ประเพณีถือศีลกินเจของกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีนและคนทั่วไปในปีนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย. จนถึง 7 ต.ค. ตามจันทรคติปฏิทินจีน ในวันขึ้น 1 ค่ำ ถึงขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 รวม 9 วัน 9 คืน เป็นความเชื่อทางศาสนาพุทธนิกายมหายาน มีจุดเริ่มต้นจากประเทศจีนเมื่อประมาณ 400 ปีมาแล้ว ช่วงชนเผ่าแมนจูเข้าปกครองประเทศจีน ซึ่งได้มีชาวจีนกลุ่มหนึ่งนุ่งขาว ห่มขาว และไม่รับประทานเนื้อสัตว์ ออกมาต่อต้านต่อสู้ แต่ต้องพ่ายแพ้สูญเสียชีวิต
ทำให้ชาวจีนในขณะนั้นพากันถือศีลกินเจ เพื่อรำลึกถึงนักสู้ผู้พลีชีวิตร่างกาย ในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 นอกจากนี้สาธุชนอีกลุ่มหนึ่งมีความเชื่อในการกินเจ เพื่อสักการะพระพุทธเจ้าในอดีต 7 องค์ และพระมหาโพธิสัตว์อีก 2 องค์ โดยงดเว้นอาหารคาวและการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต หันมาสวมใส่เสื้อผ้าสีขาวเพื่อถือศีล
กระทั่งชาวจีนฮกเกี้ยนได้เข้ามาเผยแพร่ในพื้นที่ภาคใต้ของไทย และขยายวงกว้างในกลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีน ดังนั้นเมื่อถึงประเพณีถือศีลกินเจ ต้องกินอาหารปราศจากเนื้อสัตว์ทุกประเภท รวมถึงผักต้องห้าม 5 ชนิด ทั้งกระเทียม หอม กุ้ยช่าย ต้นกระเทียม และใบยาสูบ พร้อมๆ กับการปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรมอย่างเคร่งครัด มีการบูชาเทพเจ้า และบางพื้นที่มีการประทับทรงเทพเจ้า ด้วยการแสดงอิทธิฤทธิ์ลุยไฟ ปีนบันไดมีด พ่นไฟ ใช้มีดหรืออาวุธแทงตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เป็นที่น่าหวาดเสียว
...
ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ "ดร.ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์" นักวิชาการด้านศาสนวิทยา โดยบอกว่า ในความเป็นจริงแล้วศาสนาพุทธในไทยไม่เคยมีการกินเจ ซึ่งคนไทยได้นำประเพณีกินเจมาจากพุทธนิกายมหายานของประเทศจีน ทั้งๆที่พุทธนิกายมหายานบางสำนักในจีนไม่มีการกินเจเลย และบางสำนักที่นับถือเจ้าแม่กวนอิมจะกินเจอย่างเคร่งครัด โดยบางคนถือศีลกินเจชั่วชีวิต และบางคนถือศีลกินเจตามเทศกาล
ในเรื่องนี้ที่ผ่านมามีการถกเถียงกันไม่จบ เนื่องจากจีนแผ่นดินใหญ่ไม่มีเทศกาลกินเจ ยกเว้นไต้หวัน ส่วนการกินเจในไทย อยู่ในกลุ่มคนสายมังสวิรัติ โดยเฉพาะกลุ่มสันติอโศกที่เคร่งครัดอย่างจริงจัง ขณะที่พุทธนิกายเถรวาทของไทยไม่มีการกินเจ จึงกลายเป็นปัญหาข้อถกเถียงเรื่องการกินเจของกลุ่มคนจีน มีการกินบางอย่างไม่เหมือนกับกลุ่มมังสวิรัติซึ่งเป็นแนวทางสากลกินผักทุกชนิด แต่ไม่กินผลิตภัณฑ์ใดๆ เลยจากสัตว์ ส่วนในทางกลับกันการกินเจของชาวจีนสามารถกินหอยนางรมได้ แต่ไม่กินผักมีกลิ่นแรง
“การถือศีลกินเจเป็นเรื่องของความเชื่อ แต่มีปัญหาการตีความเรื่องศีลข้อที่ 1 ห้ามฆ่าสัตว์ มีการถกเถียงกันว่ากินเนื้อสัตว์ได้หรือไม่ระหว่างพุทธมหายานและเถรวาท หากกินก็เท่ากับสนับสนุนให้ฆ่าสัตว์ เพราะฝ่ายมหายานเชื่อเรื่องไม่กินเนื้อสัตว์ และในอดีตสาวกพระพุทธเจ้าได้ไปตั้งพุทธศาสนาใหม่ ต้องไม่กินเนื้อสัตว์ ทั้งๆ ที่พระพุทธเจ้าไม่ถือว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นบาป จนกลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันไม่จบ”
