เมื่อพูดถึงเรื่องของ “ความตาย” ซึ่งเป็นปลายทางของชีวิตที่ไม่ว่าใครก็เลี่ยงไม่ได้ แต่ที่ผ่านมาหลายคนมักจะรู้สึกอ่อนไหวกับคำนี้ เพราะรู้สึกเหมือนถูกสาปแช่ง แต่หลังจากที่เราเจอการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งพรากชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมาก ก็ทำให้หลายคนเข้าใจว่า ความตาย อยู่ใกล้เรานิดเดียว และอาจจะมาแบบไม่ทันตั้งตัว
ทีมข่าวไลฟ์สไตล์ไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสได้พูดคุยกับ ปิญชาดา ผ่องนพคุณ หรือกอเตย ผู้ก่อตั้ง เบาใจ แฟมิลี่ (Baojai Family) ซึ่งนิยามบทบาทของตนเองว่าเป็น นักวางแผนการตาย (Death Planner) ผู้ทำให้การพูดถึงเรื่องความตายและการวางแผนชีวิตไว้ล่วงหน้า ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอีกต่อไป
จุดเริ่มต้นของ เบาใจ แฟมิลี่
ก่อนหน้าที่เธอจะมาทำหน้าที่นี้ กอเตย เคยทำงานเป็น กระบวนกร (Facilitator) ซึ่งเป็นผู้สร้างและดำเนินกิจกรรมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันให้กับ Peaceful Death ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีความรู้ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญในการดูแลการเจ็บป่วย การตาย การบริบาล และความสูญเสีย โดยให้การสนับสนุน ผลักดัน และส่งเสริมระบบนิเวศของการอยู่ดีและตายดีมาก่อน
จากประสบการณ์ดังกล่าวทำให้เธอพบว่าคนที่มาทำกิจกรรมเวิร์กช็อปหลายคนมีการเตรียมตัวเองในเรื่องวางแผนการตายได้ดี แต่เมื่อต้องให้ไปสื่อสารกับคนในครอบครัว มักจะเกิดปัญหาที่ไม่ค่อยมีใครกล้าพูดเรื่องนี้กับคนที่บ้าน เธอจึงเกิดคำถามว่าเพราะอะไรเราจึงไม่สามารถคุยเรื่องนี้กับคนในครอบครัวได้
...
“เตยเคยคุยกับคุณพ่อในตอนที่เขาป่วยระยะท้าย เราก็พบว่าการที่เราได้สื่อสารหรือพูดคุยเป็นเรื่องที่ดีมากๆ เลย เราอยากให้สิ่งนี้เกิดขึ้นในสังคมไทย ก็เลยมองว่าถ้าตรงนี้เป็น pain จริงๆ ในฐานะที่เราเป็นผู้สื่อสารเรื่องการเตรียมตัวตายอยู่แล้ว ถ้าอย่างนั้นเราลองเข้าไปสื่อสารในครอบครัวดีไหม ลองให้เขาเขียน ใคร่ครวญ และสื่อสารในครอบครัวให้เสร็จสิ้นเรียบร้อยว่าในยามที่เจ็บป่วยต้องการอะไร คุยกันตั้งแต่วันที่ยังสุขภาพดีนี่แหละ เพื่อที่วันข้างหน้าจะได้เบาใจมากขึ้น
เราพบว่าที่ต่างประเทศทำเรื่องนี้กันแพร่หลายเลย โดยเรียกว่า Advance Care Planing Faciliator คือคนที่เอื้ออำนวยในการวางแผนสุขภาพล่วงหน้า แต่การใช้คำนี้ในไทยคนอาจจะไม่เข้าใจ เลยเรียกตัวเองว่าเป็นนักวางแผนการตาย (Death Planner) เลยแล้วกัน พอเริ่มต้นก็ได้รับการตอบรับที่ดี เพราะหลายคนรอสิ่งนี้อยู่ จากนั้นก็ก่อตั้งองค์กรชื่อว่า เบาใจ แฟมิลี่ เพราะเราเชื่อว่าถ้าคนได้คุยเรื่องหนักๆ กันแล้วตั้งแต่วันนี้ก็จะเกิดความเบาใจในครอบครัว จึงเป็นที่มาของชื่อนี้ โดยที่เรามีอาชีพเป็น Death Planner นักวางแผนชีวิตเพื่อการตายดี”
วางแผนการตาย กับการเปิดรับในสังคมไทย
กอเตย บอกกับเราว่าการเปิดรับเรื่องวางแผนการตายของคนไทยในวันนี้แตกต่างจากเดิมมาก ซึ่งเธอทำงานในแวดวงนี้มา 5-6 ปีแล้ว ในช่วงแรกเรื่องนี้ยังใหม่มากในสังคมไทยและคนยังไม่ค่อยเข้าใจมากนัก จนกระทั่งได้เจอกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่หลายคนต้องพรากจากคนที่รักและคนใกล้ชิดไปเป็นจำนวนมาก ก็ทำให้คนเริ่มรู้ว่าความตายอยู่ใกล้ตัวเรากว่าที่คิด และจะมาตอนไหนก็ได้ จึงเกิดเป็นคำถามต่อว่า เราควรรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร
