Net Zero Tourism การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ที่ปลูกฝังให้ผู้ประกอบการ นักท่องเที่ยว รวมถึงอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ให้เกิดความสำนึกรักสิ่งแวดล้อม และร่วมเป็นส่วนหนึ่งเพื่อลดผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงจากภาวะโลกร้อน

ภาวะโลกร้อน เกิดจากกิจกรรมมากมายในอุตสาหกรรมต่างๆ และการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์ ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นไปในอากาศอย่างมากมาย ทำให้ปัจจุบันโลกของเราประสบปัญหาภาวะโลกร้อนนี้กันไปทั่วโลก และเป็นต้นเหตุของสภาพอากาศที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป 

เคยได้ยินคำว่าโลกร้อนขึ้น เพราะการท่องเที่ยวหรือไม่ เพราะ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว มีส่วนในการปล่อยภาวะเรือนกระจกนี้ไปอย่างมากมาย เพราะเป็นกิจการหลักสำคัญที่คอยขับเคลื่อนทุกอุตสาหกรรม เช่น การเดินทาง (ทั้งทางอากาศ ทางบก ทางเรือ) การใช้ไฟฟ้า การผลิตที่มาจากโรงงานอุตสาหกรรม คนมารวมตัวกันมาก กินใช้มาก นักท่องเที่ยวซื้อสินค้าก็สร้างให้เกิดขยะมากขึ้น

Net Zero Tourism คืออะไร

Net Zero Tourism ได้ถือกำเนิดขึ้นจากการเล็งเห็นถึงปัญหาของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และการตื่นตัวของมนุษย์ ในกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อโลก เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โครงการนี้จะเน้นย้ำไปการทำกิจกรรมที่ลดก๊าซเรือนกระจก จากกิจกรรมต่างๆ เพื่อทำให้ก๊าซเหล่านี้ออกมาสู่โลกน้อยที่สุดจนถึงศูนย์ เพื่อส่งผลกระทบต่อโลกน้อยที่สุด

ประโยชน์จาก Net Zero Tourism

  • บรรเทาก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศโลก
  • กระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมกับภาพลักษณ์การท่องเที่ยวแบบใหม่
  • สร้างความตระหนักรู้ถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
  • เพิ่มมูลค่าสินค้า และแรงดึงดูดใหม่ของการท่องเที่ยว
  • ปลูกฝังพฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จนเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพ

...

Net Zero Tourism ของประเทศไทย

อุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า การขนส่งทางรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม และการทำเกษตรกรรมเช่นกันที่ทำให้เกิดก๊าซมีเทน จากน้ำขังที่ใช้ปลูกข้าว หรือจากการผลิตปุ๋ยชีวภาพ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีส่วนเกี่ยวข้อในทุกกิจกรรม 

เหตุทั้งหมดทำเกิดการตระหนักรู้ และแก้ไขปัญหาเพื่อการอนุรักษ์ความยั่งยืนของการท่องเที่ยว และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของในธุรกิจท่องเที่ยวไทยไปสู่ระดับสากล นำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคตได้

ประเทศไทยจึงใช้หลักการเดียวกันกับสากล เนื่องจากอุตสาหกรรมต่างๆ ต่างปล่อยก๊าซออกมาสู่บรรยากาศโลก จนส่งผลกระทบต่อโลกเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดการจำกัดปริมาณคาร์บอนที่เป็นข้อตกลงทั่วประเทศ ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ซึ่งหากประเทศใดในโลก สามารถลดก๊าซคาร์บอนได้ก็จะนำมาสู่การแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตได้

แนวทางการพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวแบบ Net Zero Tourism  

  • เก็บคาร์บอนเครดิตเพื่อความยั่งยืน

คาร์บอนเครดิต คือ การเก็บจำนวนการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก สู่ชั้นบรรยากาศโลกที่มาจากบุคคล หรือองค์กร ช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิต และอุตสาหกรรมนั้นๆ ในการหันมาเน้นพลังงานสีเขียว หรือพลังงานสะอาดมากขึ้น 

