ภัยแล้งยาวและนาน ทำให้ชีวิตชาวนาชาวไร่ในปีนี้ หนีไม่พ้นความลำบากอีกแล้ว เพราะหนี้ที่มีอยู่คงต้องค้างชำระ แถมรายได้ก็ลดลง นี่คือปัญหาที่ซ้ำซากที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรไทย
"ธ.ก.ส.จับตาสถานการณ์ภัยแล้งอย่างใกล้ชิด เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินว่าจะเกิดขึ้นอีกระยะหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรแน่นอน" นายสมเกียรติ กิมาวหา ผู้ช่วยผู้จัดการ และโฆษกธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยถึงสิ่งที่ในฐานะหน่วยงานภาคการเงินของรัฐบาลมองเห็นและหาทางช่วยเหลือ
ขณะนี้ ธ.ก.ส.ได้เตรียมความช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกพืชไร่ 4 ประเภทไว้ ที่คาดว่าจะได้ผลกระทบจากภัยแล้งครั้งนี้มากที่สุดคือ ข้าว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง โดยเตรียมเสนอให้รัฐบาล ผ่านรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ
ส่วนความช่วยเหลือที่มีอยู่แล้ว สำหรับชาวนาปลูกข้าวนั้น มีโครงการประกันภัย 7 ประเภท เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง อากาศหนาว ที่ทำให้ที่นาเสียหาย รวมไปถึงช้างป่าที่มาทำให้ที่นาเสียหาย ซึ่งสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของชาวนาได้
...
ที่ผ่านมา ฤดูกาลปลูกข้าวปี 2561/62 ซึ่งเปิดให้ผู้มาลงทะเบียนเข้าโครงการประกันภัย หมดเขตไปแล้วเมื่อเดือนมิ.ย.2562 จำนวน 128,524 ราย พื้นที่รวม 1.7 ล้านไร่ สินไหมทดแทน 1,738 ล้านบาท
คุณสมบัติและเงื่อนไขการได้เงินสินไหมทดแทนจากการประกันภัย มีดังนี้
-เป็นผู้ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวกับกระทรวงเกษตรฯ
-ต้นฤดูไปแสดงความประสงค์ว่าเข้าโครงการประกันภัย
-เบี้ยประกันภัย 85 บาทต่อไร่ ถ้าเป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส. ธ.ก.ส.จ่ายให้ 34 บาท ส่วน 51 บาทรัฐอุดหนุน
-คุ้มครองภัยธรรมชาติ 7 ประเภท
-มูลค่าสินไหมทดแทนไร่ละ 1,260 บาท
-พื้นที่ที่เข้าเกณฑ์ได้รับสินไหมทดทแน ต้องให้กระทรวงมหาดไทย ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ
ถือเป็นมาตรการความช่วยเหลือนอกเหนือจากที่ ครม.ชุดที่แล้ว เคยมีมติเมื่อวันที่ 31 ก.ค.61 เรื่องการพักชำระต้นเงิน หรือการพักชำระหนี้ หรือโครงการลดดอกเบี้ย เพื่อลดภาระหนี้เกษตรกร 3 ปี รวม 3.81 ล้านราย สิ้นสุด 31 ก.ค. 64
“เมื่อเกิดภัยธรรมชาติ ขณะนี้ในภาวะวิกฤติภัยแล้ง ทำให้เกษตรกรไม่มีอาชีพ หรือรายได้ที่พึงมี บางส่วนได้รับผลกระทบ ก็ต้องไปมีอาชีพเสริม แน่นอนว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นคือกำลังซื้อลดลง มีภาระปัจจัยการผลิต หว่าน เก็บเกี่ยวไม่ได้ พืชผลยืนต้นตาย ไม่เพียงน้ำสำหรับเกษตรไม่พอ น้ำเพื่อการใช้สอยก็มีปัญหา ทำให้การใช้ชีวิตไม่ปกติ เป็นปัญหาตามมาอีกมากมาย นี่จึงเป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันอย่างเต็มที่ในเวลานี้”