น้ำน้อย แล้ง แต่ยังใช้น้ำเหมือนเดิม เริ่มกระทบนาข้าวที่จะได้ผลผลิตน้อย จับตาข้าวแพง ส่งออกได้น้อย นักวิชาการย้ำสถานการณ์น่าตกใจมาก และจะรุนแรงขึ้นหากไม่บริหารจัดการ


รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต อธิบายถึงปรากฏการณ์ภัยแล้งในขณะนี้ว่า ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่น่าตกใจมาก เพราะมีน้ำน้อย แต่มีการใช้นำ้มากเกินไป เนื่องจากขาดการวางแผนบริหารจัดการใช้น้ำ และจัดการพื้นที่การเพาะปลูกพืชไร่

“เมื่อดูน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำ ช่วงนี้เทียบกับปีที่แล้ว อย่างภาคเหนือมีน้ำต้นทุนหรือน้ำที่ใช้การได้แค่ 8% ขณะที่ปีที่แล้วมี 36% ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้ทุกภาคเป็นอย่างนี้ แต่ยังมีการใช้น้ำเท่ากับปีที่แล้ว คือไม่ได้บริหารความเสี่ยง ยังปล่อยทำการเกษตรเหมือนเดิม”

ผลที่จะตามมาคือ ข้าวยากหมากแพง เป็นคำกล่าวชัดเจนจาก รศ.ดร.เสรี โดยเฉพาะข้าวนาปี เพราะผลผลิตจะลดลง จากปกติเฉลี่ยมีผลผลิตทั้งนาปี นาปรัง รวมกันปีละ 25-30 ล้านตัน จากพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 60 ล้านไร่ ในปีนี้ส่วนที่หว่านเพาะปลูกในช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค. มีอยู่ 11 ล้านไร่ ยังไม่แน่ชัดว่าจะเหลือรอด เก็บเกี่ยวได้กี่ล้านตัน และหากใครจะปลูกในช่วง ส.ค. หรือ ก.ย. ก็อาจได้รับผลกระทบเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ได้มาก เพราะฝนจะน้อยกว่าทุกปี ที่ปีนี้คาดว่าจะน้อยกว่าปกติ 15-20% ยกเว้นว่ามีพายุเกิดขึ้นหลายลูก ก็ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำฝนได้ ขณะที่ในช่วงเดือน พ.ย.-เม.ย. ที่ผ่านมา เก็บเกี่ยวได้แล้ว 8 ล้านตัน เท่ากับผลผลิตข้าวจะน้อยลงแน่นอน นอกจากนี้ยังกระทบต่อการส่งออกข้าวที่ปกติส่งออกปีละ 9 ล้านตันอีกด้วย

...

ภาพถ่ายดาวเทียม เปรียบเทียบพื้นที่ปลูกข้าวที่ปัจจุบันมี 11 ล้านไร่ ซึ่งน้อยกว่าช่วงปีที่แล้ว ที่มี 23 ล้านไร่ โดยเฉพาะภาคเหนือ และอีสานที่ลดลง เพราะภัยแล้งที่มาภาพ ​ : สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)
ภาพถ่ายดาวเทียม เปรียบเทียบพื้นที่ปลูกข้าวที่ปัจจุบันมี 11 ล้านไร่ ซึ่งน้อยกว่าช่วงปีที่แล้ว ที่มี 23 ล้านไร่ โดยเฉพาะภาคเหนือ และอีสานที่ลดลง เพราะภัยแล้งที่มาภาพ ​ : สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)

สำหรับราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ อ้างอิงจากสมาคมโรงสีข้าวของปี 2561 เดือน ธ.ค. 61 ราคาอยู่ที่ 17,000 บาทต่อตัน ปรับตัวขึ้นจากเดือน ม.ค.61 ซึ่งอยู่ที่ 15,538 บาทต่อตัน ส่วนราคาข้าวสารหอมมะลินั้น เฉลี่ยปี 2561 อยู่ที่ 3,200-3,600 บาทต่อ 100 กิโลกรัม โดยภัยแล้งในปีนี้คาดว่าจะทำให้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้น เพราะผลผลิตน้อยลงดังกล่าว

หากย้อนไปดูตัวเลขผลผลิตข้าวนาปี (ส.ค.-เม.ย.) ที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปีเพาะปลูก 2560/61 พบว่า มีผลผลิตรวม 24.93 ล้านตัน, ปีเพาะปลูก 2559/60 มีผลผลิต 25.23 ล้านตัน, ปีเพาะปลูก 2558/59 มีผลผลิต 24.31 ล้านตัน, ปีเพาะปลูก 2557/58 มีผลผลิต 26.26 ล้านตัน, ปีเพาะปลูก 2556/57 มีผลผลิต 27.09 ล้านตัน, ปีเพาะปลูก 2555/56 มีผลผลิต 27.23 ล้านตัน, ปีเพาะปลูก 2554/55 มีผลผลิต 25.86 ล้านตัน, ปีเพาะปลูก 2553/54 มีผลผลิต 25.74 ล้านตัน

คอนเฟิร์มราคาข้าวจะแพงขึ้น จากผู้ประกอบการค้าข้าว โดยนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ว่าหากกลางเดือนส.ค. นี้ฝนยังไม่ตก จะกระทบกับพื้นที่เพาะปลูกข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และคาดว่าผลผลิตข้าวเปลือกหอมมะลิปีนี้จะลดลง 40-50% เหลือเพียง 4.5-5 ล้านตัน  คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 50,000 ล้านบาท และอาจมีผลทำให้ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิของไทยปรับขึ้นไปถึงตันละ 25,000 บาทได้ ซึ่งเป็นราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์  

...