“น้ำตาล” เป็นแหล่งพลังงานของร่างกายที่จำเป็น ทำให้ร่างกายสดชื่น มีกำลัง ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง และอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย โดยนำพลังงานน้ำตาลกลูโคส (Glucose) ที่มาจากแหล่งอาหารที่จำเป็นต่อเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ แต่หากกิน “น้ำตาล” โดยเฉลี่ยมากเกิน 6 ช้อนชา หรือ 24 กรัมต่อวัน จะมีผลร้ายก่อโรคร้ายเรื้อรังต่างๆ

นพ.ฆนัท ครุธกูล กรรมการเครือข่ายคนไทยไร้พุง เปิดเผยกับทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ถึง พฤติกรรมการกินหวานของคนไทย ปัจจุบันเปลี่ยนไปจากเดิม สมัยก่อนกินอาหารจากธรรมชาติ รสชาติปกติ ไม่ค่อยมีรสหวาน แต่เมื่อเกิดอุตสาหกรรมมากขึ้น มีการผลิต “น้ำตาล” ทำให้คน “ติด” กินอาหารที่ต้องมีรสชาติหวาน หรือรสอื่นๆ เช่น เค็ม ร่วมด้วย

"เสพติดหวาน" สัมพันธ์ตรง ก่อ "โรคเรื้อรัง"

ปริมาณน้ำตาลที่เหมาะสม ในหนึ่งวัน ร่างกายไม่ควรรับน้ำตาลเกิน 24 กรัม หรือประมาณ 6 ช้อนชา แต่ที่ผ่านมาจากข้อมูลของ Global Agricultural Information Network ปี 2557 พบว่า คนไทยได้รับน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐาน บริโภคน้ำตาลถึง 28.4 ช้อนชาต่อวัน ซึ่งสูงกว่าคำแนะนำถึง 4.7 เท่า

...

แนวโน้มการบริโภคหวานมากขึ้นของคนไทย มีความสัมพันธ์โดยตรงกับการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ อาทิ เบาหวาน โรคหัวใจ ไขมันในเลือดผิดปกติ รวมถึงโรคอ้วนด้วย เนื่องจากการที่ได้รับปริมาณน้ำตาลมากเกินความจำเป็น ร่างกายไม่สามารถเผาผลาญหรือนำไปใช้ได้หมด ทำให้เกิดไขมันสะสมในร่างกายจนก่อโรคดังกล่าว

การบริโภคหวานมากเกินจำเป็น ยังเป็นสาเหตุให้ร่างกาย เกิดภาวะ “ดื้อต่ออินซูลิน” หลั่งสารอินซูลินมากเกินจำเป็น ทำให้ในระยะยาวร่างกายจะผลิตอินซูลินได้น้อยลง หรืออินซูลินที่ผลิตออกมาด้อยประสิทธิภาพ นำไปสู่ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ อาทิ โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูงตามมา

"ผลไม้" หนึ่งใน 3 สาเหตุ คนไทย "เสพติดหวาน"

สาเหตุที่คนไทยบริโภคหวานเกินมาตรฐาน ไม่ได้มาจากเรื่องอาหารเป็นหลัก แต่ปริมาณน้ำตาลเกินค่ามาตรฐานที่ได้รับมากจริงๆ มี 3 สาเหตุ ตามลำดับจากมากสุด ดังนี้ 1.การบริโภคเครื่องดื่มที่มีพลังงาน อาทิ น้ำอัดลม น้ำชา น้ำหวาน น้ำสมุนไพรต่างๆ รวมถึงน้ำผลไม้ นมแปรรูป ชาไข่มุก สมูทตี้ ชา กาแฟ มะนาวโซดา 2.ขนมต่างๆ อาทิ เค้ก เบเกอรี่ 3.ผลไม้ โดยเฉพาะในรูปของน้ำผลไม้ หรือผลไม้แปรรูปต่างๆ ซึ่งเมืองไทยเป็นประเทศที่ปลูกผลไม้ได้ดี ในบางครั้งคนก็จะกินผลไม้ปริมาณมากเกิน เช่น ทุเรียน ส้ม เงาะ กินครึ่งกิโล หรือเป็นกิโล ก็เป็นเหตุทำให้ได้รับปริมาณน้ำตาลมากกว่าปกติด้วย

