“ที่เธอเห็นแค่ฝุ่นหนาๆ อยู่เต็มตา รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจ อย่ามาจับผิด อย่าห่วงว่ารัฐบาลไม่ทำอะไร ที่ผ่านมายังทนได้ เท่านั้นก็ดีแค่ไหน อย่ากังวล ประชาชนไม่เป็นไร แค่ขอให้รัฐบาลแก้ปัญหาสักที จากใจคนกรุง...”

สถานการณ์ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน (PM 2.5) ที่มีความรุนแรง กวนใจคนกรุง ปั่นป่วนปอดคนไทยนั้น กลายเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้เสียแล้ว เพราะนอกจากจะเสียสุขภาพกาย บั่นทอนสุขภาพใจ ฝุ่นละออง PM 2.5 ยังเป็นเหตุให้ประเทศชาติสูญเสียเงินทองอีกกองพะเนิน

ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ พาไปดูอีกหนึ่งมิติ จากปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 เพราะคุณรู้หรือไม่ว่า PM 2.5 ที่ลอยอยู่ในอากาศได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ สร้างความเสียหายทางการท่องเที่ยวอย่างมากมาย

ทีมข่าวติดต่อไปยังศูนย์วิจัยกสิกรไทย เพื่อสอบถามถึงข้อมูลอันน่าสนใจที่อยู่ใน “รายงานวิจัยผลกระทบทางเศรษฐกิจจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐานที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้”

โดยข้อมูลดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นถึงมิติของค่าเสียโอกาสจากประเด็นด้านสุขภาพและการท่องเที่ยว รวมถึงค่าเสียโอกาสของภาคธุรกิจอื่นๆ ที่อาจได้รับผลกระทบจากการที่ประชาชนมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ฉะนั้น ทีมข่าวขอไล่เรียงข้อมูลที่น่าสนใจมาให้ ดังต่อไปนี้

  • จากสถิติในปี 2562 สถานการณ์ PM 2.5 จะรุนแรงในเดือน ม.ค. และจะเริ่มผ่อนคลายลงในเดือน ก.พ.

  • สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปีนี้ รัฐบาลได้ออกมาตรการที่เป็นรูปธรรมในเชิงปฏิบัติและชัดเจนมากขึ้นเนื่องจากมีประสบการณ์จากปี 2562 ที่ผ่านมา

  • สำหรับผลทางเศรษฐกิจจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐานที่เกิดขึ้น แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้

...


1. ผลกระทบด้านสุขภาพ : คิดเป็นเม็ดเงิน ราว 2,000-3,000 ล้านบาท

ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้ หรือระบบทางเดินหายใจ รวมถึงประชาชนทั่วไปที่เริ่มได้รับผลกระทบทางด้านสุขภาพจากปัญหาดังกล่าว เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตาและผิวหนัง ทั้งนี้ ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (1-22 มกราคม 2562) พบจำนวนผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจเฉพาะในโรงพยาบาลสังกัด กทม. เพิ่มขึ้นจากช่วงเดือนธันวาคมปี 2561 ราวร้อยละ 50.0 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ดังนั้นสถานการณ์ที่ดูเหมือนจะรุนแรงขึ้นในช่วงเวลานี้ จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และก่อให้เกิดค่าเสียโอกาสทางด้านสุขภาพ

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินว่า ผลกระทบจากค่าเสียโอกาสด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ในช่วงระหว่างวันที่ 5 ม.ค. - 5 ก.พ. 2563 อาจคิดเป็นเม็ดเงินราว 2,000-3,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล, ค่าใช้จ่ายในการซื้อหน้ากากอนามัย, เครื่องฟอกอากาศ และอื่นๆ

โดยค่าใช้จ่ายกว่า 75% เป็นค่าใช้จ่ายในส่วนของการรักษาพยาบาล สำหรับค่าใช้จ่ายในการซื้อหน้ากากอนามัยลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาหน้ากากเฉลี่ยต่ำกว่าปีที่ผ่านมา และประชาชนส่วนใหญ่ยังมีหน้ากากอนามัยเหลืออยู่จากที่มีการสั่งซื้อเก็บไว้เป็นจำนวนมากในปีที่ผ่านมา

...

2. ผลต่อภาคการท่องเที่ยว : ค่าเสียโอกาส 1,000-2,400 ล้านบาท

ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติเลือกปรับกิจกรรมการท่องเที่ยว โดยอาจมีบางส่วนที่หลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน น่าจะส่งผลกระทบต่อค่าเสียโอกาสในภาคการท่องเที่ยวในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล คิดเป็น 1,000-2,400 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.0%-2.5% ของรายได้ท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในช่วงระหว่างวันที่ 5 ม.ค. - 5 ก.พ. 2563

ขณะที่ ผลกระทบที่เกิดขึ้น หลักๆ จะมาจากการที่นักท่องเที่ยวต่างชาติและไทยมีการปรับเปลี่ยนกิจกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาฝุ่นละออง แต่ในภาพรวมนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ได้มีการยกเลิกการเดินทาง เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการท่องเที่ยวที่มีการวางแผนล่วงหน้า เช่น นักท่องเที่ยวจีนในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่จะถึงนี้

ขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจมีการปรับแผนหลีกเลี่ยงการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลบางส่วน รวมถึงคนกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่จะหลีกเลี่ยงการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงนี้

...

3. ผลต่อเศรษฐกิจในด้านอื่นๆ : ค่าเสียโอกาส 200-600 ล้านบาท

สำหรับในส่วนของค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่อาจสูญเสียไปจากการปรับพฤติกรรมของคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อหลีกเลี่ยงหรือป้องกันการเผชิญฝุ่นละออง เช่น การปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารนอกบ้าน ซึ่งกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบ คือ ร้านอาหารข้างทาง สวนอาหาร หรือร้านอาหารที่อยู่ในที่โล่งแจ้ง รวมไปถึงกลุ่มร้านค้าที่ขายของริมทาง และตลาดนัดต่างๆ ด้วย

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินค่าเสียโอกาสในส่วนนี้เป็นมูลค่าประมาณ 200-600 ล้านบาท โดยได้คำนึงถึงผลบวกที่อาจจะเกิดขึ้นต่อร้านค้าหรือร้านอาหารที่มีบริการจัดส่งถึงที่พักแล้ว

ฝุ่นเล็กแทบมองไม่เห็นด้วยสายตา
แต่ผลกระทบช่างมหึมา ยากที่จะสกัดยับยั้ง...