• Future Perfect
  • Articles
  • อนาคตจะเป็นอย่างไร หากมนุษย์ปฏิบัติกับ “วิกฤติโลกร้อน” เหมือนกับโควิด-19

อนาคตจะเป็นอย่างไร หากมนุษย์ปฏิบัติกับ “วิกฤติโลกร้อน” เหมือนกับโควิด-19

Sustainability

ความยั่งยืน26 ก.ย. 2566 17:22 น.
  • โควิด-19 กับรอยแผล 3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบทั่วโลก บทเรียนที่ไม่อาจดูแคลนได้
  • เราปฏิบัติกับ Climate Change ในลักษณะที่เราปฏิบัติกับโควิดหรือไม่?
  • โควิด กับ วิกฤติโลกร้อน ความเหมือนที่จุดจบไม่ต่างกัน 

ย้อนกลับไปในช่วงที่โควิด-19 ระบาดอย่างหนักทั่วโลก ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตรายวันพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญในช่วงเวลานั้นเรายังไม่มีวัคซีนที่ได้รับอนุญาตหรือยาต้านไวรัสจำเพาะ และยังไม่มีความรู้เพียงพอในการรับมือกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ มีเพียงคำแนะนำในการป้องกันการระบาด เช่น การใส่หน้ากากอนามัย, หมั่นล้างมือ, เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล หรือ Social Distancing รวมไปถึงมาตรการจำกัดการท่องเที่ยว การปิดประเทศ การล็อกดาวน์ ซึ่งส่งผลกระทบหลายด้านทั้งต่อระบบเศรษฐกิจ ผลกระทบต่อสังคม 

ทั้งนี้ ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า หัวหน้าศูนย์เฝ้าระวังอุทกภัยเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้พูดถึงผลกระทบจากวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการจัดงานประชุมด้านความยั่งยืน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ภายใต้แนวคิด "Net Zero Transition...From Commitment to Action" ได้อย่างน่าสนใจ 

โดยช่วงหนึ่งได้กล่าวถึงการระบาดของโควิด-19 กับวิกฤติโลกร้อนว่า ในปี 2564 เรามีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ มีข่าวดีเกิดขึ้น นั่นคือเรามีวัคซีน แต่ไม่ใช่ทุกคนจะเข้าถึงโควตาวัคซีน ซึ่งตนเองก็ไม่ใช่คนกลุ่มแรกๆ ที่จะได้รับการฉีดวัคซีน แต่คนที่ได้คือลูก หากมีโอกาสได้รับโควตาครอบครัวละ 1 เข็ม คนที่จะได้วัคซีนก็คือลูก เพราะเราเป็นห่วงลูกยิ่งกว่าตัวเอง มากไปกว่าลูกคือเป็นห่วงพ่อแม่

สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น ถามว่ามีใครเคยซื้อหน้ากากอนามัยกล่องละ 700 บาทหรือไม่ ส่วนตัวคิดว่าในตอนนั้นหากขายชิ้นละ 1,000 บาท ก็มีคนซื้อเพื่อให้ลูกได้ก่อนเสมอ ถัดมาคือพ่อแม่ ซึ่งเราคือคนสุดท้ายที่จะได้ และถ้าหากไม่มี เราไม่เอาก็ได้

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว จนถึงวันนี้เรายังพูดได้อีกหรือไม่ว่า โควิดคือไข้หวัดธรรมดา ความรู้ที่เราได้รับทำให้เรารู้ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่เราจะดูแคลนได้

เราปฏิบัติกับ Climate Change ในลักษณะที่เราปฏิบัติกับโควิดหรือไม่?

ผศ.ดร.สิตางศุ์ กล่าวว่า จริงๆ เรื่องของ Climate Change เป็นเรื่องที่พูดถึงและเริ่มตื่นตัวไม่เกิน 10 ปีที่ผ่านมา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับ Climate Change และกระทบต่อมนุษย์ก็ไม่ต่างจากโควิดเลย เพราะมีผลกระทบกับพวกเราทุกคน

ในส่วนของการบริหารจัดการน้ำ ปกติแล้วในการบริหารจัดการน้ำจะเริ่มดูน้ำ ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นการนับว่าเข้าสู่หน้าแล้ง จากข้อมูลพบว่า วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 มีปริมาณน้ำอยู่ 3.5 ล้านลูกบาศก์เมตร

ส่วนในปีนี้คาดการณ์ว่าจะมีน้ำ 26,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งน้อยกว่าปีที่แล้วประมาณ 10,000 ลูกบาศก์เมตร และข่าวร้ายมากไปกว่านั้นคือมีการคาดการณ์ว่า "เอลนีโญ" ของปีนี้จะรุนแรงในช่วงปลายปีนี้ และสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปลายปีนี้ก็จะส่งผลไปถึงต้นปีหน้า นั่นหมายความว่า ต้นปีหน้า 2567 จะมีฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ย และจากการคาดการณ์ไปถึงปีหน้า ในเดือนพฤศจิกายนปี 2567 จะมีน้ำกักเก็บอยู่ที่ 25,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งน้อยกว่าเดิม  

เพราะฉะนั้น สิ่งที่น่าวิตกกังวลสำหรับปีนี้คือ จะทำอย่างไรที่จะบริหารจัดการน้ำที่คาดว่าจะมีในปีนี้ ต่อไปได้ถึงอีก 2 ปี เพราะเราไม่ทราบว่าปีหน้าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ซึ่งภาครัฐมีมาตรการรองรับ แต่ก็เป็นมาตรการที่เหมือนกันทุกปี ซึ่งปีนี้พิเศษกว่าเดิมเนื่องจากมีเอลนีโญ 

ความไม่ปกติของสภาพอากาศ กำลังจะกลายเป็นความปกติใหม่

ผศ.ดร.สิตางศุ์ กล่าวว่า เมื่อนำความต้องการใช้น้ำทั้งหมดมาคำนวณจะพบว่า ความต้องการใช้น้ำภาคเกษตรจะมีประมาณ 80% ของปริมาณความต้องการน้ำทั้งหมด ส่วนน้ำบริโภคอุปโภคไม่เกิน 5% ในส่วนของภาคอุตสาหกรรม แม้กระทั่งในภาคตะวันออกที่มีมากที่สุด ใช้ไม่เกิน 10% เราจึงมีความพยายามลดการใช้น้ำภาคเกษตร ซึ่งหากลดได้จะดีมาก จึงมีความพยายามชักชวนชาวนาเปลี่ยนการปลูกข้าวแบบเดิมไปเป็นปลูกแบบเปียกสลับแห้ง ซึ่งอาจจะทำได้ในการเก็บข้อมูล แต่ในชีวิตแทบจะไม่มีใครทำ

เช่นเดียวกับคำถามว่า เมื่อเช้านี้ใครตื่นมาแล้วอาบน้ำ 3 นาทีหรือไม่, เมื่อเช้ามีใครตื่นมาแล้วรองน้ำใส่แก้วแล้วแปรงฟัน หรือมีใครเข้าห้องน้ำแล้วกดน้ำแค่ครั้งเดียวหรือไม่?

เชื่อว่าคำตอบคือแทบไม่มี เพราะเราไม่ได้ช่วยกันลดการใช้น้ำอย่างจริงจัง เพราะเรามีการประปาที่ดี ไม่ว่าจะเปิดน้ำตอนไหนก็มีน้ำไหลแรง ซึ่งจุดอ่อนของการบริหารจัดการน้ำระดับประเทศมีมากมายและเกิดขึ้นซ้ำๆ ในขณะที่ความไม่ปกติของสภาพอากาศ กำลังจะกลายเป็นความปกติใหม่

ทุกคนเคยคิดไหมว่า "เราจะเป็นส่วนหนึ่งของการบรรเทาปัญหาพวกนี้" เชื่อว่าทุกคนมีความตระหนักถึงเรื่องนี้ในภาพรวม แต่ถามว่าในระดับปัจเจกบุคคล ถ้าทำแล้วคิดว่าจะลดการใช้น้ำได้มากน้อยเท่าไร  

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทราบไหมว่า ในแต่ละวันเราใช้น้ำประมาณ 200 ลิตรต่อคนต่อวัน หากอยู่ในชนบทอาจจะใช้ประมาณ 50 ลิตรต่อคนต่อวัน สมมติว่าเราประหยัดน้ำได้ 5% ของ 200 ลิตรต่อคนต่อวัน ปริมาณอาจจะดูไม่เยอะ ซึ่งทุกวันนี้การประปานครหลวงผลิตน้ำวันละ 5.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ส่งมาตามท่อถึงบ้านของพวกเราทุกคน แต่มีน้ำ 30% คือน้ำสูญเสีย ซึมลงดินจากท่อแตกรั่ว วันละประมาณ 1.6 ล้านลูกบาศก์เมตร

เมื่อเทียบกับการทำนา 1 ไร่ จะใช้น้ำ 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้น น้ำจำนวน 1.6 ล้านลูกบาศก์เมตรที่หายไปทุกวัน จะเพียงพอสำหรับการทำงาน 1,650 ไร่ หรือเท่ากับสระว่ายน้ำโอลิมปิก 660 สระ 

โควิด-19 กับโลกร้อน

ผศ.ดร.สิตางศุ์ กล่าวว่า ผู้ที่ฐานะยากจน ผู้ที่มีโอกาสทางสังคมน้อย คือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดมากกว่าคนรวย และคิดว่าผู้ที่จะรับผลกระทบจาก Climate Change ก็คือกลุ่มคนในทำนองเดียวกันคือ คนจนและคนด้อยโอกาสทางสังคม จะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมหนัก น้ำขาดแคลน จากไฟป่า จากอากาศที่แย่ จากปัญหาการกัดเซาะ รวมไปถึงปัญหาการสูญพันธุ์ของป่า ของพืช ของสัตว์น้ำ 

คนจนได้รับผลกระทบมากกว่าคนรวย อันนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง เราอาจจะเป็นคนสุดท้ายที่มีชีวิตรอดก็ได้ แต่ถึงวันนั้นถามว่า ไม่เหงาเหรอ เพื่อนๆ ของเราไม่อยู่แล้ว เราจะมีชีวิตที่ดีอยู่เพียงแค่คนกลุ่มเดียวได้อย่างไร ดังนั้นวิกฤติโลกร้อนจึงเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกัน หากใครลงมือทำแล้ว ก็ขอให้ทำในระดับที่ดียิ่งกว่าเดิม.

SHARE
00:51

"เมฆสีขาว" ลอยไหลข้ามเทือกเขาตาง๊อก จ.สระแก้ว ปรากฏการณ์ธรรมชาติสุดงดงาม

Follow us

  • |