“แม่น้ำโขง” สายน้ำแห่งชีวิตที่มีความยาวเกือบ 5,000 กิโลเมตร หล่อเลี้ยงผู้คนจากทางตอนใต้ของจีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม กำลังเหือดแห้งอย่างน่าใจหาย และหลายคนพุ่งเป้าไปที่ประเทศประเทศจีน ที่มีแผนสร้างเขื่อนจำนวนมาก และปัจจุบันก่อสร้างแล้ว 10 แห่ง
สำหรับประเทศไทยแล้วตลอดช่วงเดือนก.ค.ที่ผ่านมา มีรายงานทั้งจากทางภาคเหนือ และอีสานที่ชาวบ้าน ริมโขงมองเห็นน้ำที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนเกาะแก่งโผล่กลางน้ำ อย่างที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาเชียงราย รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา วัดระดับได้ 2.10 เมตร ต่ำกว่า ก.ค.ปีที่แล้ว ที่สูงถึง 3 เมตร เนื่องจากทางการจีนได้แจ้งลดระดับน้ำจากเขื่อนจิ่งหง ในเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ลดการระบายน้ำจากเขื่อน จากที่เคยระบายน้ำ 1,050-1,250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เหลือเพียง 500-600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หรือลดลงครึ่งหนึ่ง เมื่อเจอกับสภาพอากาศในปีนี้ ที่ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง ทำให้ลำน้ำสาขาสายหลักก็แห้งแล้งไปด้วย
สถานการณ์นี้ยังเกิดขึ้นไม่ต่างกับที่ภาคอีสาน อย่างที่ จ.นครพนม ที่ยายหลาย ศรีเพ็ง วัย 68 ปี ที่บอกว่าเกิดมาไม่เคยเห็นโขดหินรอยพระพุทธบาทกลางน้ำโขง ทั้งที่ช่วงนี้เป็นฤดูฝน ที่ปกติน้ำจะล้นตลิ่ง ขณะเดียวกัน นายอาทิตย์ พนาศูนย์ อายุ 65 ปี ประธานชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จ.นครพนม ก็เปิดเผยว่า ปีนี้ระดับน้ำโขงผันผวนมากสุดในรอบเกือบ 100 ปี
...
ประธานชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม บอกความรู้สึกอีกว่า สิ่งที่คนในพื้นที่ห่วงมากที่สุด คือ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ชาวลุ่มน้ำโขงจะเปลี่ยนไป ปลาน้ำโขงจะหายากมากขึ้น รายได้ลดลง เนื่องจากช่วงฤดูฝนเป็นฤดูกาลวางไข่ ธรรมชาติปลาน้ำโขงจะขึ้นไปวางไข่ ต้นน้ำ ลำน้ำสงคราม แต่น้ำโขงแห้ง ปริมาณปลาลดลงแน่นอน ซึ่งชาวลุ่มน้ำโขงจะต้องรับสภาพ เพราะยากที่จะหาทางแก้ไข เนื่องจากเป็นผลกระทบที่เกิดจากการก่อสร้างเขื่อนจากจีน
ประเด็นร้อนที่มีถึงจีนนี้ ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะจีนถูกมองว่าเป็นต้นเหตุเรื่องน้ำท่วมและภัยแล้งตลอด และสถานทูตจีน ประจำประเทศไทย ก็เคยเผยแพร่คำแถลงชี้แจงข้อเท็จจริงอย่างเป็นทางการผ่านเว็บไซต์สถานทูตมาแล้ว ความตอนหนึ่งยืนยันถึงการเกิดภัยแล้ง และน้ำท่วมบ่อยในลุ่มแม่น้ำโขง หรือแม่น้ำลานช้าง ว่าเป็นปรากฏการณ์อากาศผิดปกติทั่วโลก
ในคำแถลงสรุปถึงการสร้างเขื่อนแบบขั้นบันไดตามแม่น้ำลานช้าง เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของอากาศ สถานีกำเนิดไฟฟ้าแบบขั้นบันไดปล่อยน้ำในหน้าแล้ง กักเก็บน้ำในหน้าฝน ซึ่งจะเป็นการ “ปรับลดน้ำท่วม เพิ่มน้ำหน้าแล้ง” ต่อแม่น้ำโขง หลังการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ปริมาณน้ำที่ไหลออกนอกประเทศของแม่น้ำลานช้างได้เพิ่ม 70% ในหน้าแล้ง และลดลง 30% ในหน้าฝนเมื่อเทียบกับสภาพแบบธรรมชาติเดิม ซึ่งได้ลดค่าเสียหายทางเศรษฐกิจของมวลประชาชนสองฟากฝั่งอันเกิดจากระดับน้ำแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงผิดปกติ
คำชี้แจงตอนท้ายยังระบุว่า “ดื่มน้ำแม่น้ำสายเดียวกัน ร่วมชะตากรรมแบ่งปัน” การส่งเสริมการพัฒนาภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอย่างปราศจากมลภาวะ ประสานงานกันและยั่งยืนนั้น ต้องการความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ความเข้าใจกันและกัน การสนับสนุนซึ่งกันและกัน การกระชับความร่วมมือกัน การคำนึงถึงความห่วงใยของกันและกัน การบูรณาการกัน ในการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจกับการอนุรักษ์ระบบนิเวศให้ดี ฝ่ายจีนยินดีที่จะกระชับความร่วมมือต่อไปกับประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย ผ่านกลไก ความร่วมมือแม่น้ำลานช้าง-แม่น้ำโขง (LMC) คณะกรรมการแม่น้ำโขง (MRC) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจแม่น้ำโขง เพื่อที่จะทำให้แม่น้ำโขงกลายเป็นแม่น้ำแห่งมิตรภาพ แม่น้ำแห่งความร่วมมือ และแม่น้ำแห่งความเจริญรุ่งเรือง
นี่คือปรากฏการณ์ที่เห็นและเป็นไป ที่ทุกชีวิตบนสายน้ำแห่งนี้ต่างได้รับผลกระทบ โดยที่การแบ่งปัน และมิตรภาพที่แท้จริงจะทำให้ทุกคนพ้นจากวิกฤตินี้ไปได้
อ่านเพิ่มเติม รายงานพิเศษภัยแล้งแสนสาหัส
...