เทรนด์การท่องเที่ยวในปัจจุบัน นักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยให้ความสนใจเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้สร้างมาตรฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเพื่อขับเคลื่อนภาคธุรกิจให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยพัฒนาตามแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development Goals : SDGs ขององค์การสหประชาชาติ เช่นเดียวกับกลุ่มดุสิตธานีที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าพัฒนาให้ครอบคลุมทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ภายใต้โครงการ Tree of Life
คุณศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มดุสิตธานี ได้ให้สัมภาษณ์กับทีมไลฟ์สไตล์ไทยรัฐออนไลน์ ถึงเรื่องแผนความยั่งยืนของเครือดุสิตในฐานะประธานคณะกรรมการด้านความยั่งยืนขององค์กรว่า เป้าหมายสำคัญของกลุ่มดุสิตธานี นอกจากจะดำเนินการบน 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ สร้างความสมดุล สร้างการเติบโต และการกระจายความเสี่ยงแล้ว ยังมีเป้าหมายที่จะสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน และเป็นความยั่งยืนที่สามารถส่งต่อไปยังทุกภาคส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้น พนักงาน คู่ค้า ลูกค้า สังคม รวมถึงชุมชน ด้วยการก้าวสู่การสร้างความยั่งยืนตามกรอบองค์การสหประชาชาติปี 2030 (United Nations Sustainable Development Goals : UN SDGs 2030)
โดยล่าสุด กลุ่มดุสิตธานี ได้ดำเนินนโยบายด้านความยั่งยืน ด้วยการเปิดตัวโปรแกรม “ทรี ออฟ ไลฟ์” (Tree of Life) ซึ่งจะครอบคลุมหน่วยงานของกลุ่มดุสิตทั้งหมด เริ่มจากโรงแรมและรีสอร์ตในเครือดุสิตทุกแห่งทั่วโลก รวมถึงโรงแรม 54 แห่งที่เปิดดำเนินงานอยู่ใน 19 ประเทศ ขณะที่หน่วยธุรกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการศึกษา กลุ่มธุรกิจอาหาร ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการต้อนรับ จะเข้าร่วมโปรแกรมในเร็วๆ นี้
...
“โครงการ ทรี ออฟ ไลฟ์ (Tree of Life) จะตอบโจทย์ทุกส่วนที่เราทำอยู่ เรามีนโยบายอยู่ 31 เรื่องด้วยกัน ซึ่งใน 31 เรื่องจะมีตั้งแต่ระดับพื้นฐานอยู่ 8 เรื่อง ที่หากพนักงานสามารถทำได้ตามนี้ ก็ถือว่าเขาผ่านระดับที่ 1 ซึ่งเป็นเรื่องที่พนักงานทุกคนในเครือดุสิตต้องปฏิบัติ”
ทั้งนี้ โครงการ ทรี ออฟ ไลฟ์ (Tree of Life) แบ่งออกเป็น 4 ระดับ ด้วยหลักเกณฑ์ทั้งหมด 31 ข้อ ที่ถูกออกแบบมาให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาความยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติที่ทางบริษัทฯ ได้คัดเลือกไว้ เพื่อให้มั่นใจว่าทุกธุรกิจของกลุ่มดุสิตธานีมีการดำเนินงานอย่างยั่งยืน ครอบคลุมองค์ประกอบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)
สำหรับโปรแกรมระดับที่หนึ่งซึ่งถือเป็นภาคบังคับ ถูกออกแบบมาเพื่อส่งเสริมความรับผิดชอบและแนวทางปฏิบัติสำหรับทุกหน่วยงาน ครอบคลุมเกณฑ์สำคัญ 8 ประการ ได้แก่