ปริมาณความหวานที่ดีต่อร่างกาย นพ.ฆนัท ครุธกูล เน้นย้ำว่า ควรไม่เกินประมาณ 10% ของปริมาณพลังงานที่ได้รับ อาหารที่กินมีน้ำตาลโดยธรรมชาติอยู่แล้ว หากเพิ่มการกินอาหารที่เสริมน้ำตาล หรือผ่านการปรุงรสหวานเพิ่ม เช่น น้ำหวาน ขนมหวาน ก็จะมีผลทำให้ได้รับปริมาณน้ำตาลเกินประมาณ 6 ช้อนชา หรือ 24 กรัม

น้ำผึ้ง ไซรัป น้ำตาลเทียม ไม่ช่วยร่างกาย "ลดรับปริมาณน้ำตาล"

ฟรุกโตส ไม่ใช่สิ่งจำเป็นต่อร่างกาย ส่วนใหญ่มักพบในน้ำตาลที่ใช้ปรุงอาหาร และสารเพิ่มความหวาน บางคนเลือกกินน้ำผึ้ง หรือไซรัปแทนน้ำตาลนั้นไม่ได้ช่วยให้ร่างกายลดการรับปริมาณน้ำตาล เพราะแม้ส่วนใหญ่น้ำผลไม้จะใช้ฟรุกโตสไซรัป ซึ่งเป็นน้ำตาลที่ได้จากฟลุกโตส ก็ยังพบข้อเสีย คือถ้าได้รับปริมาณที่เกินจะมีผลทำให้ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงมากขึ้น ทำให้ดื้อต่ออินซูลินมากขึ้น

รวมถึง "น้ำตาลเทียม" ซึ่งมีสารให้ความหวานเป็นส่วนประกอบ เรียกว่าแอสปาร์แทม (Aspartame) ผสมกับน้ำตาลแล็กโทส และสารซิลิคอนไดออกไซด์ บางคนกินแทนน้ำตาล เพื่อเลี่ยงโรคอ้วน และเบาหวาน แต่กลายเป็นว่าแอสปาร์แทมกลับเป็นสาเหตุก่อเกิดทั้ง 2 โรคนี้เสียเอง

หากกินน้ำตาลเทียมเยอะๆ ก็ทำให้ติดหวาน รู้สึกกระหายอยากกินรสหวาน เนื่องด้วยแอสปาร์แทมทำให้ร่างกายมีปริมาณการผลิตฮอร์โมนที่ผิดปกติ ส่งผลให้ร่างกายยิ่งวนเวียนและโหยหาความหวานจากน้ำตาลมากขึ้น อีกทั้งยังต้องการอาหารมากขึ้นกว่าเดิม เพราะฉะนั้นวิธีหลีกเลี่ยงความหวาน นพ.ฆนัท ครุธกูล แนะนำสั้นๆว่า

“การออกกำลังกายเพิ่มมากขึ้นไม่สามารถแก้ได้โดยตรง เพราะร่างกายไม่สามารถออกกำลังกายนาน หรือหนักหน่วงมาก เพื่อเผาผลาญไขมันสะสม สิ่งจำเป็นและดีที่สุดคือ เเก้ปัญหาที่ต้นเหตุ งดน้ำที่มีส่วนผสมของน้ำตาล แค่นี้ก็ทำให้ร่างกายได้รับน้ำตาลน้อยลง ทำให้ลดความเสี่ยงการเกิดโรคเรื้อรังมากขึ้น”

"ความหวาน" ก่อโรคสะสม 10 ปี คุกคามอายุน้อยมากขึ้น

ระยะเวลาของการเกิดโรคจากความหวาน นพ.ฆนัท ครุธกูล อธิบายว่า เกิดจากการสะสมนานสิบๆ ปี สังเกตจากสมัยก่อนคนเป็นโรคเบาหวานจะอายุ 50-60 ปี แต่ปัจจุบันอายุ 30-40 ปีก็เริ่มป่วยเป็นเบาหวานกันแล้ว นั่นหมายความว่ามีการสะสมมาตั้งแต่วัยเด็ก และแสดงผลได้เร็วกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวค่อนข้างอันตราย รวมถึงคนเป็นโรคหัวใจก็มีแนวโน้มอายุน้อยลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบริโภคหวานกันมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบโรคเบาหวานในเด็กมากขึ้นเรื่อยๆ

