หนึ่งในวิถีนิวนอร์มอลของคนยุคใหม่ คือการมองหาประสบการณ์ท่องเที่ยวในที่แปลกใหม่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก ด้วยเหตุนี้การท่องเที่ยว “เมืองรอง” จึงเป็นเทรนด์สำคัญในยุคหลังโควิด-19 ที่หลายประเทศพยายามผลักดันให้เป็นที่นิยม เพื่อกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจสู่ชุมชน

ต้นแบบความสำเร็จในการพัฒนาการท่องเที่ยว “เมืองรอง” เทียบชั้นเมืองหลัก ต้องยกให้ “ญี่ปุ่น” โดยคนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นปีละไม่ต่ำกว่า 1.3 ล้านคน ซึ่งระยะหลังจุดหมายปลายทางไม่ได้จำกัดเฉพาะเมืองใหญ่ยอดนิยม เช่น โตเกียว, โอซากา, เกียวโต และฮอกไกโด แต่ญี่ปุ่นเริ่มโปรโมตการท่องเที่ยวเมืองรองมากขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคคิวชู (ตอนใต้) เช่น นางาซากิ, ฟุกุโอกะ, โอกินาวะ รวมถึงจังหวัดรองจากภูมิภาคอื่นๆ

...

จากการศึกษาของ ศูนย์พัฒนาวิชาการด้านตลาดการท่องเที่ยว (TAT Academy) บ่งชี้ว่า สถานที่ท่องเที่ยวที่จัดอยู่ในกลุ่ม “Unseen Japan” อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะชุบชีวิตอุตสาหกรรมท่องเที่ยวญี่ปุ่นให้กลับมาคึกคักใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด ซึ่งการท่องเที่ยวมีส่วนสนับสนุน GDP ของญี่ปุ่น มากถึง 359,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ถามว่าทำไมญี่ปุ่นจึงพัฒนาการท่องเที่ยวเมืองรองได้สำเร็จ เพราะรัฐบาลญี่ปุ่นมุ่งมั่นส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง โดย องค์การการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (JNTO) ประกาศนโยบายให้จังหวัดเมืองรองวิเคราะห์และประเมินความเป็นไปได้ของโอกาสการท่องเที่ยว และสร้างเส้นทางการท่องเที่ยวนอกเหนือเมืองสำคัญ ผ่านการค้นหาจุดเด่นของแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นด้านธรรมชาติ หรือวัฒนธรรม ซึ่งองค์กรปกครองท้องถิ่นสามารถจัดการดูแลการท่องเที่ยวได้ด้วยตัวเอง และมีอำนาจตัดสินใจเต็มที่ ขณะที่ JNTO รับหน้าที่ประชาสัมพันธ์ในระดับชาติ เช่น การจัดอีเวนต์, แคมเปญการท่องเที่ยว และให้ข้อมูลเดินทาง โดยการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองถือเป็นการดำเนินนโยบายแบบคู่ขนาน เพื่อเชิญชวนนักท่องเที่ยวเดินทางไปสู่ภูมิภาคอื่นๆที่ยังไม่ได้รับความนิยม

...

อะไรคือปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวสู่เมืองรอง ต้องยกเครดิตให้ “ระบบขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพของญี่ปุ่น” ทำให้เรื่องเที่ยวเป็นเรื่องง่าย โดยเฉพาะการเดินทางท่องเที่ยวด้วยรถไฟความเร็วสูงที่สามารถเชื่อมต่อถึงกันได้อย่างสะดวกรวดเร็วทั้ง 6 ภูมิภาค ทำให้ประหยัดเวลาการเดินทาง แต่ละจังหวัดยังมีรถเมล์ท้องถิ่นที่วางเส้นทางการเดินรถผ่านสนามบินและสถานีรถไฟ เพื่อนำพานักท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นแลนด์มาร์กของจังหวัดเมืองรองต่างๆ ที่สำคัญ “การปกครองท้องถิ่นของญี่ปุ่นเข้มแข็งมาก ไม่ต้องรอพึ่งส่วนกลาง สามารถคิดเร็วทำเร็ว” แต่ละจังหวัดมีหน้าที่รับผิดชอบต่อนโยบายการท่องเที่ยวของจังหวัดตนเอง พร้อมเสริมขีดความสามารถให้เป็นที่ต้องตาต้องใจของนักท่องเที่ยว เพื่อแข่งกันดึงดูดรายได้สู่ท้องถิ่น

...

JNTO ยังพยายามสนับสนุนให้ “กิจกรรมการท่องเที่ยวของแต่ละจังหวัดเมืองรองมีความเป็นพลวัต เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ทว่าคงไว้ซึ่งความเป็นต้นตำรับของชาติญี่ปุ่น” สำหรับปี 2566 การท่องเที่ยวเมืองรองของญี่ปุ่นจะขับเคลื่อนด้วย 3 แนวทางคือ การท่องเที่ยวเชิงผจญภัย, การท่องเที่ยวแบบหรูหรา และการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน...นับเป็นความชาญฉลาดในการแบ่งปันประโยชน์ให้กลับคืนสู่เศรษฐกิจท้องถิ่น ซึ่งเมืองไทยน่าเอาเยี่ยงอย่าง.

...