เอลนีโญ สภาวะภูมิอากาศโลกที่สร้างความหวั่นวิตกให้ผู้คนถึงวิกฤติร้อน-แล้งที่ต้องเผชิญ

หลังจากที่นักวิชาการหลายสำนักต่างออกมาระบุว่าในปี 2566 ประเทศไทยจะเข้าสู่ห้วงเวลาของปรากฏการณ์เอลนีโญยาวนาน 3 ปีบ้าง 5 ปีบ้างหรือไปถึงขนาดที่ว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศครั้งนี้ จะทำให้ประชาชนต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่ทะยานสูงขึ้น รวมทั้งภัยแล้งอย่างหนักหนาสาหัสจากการขาดฝน

แต่ในความเป็นจริงเอลนีโญ....อาจไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

“สำหรับประเทศไทย ปัจจัยที่มีผลต่อฝนของประเทศไทยไม่ใช่ความเป็นเอลนีโญหรือลานีญาเพียงอย่างเดียว บ้านเรายังได้รับอิทธิพลจากอุณหภูมิผิวน้ำทะเลของมหาสมุทร 3 พื้นที่ ได้แก่ บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก (ONI หรือ ENSO) มหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือ (PDO) และมหาสมุทรอินเดีย (DMI หรือ IOD) โดยเฉพาะในฤดูฝนที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จะพัดนำมวลอากาศชื้นจากมหาสมุทรอินเดียมาสู่ประเทศไทยเป็นหลัก” ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำและการคาดการณ์ฝนจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่กำลังเกิดขึ้นและจะส่งผลกระทบให้เกิดฝนตกน้อย ฝนทิ้งช่วงและเข้าสู่ภัยแล้ง

...

จากข้อมูลของ สสน.พบว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 มีฝนตกน้อยกว่าค่าปกติค่อนข้างมากในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีฝนตกเลย หลายพื้นที่ก็มีฝนตกลงมามากจนเกิดน้ำท่วมฉับพลัน

ที่สำคัญใน 6 เดือนแรกของปี 2566 ประเทศไทยยังไม่เกิดเอลนีโญ....แต่กำลังข้ามจากภาวะเป็นกลางไปสู่เอลนีโญในเดือน ก.ค. 2566

ดร.สุทัศน์ วีสกุล
ดร.สุทัศน์ วีสกุล

“เอลนีโญจะเข้าสู่สภาพเป็นบวกตั้งแต่เดือน ก.ค. 2566 เพราะค่าดัชนี IOD มหาสมุทรอินเดียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นส่งผลให้กระแสความชื้นเคลื่อนตัวไปยังแถบประเทศอาหรับและแอฟริกา จึงเป็นเหตุให้ปีนี้ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงไม่ต่อเนื่องและอ่อนกำลังลงในหลายช่วงเวลา รวมทั้งมีทิศทางการพัดในลักษณะที่ไม่ค่อยให้ฝนกับประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยที่เข้าสู่ฤดูฝนแล้วยังคงมีฝนตกน้อย ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาอุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกอุ่นขึ้นเกือบทั่วทั้งผืน โดยจากการศึกษาข้อมูลการเป็นเอลนีโญที่ผ่านมาพบว่า การที่อุณหภูมิของน้ำทะเลลึกลงไปในระดับ 200 เมตร อุ่นขึ้นทั่วและอุ่นขึ้นทั้งผืนในมหาสมุทรแปซิฟิกนั้น มีอิทธิพลค่อนข้างมากต่อปริมาณฝนที่ลดลงของประเทศไทยโดยเฉพาะในช่วงปลายฤดูฝนที่ต้องมีลมจากมหาสมุทรแปซิฟิกมาช่วยสร้างร่องมรสุม ซึ่งจากการคาดการณ์พบว่า อุณหภูมิที่อุ่นเช่นนี้จะแผ่ขยายพื้นที่ของมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกและตะวันออกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในเดือน ส.ค.–ต.ค. 2566 ซึ่งอาจทำให้ปลายฤดูฝนยังคงมีฝนไม่มากนัก” ดร.สุทัศน์ กล่าว

...

แน่นอน หมายความว่าปีนี้ประเทศไทยฝนจะน้อยเพราะเอลนีโญ แต่อย่างไร ก็ตามเราก็เคยเผชิญกับเอลนีโญมาแล้วหลายครั้งและก็รอดมาได้ทุกครั้งด้วยการเตรียมความพร้อมและการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งขณะนี้หน่วยงานภาครัฐได้ประเมินและกำหนดแนวทางร่วมกันภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ให้ใช้น้ำอย่างรัดกุม จัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและระบายน้ำเท่าที่จำเป็น

และหนึ่งในหน่วยงานที่มีการเตรียมความพร้อมรับมือกับเอลนีโญคือ “กรมทรัพยากรน้ำบาดาล” กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)

...

