1 พฤษภาคม 2564 วันแรงงานแห่งชาติ ปีนี้ก็นับเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ประเทศไทยและทั่วโลกยังมีปัญหาเชื้อโควิด-19 ระบาดอย่างหนัก (เริ่มระบาดครั้งแรกมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563) จนมาถึงโควิด ระลอก 3 ที่ต้นทางมาจากสถานบันเทิง คริสตัลคลับ ที่กำลังสร้างปัญหาหนักสุดในประเทศไทย อย่างไรก็ดีหลายฝ่ายคาดการณ์กันว่า น่าจะเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์กันบ้าง ช่วงสิ้นเดือนเม.ย.นี้ (การแพร่ระบาดลดลง)
ทั้งนี้ หากถามว่า นโยบายหาเสียงที่รัฐบาลชุดนี้ (พลังประชารัฐ) เข้ามาเป็นรัฐบาลเกือบ 2 ปี ที่ให้ไว้กับพี่น้องประชาชนตอนที่หาเสียงเลือกตั้งใหญ่ปี 2562 แต่ละนโยบายเดินหน้าไปถึงไหนแล้ว
ทั้ง ค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาท - ป.ตรีเงินเดือน 2 หมื่น อาชีวะ 1.8 หมื่น - เด็กจบใหม่เว้นภาษี 5 ปี - เสนอเว้นภาษีออนไลน์ 2 ปี และลดภาษีบุคคลธรรมดา 10% หรือจะเป็นนโยบายมารดาประชารัฐ เงินช่วยเหลือระหว่างตั้งครรภ์ 3,000 บาทต่อเดือน - เงินค่าคลอดบุตร จำนวน 1 หมื่นบาท - ค่าเลี้ยงดูบุตร จำนวน 2 พันบาทต่อเดือน ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 ขวบ
โดยหากเป็นคำตอบเก่าๆ ของรัฐบาลชุดนี้ ก็จะมีตั้งแต่ "ยังไม่ใช่นโยบายเร่งด่วน จะขึ้นเป็นขั้นบันได เพราะแต่ละจังหวัดมีค่าแรงไม่เท่ากัน หรือต้องยกระดับฝีมือแรงงานก่อนถึงจะขึ้นค่าแรงได้" และอีกคำตอบคือ มีการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างแล้ว แต่ไม่ได้ข้อยุติ (ค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาท)
หรือนโยบาย ป.ตรีเงินเดือน 2 หมื่น อาชีวะเงินเดือน 1.8 หมื่น ก็จะเจอคำตอบคล้ายกัน คือ ต้องขึ้นเป็นขั้นบันได เหมือนค่าแรงขั้นต่ำ
...
แน่นอน ต้องยอมรับว่าช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาดใหญ่ มาตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ทำให้ความหวังของแรงงานทั้งหลายพังทลายลงไม่เป็นท่า ไม่มีรัฐบาลประเทศไหนในโลกนี้ทำตามนโยบายที่ให้ไว้กับแรงงานประเทศตัวเองได้ เมื่อเศรษฐกิจ รายได้การส่งออก การท่องเที่ยว ติดลบอย่างหนัก เรียกว่าถึงวันนี้แรงงานคนใดยังมีงานทำ มีรายได้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้ ก็นับว่าโชคดีมากแล้ว
"จับกัง 1" ยัน ยังไม่พบปัญหา หรือเรื่องน่าหนักใจจริงๆ ในการช่วยแก้โควิด-19 ในส่วนที่กระทรวงแรงงาน รับผิดชอบ 16 ล้านคน
นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ยืนยัน ในส่วนที่กระทรวงแรงงาน ซึ่งรับผิดชอบผู้ประกันตนจำนวน 16 ล้านคนทั่วประเทศ ในเรื่องโควิด-19 ทางกระทรวงแรงงานที่ผ่านมาได้ทำงานอย่างเต็มที่ ยืนยันว่ายังไม่พบเรื่องน่าหนักใจ หรือเรื่องร้องเรียนอะไร กับกลุ่มผู้ประกันตน ที่กระทรวงแรงงานดูแลอยู่
"ถามว่า ใน 16 ล้านคนที่ดูแลอยู่ อาจมีสัก 1,000 คน ที่มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาก็เป็นได้ แต่ถ้ามีสัก 1,000 คนร้องเรียนเทียบกับคน 16 ล้าน ก็ถือได้ว่ามีจำนวนน้อยมาก ถามว่าผมรู้ได้อย่างไร ก็ผมเป็นรมว.แรงงาน และอยู่ในไลน์ที่มีสหภาพแรงงานอยู่ ถ้ามีเรื่องอะไรร้องเข้ามาก็ต้องทราบอย่างแน่นอน ตอนนี้ขอพุ่งเป้าแก้ปัญหาโควิด-19 เป็นหลัก" รมว.แรงงาน กล่าว
มุ่งช่วยแรงงานจัดการเร่งด่วนโควิด-19 ก่อน นโยบายแรงงานที่พรรคหาเสียงไว้โอกาสหน้า
อย่างไรก็ตาม นายสุชาติ ขอยังไม่ออกความคิดเห็น เรื่องนโยบายของพรรคพลังประชารัฐที่ใช้หาเสียงในการเลือกตั้งใหญ่เมื่อปี 2562 ก่อนมาเป็นรัฐบาล ทั้งเรื่อง ค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาท -ป.ตรีเงินเดือน 2 หมื่น อาชีวะ 1.8 หมื่น -เด็กจบใหม่เว้นภาษี 5 ปี -เสนอเว้นภาษีออนไลน์ 2 ปี และลดภาษีบุคคลธรรมดา 10% หรือจะเป็นนโยบายมารดาประชารัฐ เงินช่วยเหลือระหว่างตั้งครรภ์ 3,000 บาทต่อเดือน -เงินค่าคลอดบุตร จำนวน 1 หมื่นบาท -ค่าเลี้ยงดูบุตร จำนวน 2 พันบาทต่อเดือน ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 ขวบ ว่า รัฐบาลได้เดินหน้าไปถึงไหนแล้วบ้าง เนื่องจากอย่างที่บอก ตอนนี้รัฐบาลขอเน้นเรื่องการแก้ปัญหาโควิด-19 ที่กำลังระบาดหนัก ระลอก 3 เป็นเรื่องเร่งด่วนเสียก่อน
ซัดกลับ คนมาจี้ให้ "นายกฯ-อนุทิน ลาออก" ไหนลองเสนอวิธีแก้โควิด-19 ให้ดูหน่อย
ทั้งนี้ รมว.แรงงาน ยังได้กล่าวถึงกรณีที่นักการเมืองฝ่ายตรงข้าม และกระแสเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ลาออกเพื่อรับผิดชอบแก้ปัญหาโควิด-19 ล้มเหลว ว่า ก็อยากให้คนที่ออกมาพูดได้มาเสนอวิธีการแก้ปัญหาโควิด-19 หน่อย ว่าต้องทำอย่างไร การที่ออกมาเรียกร้องให้ลาออกอย่างเดียวมันไม่ใช่
