"เชื่อว่าปริมาณน้ำจะมีเพียงพอตลอดฤดูนี้ ขอใช้อย่างประหยัด ... หากไม่มีฝนก็อย่าเพิ่งทำนา ต้องชะลอไปก่อน" คำกล่าวจาก นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรฯ ขณะลงพื้นที่ดูสถานการณ์น้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ... ฟังแล้ว ชาวบ้านคงอุ่นใจได้ระดับหนึ่ง แต่หากฝนไม่ตกตามที่ใจหมาย คงต้องทนสู้ "ภัยแล้ง" กันแบบแสนสาหัส
ณ ขณะนี้ เหลือเวลาอีก 99 วันจะหมดสิ้นฤดูฝน (1 พ.ค.-31 ต.ค. 62) ชาวบ้านเดือดร้อนกันถ้วนหน้า จากการสำรวจความเสียหายเบื้องต้นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (19 ก.ค. 62) มีเกษตรกรได้รับผลกระทบ 6,768 ราย พื้นที่เกษตรได้รับความเสียหายกว่า 40,072 ไร่ น้ำท่าที่เคยอุดมสมบูรณ์ ในปีนี้กลับแห้งขอด เขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศมีปริมาณน้ำ น้อยกว่าหรือเท่ากับ 30% ของความจุ อยู่ระดับเกณฑ์ "น้ำน้อยวิกฤติ" ถึง 18 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล (29%), เขื่อนกิ่วคอหมา (27%), เขื่อนทับเสลา (24%), เขื่อนลำนางรอง (23%), เขื่อนกระเสียว (23%), เขื่อนห้วยหลวง (22%), เขื่อนนฤบดินทรจินดา (22%), เขื่อนแม่กวงอุดมธารา (17%), เขื่อนขุนด่านปราการชล (16%), เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน (15%), เขื่อนคลองสียัด (13%) และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ (5%)
...
ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนค่อยๆ ลดลงอย่างน่ากังวล มาจาก 3 ปัจจัยหลักสำคัญ โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) อธิบายไว้ดังนี้
1.ปริมาณฝนตกช่วงฤดูฝน ปี 2561 น้อยกว่าค่าปกติประมาณ 10-17% (หากนับตั้งแต่ ม.ค.-ก.ค. ปี 62 มีปริมาณฝนเฉลี่ย 545.72 มม. น้อยกว่าปี 61 ที่มีปริมาณฝนเฉลี่ย 696.95 มม. ถึง 151.23 มม.)
2.มีการส่งน้ำให้กับพื้นที่เกษตรที่เพาะปลูกเกินแผนในฤดูแล้ง ปี 61/62 โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เกินแผนถึง 1.2 ล้านไร่ ทำให้ต้องจัดสรรน้ำมากกว่าแผน 20% (1,528 ล้าน ลบ.ม.)
3.ปริมาณฝนตกจริงในภาคเหนือ กลาง และตะวันออกเฉียงเหนือ น้อยกว่าที่คาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาประมาณ 30-40% ทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ต้องจัดสรรน้ำจากเขื่อนให้พื้นที่การเกษตรมากกว่าแผน
จาก 3 ปัจจัยหลักข้างต้น ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ขอหยิบยกปัจจัยในข้อ 3 มาเปรียบเทียบปริมาตรน้ำของเขื่อนสำคัญๆ ในเขตพื้นที่ดังกล่าว รวมถึง 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา เพื่อให้เห็นภาพว่า หากเป็นช่วงวันที่เดียวกัน คือ 22 กรกฎาคม ในช่วง 5 ปี (2558-2562) นั้นมีปริมาตรน้ำแตกต่างกันอย่างไร
จะเห็นได้ว่า ในปี 2562 แต่ละเขื่อนมีปริมาตรน้ำลดลงอย่างชัดเจนหากเทียบกับปี 2561 บางเขื่อนมีปริมาตรลดลงมากกว่าครึ่ง อย่างเขื่อนจุฬาภรณ์มีปริมาตรน้ำเพียง 43 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนลำนางรอง มีปริมาตรน้ำ 27.38 ล้าน ลบ.ม. แต่ที่น่าตกใจที่สุด คือ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาตรน้ำ 44.26 ล้าน ลบ.ม. ทั้งๆ ที่ปี 2561 มีปริมาตรน้ำถึง 260 ล้าน ลบ.ม.
