สถิติที่ผ่านมา คนไทยแต่งงานน้อยลง และหย่าร้างมากขึ้น ทำให้สัดส่วนคนโสดในไทยเพิ่มขึ้นสูง โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติกำหนดไว้ว่า “คนโสด” ที่ยังไม่แต่งงานจะนับเฉพาะคนที่อายุเกิน 20 ปี สามารถจดทะเบียนสมรสได้ตามกฎหมาย และคนที่หย่าแล้ว

ผศ.ดร.มนสิการ กาญจนะจิตรา นักวิจัยประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวกับ “ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์” ว่า ผู้หญิงไทยไม่ค่อยแต่งงาน ส่วนใหญ่เป็นคนเจนวาย เกิดระหว่างปี 2525 ถึง 2540 ปัจจุบันมีอายุ 24 ถึง 40 ปี ซึ่งเป็นวัยทำงาน และควรเป็นวัยแต่งงาน โดยคนที่ยิ่งเรียนสูง ยิ่งแต่งงานน้อย จากสถิติผู้ที่เรียนจนชั้นประถม ชั้นมัธยมปลาย และปริญญาตรี

จากการสัมภาษณ์คนเจนวายพบว่า มีทัศนคติหลักๆ ที่พูดตรงกัน คือ "มีคู่ก็ดี ไม่มีคู่ก็อยู่ได้" ไม่ได้แอนตี้ หรือปฏิเสธ แต่การมีคู่ก็ต้องดีกว่าการไม่มีคู่ ถ้ามีคู่แล้วไม่ดี จะมีไปทำไม อีกทั้งคนเจนวาย เมื่อเกิดมาอยู่ในช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟู มีสิ่งดีๆ ได้รับจากครอบครัว ทำให้ได้ในสิ่งที่คิดในสิ่งที่ชอบ

...

“คนเจนวาย ทำอะไรไม่อดทน ตรงข้ามกับกลุ่มเบบี้บูม และจะเห็นคนเจนวาย เดี๋ยวเปลี่ยนงาน เดี๋ยวก็ไม่สู้ จนโดนบ่นมาก แต่มีพื้นฐานการเติบโตในสิ่งที่เพียบพร้อม มีโอกาสทางเศรษฐกิจ การศึกษา รับรู้อะไรจากโลกมากขึ้น ทำให้ความคิดมีความแตกต่าง มีการตั้งคำถามว่าทำอะไรแล้วจะดีขึ้น สรุปแล้วการมีคู่แล้วไม่ดี ยิ่งไม่เอา เรียนมาสูง งานก็ดี เพื่อนก็ดี มีไลฟ์สไตล์ที่แฮปปี้อยู่แล้ว”

ปัจจุบันมีผู้หญิงหลายคนทำงานดีและสวยระดับท็อปของคณะ แฮปปี้กับการทำงาน มีเงินเดือนสูง และมีกลุ่มเพื่อนมากมาย ซึ่งมีความสุขอยู่แล้ว เมื่อแต่งงานไปจะดีเช่นนี้ หรือเปลี่ยนชีวิตไปทางไหน เพราะการแต่งงานต้องปรับตัว ต้องเสียสละมากขึ้น อาจไม่ได้ไปเที่ยวเหมือนสมัยก่อน หรือสามีอยากให้มีลูก

เพราะฉะนั้นแล้วลักษณะของคนเจนวายมองว่า ถ้ามีเรื่องไม่ทนก็ไม่ต้องทน กลับกันกับคนอีกเจน แต่งงานเพื่อให้มีชีวิตมั่นคง แต่กลุ่มเจนวาย มองว่าต้องมีความพร้อมด้านการเงิน ไม่ต้องพึ่งผู้ชายมากเกินไป มีความคิดสมัยใหม่มากขึ้น ตรงข้ามกับคนสมัยก่อนต้องแต่งงาน ไม่มีความจำเป็นต้องมีเงินก่อนแต่ง มีปัญหาแล้วค่อยๆ แก้กันไป แต่สมัยนี้มองว่าทำไมต้องทน หากมีปัญหาอะไรก็ต้องเลิกกัน จึงต้องการมีความพร้อม

“บางคนไม่ต้องการมีคู่ เพราะไม่ได้มองความสมบูรณ์ของชีวิตจะต้องแต่งงาน อาจมีคู่ชีวิตคู่คิดในรูปแบบไหนก็ได้ ไม่ต้องอยู่กับผู้ชายก็ได้ และไม่ใช่แบบเพศทางเลือก หรือ LGBT แค่มีเพื่อนคอยดูแลกันและกัน”

สรุปแล้วคนเจนวายมองว่า การมีคู่เป็นพื้นฐานของชีวิต และการมีคู่เพื่อความมั่นคง ไม่จำเป็นต้องแต่งงานตามค่านิยมสมัยก่อน ส่วนการเป็นแม่เหย้าแม่เรือน การเป็นภรรยาที่ดี ทำกับข้าวเก่ง ต้องดูแลบ้าน ซึ่งต้องยอมรับทั้งหญิงและชายไทยคิดในเรื่องนี้ ไม่สามารถสลัดออกจากสังคม อีกทั้งเจนวายเห็นโลกกว้าง จึงมองเป้าหมายที่กว้างขึ้น นำโอกาสรอบด้านนำมาเติมเต็มในชีวิต โดยไม่จำเป็นต้องมีคู่

เช่นเดียวกับผู้ชายไทยไม่แต่งงาน เป็นโสดมากขึ้น หรือบางคนแต่งงานโดยไม่จดทะเบียน ซึ่งเป็นสามีภรรยาในทางพฤตินัย ทำให้สถานะความเป็นโสดของผู้ชายไทยไม่ชัดเจนเท่ากับผู้หญิง และทัศนคติอาจด้วยการแต่งงานโดยทั่วไปของผู้ชาย มีการปรับตัวน้อยกว่าผู้หญิง และค่านิยมที่ตัวผู้ชายอยู่อย่างไรก็อย่างนั้น เพราะมองว่าเป็นเสาหลักให้ครอบครัว

“เคยมีไลฟ์สไตล์แบบไหนก็สามารถทำได้ เช่น ไปเตะบอลกับเพื่อน หรือไปโน่นไปนี่ได้ แตกต่างกับผู้หญิง ต้องทำหน้าที่ในครอบครัว ทั้งๆ ที่หลายอย่างผู้ชายก็ทำได้เท่าๆ กัน เพราะสังคมไทยยังสลัดภาพผู้หญิงต้องเป็นแม่เหย้าแม่เรือนไม่ได้”

...

เพราะฉะนั้นแล้วจึงเป็นอีกสาเหตุที่ผู้หญิงไทยยอมเป็นโสด และคำถามที่ว่า แก่ตัวไป ไม่มีลูกก็ไม่เป็นไร ไม่เหมือนสมัยก่อน ทำให้ความรู้สึกนี้มีน้อยลง เพราะผู้หญิงหลายคนสามารถจัดการกับตัวเองได้ มองว่าไม่มีลูกดีกว่า และยิ่งคนระดับการศึกษาสูง สามารถวางแผนทำให้คุณภาพชีวิตของตัวเองให้ดีได้ ไม่น่ามีปัญหาในอนาคต เมื่ออยู่ในช่วงสูงวัย.