“กรมทรัพยากรน้ำบาดาลพร้อมรับมือเอลนีโญและภัยแล้ง โดยต้องจัดหาแหล่งน้ำสำรองให้ได้มากที่สุด ที่น่าห่วงคือภาคกลาง ต้นทุนน้ำเหลืออยู่เพียงร้อยละ 17 เท่านั้น ขณะที่แหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศมีน้ำอยู่ร้อยละ 29 หรือ 1 หมื่น 5 พันกว่าล้านลูกบาศก์เมตร จัดสรรปล่อยน้ำให้ประชาชนใช้ไปแล้วร้อยละ 10 หรือประมาณ 6 พันกว่าล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งสิ่งที่เป็นกังวล คือการทำเกษตร เพราะหากประชาชนยังเพาะปลูกต่อเนื่อง ภัยแล้งมีโอกาสจะกระทบไปถึงปีหน้า ดังนั้นกรมทรัพยากรน้ำบาดาลจึงร่วมกับกรมทรัพยากรธรณี กรมอุตุนิยมวิทยา วางแนวทางร่วมกัน คือ การจัดหาแหล่งน้ำสำรอง ปรับแผนขุดเจาะน้ำบาดาลในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งพบว่าปัจจุบันมีแหล่งน้ำบาดาลสำรองสำหรับใช้อุปโภคบริโภค 200 แห่ง แหล่งน้ำบาดาลเพื่อทำเกษตรขนาดใหญ่ 200 แห่ง และยังมีแหล่งน้ำบาดาลที่ยังใช้งานไม่ได้จะต้องซ่อมแซมปรับปรุงอีก 1 พันกว่าแห่ง นอกจากนี้ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้านทรัพยากรน้ำ เพื่อติดตามสถานการณ์สนับสนุนการแก้ไขปัญหาและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้านต่างๆเป็นไปอย่างต่อเนื่องและทันต่อสถานการณ์” นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยถึงการเตรียมรับมือเอลนีโญและภัยแล้ง

นายธัญญา เนติธรรมกุล
นายธัญญา เนติธรรมกุล

...

นายธัญญา ระบุด้วยว่า ได้เตรียมชุดเจาะบ่อน้ำบาดาล (บ่อปกติ) 84 ชุด ชุดเจาะบ่อน้ำบาดาล (บ่อวง) 7 ชุด ชุดปรับปรุงคุณภาพน้ำเคลื่อนที่ (RO) 15 ชุด ชุดซ่อมระบบประปาและเครื่องสูบ 29 ชุด จุดจ่ายน้ำ 615 แห่งพร้อมแจกจ่ายน้ำให้กับประชาชนตั้งแต่เดือน ต.ค. 2565-7 ก.ค. 2566 ไปแล้ว 5,569,826.03 ลิตร ประชาชนได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 831,046 ราย รวมทั้งให้ความช่วยเหลือทั้งเจาะบ่อน้ำบาดาลช่วยเหลือภัยแล้ง การเป่าล้างบ่อน้ำบาดาล การซ่อมแซมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ การซ่อมบำรุงระบบประปาบาดาล

“ที่สำคัญขณะนี้ ได้เตรียมน้ำบาดาลเพื่อการอุปโภคบริโภค 202 แห่ง น้ำบาดาลเพื่อการเกษตร 202 แห่ง หากดำเนินการแล้วเสร็จ คาดว่าจะสามารถเพิ่มประมาณน้ำต้นทุน 27.8311 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ประชาชนได้รับประโยชน์ 26,850 ครัวเรือน และพื้นที่นอกเขตชลประทานได้รับประโยชน์ 31,800 ไร่” นายธัญญา กล่าว

“ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม” มองว่า วิกฤติจากเอลนีโญจะรุนแรงแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้ามีการเตรียมความพร้อมให้ดี รัดกุม ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นก็จะลดน้อยลง

โลกวันนี้การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นเร็วมาก เอลนีโญเกิดขึ้นได้ก็ย่อมมีวันสิ้นสุดเช่นเดียวกับลานีญา สลับกันไปมา แต่สุดท้ายมันไม่เคยชนะมนุษย์ไปได้สักครั้ง

ในวิกฤติเอลนีโญครั้งนี้ก็เช่นกัน อาจไม่น่ากลัวอย่างที่คิดก็ได้.

ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม