รัฐบาลของประเทศต่างๆ กำลังหาทางแก้ปัญหาโรคเบาหวานที่กำลังเกิดขึ้นกับประชาชนของตัวเอง การลดปริมาณการบริโภคน้ำตาลซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดโรค ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่หลายประเทศพยายามจะทำ
วิธีที่หลายประเทศตอนนี้กำลังหันมาใช้เพื่อลดปริมาณการบริโภคน้ำตาลคือการออกกฎหมาย ‘ภาษีน้ำตาล’ ซึ่งส่วนใหญ่จะพุ่งเป้าไปที่เครื่องดื่มรสหวาน เพื่อบีบให้ผู้ผลิตลดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่ม หรือให้ผู้บริโภคลดการดื่มเครื่องดื่มที่ใส่น้ำตาล เนื่องจากราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น
แต่วิธีการนี้จะได้ผลมากน้อยแค่ไหน? ไทยรัฐออนไลน์ขอยกตัวอย่าง 5 ประเทศที่ใช้ภาษีน้ำตาล ทั้งเพิ่งเริ่มใช้ และใช้มานานแล้วเพื่อดูว่า เกิดอะไรขึ้นกับประเทศเหล่านี้บ้าง
ฟิลิปปินส์
ฟิลิปปินส์นับเป็นหนึ่งในประเทศน้องใหม่ในเรื่องภาษีเครื่องดื่มรสหวาน เริ่มบังคับใช้กฎหมายเมื่อ 1 ม.ค. ปีก่อน โดยเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปภาษีเป็นวงกว้าง เก็บภาษี 6 เปโซ (ราว 3.6 บาท) ต่อลิตรสำหรับเครื่องดื่มที่ใช้น้ำตาล สารให้ความหวานอื่นๆ และ 12 เปโซต่อลิตร สำหรับเครื่องดื่มที่ใช้น้ำเชื่อมฟรุกโตสสูง (HFCS)
...
ผลจากภาษีความหวานทำให้ผู้ผลิตหันไปใช้น้ำตาลในเครื่องดื่มแทน HFCS กันหมดเพราะเสียภาษีน้อยกว่า ส่งผลให้ปริมาณความต้องการน้ำตาลสูงตามไปด้วย จนน้ำตาลขาดตลาด ราคาขายส่งพุ่งขึ้น 19-27% ระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม 2561 จนรัฐบาลต้องอนุมัตินำเข้าน้ำตาลมากถึง 200,000 ตัน เมื่อ 11 มิ.ย.ปีเดียวกัน
ในไตรมาสแรกของปี 2561 บริษัทเครื่องดื่มแทบทุกบริษัทในฟิลิปปินส์มียอดขายลดลง แม้รายได้จะเพิ่มเพราะราคาสินค้าสูงขึ้น บางบริษัทยอดขายลดลงในหลักสิบเปอร์เซ็นต์ ขณะที่ผู้บริโภคหันไปดื่มนม, น้ำผักผลไม้รวม และกาแฟทรีอินวัน ที่ไม่รวมอยู่ในแพ็กเกจภาษีนี้มากขึ้น โดยเฉพาะกาแฟทรีอินวินเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่ผู้มีรายได้น้อย
อินเดีย
อินเดีย ถูกล้อเลียนว่าเป็นศูนย์กลางแห่งโรคเบาหวานของโลก พวกเขาประกาศเจตนารมณ์ที่จะลดปริมาณการบริโภคน้ำตาลลง โดยจัดให้เครื่องดื่มอัดลม, น้ำที่ใส่น้ำตาลหรือสารให้ความหวานอื่น และน้ำแต่งกลิ่น อยู่ในประเภทสินค้าและบริการที่ถูกเก็บภาษีมากที่สุดคือ 28% ในวันที่ 1 ก.ค. 2560 นอกจากนี้อินเดียยังตั้งค่าธรรมเนียมชดเชย (compensation cess) หรือที่เรียกกันว่า ‘ภาษีบาป’ แก้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้อีก 12% ด้วย
ด้านผู้ผลิตนับร้อยบริษัทในอินเดียก็หาทางออกด้วยการใส่น้ำผลไม้ที่ถูกจัดเป็นอาหารสุขภาพ ลงไปในเครื่องดื่มของพวกเขาแทนน้ำตาลและสารให้ความหวาน ให้กลายเป็นเครื่องดื่มจากน้ำผลไม้แทน ซึ่งจะถูกเก็บภาษีเพียง 12% เท่านั้น แต่การทำเช่นนี้อาจทำให้เครื่องดื่มมีน้ำตาลสูงกว่าเดิม เนื่องจากผลไม้บางชนิดมีน้ำตาลตามธรรมชาติสูงอยู่แล้ว
ฝรั่งเศส
ฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จมากในการลดน้ำตาลในเครื่องดื่ม โดยพวกเขาบังคับใช้ภาษีเครื่องดื่มรสหวานตั้งแต่ต้นปี 2555 โดยจะเก็บเงินผู้ผลิต 6 เพนนี (ราว 2 บาท) ต่อลิตร สำหรับเครื่องดื่มใดๆ ที่เพิ่มน้ำตาลหรือสารให้ความหวานอื่นๆ เข้าไป
ผลกระทบจากกฎหมายนี้ส่งผลกระทบทันที เมื่อยอดขายน้ำอัดลมลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี และประเภทสินค้าน้ำอัดลมก็ลดลงเรื่อยๆ ขณะที่ปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มก็ลดลงราว 30-70% นอกจากนี้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คนก็หันมาบริโภคน้ำบรรจุขวดเพิ่มขึ้นมากกว่า 1,000 ล้านลิตร นับตั้งแต่บังคับใช้ภาษี
...
ฝรั่งเศสยังไม่หยุดแค่นั้น ในเดือนกรกฎาคม 2018 รัฐบาลแยกประเภทการเก็บภาษีตามจำนวนปริมาณน้ำตาลที่ใส่ โดยจะเก็บภาษีสำหรับเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากกว่า 11 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตรถึง 17 เพนนี (เกือบ 6 บาท) ต่อลิตรด้วย
สหรัฐอเมริกา
สหรัฐฯ ไม่มีกฎหมายภาษีน้ำตาลทั่วประเทศ แต่มีอยู่ในระดับเมือง ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 8 เมือง โดยเก็บภาษีเครื่องดื่มรสหวานระหว่าง 1 เซนต์ถึง 3 เซนต์ (ราว 0.3-1 บาท) ต่อออนซ์ (30 มิลลิลิตร) มาตั้งแต่ปี 2558
เมืองที่ประสบความสำเร็จอย่างมากคือเมืองเบิร์กลีย์ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย เมืองแรกในสหรัฐฯ ที่บังคับใช้ภาษีน้ำตาล โดยผลการศึกษาในปี 2559 พบว่า การบริโภคเครื่องดื่มรสหวานในเมืองลดลง 26% ขณะที่คนหันไปดื่มน้ำเปล่ามากขึ้นถึง 63% ขณะที่ผลการศึกษาในปี 2562 ชี้ว่า การบริโภคเครื่องดื่มรสหวานในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยลงถึง 53% ภายใน 3 ปี
...
หลังจากนั้นหลายเมืองในสหรัฐฯ ก็เริ่มผลักดันภาษีน้ำตาลโดยหวังจะช่วยลดปัญหาโรคอ้วนที่กำลังกัดกินประชาชนในประเทศ แต่กระแสเริ่มตีกลับในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เช่นชาวเมืองซานตาเฟ ปฏิเสธกฎหมายภาษีน้ำตาลในปี 2560 ขณะที่รัฐบาลเขต คุก เคาน์ตี รัฐอิลลินอยส์ ก็ยกเลิกภาษีน้ำตาลหลังบังคับใช้ได้เพียง 5 เดือน ขณะที่ฝ่ายต่อต้านอ้างว่า ภาษีน้ำตาลก็แค่ผลักให้ผู้บริโภคไปซื้อผลิตภัณฑ์จากเมืองอื่นเท่านั้น
นอร์เวย์
นอร์เวย์เป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ของโลกที่เก็บภาษีเครื่องดื่มที่ใส่น้ำตาล โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2465 หรือกว่า 97 ปีก่อน อย่างไรก็ตาม ตอนนั้นพวกเขามีจุดประสงค์หลักเพื่อเพิ่มรายได้ของรัฐไม่ใช่เพื่อลดการบริโภคน้ำตาล โดยในปี 2560 อัตราภาษีอยู่ที่ 3.34 โครนนอร์เวย์ (ราว 12 บาท) ต่อลิตร
ในเดือนมกราคม 2561 รัฐบาลนอร์เวย์เพิ่มอัตราภาษีขึ้นอีก 83% สำหรับผลิตภัณฑ์พร้อมรับประทานที่ใส่น้ำตาล เช่น ช็อกโกแลต และ 42% สำหรับเครื่องดื่มไม่ว่าจะหวานตามธรรมชาติหรือไม่ ทำให้อัตราภาษีเครื่องดื่มรสหวานเพิ่มเป็น 4.75 โครนนอร์เวย์ (ราว 17.2 บาท) ต่อลิตร
...
ปัจจุบัน นอร์เวย์เป็นประเทศที่มีการบริโภคน้ำตาลต่ำกว่าหลายประเทศ มีเด็กเพียง 1 ใน 6 คนเท่านั้นที่น้ำหนักเกิน และรัฐบาลก็ตั้งเป้าลดการบริโภคน้ำตาลของพลเรือนต่อคนลง 12.5% ภายในปี 2564 อย่างไรก็ตามผู้ที่อยากกินหวานในราคาถูกบางคน ก็เลือกที่จะข้ามพรมแดนไปซื้อของจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างสวีเดนที่ไม่มีภาษีน้ำตาลแทน