และหากสังเกตจากกราฟจะพบอีกว่า ปริมาตรน้ำปี 2562 มีความใกล้เคียงกับปริมาตรน้ำปี 2558 ที่เกิดวิกฤติแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี แถมยังมีถึง 3 เขื่อน ที่มีปริมาตรน้ำน้อยกว่าปี 2558 คือ เขื่อนอุบลรัตน์, เขื่อนสิรินธร และเขื่อนลำนางรอง
...
หากสถานการณ์ยังยืดเยื้อต่อไปอีก 2-3 เดือน คาดว่าจะมีมูลค่าความเสียหายสูงถึงหลักหมื่นล้านบาท (ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า มูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจรวมหากภัยแล้งสิ้นสุดเดือน ก.ค. จะอยู่ที่ราว 17,300 ล้านบาท) ขณะที่ ปี 2558 มีการประเมินผลกระทบไว้ที่ 6.8 หมื่นล้านบาท
แม่น้ำโขงแห้งขอด ลดระดับรวดเร็วรอบ 50 ปี
นอกจากปริมาตรน้ำในเขื่อนที่น้อยลงแล้ว อีกสิ่งที่น่าวิตก คือ การลดระดับลงอย่างรวดเร็วของแม่น้ำโขงในรอบ 50 ปี ส่งผลให้พื้นที่ อ.สังคม จ.หนองคาย อยู่ในสถานะ "แห้งขอด"
สำหรับภาพรวมสถานการณ์น้ำแม่น้ำโขงนั้น ณ วันที่ 22 กรกฎาคม 2562 อยู่ในภาวะปกติ น้ำท่าอยู่ในเกณฑ์น้อย ซึ่งหากเทียบกับวันที่ 21 กรกฎาคม 2562 สถานีจิ่งหงลดลง 0.11 เมตร, สถานีหลวงพระบางเพิ่มขึ้น 0.20 เมตร (แนวโน้มเพิ่มขึ้น), สถานีเชียงแสนลดลง 0.26 เมตร (แนวโน้มทรงตัว), สถานีเชียงคานเพิ่มขึ้น 0.01 เมตร (แนวโน้มทรงตัว), สถานีหนองคายเพิ่มขึ้น 0.16 เมตร (แนวโน้มทรงตัว), สถานีนครพนมเพิ่มขึ้น 0.00 เมตร (แนวโน้มลดลง), สถานีมุกดาหารเพิ่มขึ้น 0.12 เมตร (แนวโน้มทรงตัว) และสถานีโขงเจียมเพิ่มขึ้น 0.19 เมตร (แนวโน้มเพิ่มขึ้น)
...
"แม่น้ำโขงแห้งขอดเป็นผลจากการกักน้ำของเขื่อนที่จีนและเขื่อนไซยะบุรีของ สปป.ลาว ที่ผลิตกระแสไฟฟ้า"
จากคำกล่าวข้างต้น นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. อธิบายเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่ทำให้ระดับน้ำโขงลดลงมากในรอบหลายปี มี 3 ปัจจัยหลัก คือ 1.ปริมาณฝนที่ตกลงมาต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ ทั้งจีน สปป.ลาว และฝั่งไทย 2.เขื่อนจิ่งหงของจีนปรับลดการระบายน้ำ ซึ่งจีนมีหนังสือแจ้งเปลี่ยนแปลงการระบายน้ำ ช่วงวันที่ 9-18 กรกฎาคม 2562 เพื่อดำเนินการบำรุงรักษาสายส่งไฟฟ้าโรงผลิตพลังน้ำ และ 3.การทดสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรีของ สปป.ลาว ช่วงวันที่ 9-17 กรกฎาคม 2562 ทางเขื่อนได้ทำการกักเก็บน้ำบางส่วนเพื่อดำเนินการทดสอบระบบ
...
