เข้าขวบปีที่ 13 หลัง "บิ๊กบัง" พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.ในขณะนั้นนำ "กลุ่มคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค." ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น "คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช." กระทำการยึดอำนาจจาก นายทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 หลังนั่งเก้าอี้นายกฯ แบบเบ็ดเสร็จมาตลอด 6 ปีเต็ม
เวลานั้นหลายฝ่ายมองว่า เหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย เหตุเพราะช่วงอำนาจอยู่ในมือ นายทักษิณ ได้จัดการถอดสลัก "ปฏิวัติ" เรียบร้อยแล้ว เพื่อการันตีอำนาจไทยคู่ฟ้าให้ยั่งยืนยาวนาน ด้วยการตั้งขุนทหารเพื่อนร่วมรุ่น ตท.10 นั่งคุมกำลังสำคัญในกองทัพ โดยเฉพาะหน่วยปฏิบัติการใน กทม.ทั้งหมด โดยไม่วางใจเปลี่ยนมือให้ใครเชยชม รวมทั้งดันเพื่อนหลายคนขึ้นเป็นบิ๊ก ผงาดไลน์ 5 เสือในแต่ละเหล่าทัพ และจ่อขึ้นเป็น ผบ.เหล่าทัพกันแบบยกแผงในไม่ช้า ดังนั้นจึงไม่น่าจะเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ หรือมีทหารกลุ่มไหนกล้าลองของกับนายทักษิณ ในห้วงเวลาดังกล่าว
...
อีกทั้งเมื่อมองไปที่ตัว "ผบ.เหล่าทัพ" ขณะนั้นที่คุมกำลังสำคัญอยู่ ไม่ว่าจะเป็น "บิ๊กบัง" พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. "บิ๊กอุ๊" พล.ร.อ.สถิรพันธ์ เกยานนท์ ผบ.ทร. "บิ๊กต๋อย" พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผบ.ทอ. และ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผบ.ตร. ล้วนเป็นคนที่ นายทักษิณ ต่างตบเก้าอี้ให้แทบทั้งสิ้น แม้จะมีสัญญาณ "อันตราย" เตือนถึงเสถียรภาพเก้าอี้นายกฯ ในการแทรกแซงเหล่าทัพแบบยกแผง แต่ นายทักษิณ ก็ยังเชื่อมั่น "หนี้บุญคุณ" สุดท้ายแล้ว คปค.ที่ล้วนแล้วเป็นทหาร "ตท.6" ก็เข้ายึดอำนาจกลางอากาศ ขณะ นายทักษิณ อยู่ต่างประเทศ และนี่ถือเป็นหมุดหมายสำคัญทางการเมือง การแบ่งขั้วแบ่งสี แบ่งฝักแบ่งฝ่าย และนับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ ความขัดแย้งในสังคมไทยได้หยั่งรากฝังลึก เปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองไปจากเดิมตลอดกาล
เช้าวันรุ่งขึ้นหลังการยึดอำนาจครั้งแรกในรอบ 15 ปี หลัง พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ยึดอำนาจจากรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหวัณ เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2534 ภาพ "รัฐประหารแบบไทยไทย" ได้ถูกถ่ายทอดสู่สายตาชาวโลก ท่ามกลางความประหลาดใจของสื่อต่างชาติ ที่เห็นภาพคนไทยแห่เซลฟี่กับรถถัง มอบดอกไม้ให้เหล่าทหาร ขณะที่เหล่านายพลผู้ก่อการ กลายเป็น "องค์อธิปัตย์" ใช้อำนาจ "รัฏฐาธิปัตย์" ยืนเรียงหน้าอ่านแถลงการณ์ ย้ำ 4 เหตุผลในการยึดอำนาจ ก่อนเชิญคณะทูตานุทูตมาพบเพื่อชี้แจง และตั้งโต๊ะตอบคำถามสื่อไทยและเทศกว่า 400 ชีวิตในวันนั้น
