วันที่ 3 ธันวาคม 2567 งาน “เมรัยไทยแลนด์” มหกรรมสุราชุมชนและคราฟต์เบียร์ระดับประเทศ ได้จัดวงเสวนา “ดื่มอย่างรับผิดชอบ ดื่มไม่ขับ ขับไม่ดื่ม” ณ ศูนย์การค้า Emsphere เพื่อแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับแนวทางและข้อเสนอต่อการดื่มอย่างมีความรับผิดชอบต่อทั้งตัวเองและสังคมจากความร่วมมือของทั้งภาครัฐและเอกชน
ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย สมบูรณ์ แก้วเกรียงไกร นายกสมาคมสุราท้องถิ่นไทย, พีท-จิรายุ พิริยะเมธา ตัวแทนจาก U Drink I Drive และสุนทร สุนทรชาติ รองปลัด กทม.
ภาพของการดื่มสุรามักเชื่อมโยงกับปัญหาสังคมอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุหรือปัญหาสุขภาพต่างๆ แต่จะเป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะเอนจอยสุราโดยยังรับผิดชอบต่อตัวเองและสังคมได้
สมบูรณ์ แก้วเกรียงไกร นายกสมาคมสุราท้องถิ่นไทย คิดว่าการเมาและขับเป็นเรื่องอันตราย เพราะการดื่มทำให้บังคับตัวเองไม่ได้ หากจะดื่มก็ไม่ควรขับรถ การสร้างวัฒนธรรมการดื่มเป็นเรื่องยากมากเพราะคนไทยดื่มแล้วต้องเมา แต่การปลูกฝังเยาวชนให้ดื่มเหล้าอย่างพอดีก็จะทำให้คนรุ่นใหม่ตระหนักถึงปริมาณที่เหมาะสมในการดื่มได้
"ผมเคยเสนอให้เป็นกฎหมายว่าอย่าให้เด็กเชียร์เบียร์รินเบียร์ให้ เพราะเมื่อเด็กเชียร์เบียร์เห็นแก้วพร่องไปก็จะมาเติมให้ ทำให้คนดื่มไม่รู้ตัวว่าดื่มไปกี่แก้วแล้ว การออกกฎหมายห้ามการรินสุราให้กัน คิดว่าจะทำให้คนเมาน้อยลง"
...
สมบูรณ์ กล่าวว่า ทางด้านผู้ผลิตสามารถให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาได้ แต่ที่ผ่านมาองค์กรที่ต่อต้านสุรามักจะไม่คุยกับผู้ผลิตเหล่านี้ เพราะสุราถูกมองเป็นสินค้าบาปและผู้ผลิตก็ถูกมองว่าเป็นคนบาปไปด้วย ทำให้ข้อเสนอของฝั่งผู้ผลิตในหลายครั้งจึงไม่ได้ถูกนำไปใช้และแลกเปลี่ยนมุมมองซึ่งกันและกัน เพื่อช่วยให้คนไม่ดื่มสุรา
"ปัจจุบันถ้ารณรงค์ให้คนไม่ดื่ม ส่วนมากก็ไม่ฟัง เพราะเขาไม่ห่วงสุขภาพตัวเอง แต่การรณรงค์ว่าถ้าเกิดอุบัติเหตุ เขาจะกลัวและแบบนี้จะได้ผลมากกว่า การรณรงค์ให้คนไม่ดื่มที่ผ่านมามีผลน้อยมาก มีแต่คนดื่มเพิ่มขึ้น ผมคิดว่าถ้ารณรงค์ให้คนดื่มไม่ขับจะดีกว่า"
พีท-จิรายุ พิริยะเมธา ตัวแทนจาก U Drink I Drive มองว่าการดื่มไม่ใช่เรื่องผิด แต่จะดื่มอย่างไรให้มีความรับผิดชอบ การเมาแล้วขับถือเป็นประเด็นใหญ่ในสังคม เพราะเมื่อ 10 ปีที่แล้วประเทศไทยเคยติดอันดับอุบัติเหตุที่เกิดจากการเมาแล้วขับมากเป็นอันดับ 3 ของโลก
“แม้หลายคนอาจมองว่าถ้าเมาก็แค่ไม่ต้องขับรถ แต่ความจริงแล้วถ้าเข้าไปสังเกตพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้จะพบว่ามีสาเหตุหลายมิติมากกว่านั้น เพราะเมื่อคนไปเที่ยวเข้าสังคม เขาขับรถไปเพื่อโชว์สถานะทางสังคม เช่น จีบสาวหรือเจรจาทางธุรกิจ ทำให้พวกเขาไม่สะดวกที่จะนั่งแท็กซี่ไป”
จิรายุ กล่าวต่อว่า อีกสาเหตุคือสมมติว่าคนที่อาศัยอยู่ที่นนทบุรี แต่ต้องไปเที่ยวที่ทองหล่อ เขาถ้าไม่ขับรถเขาต้องนั่งแท็กซี่กลับนนทบุรีและต้องทิ้งรถไว้ที่ทองหล่อ จากนั้นก็ต้องนั่งแท็กซี่เพื่อกลับมานำรถกลับจากทองหล่อไปนนทบุรีอีก ซึ่งคงไม่มีใครอยากทำแบบนั้น เราจึงต้องมีแนวทางแก้ไขเรื่องนี้
"ผมคิดว่าการดื่มอย่างมีความรับผิดชอบคือการไม่สร้างความเดือดร้อนให้ตัวเองและคนอื่น คนไทยก็ไม่ได้อยากเมาแล้วขับ แต่คำถามคือจะเดินทางกลับอย่างไร เพื่อตอบโจทย์พวกเขา ทำให้เกิดแนวทางใหม่ขึ้นมาคือเมื่อคุณไปดื่มแล้วมีคนที่ไว้ใจได้สามารถขับรถให้คุณกลับบ้านได้ จึงเกิดเป็น U Drink I Drive ขึ้นมา"
จิรายุ คิดว่าสิ่งสำคัญคือการบังคับใช้กฎหมาย ประเทศไทยมีกฎหมายที่ดีมาก แต่การบังคับใช้มีผลมากแค่ไหน เช่น การรับเงินเพื่อปล่อยหรือให้คนที่เมาแล้วขับผ่านด่านไปได้ กฎหมายก็ไม่มีประโยชน์
...
"เมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ปัญหาเมาแล้วขับของประเทศไทยดีขึ้นมาก แต่หากเทียบกับต่างประเทศเช่น เกาหลี ก็ถือว่ายังห่างไกล"
จิรายุ เล่าว่า ลูกค้าของ U Drink I Drive จำนวนมาก เลือกใช้บริการโดยที่พวกเขาไม่ได้เมาและดื่มไปเพียง 2-3 แก้ว แต่เรียกใช้บริการเพราะกลุ่มคนเหล่านี้เป็นคนที่รับผิดชอบต่อสังคม
"U Drink I Drive บูมมากในช่วงก่อนโควิด-19 เพราะเราทำการตลาดเยอะมาก ตอนนั้นผมรู้สึกดีใจมากๆ ไม่ใช่ว่าได้กำไรมากหรือน้อย แต่เราสามารถลดอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับได้”
“เราเคยให้บริการมากสุดแสนเที่ยวต่อปี สมมติถ้าแสนคนลงถนนพร้อมกันคงเกิดอุบัติเหตุเยอะมากๆ การเมาและขับไม่ได้เกิดอุบัติเหตุ 1 คน ผมเคยพูดคุยกับคนที่เป็นเหยื่อ ซึ่งเขาเป็นหัวหน้าครอบครัว เคยมีรายได้เป็นแสน เมื่อเกิดอุบัติเหตุคนเมาขับรถชนเขา สิ่งที่เกิดขึ้นคือเขาไม่สามารถไปทำงานได้ ภรรยาต้องไปทำงานแทน ลูกที่เคยเรียนโรงเรียนดีๆ ต้องย้ายโรงเรียน การเมาแล้วขับจึงกลายเป็นเรื่องใหญ่กว่าที่คิด"
จิรายุ เสนอว่า บริการ U Drink I Drive อาจมีคนที่รู้สึกว่ามีราคาแพง หากบริการนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลหรือหน่วยงานอื่นๆ ก็จะสามารถลดราคาเพื่อให้เข้าถึงทุกคนมากขึ้นและช่วยลดปัญหาเมาแล้วขับได้
...
สุนทร สุนทรชาติ รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า กทม. จะใช้คำว่า ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย เป็นการรณรงค์ช่วงปีใหม่ เพราะการดื่มแล้วขับเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุและทำให้เกิดคนบาดเจ็บและเสียชีวิตประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์จากอุบัติเหตุในพื้นที่กรุงเทพฯ
"ผมคิดว่าการขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ เป็นเรื่องที่สำคัญกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน"
สุนทร กล่าวว่า ในต่างจังหวัดจะมีสิ่งที่เรียกว่าด่านชุมชน คือการให้คนดื่มเหล้านั่งพักเพื่อให้สร่างเมาก่อนถึงปล่อยให้ไป ซึ่งกทม. ก็กำลังจะเริ่มทดลองทำในปีนี้ รวมถึงมาตรการอื่นๆ เช่น การเพิ่มเวลาวิ่งรถขนส่งสาธารณะในช่วงเทศกาล
สุนทร มองว่า ผู้ประกอบการมีส่วนสำคัญ หากร้านมีความรับผิดชอบ ถ้าเห็นใครมึนเมาแล้วก็ไม่ควรขายเหล้าให้ลูกค้า เหมือนกับในต่างประเทศที่จะไม่ขายเหล้าให้หากเห็นว่าลูกค้าเมาแล้ว สำหรับประเทศไทยในช่วงเข้าพรรษา กทม.จะมีเทศกาลพักตับเมื่อปีที่แล้ว ชวนร้านอาหารกว่า 70 ร้านพักการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลปรากฏว่ายอดขายไม่ได้ลดลง ดังนั้นสมมติฐานที่ว่าการขายสุราจะทำให้ร้านอาหารขายดีขึ้นเป็นสิ่งที่ผิด
...
"ส่วนมากจากสถิติพบว่าอุบัติเหตุมักเกิดขึ้นตอนตี 2 หลังจากผับปิด เรื่องนี้จึงมี 2 มุมที่ต้องวิเคราะห์ว่าการขยายเวลาเปิดผับเป็นปัจจัยสำคัญแค่ไหนและจะส่งผลต่อการเจ็บป่วยมากแค่ไหน การแก้ปัญหาเหล่านี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากรัฐและเอกชน เพราะคนไม่ค่อยทราบว่าตัวเลขอุบัติเหตุเกิดจากอะไร เรื่องเหล่านี้จึงต้องช่วยกันรณรงค์และชี้แจงว่าเรื่องเหล่านี้มีผล"
ติดตามกิจกรรมอื่นๆ และร่วมกันขับเคลื่อนสุราชุมชนและคราฟต์เบียร์ไทยได้ที่ “เมรัยไทยแลนด์” ระหว่างวันที่ 27 พ.ย. - 3 ธ.ค. 2567 ณ Em Glass และ Em Yard ชั้น G ห้างสรรพสินค้า Emsphere