“นอกจากนี้ ประเทศไทยก็มี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ มาตราที่ 12 ระบุไว้ว่าคนไทยทุกคนมีสิทธิที่จะแสดงเจตนาไม่รับการรักษาในช่วงวาระท้ายของชีวิตได้ ซึ่งที่ผ่านมาคนรู้เรื่องนี้น้อยมาก แต่ในปัจจุบันคนรู้เรื่องนี้มากขึ้น ซึ่ง พ.ร.บ.นี้มีตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งผ่านมา 17 ปี เตยว่าคนในสังคมเริ่มมีการพูดคุยเรื่องนี้มากขึ้น แล้วก็คนรุ่นใหม่กลายเป็นคนที่คุยเรื่องนี้กันมากขึ้น เลยทำให้ทุกวันนี้คนเปิดใจเรื่องนี้กันมากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะผู้สูงวัย วัยอิสระ ก็ต้องการพื้นที่ในการพูดคุยเรื่องนี้ด้วยเหมือนกัน”
กลุ่มผู้สูงวัย กับการเปิดใจเรื่องวางแผนการตาย
คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่ากลุ่มผู้สูงวัยอ่อนไหวกับเรื่อง “ความตาย” หากลูกหลานพูดเรื่องนี้จะถือว่าเป็นการสาปแช่งตนเอง แต่ในมุมของนักวางแผนชีวิตเพื่อการตายดีอย่างกอเตยกลับมองว่ากลุ่มผู้สูงวัยคือคนที่เข้าใจเรื่องนี้มากที่สุด
“แม้ว่าอายุจะไม่ได้เป็นตัวบอกว่าใครจะไปก่อนหรือไปหลัง แต่ผู้สูงอายุก็เป็นกลุ่มที่มีโอกาสเข้าใกล้กับความตายได้มากที่สุด จากที่เตยได้ใกล้ชิดมา ทุกคนคิดเรื่องนี้กันหมด และเขาก็เปิดใจที่จะคุยเรื่องนี้ ดังนั้นพื้นที่ที่จะคุยเรื่องนี้กับผู้สูงอายุก็มีมากๆ เลย เพียงแต่ว่ามันมีกำแพงบางอย่างในครอบครัวที่เรารู้สึกว่า เขาจะฟังเราไหม ในมุมของลูกก็คิดว่าพ่อแม่จะเปิดใจไหม ในมุมผู้สูงอายุเองก็คิดว่าถ้าคุยเรื่องนี้กับลูก ลูกจะมองว่ายังไง จะเกิดความสั่นไหวในครอบครัวไหม เพราะเวลาที่เราคุยเรื่องความตายในครอบครัวมันไม่เหมือนกับการคุยในที่สาธารณะที่ไม่มีเรื่องอารมณ์มาเกี่ยวข้อง”
...
เธอให้คำแนะนำว่า หากลูกหลานจะคุยเรื่องนี้กับผู้สูงวัยในครอบครัว สามารถเริ่มต้นได้จากการพูดคุยสื่อสารกันในครอบครัวในเรื่องที่เป็นเชิงลึกมากขึ้นเพื่อสร้างความสัมพันธ์กันก่อนที่จะไปคุยถึงเรื่องวางแผนการตายในอนาคต
ถ้าลูกหลานอยากยื้อ แต่ผู้ป่วยอยากไป จะต้องทำอย่างไร
อีกหนึ่งปัญหาที่พบได้ในหลายครอบครัวคือ เมื่อพ่อแม่หรือคนในครอบครัวถึงวาระสุดท้ายของชีวิต แต่ลูกหลานที่อยากยื้อเอาไว้ ไม่ยอมปล่อยให้จากไป ซึ่งกอเตยบอกว่าปัญหานี้มักมาจากการขาดการสื่อสารภายในครอบครัว เพราะลูกหลานไม่รู้ความต้องการของพ่อแม่ และไม่ค่อยมีใครรู้ว่าเรื่องราวแบบนี้สามารถเปิดใจพูดคุยกันได้
“การที่เจ้าของชีวิตถูกยื้อชีวิตโดยลูกหลานนั้นเกิดจากการที่เขามีความรักอยู่เต็มหัวใจเลยทำให้เกิดการยืดการตายหรือการยื้อชีวิตเพื่อให้เขาอยู่ได้นานขึ้น แต่ปัจจุบันเรามีการคุยกันมากขึ้นว่าเราไม่ต้องการยื้อชีวิตเพราะอะไร บางคนมองว่าเป็นการทรมาน และลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพ่อและแม่ ถ้ารักพ่อรักแม่ ช่วยทำสิ่งนี้ให้หน่อย เตยเชื่อว่าจะไม่มีใครทำสิ่งนี้ให้กับคนที่เรารัก เพื่อให้เขาได้จากไปอย่างสบายใจที่สุด”
...