โดยย้ำว่า "คณะรัฐประหารวางแผนยึดอำนาจล่วงหน้าเพียง 2 วัน มีแผนยึดอำนาจระยะสั้นเท่านั้น จากนั้นจะยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวขึ้นมาเพื่อบริหารประเทศ และแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีกับคณะรัฐมนตรีชั่วคราวภายใน 2 สัปดาห์ จะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 1 ปี ส่วนการสอบสวนความผิด นายทักษิณ ให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม"
ขณะปกครองประเทศ คณะรัฐประหารได้ออก "ประกาศ คปค." ฉบับต่างๆ อยู่ 10 วัน จนถึง 1 ต.ค.49 ก็ประกาศธรรมนูญปกครองประเทศชั่วคราว ปี 49 โดยมีทั้งหมด 39 มาตรา มีการกำหนดให้ คปค.เป็นผู้รับผิดชอบงานด้านความมั่นคงทั้งหมด โดยเปลี่ยนสภาพเป็น "คมช." โดยหัวหน้า คปค.จะดำรงตำแหน่งประธาน คมช. มีอำนาจเป็นผู้สนองพระบรมราชโองการ แต่งตั้ง นายกรัฐมนตรี ประธานสภา รองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ สมัชชาแห่งชาติ และคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ที่จะประกาศใช้ในเวลาต่อมา (รัฐธรรมนูญ ปี 50) จากนั้นต่อมาได้แต่งตั้งให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งองคมนตรี ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี "คนที่ 24" ของประเทศไทย และมีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้ามาบริหารประเทศ
...
นี่ถือเป็นเพียงบางส่วนของเหตุการณ์ในครั้งนั้น ที่เดินผ่านช่วงเวลามากว่าทศวรรษ ให้เราได้เรียนรู้และจดจำกัน แต่วันนี้ "ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์" จะตามไปดูว่า เหล่าอดีตรัฐมนตรีคนสำคัญของรัฐบาล หลังการรัฐประหารครั้งนั้น ที่สื่อตั้งสมญานามว่า "รัฐบาลขิงแก่" วันนี้แต่ละคนไปไหน และทำอะไรกันอยู่บ้าง ?
1. พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ "บิ๊กแอ๊ด" ได้รับการแต่งตั้งโดย คปค.ภายหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ให้ดำรงตำแหน่ง "นายกรัฐมนตรี" ก่อนเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์ เคยดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และองคมนตรี ต่อมาในปลายเดือน ก.ย.2550 นายอารีย์ วงศ์อารยะ รมว.มหาดไทย ขณะนั้น ลาออกจากตำแหน่ง พล.อ.สุรยุทธ์ จึงได้นั่งควบตำแหน่ง "รมว.มหาดไทย" อีกหนึ่งตำแหน่ง ต่อมาวันที่ 8 เม.ย.2551 พล.อ.สุรยุทธ์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ จากรัชกาลที่ 9 ให้ดำรงตำแหน่ง "องคมนตรี" เป็นครั้งที่สอง และในวันที่ 9 ธ.ค.2560 มีพระราชโองการโปรดเกล้าเป็น "ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์" นอกจากนี้ปัจจุบันยังเป็น "รักษาการประธานองคมนตรี" ด้วย
...
2. ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล "หม่อมอุ๋ย" ดำรงตำแหน่ง "รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง" หลังรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ ก่อนยื่นจดหมายลาออกด้วยเหตุผลไม่พอใจการนำคนจาก "รัฐบาลทักษิณ" มาร่วมทำงาน และการดำเนินงานของรัฐมนตรีบางคนที่เอื้อประโยชน์ให้สื่อบางราย เป็นการเฉพาะ ต่อมาภายหลังรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 ได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา คสช.ระหว่าง 26 พ.ค.2557-30 ก.ย.2558
...
3. พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน "บิ๊กบัง" นายทหารที่เติบโตจากหน่วยรบพิเศษ ก่อนก้าวขึ้นสู่ ผบ.ทบ. เชื่อกันว่า นายทักษิณ เป็นคนจิ้มชื่อ บิ๊กบัง นั่งจ่าฝูง ทบ.กับมือ ขณะที่หนึ่งในภรรยาของ บิ๊กบัง ก็มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร โดย นายทักษิณ หวังใช้บุญคุณและสายสัมพันธ์เป็นโล่กำบังการยึดอำนาจ แต่แล้วคืนวันที่ 19 ก.ย.2549 ระหว่างที่ นายทักษิณ บินไปประชุมยูเอ็นที่สหรัฐฯ พล.อ.สนธิ ในฐานะหัวหน้า คปค. ก็ยึดอำนาจจากรัฐบาลทักษิณได้สำเร็จ พร้อมให้คำมั่นคืนอำนาจประชาชนภายใน 1 ปี และเชิญ พล.อ.สุรยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยหลังตั้งรัฐบาล พล.อ.สนธิ ได้เปลี่ยนตำแหน่งจากหัวหน้า คปค.มาเป็นประธาน คมช. ขณะที่ปี 2550 พล.อ.สนธิ เข้ารับตำแหน่ง "รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง" ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ ก่อนภายหลัง พล.อ.สนธิ จะตัดสินใจก่อตั้ง "พรรคมาตุภูมิ" และลงสมัครเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ได้ดำรงตำแหน่ง ส.ส.และเป็นหนึ่งในผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ และเป็นประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นอกจากนี้ยังเป็นที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนาอีกด้วย
4. พล.อ.บุญรอด สมทัศน์ สำเร็จการศึกษาก่อนเข้ารับราชการ จากโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 1 (ตท.1) พ.ศ.2501 โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 12 (จปร.12) ได้รับการแต่งตั้งเป็น "รมว.กลาโหม" หลังรัฐประหาร 19 ก.ย.49 ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์
5. นายนิตย์ พิบูลสงคราม ได้รับการแต่งตั้งดำรงตำแหน่ง "รมว.ต่างประเทศ" หลังรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ ปัจจุบันถึงแก่อนิจกรรมเนื่องจากอาการเส้นโลหิตในสมองแตก จากมะเร็งในเม็ดเลือดขาว เมื่อวันที่ 24 พ.ค.2557 สิริอายุ 72 ปี
6. นายอารีย์ วงศ์อารยะ เคยรับราชการในกระทรวงมหาดไทย และเคยดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง อีกทั้งยังเคยเป็นอดีต ส.ว.เมื่อ ปี 2538 และเคยเป็น รมช.ศึกษาฯ ในสมัยรัฐบาล นายทักษิณ ต่อมาหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น "รมว.มหาดไทย" ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ และลาออกจากตำแหน่งในเวลาต่อมา เนื่องจากปัญหาการถือครองหุ้น
7. นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ หลังจากรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 เคยถูก "ทาบทาม" จาก คปค.ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ในที่สุดทาง คปค.ได้ตัดสินใจเลือก พล.อ.สุรยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีแทน ต่อมาจึงถูกเลือกให้เป็น "รมว.ยุติธรรม" ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ และได้รับพระบรมราชการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นกรรมการกฤษฎีกาในปี 2549 ภายหลังจากที่พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี นายชาญชัย ได้ยื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกา เพื่อขอกลับรับราชการเป็นผู้พิพากษาอาวุโส ต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯ เป็น "องคมนตรี" เมื่อวันที่ 8 เม.ย.2551 จนถึง 6 ธ.ค.2559 และได้รับโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่ง "องคมนตรี" ในรัชกาลที่ 10 จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรม นอกจากนี้ยังเป็น 1 ใน 3 องคมนตรี ที่เคยถูกตั้งเป้า "ลอบสังหาร" แต่เจ้าตัวออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า ไม่เคยทราบเรื่องมาก่อน
8. นายวิจิตร ศรีสอ้าน หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ได้รับแต่งตั้งดำรงตำแหน่ง "รมว.ศึกษาฯ" ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์พิเศษ ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี นายกสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และที่ปรึกษาสำนักงานรับรองมาตรฐานและประกันคุณภาพการศึกษา (สมศ.)