- การคุ้มครองสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
- การลดขยะจากอาหาร
- การลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง
- การแยกขยะอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มปริมาณการรีไซเคิล
- การส่งเสริมการอนุรักษ์และใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
- การจัดลำดับความสำคัญของพนักงานและสวัสดิภาพของลูกค้า ผ่านแนวทางปฏิบัติด้านการจัดการความปลอดภัยที่เข้มงวด
- การต่อต้านการค้ามนุษย์และการแสวงประโยชน์ทางเพศ
- ร่วมกันทำงานกับผู้นำชุมชนท้องถิ่นอย่างแข็งขัน เพื่อสนับสนุนโครงการหรือกิจกรรมที่สร้างประโยชน์ ที่สามารถประเมินค่าและวัดผลได้ให้กับชุมชนของกลุ่มดุสิตธานีในวงกว้าง
คุณศุภจี ได้ขยายความถึงเรื่องการคุ้มครองสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ซึ่งเป็นข้อแรกของหลักเกณฑ์ 8 ประการว่า ตั้งแต่ปี 2562 คณะกรรมการความยั่งยืนของดุสิตได้มีนโยบายไม่ให้มีสัตว์ที่อยู่ในภาวะเสี่ยงอยู่ในเมนูของโรงแรมและรีสอร์ต ตลอดจนกลุ่มธุรกิจอื่นของดุสิตทั่วโลก โดยได้ระบุสัตว์ 8 ชนิดที่มีอยู่ในสภาวะเปราะบาง มีแนวโน้มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จากการประมงเกินขนาด หรือการประมงด้วยวิธีการที่สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม และได้ห้ามการจำหน่ายสัตว์เหล่านั้นในร้านอาหาร หรือใช้ในการประกอบอาหารของเครือดุสิต ซึ่งประกอบด้วย
...
- ฉลามและหูฉลาม (Shark & shark fin) จากทุกแหล่ง
- เต่าทะเลและไข่เต่า (Sea turtles and eggs) จากทุกแหล่ง
- ปลาบึก (Mekong Giant Catfish) จากทุกแหล่ง
- ปลาหิมะ (Chilean Sea Bass or Patagonian/Antarctic toothfish) จากทุกแหล่ง
- ปลาเก๋าแอตแลนติกยักษ์ หรือปลาหมอทะเล (Atlantic Goliath Grouper) จากการจับจากธรรมชาติ
- ปลาออเรนจ์รัฟฟี่ หรือปลาหัวเมือก (Orange Roughy) จากการจับจากธรรมชาติ
- ปลานกแก้ว (Parrotfish) จากทุกแหล่ง
- ปลานกขุนทองหัวโหนก (Napoleon/Humphead Wrasses) จากทุกแหล่ง
...
พร้อมกันนี้ เครือดุสิตยังร่วมลงนามกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานเพื่อปกป้อง คุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ทั่วโลกมากว่า 50 ปี เพื่อร่วมยุติการสนับสนุนและเสนอกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการนำช้างและสัตว์ป่าอื่นๆ มาใช้งานเพื่อความบันเทิง โดยเฉพาะกิจกรรมโชว์ช้าง ขี่ช้าง โชว์สัตว์ป่า ฯลฯ ตลอดจนวางแผนความร่วมมือเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์ป่าในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้กับพนักงาน นักศึกษา และนักท่องเที่ยวในระยะยาว
ขณะเดียวกัน เรื่องการลดขยะจากอาหาร (Food Waste) นั้นเรียกได้ว่าเป็นเรื่องใหญ่ของเครือดุสิต เพราะเป็นเรื่องที่บริหารจัดการได้ยาก แต่ก็ต้องทำให้เหลือน้อยที่สุด และนำไปใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด เพื่อความยั่งยืนในระยะยาว
...