อีกทั้งคำว่า ”เจ” มาจากพุทธนิกายมหายาน ขณะที่คนอีกกลุ่มเรียกว่า "วีแกน" หรือมังสวิรัติ ซึ่งมีหลายระดับทั้งเคร่งครัดมาก ไม่กินและไม่ใช้ของทำจากสัตว์ทุกชนิด หรือบางกลุ่มกินนมได้และกินนมไม่ได้ ทั้งนี้พัฒนาการการถือศีลกินเจในไทยมีแนวโน้มเติบโตขึ้นต่อเนื่อง จากกระแสโลกฝั่งตะวันตก มีแนวคิดเชิงอนุรักษ์ปกป้องชีวิตของสัตว์ในกลุ่มวีแกน โดยเชื่อว่าการกินสัตว์เป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมปศุสัตว์ เป็นตัวการหลักก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทำลายบรรยากาศโลก
อีกอย่างการไม่กินเนื้อสัตว์ส่งผลดีต่อสุขภาพ เนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์กินผัก ไม่ใช่กินเนื้อสัตว์ซึ่งย่อยยาก โดยทุกวันนี้มีพืชหลายชนิดสามารถให้โปรตีนได้มากกว่าเนื้อสัตว์ และตามห้างต่างๆ ในประเทศฝั่งตะวันตก พบว่ายอดขายอาหารมังสวิรัติเติบโตสูงกว่าอาหารทำจากเนื้อสัตว์
“กระแสโลกตะวันตกทำให้การกินเจในไทยในเชิงศาสนามีมากอยู่แล้ว จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะคนไทยที่อยู่ในสังคมคนจีน รวมถึงพวกกินเจเป็นแฟชั่น จะมีเยอะขึ้น กลายเป็นความสนุก ไม่จริงจังมาก โดยไม่คิดว่าจะลดบาป แต่หวังทำแล้วได้บุญมากกว่า เพราะกินแค่ 9 วัน หลังจากนั้นก็กลับมากินเนื้อสัตว์เหมือนเดิม ซึ่งบางคนอาจมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น เพราะอาหารเจมีทั้งแป้ง มีการปรับปรุงรสชาติหน้าตาให้ดึงดูดและใส่น้ำมันเยอะ ทำให้ไม่ดีต่อสุขภาพ”
...
นอกจากนี้ แม้ไทยเป็นเมืองพุทธ แต่ก็มีการไหว้เจ้า เข้าทรง กลายเป็นแบบผสม เพราะในสมัยโบราณมีการบูชาบรรพบุรุษ มีเจ้าเข้าทรงมาก่อน กลายมาเป็นเทพในศาสนา มีร่างทรงเซียนต่างๆ แม้กระทั่งร่างทรงเจ้าแม่กวนอิม เนื่องจากนิกายมหายานเชื่อในเทพหลายองค์ ยังไม่รวมปิศาจ และเทพพื้นบ้านต่างๆ มีการเอาเทพมาบูชา จนเป็นพุทธพหุเทวนิยม จึงไม่แปลกที่ประเพณีถือศีลกินเจในไทยมีม้าทรงออกมาแสดงอิทธิฤทธิ์แบบจับต้องได้ มีการแทงร่างกาย เหยียบไฟ ซึ่งยิ่งทำให้คนเชื่อถือมากขึ้น
...
“ม้าทรงแสดงอิทธิฤทธิ์ ทำให้คนรู้สึกตื่นเต้น รู้สึกว่าเทพเจ้าลงมารับของไหว้ได้อย่างสมจริง เพราะบรรดาศาสนิกชนในสายนี้จะมีทั้งวัด ทั้งศาลเจ้า ในการเข้าหาพึ่งพายามเจ็บป่วย ขอให้ร่างทรงทำให้หายป่วย และเมื่อหายป่วยก็มีการเล่าปากต่อปากจนมีการเชื่อถือ ทำให้เทศกาลกินเจเต็มไปด้วยการสำแดงอิทธิฤทธิ์ สร้างบรรยากาศ จนร่างทรงทั้งหลายได้รับการยอมรับนับถือของคนในสังคม มีเงินทองเข้ามา หรือการล้างป่าช้าจะเห็นว่าร่างทรงได้เข้ามามีบทบาทในการทำพิธี จี้ไปที่จุดไหนก็เจอศพฝังอยู่ จนร่างทรงถูกนำมาใช้ในเทศกาลกินเจ และในอนาคตจะไม่หมดไปจากสังคมไทยอย่างแน่นอน เพราะเป็นเรื่องของความเชื่อ”.
อ่านเพิ่มเติม รายงานพิเศษ "กินเจ" พลังศรัทธา อิ่มใจได้สุขภาพ
• เปิดประวัติ "กินเจ" หลากแหล่งที่มา เหตุผลแท้จริงให้อะไรกับเรา
• "กินเจ" 9 วัน 9 คืน สุขภาพดี ถือศีลอิ่มบุญ ไม่อ้วน ไม่โทรม
• ปักหมุด จุดกินเจทั่วไทย ถือศีล-กินฟรี-ประเพณีสุดอะเมซิ่ง
• เทศกาลกินมังสวิรัติในต่างแดน คึกคัก เทรนด์กินพืชผักกำลังมา
• อาหารแพง "กินเจ" แค่บางมื้อ แห่ซื้อปรุงสำเร็จ เงินสะพัดหมื่นล้าน
...