"ทางการไทยได้มีการประสานหารือและขอความร่วมมือจากทางการของจีนและลาวแล้ว ซึ่งลาวได้กลับมาระบายน้ำทางเขื่อนไซยะบุรีเพื่อใช้ในการปั่นกระแสไฟฟ้าตามปกติ ในส่วนของจีนก็ได้มีการปรับเพิ่มการระบายน้ำกลับมาในปริมาณเกือบเท่าเดิมแล้วเช่นกัน แต่ยังคงน้อยกว่าช่วงต้นเดือนมิถุนายน"
เมื่อพิจารณาจากปัจจัยหลักที่ สทนช. อธิบายมาข้างต้น ดูเหมือนว่า สาเหตุที่น้ำแห้งขอดจะมีปัจจัยหลักมาจาก "เขื่อน" ที่มีแนวก่อสร้างตามเส้นทางแม่น้ำโขง โดยเขื่อนจิ่งหงอยู่บริเวณเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ส่วนเขื่อนไซยะบุรีตั้งอยู่ที่แขวงไซยะบุรี สปป.ลาว และนอกจาก 2 เขื่อนดังกล่าวนี้ บริเวณแนวแม่น้ำโขงตอนบนยังมีโครงการเขื่อนพลังไฟฟ้าของจีนอีกประมาณ 6-10 เขื่อน ทั้งที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว และยังมีแผนที่จะสร้างในพื้นที่ของจีนและ สปป.ลาว อีกประมาณ 4-6 เขื่อน
เกิดเป็นความวิตกกังวลเพิ่มขึ้นว่า หากปีหน้าเกิดภัยแล้งบริเวณแม่น้ำโขงอีกจะรุนแรงมากขนาดไหนกัน เพราะแค่ 2 เขื่อนก็กระทบหนักแล้ว
"ความแห้งแล้งของแม่น้ำโขงไม่ได้เกิดจากสถานีกำเนิดไฟฟ้าที่ตอนบน ตรงกันข้าม การปรับลดน้ำท่วม เพิ่มน้ำหน้าแล้ง ของเขื่อนแม่น้ำตอนบนได้มีบทบาทสำคัญในขณะที่เกิดความแห้งแล้งภายใต้เงื่อนไขอากาศรุนแรงสุดขั้ว"
สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยได้มีการหยิบยกเนื้อหาบางส่วนจากบทความของคณะกรรมการแม่น้ำโขง เมื่อปี 2560 มาประกอบการชี้แจงกรณีปัญหาแม่น้ำโขงที่กำลังเป็นประเด็น ณ ขณะนี้ พร้อมอธิบายถึงบทบาทของสถานีกำเนิดไฟฟ้าแบบขั้นบันไดให้เข้าใจในอีกมุมมองว่า การเกิดภัยแล้งและภัยน้ำท่วมบ่อยในลุ่มแม่น้ำโขงเป็นปรากฏการณ์อากาศผิดปกติในขอบข่ายทั่วโลก การที่จีนสร้างเขื่อนแบบขั้นบันไดตามแม่น้ำลานช้างเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของอากาศ มีการปล่อยน้ำในหน้าแล้ง กักเก็บน้ำในหน้าฝน หลังการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ปริมาณน้ำที่ไหลออกนอกประเทศของแม่น้ำลานช้างได้เพิ่ม 70% ในหน้าแล้ง และลดลง 30% ในหน้าฝน เมื่อเทียบกับสภาพแบบธรรมชาติเดิม ซึ่งลดค่าเสียหายทางเศรษฐกิจของมวลประชาชนสองฟากฝั่งอันเกิดจากระดับน้ำแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงผิดปกติ
