ย้อนหลังกลับไปในวันที่ 5 มกราคม 2021 เกิดประเด็นการเรียกร้องอย่างแหลมคมโดยพนักงานของบริษัทที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอย่างกูเกิล (Google)

การจัดตั้งใช้เวลาไม่นานนัก ตัวเลขของผู้เข้าร่วมสหภาพกูเกิล จากเดิมที่มีประมาณ 230 คน กระโดดขึ้นไปเป็น 800 คน และในเวลานี้ ก็อยู่ระหว่างการหาแนวร่วมเพื่อให้การเติบโตของสหภาพแรงงานนี้ ขยายฐานกว้างออกไปให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

แม้ในเวลานี้ อาจเร็วเกินไปที่จะกล่าวได้โดยภาพรวมว่า สหภาพแรงงาน ซึ่งจัดตั้งโดยกลุ่มคนทำงานของกูเกิล จะมีทิศทางอย่างไร เป็นบวก หรือเป็นลบ

ปรากฏการณ์ของการจัดตั้งสหภาพแรงงานภายในบริษัทกูเกิลนั้น คงต้องกล่าวว่า มาจากปัญหาที่ถูกหมักหมมอยู่ภายในเป็นเวลานาน ตั้งแต่ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ จนทำให้กูเกิล ต้องไล่พนักงานหลายระดับ ตั้งแต่ระดับธรรมดา ไปจนถึงผู้บริหารระดับสูง ในปี 2018

แอนดี รูบิน บิดา Android
แอนดี รูบิน บิดา Android

...

แต่ที่เป็นประเด็นใหญ่มากที่สุดครั้งหนึ่ง ต้องย้อนกลับไปในปี 2014 จากกรณีคุกคามทางเพศของแอนดี รูบิน (Andy Rubin) บุคคลที่ได้ชื่อว่า เป็นบิดาของระบบปฏิบัติการ Android แม้ว่าแอนดี รูบิน จะถูกบีบให้ลาออกจากกูเกิล ถึงกระนั้นแล้ว เขาก็ยังได้เงินชดเชยมากถึง 90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ต่อมาเป็นประเด็นที่เพิ่งเกิดขึ้นในปลายปี 2020 จากการที่กูเกิลไล่ทิมนิต เกบรู (Timnit Gebru) นักวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ โดยเธอเป็นคนผิวดำ ภายหลังกูเกิลมีความพยายามให้เธอถอนงานวิจัยชิ้นใหม่ ซึ่งเกี่ยวกับการวิเคราะห์ความเสี่ยงของการใช้ปัญญาประดิษฐ์ และการฝังชุดข้อมูลที่เป็นอคติต่อคนชายขอบในระบบของปัญญาประดิษฐ์ เหตุการณ์นั้น มีพนักงานกูเกิลไม่ต่ำกว่า 1,200 คน และบุคคลภายนอกกว่า 1,900 คน ร่วมลงชื่อคัดค้านไม่เห็นด้วยกับกูเกิล ทั้งในมุมที่ว่ากูเกิลพยายามเซนเซอร์งานวิจัยของเธอ และกูเกิลอาจเลือกปฏิบัติกับเธอเป็นพิเศษ

ต่อด้วยประเด็นการพัฒนาเครื่องค้นหาในชื่อ Project Dragonfly เพื่อเอาใจประเทศจีนโดยเฉพาะ ซึ่งภายในจะมีการเซนเซอร์เนื้อหาตามที่รัฐบาลจีนต้องการ แน่นอนว่าเรื่องนี้ขัดต่อหลักความเข้าใจพื้นฐานของคนอเมริกัน

ทิมนิต เกบรู
ทิมนิต เกบรู

ตามมาด้วยปมการเลือกปฏิบัติต่อพนักงานหญิงและชาวเอเชียอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งแม้ว่ากูเกิลจะออกมาแก้ไขปัญหานี้ ด้วยการจ่ายเงิน 2.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ก็เป็นการแสดงท่าทีที่ช้าเกินไป

นอกจากนี้ กูเกิลยังเจอปัญหาการประท้วงของพนักงานจากกรณีการร่วมพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ร่วมกับกองทัพสหรัฐฯ ในชื่อ Project Maven อีกด้วย เพราะคนงานกูเกิลที่ไม่เห็นด้วย เชื่อว่า เทคโนโลยีควรถูกนำไปใช้เพื่อให้โลกน่าอยู่ขึ้น มากกว่าที่จะถูกนำไปใช้ในปฏิบัติการทางทหาร

ขณะเดียวกัน การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้พนักงานสัญญาจ้างจำนวนมาก เกิดความรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิตการทำงาน และมีความเสี่ยงที่จะตกงานได้ทุกเมื่อ เพื่อลดค่าใช้จ่ายของบริษัท

ตัวอย่างที่ยกมาล้วนเป็นหนึ่งในเชื้อไฟที่สร้างความไม่พอใจเพราะไม่เห็นด้วยกับแนวทางของบริษัท และในหลายประเด็นก็มีความอ่อนไหวซ่อนอยู่ จึงทำให้กลุ่มก้อนคนงานของกูเกิล ที่มีแนวคิดเห็นต่างกับบริษัท เริ่มเคลื่อนไหว และเกิดชุมชนใหม่ในรูปแบบของสหภาพแรงงานขึ้นมา

การเดินประท้วงของพนักงานกูเกิลในปี 2018
การเดินประท้วงของพนักงานกูเกิลในปี 2018

...

