ตั้งแต่ปีนี้ภัยแล้งในไทยจะรุนแรงจริงหรือ? หลังมีกระแสมาอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้ และยิ่งมีภาพน้ำโขงเหือดแห้งหนัก สัตว์น้ำตายเกลื่อน ยิ่งทำให้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องไม่ประมาท ในการรับมือภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้น ที่สำคัญอยู่ที่การบริหารจัดการน้ำต้องทำอย่างมีประสิทธิภาพ หนึ่งในนั้นเป็นภาระหน้าที่ความรับผิดชอบของกรมชลประทาน ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญด้านพัฒนาแหล่งน้ำและบริหารจัดการน้ำ

"ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์" พูดคุยกับ "นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์" ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน (ด้านบำรุงรักษา) กรมชลประทาน โดยระบุว่า ปัจจุบันมีการบริหารจัดการน้ำเน้นการจัดรอบเวรในการหมุนเวียนน้ำในระบบใหญ่และย่อยในพื้นที่การเกษตร และเพื่อการอุปโภคบริโภค โดยขอความร่วมมือเกษตรกรในการใช้น้ำฝนไปก่อน เพื่อประคองการใช้น้ำและประหยัดน้ำ เตรียมความพร้อมรับมือหากเกิดภัยแล้งขึ้น เนื่องจากความแปรปรวนของสภาพอากาศมีค่อนข้างสูง

“ถามว่าปีนี้แล้งหรือไม่ ก็ไม่ได้แล้งจัด หากเทียบกับปี 58 มีปริมาณน้ำไม่ถึง 9 พันล้าน ลบ.ม. ขณะที่ปีนี้ดีกว่า มีปริมาณน้ำ 1 หมื่น 2 พันกว่าล้าน ลบ.ม. คิดว่าที่คนออกมาตระหนกอาจมาจากกระแสข่าวในหลายพื้นที่ และการลดลงของน้ำโขงนั้นไม่เกี่ยว เป็นเรื่องของระบบนิเวศในพื้นที่ อาจกระทบต่อน้ำใช้ในบึงกาฬและหนองคาย และแม้จะเกิดหรือไม่เกิดภัยแล้งรุนแรง อยากขอให้ทุกคนตระหนักในการใช้น้ำอย่างประหยัด อย่าประมาท แต่อย่าตระหนกตื่นกลัวว่าสถานการณ์น้ำไม่สู้ดี”

...

ทั้งนี้จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา จะมีปริมาณฝนสูงขึ้นในช่วงปลายเดือนก.ค.ยาวไปจนถึง ก.ย.นี้ ดังนั้นต้องวิเคราะห์รอดูปริมาณน้ำขั้นต่ำของระบบนิเวศอีกครั้งหนึ่ง ยกตัวอย่างลุ่มน้ำเจ้าพระยา และเขื่อนหลัก 4 แห่ง ว่ามีปริมาณน้ำขั้นต่ำพอเพียงหรือไม่ เพื่อรับมือช่วงฤดูแล้ง ซึ่งขั้นต่ำต้องอยู่ที่ 2 พัน 300 ล้าน ลบ.ม. และต้องขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนจากพายุ 2-3 ลูกที่จะเข้ามาอีกด้วย รวมถึงการบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศ ได้สั่งการให้สถานีสูบน้ำจะต้องสูบน้ำเท่าที่จำเป็น โดยประสานไปยังกระทรวงมหาดไทยทำหนังสือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ และมอบหมายให้ชลประทานในพื้นที่ทำความเข้าใจกับเกษตรกรในเชิงบริหารจัดการพื้นที่

“ขณะนี้มีเกษตรกรกำลังเริ่มเก็บเกี่ยว เช่น พื้นที่บางระกำ เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงเสียหาย โดยทั่วประเทศมีพื้นที่ดอน 16.2 ล้านไร่ ขณะนี้ทำเกษตรไปแล้ว 11 ล้านไร่เศษ ยังเหลืออีกเกือบ 5 ล้านไร่ จึงขอความร่วมมือให้ชะลอการทำเกษตรไปก่อน ส่วนเรื่องน้ำกินน้ำใช้ ขณะนี้มีปัญหาบางพื้นที่ เช่น สุรินทร์ จากอ่างเก็บน้ำห้วยเสนงเหือดแห้ง และบุรีรัมย์ อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้ ปริมาณน้ำเหลือน้อยเช่นกัน จึงสูบน้ำจากเหมืองหินเก่าไปทำประปาเพื่อแก้ปัญหา”

พร้อมยืนยันกรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำมาตั้งช่วงต้นฤดูฝนเมื่อ 3 เดือนก่อน ตั้งแต่เดือน พ.ค.ที่ผ่านมาอย่างเต็มที่ และตั้งแต่ปีที่แล้วหากบริหารจัดการน้ำไม่ดี สถานการณ์น้ำจะแย่กว่านี้อย่างแน่นอน จึงอยากให้ภาคครัวเรือนได้ตระหนักในการใช้น้ำในชุมชน รวมถึงภาคเกษตรต้องเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ใช้น้ำน้อย ดีกว่าการปลูกข้าว ซึ่งได้ให้หน่วยงานกระทรวงเกษตรฯ ทำความเข้าใจกับเกษตรกรไปแล้ว.