โดยมีการติดตั้งเครื่องย่อยเศษอาหารให้เป็นปุ๋ย (Food Waste Composter) เพื่อช่วยลดมลภาวะจากขยะอาหารที่เหลือทิ้งให้กลายเป็นปุ๋ยแล้วนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้ ซึ่งปัจจุบันมีใช้ในโรงแรมบางแห่ง รวมถึงโรงเรียนสอนทำอาหารของเครือดุสิต รวมทั้งยังวางแผนบริหารจัดการด้านอาหารอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
“ตอนนี้เรามีนโยบายให้ทีมอาหารมีหน้าที่ทำเครื่องปรุงกลาง เช่น เครื่องแกงมัสมั่น แกงเขียวหวาน น้ำจิ้มสะเต๊ะ หรือเครื่องผัดไทย แล้วก็ผลิตส่งให้โรงแรมต่างๆ ในเครือดุสิตทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งวิธีนี้ช่วยควบคุมทั้งในเรื่องของรสชาติ คุณภาพ ความสะอาด รวมถึงลดปริมาณขยะอาหารที่ก่อนหน้านี้แต่ละโรงแรมเคยแยกกันผลิตเครื่องปรุงอีกด้วย”
นอกจากนี้ยังเป็นพันธมิตรกับหลายโครงการ เช่น โครงการของสามพราน ที่ให้การสนับสนุนชาวไร่และเกษตรกร ในการปลูกพืชผักที่ไม่ใช้สารเคมี ซึ่งเครือดุสิตได้เข้าไปรับซื้อโดยตรง รวมทั้งยังทำงานร่วมกับมูลนิธิ Earth Safe ด้วยการซื้อผลิตภัณฑ์ที่ใช้ระบบออร์แกนิก และระบบนิเวศที่ไม่ใช้สารเคมี
“หลังจากที่เราไปสนับสนุนโครงการต่างๆ ที่มีอยู่ เราก็ไปซื้อข้าวที่เป็นออร์แกนิกทั้งหมด ณ ปัจจุบันเราเป็นกลุ่มโรงแรมแรกในประเทศไทยที่ใช้ข้าวออร์แกนิก 100% และไม่ได้สั่งให้แขกรับประทานเท่านั้น พนักงานเราก็รับประทานข้าวที่เป็นออร์แกนิกด้วย เพราะเราถือว่าพนักงานเราก็ต้องมีสุขภาพที่ดี ถึงจะสามารถให้บริการลูกค้าที่ดีได้ด้วย”
ในส่วนของธุรกิจโรงเรียนสอนทำอาหารและการโรงแรมในเครือดุสิต ก็มีการนำเรื่องความยั่งยืนเข้ามามีส่วนร่วมในหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อให้นักเรียนเกิดความตระหนักรู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการบริหารจัดการโรงแรม เรื่องการทำอาหาร ถูกมาผสมผสานสอดแทรกในเนื้อหาทั้งหมด
เรื่องของการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ทุกโรงแรมในเครือดุสิตเลือกใช้วัสดุทดแทน เช่น แก้ว กระดาษ หรือวัสดุอื่นๆ ที่ใส่อาหารแทนการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งทั้งหมด รวมถึงเรื่องของการแยกขยะ ที่ทุกโรงแรมต้องมีการแยกประเภทขยะอย่างชัดเจน เพื่อให้พนักงานมีความตระหนักรู้เรื่องการจัดการขยะที่ดี ไม่ให้กลายเป็นภาระ
ในส่วนเรื่องของการส่งเสริมการอนุรักษ์และใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ บางโรงแรมได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ทดแทนไฟฟ้า โดยร่วมมือหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน เพื่อเป็นตัวชี้วัดในเรื่องของการบริหารจัดการพลังงานในเครือดุสิต ว่าใช้พลังงานอย่างไรให้เหมาะสมที่สุด
“ตอนนี้เราก็เริ่มติดตั้ง solar energy ไปหลายโรงแรม อย่างที่มัลดีฟเป็นโรงแรมแรกๆ ที่ทำมานานแล้ว เพราะอยู่บนเกาะเดี่ยว จึงต้องบริหารจัดการพลังงานด้วยตัวเอง ผลิตน้ำเอง ผลิตไฟเอง รวมถึงโรงแรมขนาดใหญ่ที่เป็นรีสอร์ต อย่างเช่น หัวหิน พัทยา ภูเก็ต เหล่านี้ต้องทำอยู่ แล้วก็ขยายไปที่โรงแรมอื่นด้วย”