อย่างเรื่องการฉีดวัคซีนโควิด-19 ตอนแรก ท่านนายกฯ มอบให้สาธารณสุขไปดู แต่เมื่อมันมีปัญหา ท่านก็ดึงกลับมาดูเอง ตอนนี้ถึงมีการพยายามนำวัคซีนหลายยี่ห้อเข้ามา แล้วการที่เอาประเทศไทยไปเปรียบเทียบกับต่างประเทศ อาทิ ประเทศสิงคโปร์ ต้องถามก่อนว่า จำนวนประชากรก็ไม่เท่ากัน ของไทยเรามี 66 ล้านคน ขณะที่สิงคโปร์ มี 5 ล้านคน ต้องมีการฉีดวัคซีนทุกคน ก็ย่อมไม่เหมือนกันอยู่แล้ว เอามาเปรียบเทียบกันคงไม่ได้ แล้วถามหน่อยว่าตอนนี้มีประเทศไหนบ้างที่ไม่มีปัญหาเรื่องโควิด-19 ทุกประเทศทั่วโลกก็มีเหมือนกันหมด
ยัน ไม่ได้นิ่งนอนใจ ปัญหาขัดแย้ง เรื่องสวัสดิการ ความไม่เป็นธรรม ระหว่าง “ไรเดอร์ กับ Grab”
ส่วนความขัดแย้งของคนขับ “ไรเดอร์ Grab” กับ บริษัท เกร็บ ประเทศไทย ในเรื่องสวัสดิการ หรือความปลอดภัยในชีวิตของคนขับ “Grab” ที่มีการรวมตัวร้องเรียนไปที่ ก.แรงงาน ถึงตอนนี้เรื่องไปถึงไหน รมว.แรงงาน กล่าวว่า ทางกระทรวงแรงงานไม่ได้นิ่งนอนใจ ยังเดินหน้าดำเนินการแก้ปัญหาในเรื่องข้อกฎหมายที่ติดขัดอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่คงไม่สามารถระบุถึงวันเวลาได้ว่าจะสามารถใช้ได้เมื่อใด
ส่วนกรณีเรื่องสวัสดิการที่ถูกร้องเรียนว่า บริษัทเอกชน ไม่มีความเป็นธรรม ทำสัญญาเอารัดเอาเปรียบคนขับไรเดอร์ ส่งพัสดุ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร หรืออะไรก็ตาม ทางกระทรวงแรงงานยอมรับว่า คงไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวอะไรได้มากนัก เพราะเป็นเรื่องข้อตกลงระหว่าง บริษัทแกร็บ ประเทศไทย กับ ไรเดอร์ Grab ซึ่งตามกฎหมายในที่นี้ไม่ได้เป็น "ลูกจ้าง" กับทางบริษัท แต่อยู่ในสถานะ “พาร์ทเนอร์” (Partner) จึงต้องเข้าไปตกลงกันเอาเอง เนื่องจากเป็นเรื่องการบริหารจัดการข้อตกลงของทั้ง 2 ฝ่าย ที่ยังไร้กฎหมายใดมารองรับ นายสุชาติ กล่าวต่อว่า ไม่เช่นนั้นถามว่าหากให้บริษัทแกร็บเข้ามาจ่ายเงินตามกฎหมายแรงงานได้หรือไม่ คำตอบก็คือ "เขาคงไม่เข้ามา"
วันแรงงานแห่งชาติ 1 พ.ค.2564 ดูแนวโน้มทิศทางอนาคตแรงงานไทยแล้ว ยังเป็นปีที่ดูช่างว้าเหว่ ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า เพราะ "โควิด-19" เป็นที่มาชะลอหรือหยุดชีพจรกิจกรรมเศรษฐกิจไทยเกือบทุกอย่าง ทำให้กลุ่มแรงงานต้องผจญกับการตกงาน ถูกเลิกจ้าง ไม่มีเงินใช้ ชีวิตความเป็นอยู่เป็นไปด้วยความยากลำบาก (มาตั้งแต่ปีที่แล้ว)
อีกส่วนก็มาจากการหาเสียงของนักการเมืองที่ไร้ความรับผิดชอบ โฆษณานโยบายที่เป็นไปได้ยาก หรืออาจเป็นไปไม่ได้เลย จนมีประชาชนจำนวนมากหลงเชื่อ และมีความหวัง และเลือกตั้งเข้ามา สุดท้ายก็ทำไม่ได้อย่างที่เคยสัญญา
อันนี้ เป็นมานานทุกยุคทุกสมัย หรือใครจะว่าไม่จริง!!!