ปัญหาฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว PM 2.5 ไม่ได้เล็กเหมือนขนาดของมันแล้ว และส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตของผู้คนเป็นวงกว้าง ที่มาและอันตรายของฝุ่นเหล่านี้คืออะไร แล้วจะยังอยู่อีกนานแค่ไหน

ขณะนี้ปัญหาเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็กจิ๋ว หรือเป็นที่รู้จักกัน คือ PM 2.5 โดย PM ย่อมาจาก Particulate Matter เป็นส่วนหนึ่งในมลพิษที่ลอยในอากาศ (Airborne Particulate Matter Pollution) โดยปกติมลพิษประกอบไปด้วยสารหลายชนิดทั้ง ฝุ่นมลพิษ PM 2.5, ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ สำหรับตัวเลข 2.5 มาจากขนาดของฝุ่นมลพิษ PM ที่เล็กเท่ากับขนาด 2.5 ไมครอน โดยรวมจึงเรียกว่า PM 2.5

เจ้าฝุ่นละอองขนาดจิ๋วที่แสนจะร้ายนี้ กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบต่อการใช้ชีวิตของคนไทยไปเสียแล้ว เนื่องจากขนาดที่เล็กจิ๋วของมัน สามารถเล็ดรอดจากระบบกรองอากาศที่ธรรมชาติสร้างมาอย่างขนจมูกแล้ว เข้าสู่ปอดชั้นในได้ทันที แม้ว่าฝุ่น PM 2.5 แม้มันจะยังไม่ส่งผลกระทบเฉียบพลันต่อร่างกาย แต่มันต้องอาศัยการสะสมเป็นระยะเวลาที่ยาวนานก่อนจะส่งผลต่อสุขภาพ นอกจากนี้ ฝุ่นเหล่านี้ยังเป็นตัวกลางนำเอาสารอันตรายเข้าสู่ร่างกาย อาทิ สารก่อมะเร็ง และสารโลหะหนักด้วย

สาเหตุของการเกิดฝุ่น PM 2.5

จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ แหล่งที่มีของฝุ่นละอองในบรรยากาศ โดยทั่วไปจะแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

...

1.ฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ (Natural Particle) ได้แก่ ดิน ทราย หิน ละอองไอน้ำ เขม่าควันจากไฟป่า และฝุ่นเกลือจากทะเล เป็นต้น

2.ฝุ่นละอองที่เกิดจากกิจกรรมที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-made Particle) ได้แก่

ฝุ่นจากการคมนาคมขนส่งและการจราจร การเผาไหม้เครื่องยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลและถ่านหิน รวมทั้ง ฝุ่นดินทรายที่ฟุ้งกระจายในถนน ขณะที่รถยนต์วิ่งผ่าน ฝุ่นดินทรายที่หล่นจากการบรรทุกขนส่ง การกองวัสดุสิ่งของบนทางเท้าหรือบนเส้นทางการจราจร

ฝุ่นจากการก่อสร้าง เช่น ฝุ่นจากการสร้างถนน/อาคาร การปรับปรุงผิวการจราจร การรื้อถอนอาคารและสิ่งก่อสร้างต่างๆ การก่อสร้างเพื่อติดตั้งหรือปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค

ฝุ่นจากการประกอบการอุตสาหกรรม เช่น การทำปูนซีเมนต์ โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับหิน กรวด ทราย หรือดิน สำหรับใช้ในการก่อสร้างอย่างใดอย่างหนึ่ง การโม่บดหรือย่อยหิน การร่อนหรือการคัดกรวดหรือทราย

ฝุ่นจากการประกอบกิจกรรม อื่นๆ เช่น การทำความสะอาด การทำอาหาร การทาสี เป็นต้น

ทั้งนี้ การเกิดฝุ่น PM 2.5 จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษพบว่า มีสาเหตุมาจาก ไอเสียรถยนต์ การใช้ฟืนถ่านเพื่อหุงต้มอาหาร การเผาขยะและเผาหญ้ารวมทั้งพืชในการทำการเกษตร และมาจากการเผาเชื้อเพลิงของโรงงานอุตสาหกรรม

วงจรชีวิตทางเดินของฝุ่น PM 2.5

ฝุ่นละอองเป็นสารที่มีความหลากหลายทางด้านกายภาพและองค์ประกอบ อาจมีสภาพเป็นของแข็งหรือของเหลว ฝุ่นละออง ที่แขวนลอยอยู่ในอากาศได้นาน มักจะเป็นฝุ่นละอองขนาดเล็ก (มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 10 ไมครอน) เนื่องจากมีความเร็วในการตกตัวต่ำ หากมีแรงกระทำจากภายนอกเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น การไหลเวียนของอากาศ กระแสลม เป็นต้น จะทำให้แขวนลอยอยู่ในอากาศได้นานมากขึ้น ฝุ่นละอองที่มีขนาดใหญ่ (ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่กว่า 100 ไมครอน) อาจแขวนลอยอยู่ในบรรยากาศได้เพียง 2-3 นาที แต่ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 0.5 ไมครอน อาจแขวนลอยอยู่ในอากาศได้นานเป็นปี

...

สำหรับฝุ่น PM 2.5 สามารถลอยในอากาศได้นานเป็นวันถึงหลายสัปดาห์ และยังลอยได้ไกลจากแหล่งกำเนิดตั้งแต่ 100-1,000 กิโลเมตรโดยประมาณ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัย ทั้งความเร็วลม ความกดอากาศ ความชื้น สภาพอากาศแดดออกหรือฝนตก

อันตรายของฝุ่นละอองขนาดเล็กจิ๋ว PM 2.5

ฝุ่นละอองที่มีขนาดใหญ่ ก่อให้เกิดปัญหามลพิษหรือเหตุเดือดร้อนรำคาญ ส่วนฝุ่นละอองที่สามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ได้มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน ฝุ่นละอองขนาดเล็กเหล่านี้ เมื่อเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ จะเกาะตัวหรือตกตัวได้ในส่วนต่างๆ ของระบบทางเดินหายใจ ก่อให้เกิดการระคายเคืองและทำลายเนื้อเยื่อของอวัยวะนั้นๆ เช่น เนื้อเยื่อปอด ซึ่งหากได้รับในปริมาณมากหรือในช่วงเวลานาน จะสามารถสะสมในเนื้อเยื่อปอด เกิดเป็นพังผืดหรือแผลขึ้นได้

อีกทั้งฝุ่นเหล่านี้ยังทำให้การทำงานของปอดเสื่อมประสิทธิภาพลง ทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบ เกิดหอบหืดถุงลมโป่งพอง และโอกาสเกิดโรคระบบทางเดินหายใจเนื่องจากติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้ รวมทั้ง โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง และภาวะหัวใจขาดเลือด อีกทั้งยังส่งผลต่อทารกแรกเกิดจะมีน้ำหนักน้อยกว่าปกติอีกด้วย.

...