ทั้งนี้ โรงแรมและหน่วยธุรกิจของกลุ่มดุสิตธานี จะได้รับใบไม้แห่ง “ทรี ออฟ ไลฟ์” (Tree of Life) เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้ลูกค้าและคู่ค้า รับทราบความสำเร็จของการดำเนินงานความยั่งยืนของแต่ละหน่วยงาน โดยระดับที่ 1 จะต้องผ่านเกณฑ์ภาคบังคับ 8 ข้อ ส่วนระดับที่ 2 คือ ผ่านเกณฑ์ระดับ 1 และผ่านเกณฑ์อีก 18 ข้อ ในขณะที่ระดับ 3 ต้องผ่านระดับ 2 และผ่านเกณฑ์อีก 23 ข้อ และระดับที่ 4 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด จะต้องผ่านระดับ 3 และผ่านเกณฑ์ 28 ข้อ
“การดำเนินโครงการ Tree of Life ของกลุ่มดุสิตธานี ไม่เพียงแต่เป็นการเคลื่อนไหวเชิงกลยุทธ์เท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงคุณค่าที่หยั่งรากลึกขององค์กร ที่แน่วแน่และมุ่งมั่นในด้านการดูแลสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคม และการปฏิบัติด้านธรรมาภิบาล เราต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั่วโลก และสร้างผลกระทบเชิงบวกและยั่งยืนต่อชุมชนที่เราดำเนินงาน โครงการนี้จะช่วยผลักดันให้โรงแรมหรือธุรกิจของเราทำงานอย่างกลมกลืนไปกับสิ่งแวดล้อม ส่งมอบความเป็นอยู่ที่ดีให้ลูกค้าและพนักงาน รวมถึงสร้างความแตกต่างที่มีคุณค่าให้กับโลก” คุณศุภจี กล่าว
โครงการ “ทรี ออฟ ไลฟ์” (Tree of Life) จะได้รับการดูแลติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการปฏิบัติงานตามข้อกำหนด รวมถึงให้คำแนะนำในสิ่งที่ต้องปรับปรุง โดยคณะกรรมการเพื่อความยั่งยืนของกลุ่มดุสิตธานี เพื่อให้โครงการมีความคืบหน้า นอกจากนี้ คณะกรรมการความยั่งยืนจะกำหนดแผนพัฒนาเชิงรุก ออกนโยบายและขั้นตอนใหม่ๆ เพื่อให้โครงการเดินหน้าไปอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับมาตรฐานของโลก รวมถึงแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด
กลยุทธ์ของกลุ่มดุสิตธานีสำหรับธุรกิจที่ยั่งยืนนั้น สอดคล้องกับ 4 แกนหลักของการให้บริการแบบดุสิต หรือ Dusit Graciousness ซึ่งประกอบด้วย
- การบริการที่มีคุณภาพและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า (Service)
- การบริการที่ตอบสนองการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาวะที่ดีทั้งกายและใจ (Well-being)
- การบริการที่เข้าถึงและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับชุมชนและคนรอบข้าง (Locality)
- การบริการที่ยั่งยืน โดยคำนึงถึงสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม (Sustainability)
ซึ่งทั้งโครงการ “ทรี ออฟ ไลฟ์” (Tree of Life) และกลยุทธ์ทั้ง 4 แกนหลักของกลุ่มดุสิตธานี สอดคล้องกับเป้าหมายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของ ททท. (Sustainable Tourism Goals : STGs) ที่มีเป้าหมายในการดำเนินการทั้งหมด 17 เป้าหมาย ที่สะท้อนความยั่งยืนในมิติต่างๆ 4 มิติ คือ มิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล
ภาพ : เอกลักษณ์ ไม่น้อย, กลุ่มดุสิตธานี