‘รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง’ ข้อคิดเชิงปรัชญาในตำราพิชัยสงครามจากซุนวู ที่ส่งต่อมาถึงคนรุ่นเราจนคุ้นหูกันดี ถึงแม้วันนี้ คนไทยอาจไม่ต้องไปสู้รบปรบมือกับชาติไหน แต่ข้อคิดดีๆ นี้ย่อมสามารถนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อการปรับตัว เตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น

และหนึ่งในเรื่องที่เราจะได้เห็นในอนาคตอย่างแน่นอน ก็คือ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ที่ก้าวล้ำนำสมัยมากขึ้นเรื่อยๆ จนเราอาจจินตนาการไม่ถูกว่ามันจะเข้ามามีส่วนในชีวิตของเราได้อย่างไร?

ด้วยเหตุนี้ ‘การรู้เขารู้เรา รู้จักเทคโนโลยีที่กำลังเข้ามาเปลี่ยนโลก’ ในทศวรรษหน้า คงทำให้เราได้เท่าทัน เตรียมตัว รับมือความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่กำลังมาถึง

*หุ่นยนต์-AI เปลี่ยนโลก

‘AI กำลังจะเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้มากกว่าทุกอย่างที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ’ คำพูดสั้นๆ แต่ทรงพลัง ของนาย Kai-Fu Lee (ไค-ฟู ลี) หนึ่งในผู้บุกเบิกและผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ (Articificial Intelligence หรือ AI) ซึ่งเคยทำงานในบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ระดับโลก ทั้งแอปเปิล ไมโครซอฟต์ ก่อนจะโดนกูเกิล ซื้อตัวไปหลายล้านดอลลาร์

...

ไค-ฟู ลี ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI วัย 57 ปี ซึ่งเกิดที่ไต้หวัน บอกว่า งานอันดับต้นๆ ที่จะโดนหุ่นยนต์ หรือ AI แย่งไปทำ ก็คืองานที่ทำซ้ำๆ อย่างงานในโรงงานอุตสาหกรรม ไปจนถึงสายงานด้านบัญชี สาธารณสุข การตลาด กฎหมาย โรงพยาบาล พนักงานขับรถ รวมถึงงานอีกหลากหลายสาขา

ผลการวิจัยซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยโนมูระของญี่ปุ่น และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดในอังกฤษ คาดการณ์ว่าภายในปี 2030 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า คนทำงาน 1 คน ในจำนวนทุกๆ 2 คนจะต้องสูญเสียงาน เพราะถูกแทนที่โดยหุ่นยนต์ หรือ AI ไม่ว่าจะเป็นงานด้านกฎหมาย เภสัชกร นักเคมี นักฟิสิกส์ ผู้ชำนาญในวิชาสรีรศาสตร์ นักปฐพีวิทยา นักพฤกษศาสตร์ฯ ขณะที่สถาบันแมคคินซีย์ โกลบอล ยังทำนายว่า 10 ปีข้างหน้า งานถึง 800 ล้านตำแหน่ง อาจโดนแย่งโดยหุ่นยนต์ และ AI เลยทีเดียว

* เทคโนโลยี 5G

เทคโนโลยี 5G (5th Generation) คือ ระบบการสื่อสารแบบไร้สายในยุคที่ 5 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีความเร็วสูง และมีความสามารถในการส่งข้อมูลในปริมาณที่มากกว่าระบบ 4G ถึง1,000 เท่า จึงทำให้อุปกรณ์ที่รองรับระบบนี้ จะไม่จำกัดเพียงแค่โทรศัพท์เคลื่อนที่อีกต่อไป แต่จะรวมถึง เครื่องมือ อุปกรณ์และระบบสาธารณูปโภคทั้งหมด

ระบบ 5G เป็นการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือ ยานพาหนะ หรืออาคารสิ่งก่อสร้างที่มีการติดตั้งวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ซอฟต์แวร์ เซนเซอร์ และเครือข่ายการเชื่อมต่อต่างๆ ที่ทำให้อุปกรณ์เหล่านี้สามารถส่งผ่านข้อมูลถึงกัน โดยมีความล่าช้าของเวลาน้อยมาก

ด้านเว็บไซต์ Voathai รายงานเมื่อ 13 มิ.ย.62 บริษัท Ericsson บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม สัญชาติสวีเดน คาดการณ์ว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า ประชากรโลกถึงร้อยละ 45 จะสามารถเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 5G ในปี ค.ศ.2024 ตามรายงานของ CNN ระบุว่า บริษัท Ericsson ยังประเมินจะมีผู้ใช้บริการเครือข่าย 5G ราว 1,900 ล้านคน ในช่วงเวลาเดียวกันด้วย ซึ่งมากกว่าการประมาณการเดิมถึงร้อยละ 27

ปัจจุบัน สหราชอาณาจักร สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ ได้เริ่มนำร่องการใช้โครงข่าย 5G ในเขตเมืองใหญ่บ้างแล้ว ส่วน จีน จะเป็นประเทศต่อไปที่นำระบบ 5G มาใช้ในอนาคตอันใกล้ ขณะที่ ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วโลก ต่างเร่งวางระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับระบบ 5G ที่จะกลายเป็นกำลังสำคัญต่อเทคโนโลยีแห่งอนาคตอย่างมาก ทั้งรถขับเคลื่อนอัตโนมัติ และโครงการ Smart Cities หรือเมืองอัจฉริยะในหลายประเทศทั่วโลก

...

*รถไฟฟ้าและรถขับเคลื่อนอัตโนมัติ

รถไฟฟ้า ไม่ใช่เรื่องใหม่ปัจจุบัน เพราะบางประเทศมีรถยนต์ไฟฟ้าวิ่งอยู่บนท้องถนนกันแล้ว เพียงแต่สิ่งที่บริษัทผลิตรถยนต์กำลังทำในตอนนี้ คือการพยายามปรับปรุงพัฒนาประสิทธิภาพของรถไฟฟ้าให้ดียิ่งขึ้นๆ ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงแบตเตอรี่รถไฟฟ้าให้ใช้งานนานขึ้น การสร้างสถานีชาร์จแบตเตอรี่รถไฟฟ้า เพื่อรองรับจำนวนรถไฟฟ้าที่จะมีคนใช้มากขึ้นเรื่อยๆ

ขณะที่รถขับเคลื่อนอัตโนมัติ (self-driving cars) เป็นเทคโนโลยีที่มีการลงทุนอย่างหนัก ซึ่งหมายถึงรถขับเคลื่อนอัตโนมัติกำลังจะมาถึงเร็วกว่าที่คุณคิด โดยตอนนี้ บริษัทเทสลา ของอีลอน มัสก์ได้มีโหมดควบคุมรถอัตโนมัติแล้ว เพียงแต่ยังสามารถทำหน้าที่แทนคนขับในบางช่วงเท่านั้น จึงทำให้ตอนนี้ มีการเร่งพัฒนาให้ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติของรถยนต์สามารถใช้ได้ตลอดเส้นทางได้อย่างปลอดภัย ซึ่งจะทำให้เราสามารถงีบหลับ พักผ่อน อ่านหนังสือ ขณะเดินทางได้อย่างสบายๆ

* ทัวร์พาเที่ยวอวกาศ

ทัวร์ท่องอวกาศ (Space Tourism) ไม่ใช่เรื่องที่อยู่ไกลเกินเอื้อม สำหรับผู้คนที่ชื่นชอบเรื่องอวกาศอีกต่อไป ถึงแม้ขณะนี้ค่าใช้จ่ายในการขึ้นไปท่องอวกาศยังคงมีสนนราคาแพงมากๆ ก็ตาม

...

บริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ ทั้ง Virgin Galactica ของอภิมหาเศรษฐี ริชาร์ด แบรนสัน บริษัท Space X ของอีลอน มัสก์ หรือแม้แต่บริษัท Blue Origin ของเจฟฟ์ เบซอส มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลก ผู้ก่อตั้งอีคอมเมิร์ซ Amazon กำลังแข่งกันพัฒนาเทคโนโลยียานอวกาศ และระบบลงจอดกันอย่างเต็มที่ เพื่อเตรียมให้บริการทัวร์อวกาศเชิงพาณิชย์

* 3D ปริ้นเตอร์ (3D printers) มาแน่

การพิมพ์ 3 มิติ คือกระบวนการสร้างวัตถุ 3 มิติ ซึ่งมีขั้นตอนในลักษณะเดียวกับการพิมพ์ โดยมีจุดมุ่งหมายสำหรับใช้ในการสร้างต้นแบบอย่างรวดเร็ว และการผลิตแบบเรียงชั้น โดยวัสดุจะถูกขึ้นรูปหรือวางเชื่อมต่อกันภายใต้การควบคุมของคอมพิวเตอร์ โดยวัตถุ 3 มิติ จะถูกสร้างขึ้นจากข้อมูลดิจิตอลของแบบจำลองคอมพิวเตอร์ ทั้งในรูปแบบข้อมูล 3 มิติ หรือในรูปแบบชุดข้อมูล 2 มิติ ที่เรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ จึงทำให้สามารถขึ้นรูปได้เกือบทุกรูปทรง

ตามรายงานของเว็บไซต์ news-innovations ชี้ว่า วงการแพทย์ เป็นหนึ่งในวงการที่สนใจการผลิตอวัยวะเทียม โดยใช้เทคโนโลยี 3D ปรินเตอร์ มากที่สุด มีการคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2024 การใช้เทคโนโลยี 3D ปรินเตอร์ เพื่อนำมาใช้ในการสร้างอวัยวะเทียม จะเป็นเรื่องจริง.. ส่วน การใช้เทคโนโลยี 3D ปรินเตอร์ สำหรับสร้างกระดูกเทียมและแม้แต่ ตับเทียม คาดว่าจะเกิดขึ้นใน 6 ปีหลังจากนั้น หรือในปีค.ศ.2030

...

*อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things)

‘อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง’ ซึ่งภาษาอังกฤษใช้คำว่า Internet of Things หรือ ไอโอที (IoT) เป็นเทคโนโลยีคลื่นลูกที่ 3 ถัดจาก อินเทอร์เน็ต และ Mobile Internet โดยอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่งหมายถึง วัตถุ อุปกรณ์ พาหนะ สิ่งของเครื่องใช้ และสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตอื่นๆ ที่คนสร้างขึ้น โดยมีการฝังตัวของวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ซอฟต์แวร์ เซนเซอร์ ที่สามารถสื่อสารและเชื่อมต่อกันได้ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่ออำนวยความสะดวกให้เราสามารถควบคุมอุปกรณ์เหล่านั้นได้จากที่ไกลๆ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ด้วยอุปกรณ์ควบคุม ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน

เรียกว่า ศักยภาพของ IoT และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างทั่วถึงมากขึ้น จะทำให้ IoT จะเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตและการทำงานของผู้คนในอนาคต เช่นการควบคุมเครื่องปรับอากาศ หรือการสั่งงานเปิด-ปิดไฟฟ้าภายในบ้าน โดยปัจจุบัน เซนเซอร์หรืออุปกรณ์ IoT ที่โดดเด่นแบบสุดๆ คือสายรัดข้อมือ เครื่องวัดสำหรับกิจกรรมและการออกกำลังกาย

อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว จนคาดการณ์ว่าในปี 2020 หรือปีหน้านี้ จะมีอุปกรณ์อัจฉริยะเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต เพิ่มขึ้นมากถึงประมาณ 3-7.5 หมื่นล้านชิ้นเลยทีเดียว

*เทคโนโลยีบล็อกเชน

เทคโนโลยีบล็อกเชน คือ ระบบฐานข้อมูลแบบง่ายๆ มีลักษณะเป็นเครือข่ายการเก็บข้อมูลแบบหนึ่ง แต่มีคุณสมบัติพิเศษ ในเรื่องการเก็บข้อมูลได้อย่างปลอดภัย คือ เป็นการเก็บข้อมูลแบบถาวรซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลเพิ่ม ไม่มีการลบ แก้ไขได้ยากมากๆ หรือแทบจะเป็นไปไม่ได้ รวมทั้ง ไม่มีส่วนกลางในการเก็บข้อมูลอย่างที่เคยเป็นมา จึงสามารถช่วยในการป้องกันความเสี่ยงจากการถูกแฮกเกอร์โจมตี เพราะมีการกระจายสำเนาข้อมูลไปยังผู้ใช้ทุกคนแบบเรียลไทม์ ทำให้แฮกเกอร์ หรือนักเจาะระบบข้อมูลได้ยากขึ้น

การเก็บข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บในแต่ละบล็อก (Block) ที่เชื่อมโยงกันเหมือนกับห่วงโซ่ (Chain) จึงตั้งชื่อตามลักษณะว่า ห่วงโซ่ของบล็อกที่ใช้ในการเก็บข้อมูล

ขณะนี้เทคโนโลยีบล็อกเชนได้ถูกนำมาใช้แล้วในระบบธุรกรรมบางส่วน และสกุลเงินออนไลน์ต่างๆ อีกทั้งเป็นเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลัง บิตคอยน์ นั่นเอง.