• Future Perfect
  • Articles
  • "ปะการังฟอกขาว" สัญญาณอันตรายต่อระบบนิเวศ ย้ำความสำคัญ ต้องดูแลไม่ให้สูญพันธุ์

"ปะการังฟอกขาว" สัญญาณอันตรายต่อระบบนิเวศ ย้ำความสำคัญ ต้องดูแลไม่ให้สูญพันธุ์

Sustainability

ความยั่งยืน5 ก.ค. 2566 08:00 น.
  • ปรากฏการณ์ "ปะการังฟอกขาว" หนึ่งในสัญญาณเตือนของ "วิกฤติโลกร้อน"
  • ย้ำความสำคัญ "แนวปะการัง" ต้องดูแลเพื่อไม่ให้สูญพันธุ์
  • สารเคมีใน "ครีมกันแดด" เป็นอันตรายต่อ "ปะการัง"

"ภาวะโลกร้อน" ในปัจจุบัน กำลังทวีความรุนแรงและก่อเกิดอันตรายต่อผู้คนและระบบนิเวศจำนวนมาก หนึ่งในสัญญาณเตือนของวิกฤติโลกร้อน คือ ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว (Coral Bleaching) เนื่องจากปะการังเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมในมหาสมุทร การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิน้ำทะเลเพียง 1-2 องศาเซลเซียส ภายในระยะเวลา 3 สัปดาห์ สามารถทำให้ปะการังเกิดการฟอกขาวขึ้นได้

เมื่อน้ำทะเลร้อนขึ้น ปะการังที่มีความอ่อนไหวมากๆ ก็จะเกิดการฟอกขาว เพราะสาหร่าย "ซูแซนเทลลี" จะอพยพออกจากเนื้อเยื่อของปะการัง เพื่อแสวงหาสภาพแวดล้อมใหม่ให้มีชีวิตรอด ทำให้ปะการังสูญเสียแหล่งอาหารสำคัญ และเหลือเพียงโครงสร้างหินปูนสีขาว นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้ปะการังฟอกขาว เช่น การปล่อยน้ำบำบัดหรือสารเคมีต่างๆ จากโรงงานอุตสาหกรรมลงสู่ทะเล น้ำจืดที่ไหลลงสู่ทะเลในปริมาณมากส่งผลต่อสภาพความเค็มของน้ำทะเล

สำหรับ "สาหร่ายซูแซนเทลลี" คือ สาหร่ายขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อของปะการัง ดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับปะการัง "แบบพึ่งพากัน" (mutualism) โดยสาหร่ายจะทำหน้าที่สังเคราะห์แสงเพื่อสร้างอาหาร ช่วยเร่งกระบวนการสร้างหินปูน รวมถึงการสร้างสีสันให้แก่ตัวปะการัง ส่วนปะการังก็ให้ที่อยู่แก่สาหร่าย ปกติในเนื้อเยื่อของปะการังไม่ได้มีสีสันสวยงาม เป็นเพียงเนื้อเยื่อใสๆ เท่านั้น ส่วนสีที่เราเห็นในปะการังล้วนเป็นสีที่ได้รับมาจากสาหร่ายซูแซนเทลลี ซึ่งอาจจะเป็นสีแดง, สีส้ม, สีเขียว หรือน้ำตาล ก็ขึ้นอยู่กับชนิดของซูแซนเทลลีที่เข้าไปอาศัยอยู่ในตัวปะการัง

ขณะที่ในภาวะปกติ "ปะการัง" กับ "สาหร่าย" ต่างใช้ชีวิตอย่างเกื้อกูลกัน กระทั่งเมื่อใดที่สภาพแวดล้อมในทะเลมีการเปลี่ยนแปลง หรือมีสภาวะไม่เหมาะสม เช่น อุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ความเค็มของน้ำ ทะเลลดลง สาหร่ายซูแซนเทลลีจะออกจากเนื้อเยื่อของปะการังเพื่อความอยู่รอด ส่งผลให้ปะการังเหลือเพียงเนื้อเยื่อใสๆ เผยให้เห็นสีขาวของโครงสร้างหินปูนที่อยู่ภายใน หรือที่เรียกว่า "ปะการังฟอกขาว" นั่นเอง

ทั้งนี้ การที่ปะการังสูญเสียสาหร่ายซูแซนเทลลี ไม่ได้มีผลเพียงสีสันที่เคยสวยงามที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปเท่านั้น แต่ยังหมายถึงสารอาหารที่ปะการังเคยได้รับจะลดน้อยลงไปด้วย แต่ถ้าสภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงและกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงระยะเวลาอันสั้น สาหร่ายซูแซนเทลลีก็จะกลับเข้ามาอาศัยในเนื้อเยื่อปะการังตามเดิม ส่งผลให้ปะการังฟื้นคืนและกลับมามีชีวิตปกติได้อีกครั้ง แต่หากสภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะเวลานาน ปะการังก็จะเริ่มอ่อนแอและล้มตายลงจนสูญพันธุ์ได้ในที่สุด

ทำไม "แนวปะการัง" ถึงมีความสำคัญ?