สหภาพแรงงานของกูเกิล มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Alphabet Workers Union หรือ AWU ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่า นับตั้งแต่ปี 2021 หลังจากนี้เป็นต้นไป จะเป็นปีที่สหภาพแรงงานของกูเกิลพร้อมที่จะออกแสดงความเห็น และแสดงความเคลื่อนไหวมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อสร้างชุมชนและแนวร่วมให้เกิดขึ้นในวงกว้าง

ทั้งนี้ สหภาพแรงงานกูเกิล ได้เขียนค่านิยมของสหภาพขึ้นมา ซึ่งมีด้วยกัน 7 ข้อ แต่ข้อที่น่าสนใจก็คือ ข้อที่ 3 กล่าวว่า คุณค่าหลักที่สหภาพให้คุณค่า คือการมีสภาพแวดล้อมการทำงานที่อบอุ่น ปราศจากการคุกคามทางเพศ การไม่เลือกปฏิบัติ โดยไม่คำนึงถึงอายุ ช่วงชั้นทางสังคม ประเทศที่เกิดมา ความพิการ เชื้อชาติ ศาสนา หรือรสนิยมทางเพศ

และข้อที่ 4 เขียนว่า งานของสหภาพจะเน้นไปที่ความโปร่งใส มีเสรีภาพที่จะปฏิเสธงานที่ไม่สอดคล้องกับค่านิยม

โลโก้ AlphabetWorkers ภาพจากเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/AlphabetWorkers/
โลโก้ AlphabetWorkers ภาพจากเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/AlphabetWorkers/

...

ส่วนแนวทางการเคลื่อนไหวของสหภาพจะมีหลายรูปแบบ ทั้งการสร้างรณรงค์สาธารณะ การพูดคุยโดยตรงกับหน่วยงานกำกับดูแลของรัฐบาล เพื่อกดดันกูเกิลในทางอ้อม

แม้ในความเป็นจริงอย่างหนึ่งที่ต้องยอมรับ นั่นคือ การจัดตั้งสหภาพแรงงานในบริษัทเทคโนโลยี เป็นเรื่องแปลก ผิดปกติ และแทบไม่เกิดขึ้นมาก่อน แต่ก็เคยเกิดขึ้นกับบริษัท Kickstarter เพียงแต่ Kickstarter เป็นบริษัทขนาดเล็ก พนักงานน้อยกว่า 200 คน เทียบไม่ได้กับกูเกิล ซึ่งมีพนักงานประจำมากกว่า 1.2 แสนคน และพนักงานสัญญาจ้างอีกกว่า 1.3 แสนคน

เนื่องจากทุกบริษัทในโลกเทคโนโลยีมีความพยายามในการจัดระเบียบพนักงานมาเป็นเวลานาน และในหลายครั้งบริษัทก็ตอบรับข้อเรียกร้องของพนักงาน ดังจะเห็นได้จากกรณีการจ่ายเงินชดเชยให้กับบุคคลที่ถูกเลือกปฏิบัติ ซึ่งหากเราจะมองว่า การกระทำดังกล่าวของบริษัท คือความพยายามในการเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของแรงงานในบางประเด็น เพื่อที่จะไม่เห็นด้วยในบางข้อเรียกร้อง ก็พอเป็นสิ่งที่ถกเถียงกันได้

อย่างไรก็ดี คงต้องระบุไว้ด้วยว่า จากสถานการณ์ทั้งหมด ดูเหมือนว่ากูเกิล จะยังมีท่าทีที่สงบต่อการจัดตั้งสหภาพแรงงานก็จริง แต่ก็มีการเปิดเผยว่า เวลานี้ กูเกิลได้ว่าจ้างบริษัทที่มีชื่อว่า IRI Consultants เป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับการจัดตั้งสหภาพในบริษัท

ทว่าบริษัท IRI Consultants เป็นบริษัทที่มีแนวคิดต่อต้านสหภาพ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจและชวนคิดต่อไปว่า การถกเถียงเรื่องในมุ้งของกูเกิลหลังจากนี้ จะเป็นไปในทิศทางใด

จากการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ของพนักงานกูเกิล ได้ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมต่อแรงงานในบริษัทเทคโนโลยีมากขึ้น ทั้งที่เกิดขึ้นกับแรงงานของแอมะซอน (Amazon) และพินเทอร์เรสต์ (Pinterest) ในการแสดงออก เรียกร้อง และต่อสู้ประเด็นทางสังคมและการเมืองขึ้นมาโดยทันที

...