โดยบุคคล หรือองค์กรน้ันจะได้รับคาร์บอนเครดิตที่สามารถนำไปซื้อ และขายเครดิตให้กับองค์กรที่ปล่อยค่าก๊าซคาร์บอนเกินกำหนดเพื่อปรับสมดุลกับเครดิตที่มีอยู่ ที่นำไปสู่การเป็นองค์กรที่มีค่า Net Zero (คาร์บอนเป็นศูนย์) ตามเกณฑ์ที่กำหนด

  • พัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

การทำเส้นทางท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถลดค่าปริมาณคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศได้ด้วยตนเอง และยั่งยืนในระยะยาวด้วย 3 วิธีดังนี้

ปรับ : ปรับกิจกรรม สร้างประสบการณ์ใหม่ หรือเพิ่มเติมให้น่าสนใจมากขึ้น โดยคำนึงถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก และคุ้มค่า

ลด : ลดการใช้พลังงาน เชื้อเพลิง หรือวัสดุให้น้อยลงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกิจกรรมการท่องเที่ยวให้ปล่อยคาร์บอนน้อยที่สุด

ชดเชย : รับผิดชอบสังคมด้วยการชดเชยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ เพื่อสร้างความสมดุล

แหล่งท่องเที่ยวสามารถพัฒนา และก้าวข้ามขีดจำกัดการท่องเที่ยวให้มีการปล่อยค่าคาร์บอนให้เป็นศูนย์ หรือ Net Zero Tourism ได้ด้วยกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือการซื้อคาร์บอนเครดิตจากหน่วยงานที่ดำเนินการเรื่องลดก๊าซเรือนกระจก ทีไ่ด้รับรองจาก อบก. (องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก) หรือทางเว็บไซต์ carbonmarket มีทั้งหมด 4 ขั้นตอนดังนี้

  • จัดกิจกรรมท่องเที่ยวที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ
  • คำนวณค่าการปล่อยคาร์บอนจากกิจกรรมท่องเที่ยวที่จัดขึ้น 
  • ซื้อคาร์บอนมาชดเชยค่าคาร์บอนที่ปล่อยออกไป
  • บันทึกรายงานการชดเชยเครดิตคาร์บอนในแต่ละครั้ง

การใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

การสร้างผลกระทบให้น้อยที่สุดต่อชั้นบรรยากาศของโลก จากตัวบุคคล และผู้ประกอบการ เพื่อทำให้เกิดความยั่งยืน ด้วยการจัดหาผลิตภัณฑ์สินค้า และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้เป็นอย่างดี หรือจะเป็นการประหยัดพลังงาน และใช้พลังงานหมุนเวียนซึ่งเป็นพลังงานสะอาด จากแนวคิด 3R ก็ได้ด้วยเช่นกัน ประกอบด้วย ลดการใช้ (Reduce), ใช้ซ้ำ (Reuse) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) เพื่อเป็นการทดแทนได้เฉกเช่นเดียวกัน

...

ปัจจุบันประเทศไทยเริ่มมีการตระหนักถึง และพัฒนาโครงการเหล่านี้ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว หรืออุตสาหกรรมอื่นๆ ก็ตาม ที่นอกจากจะสร้าง Brand Awareness ที่ทรงคุณค่า น่าสนใจแล้ว ดีต่อธุรกิจของตนแล้ว ยังสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยผลักดันธุรกิจยั่งยืนที่กำลังเป็นกระแสสังคมในเรื่องของสิ่งแวดล้อมให้ผู้คนเกิดความตระรู้ และสามารถช่วยเป็นแรงสนับสนุนให้โลกของเราให้กลับมาสมบูรณ์ได้อีกครั้งหนึ่ง

ข้อมูล : กองวางแผนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)