“โรคเบาหวาน ความดัน หากเป็นแล้วไม่มีภาวะแทรกซ้อน ควบคุมพฤติกรรมการกินอาหารได้ดีก็จะดีขึ้น จนอาจไม่ต้องบริโภคยา เหลือเพียงควบคุมอาหารอย่างเดียวได้ ปัญหาสุขภาพคนไทยมาจากน้ำหวานอันดับหนึ่ง อันที่สองคือ ผลไม้ที่กินกันเกินปริมาณที่จำเป็น เพราะฉะนั้นต้องระมัดระวัง ลดน้ำหวาน ลดผลไม้ กินในปริมาณเล็กน้อย ไม่มากเกินไป ก็จะทำให้สุขภาพดี” นพ.ฆนัท ครุธกูล กล่าวแนะนำ

“เสพติดหวาน” ก่อโรคประจำตัว ฉีดยารักษาเอง ร่วม 10 ปี

ด้านนางหน่อย (นามสมมติ) เปิดใจกับทีมข่าวฯ กรณีลูกชายป่วยเป็นโรคเบาหวานมาเกือบ 10 ปี ตั้งแต่อายุ 11 ปี เล่าว่า ขณะลูกชายเรียนอยู่ ป.5 มีพฤติกรรมชอบดื่มน้ำอัดลม กินขนมขบเคี้ยว และไม่ชอบกินผัก วันหนึ่งร่างกายซูบผอมผิดปกติ และปัสสาวะรดที่นอนทั้งที่เคยคุมการขับถ่ายปัสสาวะได้ เกิดความกังวลจึงพาลูกไปพบแพทย์ ผลการตรวจระบุว่าเป็น “โรคเบาหวาน” สร้างความตื่นตระหนกกับครอบครัว เพราะตัวเธอและสามีไม่เคยมีประวัติเป็นโรคนี้มาก่อน

“ตอนแรกรู้ว่าลูกเป็นเบาหวานตกใจ เป็นกังวลมาก เครียดมาก เพราะเรากับสามีก็ไม่เป็น เห็นแต่คนอายุเยอะๆ เป็นกัน แต่ไม่เคยเห็นว่าเด็กก็เป็นเบาหวานได้ แต่พอไป รพ.ก็เห็นว่าเด็กเป็นเบาหวานกันเยอะ ก็คลายกังวลบ้าง"

โรคที่ไม่หายขาด อยากอยู่เหมือนคนปกติ ต้องควบคุมอาหารตลอดชีวิต

คุณหมอให้การรักษาโดยให้ฉีดอินซูลินทุกเช้าและเย็น ควบคู่กับการคุมอาหาร ตามที่นักโภชนาการแนะนำ โดยเน้นกินผักเยอะๆ ลดน้ำอัดลม เค้ก ของหวาน ระมัดระวังการกินที่ไม่เป็นการเพิ่มน้ำตาลในร่างกายมากเกินไป แต่ลูกชายก็เกือบไม่รอดชีวิต เพราะดูแลตัวเองไม่ดี

เหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้น ขณะลูกกำลังเรียนอยู่ ปวส. ร่างกายมีสภาวะน้ำตาลต่ำ จนมีอาการเหม่อลอย และวูบในโรงเรียนจนต้องหามส่ง รพ. เพราะกินแต่นมจืดกล่องเดียว ไม่ได้กินข้าว ปัจจุบันลูกชายของเธอเรียนอยู่ปี 3 ฉีดอินซูลินด้วยตัวเองมาเกือบ 10 ปี และ ต้องพบหมอตามนัดทุก 3 เดือน เพื่อตรวจค่าน้ำตาล 

ปากกาฉีดอินซูลิน ที่ต้องพกติดตัวตลอดเวลา
ปากกาฉีดอินซูลิน ที่ต้องพกติดตัวตลอดเวลา

"หมอบอกว่า โรคนี้ไม่หายขาด แต่ใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ แต่ต้องดูแลตัวเองให้ดีๆ ควบคุมน้ำตาล หากไม่ควบคุมจะมีอันตรายต่อชีวิต หากน้ำตาลสูงมากจะทำให้ช็อก ถ้าขาดน้ำตาลก็จะทำให้วูบ เค้ก น้ำอัดลม ของหวาน กินได้บ้าง แต่อย่ากินเยอะ ให้กินนิดหน่อยพอรับรส" นางหน่อย (นามสมมติ) กล่าว

การ "เสพติดหวาน" สามารถป้องกันได้ง่ายๆ เพียงแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม "ลด หรืองดน้ำตาล" ถือเป็นเรื่องที่ทุกคนควรตระหนัก และยึดปฏิบัติไว้เพื่อห่างไกลจากโรค และมีสุขภาพแข็งแรง ยืนยาว.