิดกันสูงมาก มาจากพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไม่กี่คู่ แสดงว่าเรามีตัวอย่างและ DNA ปลาที่ระบาดในประเทศไทยแล้ว

“ถ้าเราสามารถจับตัวตั้งต้นได้ อาจจะเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไม่กี่คู่นี่แหละ แล้วโป๊ะเชะกันเป็นสายพันธุ์เดียวกัน ก็น่าจะคลายความสงสัยและหาตัวผู้กระทำผิดได้”

มหากาพย์ “ปลาหมอคางดำ” จะจบลงแบบไหนชวนให้ติดตาม ใคร? จะเป็น “โจรใจบาป”.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม