กรุงเทพมหานครจะเทียบชั้นมหานครลอนดอน และล้ำกว่าโตเกียวในอีก 10 ปีข้างหน้า ที่มีรถไฟฟ้าเชื่อมโยงการเดินทาง รวมระยะทางยาวกว่า 500 กิโลเมตร เป็นเมืองในฝันเดินทางสะดวกขึ้น ท่ามกลางปัญหาเดิม ๆ ยังคงอยู่

อนาคต 10 ปีกทม.ในปี 2572 จะมีรถไฟฟ้า 14 สาย 14 สี วิ่งรอบกทม. และวิ่งจากมุมต่าง ๆ ของกทม. ตามที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. กรุงเทพมหานคร และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. สรุปแผนไว้นั้น จะมีระยะทางรวม ประมาณ 550 กม. 367 สถานี ครอบคลุมพื้นที่ 4,762 ตร.กม.ของกทม.และปริมณฑลที่มีประชากรมากกว่า 15 ล้านคน

หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน จัดได้ว่า กทม.สามารถเทียบชั้นมหานครใหญ่ของโลกปัจจุบัน ที่ตามข้อมูลของศูนย์วิจัยกรุงศรี ระบุว่าพื้นที่โตเกียวซึ่งกว้าง 8,014 ตร.กม. ประชากร 38 ล้านคน มีรถไฟฟ้าระยะทางรวม 292 กม. 274 สถานี พื้นที่ลอนดอน 11,391 ตร.กม. ประชากร 14 ล้านคน มีรถไฟฟ้าระยะทางรวม 408 กม. 275 สถานี

นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือสนข. อธิบายว่า กว่าจะถึงปี 2572 กทม.จะมีความคึกคัก เพราะเกือบทุกปีจะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าเส้นทางใหม่ ๆ ทั้งแบบสายใหม่ หรือส่วนต่อขยายในสายเดิม ระบบขนส่งเทียบชั้นเมืองใหญ่ของโลกทีเดียว แผนการเปิดบริการ เช่น ในปี 2563 เปิดบริการส่วนต่อขยายสายสีเขียวเข้ม เส้นหมอชิต-สะพานใหม่ คูคต สายสีน้ำเงิน เตาปูน-ท่าพระ ไปจนถึงปี 2572 เส้นทางในแผนของกทม. เช่น สายสีฟ้า สายสีเทา เพื่อให้โครงข่ายระบบรางเชื่อมโยงทั่ว กทม. ด้วยเป้าหมายมีจำนวนผู้โดยสารใช้บริการประมาณ 4-5 ล้านคน-เที่ยวต่อวัน

...

รางรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม รอเชื่อมต่อจากหมอชิตไปยังสะพานใหม่-คูคต เปิดให้บริการในปี 2563
รางรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม รอเชื่อมต่อจากหมอชิตไปยังสะพานใหม่-คูคต เปิดให้บริการในปี 2563

ส่วนอีกสิ่งหนึ่งที่หลายคนกังวลคือ ค่าโดยสารรถไฟฟ้าในอนาคตจะพุ่งแพงไปขนาดนี้ เพราะปัจจุบันเฉลี่ยตลอดสายอยู่ที่ 40-50 บาทไปแล้ว เรื่องนี้ ผอ.สนข.ระบุว่าราคาต้องมีความเหมาะสม เพราะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้มีคนมาใช้บริการมากหรือน้อยด้วย โดยหลักการต้องไม่แพงกว่าในปัจจุบัน และส่วนหนึ่งจะลดภาระค่าโดยสารที่เชื่อมต่อข้ามสาย ไม่มีค่าแรกเข้า

ปัจจุบันมีผู้โดยสารรถไฟฟ้า 1.3 ล้านคน-เที่ยวต่อวัน ในโครงข่ายรถไฟฟ้า 5 สายที่เปิดให้บริการอยู่ คือสายบีทีเอสสุขุมวิท หมอชิต-สำโรง, สายสีลม สนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า, แอร์พอร์ตลิงก์ พญาไท-สุวรรณภูมิ, รถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน หัวลำโพง-บางซื่อ ที่เชื่อมต่อสายสีม่วง เตาปูน-บางใหญ่