ฝ่ายจีนให้ความสำคัญอย่างสูงแต่ต้นจนปลายต่อความห่วงใยและความต้องการของประเทศแม่น้ำโขงตอนล่าง โดยได้รักษาการติดต่อสื่อสารกับประเทศแม่น้ำโขงตอนล่างอย่างแน่นแฟ้น มีการแจ้งแผนการปรับน้ำเขื่อนล่วงหน้า ... สิ่งหนึ่งที่ต้องชี้ให้เห็นเป็นพิเศษ คือ ผลการประเมินของคณะกรรมการแม่น้ำโขงเมื่อปี 2559 ปรากฏว่า ยอดรวมปริมาณน้ำในเขื่อนของประเทศต่างๆ ตามแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงมีมากกว่ายอดปริมาณน้ำในเขื่อนขั้นบันไดของแม่น้ำลานช้างสายหลักของฝ่ายจีน ปริมาณน้ำแม่น้ำลานช้างที่ไหลออกนอกจีนเป็นเพียง 13.5% ของปริมาณน้ำแม่น้ำโขงตอนปากน้ำออกทะเล
"ดื่มน้ำแม่น้ำสายเดียวกัน ร่วมชะตากรรมแบ่งปัน" ... คำทิ้งท้ายจากฝ่ายจีนที่ต้องการย้ำว่า ยินดีที่จะกระชับความร่วมมือกับประเทศต่างๆ รวมถึงไทย เพื่อให้แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำแห่งมิตรภาพ แม่น้ำแห่งความร่วมมือ และแม่น้ำแห่งความเจริญรุ่งเรือง
นับถอยหลัง ... คาดน้ำเหลือใช้ได้อีก 40 กว่าวัน
ผ่านไปแต่ละวันด้วยใจระทึก หลังจาก รมช.เกษตรฯ กล่าวระหว่างลงพื้นที่ดูสถานการณ์น้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ว่า "คาดการณ์ว่าจะเหลือน้ำใช้ได้อีก 40 กว่าวัน"
... เมื่อมาดู 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา พบว่า เหลือน้ำใช้ได้เฉลี่ยเพียง 9% เท่านั้น แบ่งเป็น
1.เขื่อนภูมิพล มีปริมาตรน้ำ 4,607 ล้าน ลบ.ม. แต่มีปริมาตรน้ำใช้การได้ 807 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 8%
2.เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาตรน้ำ 3,323 ล้าน ลบ.ม. แต่มีปริมาตรน้ำใช้การได้ 473 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 7%
3.เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาตรน้ำ 136 ล้าน ลบ.ม. แต่มีปริมาตรน้ำใช้การได้ 93 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 10%
4.เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาตรน้ำ 44 ล้าน ลบ.ม. แต่มีปริมาตรน้ำใช้การได้ 41 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 4%
เมื่อเห็นตัวเลขดังนี้แล้ว ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์จึงอยากชวนคุณผู้อ่านมาร่วมนับถอยหลังดูภาพช้าๆ ก่อนจะค่อยๆ กดสไลด์ไปภาพถัดไปเพื่อดูอินโฟกราฟิกให้เห็นภาพชัดๆ ว่า ปริมาณน้ำที่ใช้ได้มีเหลือมากน้อยแค่ไหน หากว่า ในช่วง 40 กว่าวันนี้ และอีก 99 วันก่อนสิ้นฤดูฝน จะไม่มีฝนตกเลยแม้สักหยดเดียว.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
————
ข้อมูลสถานการณ์น้ำและสภาพน้ำท่า อ้างอิง ณ วันที่ 22 กรกฎาคม 2562 เวลา 15.00 น.
ข้อมูลจาก : ศูนย์ข้อมูลกรมชลประทาน, ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน, รายงานสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ, สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย