สิ่งแวดล้อม ปัจจัยสำคัญในการปลูกผลผลิตของกาแฟ ด้วยปัญหามลพิษจากสภาวะอากาศ และโลกร้อนนี้อาจทำให้เมล็ดกาแฟเติบโตได้ยาก มีผลผลิตน้อย ไม่พอต่อความต้องการของผู้บริโภค ส่งผลให้อาจไม่มีเมล็ดกาแฟ และกาแฟให้ดื่มในอนาคต
กาแฟ เครื่องดื่มยอดฮิตของคนทุกยุคทุกสมัย และมีอัตราการบริโภคเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากสถิติของสำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร พบว่า คนไทยดื่มกาแฟเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 15% ต่อปี หรือดื่ม 300 แก้วต่อคนต่อปี ขณะที่คนต่างชาติ เช่น ชาวญี่ปุ่นดื่ม 400 แก้วต่อคนต่อปี และชาวยุโรปดื่ม 500 แก้วต่อคนต่อปี
จากสถิติข้างต้นทำให้ทราบว่า พฤติกรรมการดื่มกาแฟของคนทั่วโลกเติบโต และเปลี่ยนไปเป็นอย่างมาก ทำให้เมล็ดกาแฟกลายเป็นพืชเศรษฐกิจหลักในหลายๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่กาแฟกลายเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญชนิดหนึ่งของไทย โดยสามารถทำรายได้ให้เกษตรกรไทยปีละประมาณ 2 พันล้านบาท โดยแหล่งปลูก และปัจจัยสภาพแวดล้อมที่สำคัญจะเป็นทางตอนเหนือของประเทศไทย
...
จากความสำคัญนี้ทำให้ธุรกิจกาแฟไทยในบ้านเราพุ่งสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งสวนทางกับประเทศในแถบอเมริกากลางที่เคยปลูกต้นกาแฟ และผลิตเมล็ดกาแฟ ส่งออกมาแล้วหลายล้านตันกลับถดถอยลง และมีผลผลิตที่ได้ยากมากขึ้นเนื่องมาจาก “ปัญหามลพิษ สิ่งแวดล้อม และภาวะโลกร้อน”
ปัญหามลพิษ สิ่งแวดล้อม และภาวะโลกร้อน ทำให้ผลผลิต และพื้นที่การปลูกกาแฟลดลง
สภาพอากาศที่เปลี่ยนไปอย่างกะทันหัน จากสภาวะโลกร้อน หรือมลพิษ ทำให้ปัจจัยต่างๆ ในพื้นที่เปลี่ยนไป ทำให้ผิวดิน แร่ธาตุ ที่คอยทำให้ต้นกาแฟเติบโตได้สูญหายไป เติบโตได้ยาก และบางพื้นที่ไม่สามารถปลูกต้นกาแฟในแหล่งนั้นได้อีกเลย ซึ่งกว่าจะทำนุบำรุงผิวดิน และแร่ธาตุต่างๆ ให้เติบโตได้ใหม่ จะใช้ระยะเวลานานพอๆ กับการปลูกต้นกาแฟหนึ่งต้นเลยทีเดียว
โดยทางสำนักข่าว CNN ได้รายงานว่า หากสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงไปอย่างปัจจุบัน โดยไม่ได้รับการเยียวยาและดีขึ้น อาจจะทำให้ภายในปี 2050 การเก็บเกี่ยวเมล็ดกาแฟจะมีความยากลำบากมากขึ้น อีกทั้งพื้นที่สำหรับการเพาะปลูกเมล็ดกาแฟจะหายไปราว 60%
หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้กาแฟราคาแพง
เหตุผลหลักที่เกี่ยวเนื่องจากสภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้นในด้านผลผลิต และส่งออก ซึ่งทำให้ต้นกาแฟปลูกยาก ออกดอกออกผลที่ยากลำบาก ทุนค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ผลผลิตที่น้อยส่งผลให้ราคากาแฟพุ่งสูงขึ้นตามกลไกของตลาด อย่างที่เห็นได้ชัดอย่างประเทศบราซิล และประเทศโคลอมเบีย ที่เป็นประเทศส่งออกกาแฟรายหลัก เกิดภาวะของทางสภาพแวดล้อม เช่น ภัยแล้งที่ร้ายแรงในประเทศบราซิล หรือแม้แต่กระทั่งประเทศโคลอมเบียก็รับผลกระทบนี้ รวมทั้งยังมีปัจจัยอื่นๆ ตามมา เช่น สงคราม ปัญหาทางการเมือง และขนส่ง
...
กากกาแฟ หนึ่งในสาเหตุหลักของปัญหาสิ่งแวดล้อม และการแก้ปัญหา
กากกาแฟ เป็นสาเหตุหลักที่ก่อขยะ ในวงการผู้ผลิตกาแฟในรูปแบบ Commercial ซึ่งโดนทิ้งเป็นจำนวนหลายล้านตันต่อปี ทำให้กากกาแฟที่ถูกทิ้งไว้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซมีเทนที่สูงตามต่อโลกของเราเอง
ปัจจุบันมีการแก้ปัญหาโลกร้อน จากกากกาแฟด้วยการนำกากกาแฟมาแปรรูปเป็นสินค้าต่างๆ มากมายเพิ่มมากขึ้น เช่น
- ปุ๋ย
- ที่กำจัดกลิ่น
- อุปกรณ์ซ่อมแซมงานไม้
- น้ำยาย้อมผ้า
- ทำผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง
- สกินแคร์
- พลังงานเชื้อเพลิง
ปัญหา ‘สิ่งแวดล้อม’ สำคัญกับเศรษฐกิจ และวงการกาแฟไทยมากแค่ไหน
ต้นกาแฟ เป็นพืชที่ค่อนข้างมีความละเอียดอ่อนในการปลูกเป็นอย่างมาก นอกจากปัจจัยจากทางสายพันธุ์แล้ว ยังมีปัจจัยจากสภาพแวดล้อม และระบบนิเวศเป็นสิ่งสำคัญ เช่น ภูมิประเทศ ความเย็น ความชื้นของอากาศ ความเข้มข้นของกรด-เบส จากหน้าดิน ชนิดของจุลินทรีย์ ปุ๋ย ยีสต์ และอีกมากมาย โดยทั้งหมดมีผลต่อผลผลิต การเจริญเติบโต และรสชาติของกาแฟเป็นอย่างมาก
...
แม้ประเทศไทยจะถูกมองว่าเป็นสวรรค์ของคนปลูกกาแฟ มีผลไม้ออกดอกออกผล และมีทุกสิ่งทุกอย่างพร้อม แต่สิ่งที่ได้เรียนรู้เหตุผลข้างต้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ประเทศไทยเราต้องหาทางรับมือกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต ซึ่งอาจจะทำให้ผลผลิตกาแฟของเราหยุดชะงัก เพราะในเมื่อผลผลิตกาแฟในประเทศหลักทางทวีปอเมริกากลาง อเมริกาใต้ และแอฟริกาที่ปลูกกันมากว่า 600 กว่าปี เริ่มถดถอยอย่างที่เราได้ทราบกัน
ทำให้ประเทศไทยเราก็มีโอกาสเป็นแบบเดียวกัน ทั้งๆ ที่เพิ่งเริ่มต้น ซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งที่น่าวิตกกังวลเป็นอย่างมาก เพราะคนไทยเพิ่งจะเริ่มนิยม หันมาปลูกกาแฟเป็นระยะเวลาไม่ถึง 50 ปี โดยในประเทศไทย ยังไม่มีกาแฟที่เป็นเอกลักษณ์ของที่เรียกกันว่า ‘เกอิชา’ เพราะความผันผวนของสภาพอากาศ และสิ่งแวดล้อมที่ไม่แน่นอน ทำให้ระยะเวลาที่เพาะสายพันธุ์เมล็ดกาแฟไทยยังไม่นิ่ง จึงทำให้เกิดกาแฟสายพันธุ์แท้ๆ ดั้งเดิมในประเทศไทยได้ยาก และใช้ระยะเวลานานขึ้น เนื่องมาจากปัญหามลภาวะ และสิ่งแวดล้อมมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก จึงกลายเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้กาแฟไทยเติบโตไปยังไม่สุดทางสักที และจงอย่าลืมว่าผลจากต้นกาแฟนั้นใช้ระยะเวลาประมาณ 3-5 ปี ในการออกดอกออกผลให้สมบูรณ์ ซึ่งกินระยะเวลานาน
ความเห็นของคนในวงการกาแฟไทยต่อ ‘สิ่งแวดล้อม’
...
ชาตรี แซ่ย่าง เจ้าของฟาร์ม KCK Bean แชมป์ Best Quality Coffee Grade เกษตรกรชาวม้ง ผู้ผลักดันกาแฟขุนช่างเคี่ยน
“ต่อให้ประเทศไทยเรามีกาแฟรสชาติที่ดีเยี่ยม กลิ่นหอมแค่ไหน ถ้าไม่อนุรักษ์ไว้ ก็ไม่มีกาแฟเก็บที่เป็นเอกลักษณ์ และอาจจะพัฒนาต่อไปยาก”
บริรักษ์ อภิขันติกุล อนุกรรมการฝ่ายงานกิจกรรมสมาคมกาแฟพิเศษไทย SCATH
“ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงตามโลก พัฒนาผลผลิตควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เราอาจจะไม่มีกาแฟทาน และหากาแฟดีๆ ยากมากยิ่งขึ้น”
วัลลภ ปัสนานนท์ นายกสมาคมกาแฟพิเศษไทย SCATCH
“ต้นน้ำยั่งยืน ปลายน้ำยืนยง ปลูกกาแฟแบบอยู่กับธรรมชาติ ขอแค่ไม่ไปทำลายสภาพพื้นที่เดิม ก็ช่วยเหลือต้นกาแฟให้สามารถอยู่ได้ โดยยังคงเอกลักษณ์ของกาแฟเราไว้ได้แล้ว”
ตระกูล ร้อยแก้ว เจ้าของฟาร์ม Wynya Coffee ผู้ชนะเลิศ ประกวดสุดยอดเมล็ดกาแฟไทยปี 2021 ประเภท Washed Process
“คำนึงธรรมชาติเป็นหลัก โดยการจัดการอย่างเป็นระบบ เน้นดูแลสิ่งแวดล้อมให้ดี เพื่อผลผลิตกาแฟที่ยั่งยืน ได้ผลน้อย แต่อยู่ได้นาน”
พรจากสวรรค์ที่ยังทำให้ประเทศไทย ยังมีพื้นที่เพาะปลูกที่อุดมสมบูรณ์อยู่ และไม่เสียหายมากนัก ซึ่งยังเพียงพอต่อเศรษฐกิจของเกษตรไทย สุดท้ายแล้วหากเรายังอยากเห็นวงการกาแฟไทยได้รับการพัฒนาเพิ่มเติมไปจากเดิม สู่ระดับโลก ทั้งเกษตรกร ผู้ผลิต และผู้บริโภค คงต้องช่วยกันพัฒนา และรักษาพื้นที่ต้นน้ำของประเทศไทยให้ดำรงอยู่ ด้วยการเน้นการเกษตรแบบยั่งยืน ผลิตกาแฟอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และบริโภคกาแฟอย่างมีจิตสำนึก เพราะการรณรงค์เหล่านี้จะสามารถเยียวยาพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ของประเทศไทยเราให้ยังคงอยู่ต่อไปสืบไป และจะสามารถทำให้ประเทศไทยเรามีกาแฟรับประทานได้ตลอด และส่งออกเมล็ดกาแฟไทยสู่สากลได้