แนวปะการัง เปรียบเสมือนผืนป่าในมหาสมุทร เพราะเป็นหนึ่งในระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในโลก ในแนวปะการังเดียวกันอาจพบปะการังหลากหลายพันชนิดอาศัยรวมกัน และในมหาสมุทรรอบๆ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในโลก รวมถึงปลาและปะการังอีกหลายพันชนิด นอกเหนือจากการเป็นหลักแหล่งที่อยู่อาศัยและที่พักพิงให้สัตว์ในทะเลทั้งหมดเกือบ 25% แนวปะการังยังช่วยขจัดไนโตรเจนและคาร์บอน และให้สารอาหารที่ดี ที่จำเป็นต่อระบบนิเวศและส่งผลทำให้ห่วงโซ่อาหารมีความอุดมสมบูรณ์

ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ให้ความสำคัญต่อปัญหา "ปะการังฟอกขาว" เป็นอย่างมาก ขณะที่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ติดตามสถานการณ์ พร้อมสำรวจการฟอกขาวของปะการังชนิดต่างๆ ทั่วประเทศ และยังพัฒนาระบบประเมินการเกิดปะการังฟอกขาวขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางข้อมูลด้านการเกิดปะการังฟอกขาว

ทั้งนี้ เพื่อการแจ้งเหตุและให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อนักวิชาการและสาธารณะ สำหรับการเตรียมพร้อมและรับมือ และใช้ติดตามสถานการณ์ประเมินสถานการณ์ในภาพรวมของการเกิดปะการังฟอกขาวเปรียบเทียบกันในแต่ละพื้นที่ เพื่อเป็นข้อมูลให้แก่ประชาชนและอ้างอิงทางวิชาการต่อไป

(ติดตามสถานการณ์การฟอกขาวของปะการังในพื้นที่ต่างๆ - คลิกที่นี่)

สารเคมีใน "ครีมกันแดด" อันตรายต่อ "ปะการัง"

หลังจากการท่องเที่ยวกลับมาคึกคัก ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวเข้าไปท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทางทะเลเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีการนำครีมกันแดดที่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ โดยจากข้อมูลทางวิชาการพบว่าสารเคมีที่พบหลายชนิดในครีมกันแดด มีส่วนทำให้ปะการังเสื่อมโทรมลง เนื่องจากสารเคมีเหล่านั้นทำลายตัวอ่อนปะการัง ขัดขวางระบบสืบพันธุ์ และทำให้ปะการังฟอกขาว ทำให้ "กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช" ต้องประกาศห้ามใช้ครีมกันแดดที่มีสารอันตราย 4 ชนิด ดังนี้

  • Oxybenzone (Benzophenone-3, BP-3)

เป็นสารเคมีในครีมกันแดดที่ใช้กันรังสี UV มีผลร้ายแรงที่สุด ส่งผลให้ปะการังไม่โต, โตผิดรูป ไม่สืบพันธ์ุ และยังส่งผลให้ปะการังฟอกขาว

  • Octinoxate (Ethylhexyl methoxycinnamate)

เป็นสารเคมีในครีมกันแดด ที่ใช้ป้องกันรังสี UV ส่งผลให้ปะการังฟอกขาว

  • 4-Methylbenzylid Camphor (4MBC)

เป็นสารเคมีในครีมกันแดดที่ใช้กันรังสี UV ทำให้สาหร่ายหลุดจากปะการัง ส่งผลให้ปะการังฟอกขาว

  • Butylparaben

เป็นสารเคมีกันบูดในครีมกันแดดที่ส่งผลให้ปะการังฟอกขาว

สุดท้ายนี้ นักท่องเที่ยวสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากสารเคมี 4 ชนิดนี้ได้ เพียงเลือกใช้แบรนด์ที่มีสัญลักษณ์ Reef Safe หรือ Ocean Friendly แทน เพื่อเป็นการอนุรักษ์ คุ้มครองดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และป้องกัน ไม่ให้เกิดความเสียหายต่อปะการังและระบบนิเวศ.

ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก ศูนย์วิจัยทรัพยากร ทางทะเลและชายฝั่ง อ่าวไทยตอนล่าง

SHARE
00:51

"เมฆสีขาว" ลอยไหลข้ามเทือกเขาตาง๊อก จ.สระแก้ว ปรากฏการณ์ธรรมชาติสุดงดงาม

Follow us

  • |