ขณะเดียวกัน พ่อแม่ก็สามารถคุยกับลูกหลานได้ว่าเพราะอะไรถึงอยากยื้อเราไว้ เพราะเขาอาจจะรู้สึกมีบางอย่างที่ติดค้างคาใจและยังไม่ได้ทำ เช่น ลูกบางคนอยู่ต่างประเทศไม่ได้ดูแลพ่อแม่ พอกลับมาถึงก็ไม่อยากให้ไป เพราะไม่ได้ใช้เวลาช่วงสุดท้ายด้วยกัน ดังนั้นคงจะดีไม่น้อยถ้าเราได้มีโอกาสใช้ชีวิตด้วยกันเพื่อสร้างเวลาคุณภาพที่ดีร่วมกันแล้วทำให้ทุกอย่างไม่ติดค้างคาใจ ไม่มีอะไรที่ต้องเสียดาย
ส่วนในกรณีที่ไม่ได้มีการเตรียมตัววางแผนการตายล่วงหน้ามาก่อน เจ้าของชีวิตอาจมีแค่เพียงเกริ่นๆ กับคนใกล้ชิดหรือลูกหลานว่าเขาไม่ต้องการยื้อชีวิตตัวเองไว้ ถ้าหากเจ้าของชีวิตยังสามารถพูดคุยสื่อสารได้ ในทางการแพทย์จะมีการให้ทำเอกสารเพื่อยืนยันว่าเขาต้องการแบบนี้ และแพทย์จะมีการพูดคุยกับลูกหลานเพื่อให้เกิดความเข้าใจว่าในช่วงวาระท้าย การยื้อชีวิตไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์
...
“นอกเสียจากว่าเจ้าของชีวิตไม่ได้เตรียมตัวเองเลยจริงๆ ประกอบกับไปเจอแพทย์ที่ต้องการไปให้สุดทางด้วยเช่นกัน ถ้าเป็นกรณีนี้จะยาก เพราะเราไม่ได้เจอหมอที่เน้นการรักษาแบบประคับประคองที่ทำให้เห็นว่าการจากไปโดยไม่ยื้อชีวิตดีกว่าจริงๆ ถ้าหากเจอแบบนี้ผู้ป่วยกับญาตก็เลือกได้ยากมากขึ้น แต่ในปัจจุบันจะไม่ค่อยมีแล้ว เพราะถ้าเราเจอหมอที่ฟังความต้องการของคนไข้ เขาก็จะช่วยคุยกับญาติให้ เพราะสุดท้ายแล้วเราจะอยู่บนพื้นฐานของการเคารพความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกันอยู่แล้ว ปัจจุบันมีการทำเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษร มีการสื่อสารที่หนักแน่น และมีข่าวสารมากมายให้เราเห็นว่าเลือกทางไหนที่ดีกว่า”
สำหรับผู้ที่อยากเริ่มต้นวางแผนชีวิตเพื่อการตายดีในอนาคต กอเตย แนะนำว่าเบื้องต้นให้ลองถามใจตัวเองก่อนว่า “ทำไปเพื่ออะไร” เช่น บางคนอาจต้องการวางแผนการตายเพราะไม่อยากเป็นภาระของใครในช่วงวาระท้ายของชีวิต หรือมีคำตอบชัดเจนว่าช่วงวาระท้ายของชีวิตตนเองอยากเป็นแบบไหน เพื่อนำไปสู่การตายดีอย่างที่ต้องการ เมื่อมีคำตอบที่ชัดเจนก็สามารถเริ่มต้นทำได้เลย
ทั้งนี้การวางแผนชีวิตเพื่อการตายดีไม่จำเป็นต้องใช้บริการของเบาใจ แฟมิลี่ เสมอไปเท่านั้น เพราะปัจจุบันมีเครื่องมือที่เรียกว่า “สมุดเบาใจ” ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ด้วยการเขียนความต้องการในช่วงวาระท้ายของชีวิต เพราะความตาย ไม่ใช่เรื่องไกลตัว และอาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา การวางแผนชีวิตไว้ล่วงหน้า จึงไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอีกต่อไป
ภาพ : ธนัท ชยพัทธฤทธี