ขบวนรถไฟฟ้าบีทีเอส ณ สถานีปลายทางหมอชิต ที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2542
ขบวนรถไฟฟ้าบีทีเอส ณ สถานีปลายทางหมอชิต ที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2542

“ถ้าโครงข่ายครบ จะรองรับการเดินทางในกทม.ในอนาคตอย่างดี เท่าที่หารือกันทางรัฐบาล โดยกระทรวงคมนาคม จะมีมาตรการจูงใจให้คนมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น ด้วยการเสริมระบบขนส่งสาธารณะ รถเมล์ เรือ จุดจอดและจร เพื่อลดปริมาณรถยนต์เข้ากทม. การจราจรในกทม.จะไม่แออัดเหมือนเดิม ฝุ่นพิษไอพิษ ไม่มาก กะเวลาเดินทางได้แม่นยำ ไม่เหมือนปัจจุบัน เช่น คนทำงานหลายคนต้องออกจากบ้านตี 5 เพื่อไปถึงที่ทำงานเร็ว เพราะถ้าออกช้า 6 โมงครึ่งต้องใช้เวลาเดินทางอย่างน้อย 2 ชั่วโมง ต่อไปถ้ามีรถไฟฟ้ามีการเชื่อมต่อ ล้อ ราง เรือ แบบไร้ร้อยต่อ ก็สะดวก และสภาพจิตใจดีขึ้น” ผอ.สนข.กล่าวสรุป

แน่นอนว่าการเดินทางสะดวกขึ้น ไม่มีใครโต้แย้ง แต่กทม.ไม่ได้อยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์ที่ทุกอย่างสวยงามไปหมด มีปัญหาหลายอย่างในมหานครแห่งนี้ และมีแนวโน้มว่าอีก 10 ปีข้างหน้าก็ยังอยู่

...

การก่อสร้างโครงสร้างรถไฟฟ้าที่มีอยู่หลายเส้นทางทั่วกทม.ในปัจจุบัน เช่น เส้นรามคำแหง พหลโยธิน
การก่อสร้างโครงสร้างรถไฟฟ้าที่มีอยู่หลายเส้นทางทั่วกทม.ในปัจจุบัน เช่น เส้นรามคำแหง พหลโยธิน

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา เล่าถึงภาพกทม.ในอนาคตอีกมุมว่า มีปัญหาหลัก 6 ด้านของกทม.ที่ยังคงอยู่ในอนาคต คือ
1. ปัญหารถติด เพราะบางจุดรถสาธารณะยังไปไม่ถึง คนต้องการความสะดวก และค่านิยมของคนบางกลุ่มมองว่ารถคือเครื่องแสดงสถานะ
2. มลภาวะ อากาศเป็นพิษ ทั้งจากการก่อสร้าง และโรงงาน
3. ปัญหาขยะ ที่ไม่มีวิธีการจัดการเป็นระบบ กำจัดผิดวิธี มีขยะพิษ
4. ปัญหาน้ำเสีย คลองเน่าเหม็น
5. ความแออัดของเมืองหลวง ที่คนยังต้องเข้ามาในเมืองเพื่อทำงาน
6. ปัญหาคุณภาพชีวิต ที่เมืองกรุง เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับคนรวย เช่น คนมีเงินสามารถอยู่หมู่บ้านจัดสรรที่ดีและแพง มีระบบรักษาความปลอดภัย อำนวยความสะดวกได้เต็มที่ ส่วนคนชนชั้นกลางยังลำบาก หากไม่อยากมีต้นทุนเดินทางสูง ไม่อยากตื่นเช้า ก็เช่าห้องคอนโดมิเนียมเล็ก ๆ อยู่กลางเมืองเพื่อสะดวกในการเดินทาง

...

ทางแก้ไขที่จะช่วยให้กรุงเทพมหานครในอนาคตน่าอยู่ เริ่มจากที่แต่ละคนต้องมีวินัย มีความเป็นพลเมืองที่รับผิดชอบต่อสังคม หรือ Citizen Responsibility โดยมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศ ไม่ปล่อยให้ปัญหาประเทศเป็นไปตามยถากรรมเหมือนอย่างที่ผ่านมา

นี่คือเมืองกรุงในอีก 10 ปีข้างหน้า ที่เราทุกคนต้องเจอ