ตรุษจีน หรือ วันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดกันยาวนานหลายศตวรรษ ชาวจีนแต่ละรุ่นมีการส่งต่อที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลาอย่างไร นักวิชาการด้านวัฒนธรรมจีนวิเคราะห์ไว้ได้อย่างน่าสนใจ
แก่นแท้ของ “ตรุษจีน” คือวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน ตรงกับปฏิทินตามจันทรคติจีน ในวันที่ 1 เดือน 1 และชาวจีนเริ่มนิยมสักการะเทพเจ้า และบรรพบุรุษ เพื่อขอพรจากฟ้าดิน ให้พืชผลทางการเกษตรงอกงาม มีกิน มีใช้ ตลอดทั้งปี พร้อมทั้งมีการรวมตัวของเหล่าญาติในวงศ์ตระกูลเพื่อเฉลิมฉลองในวันเริ่มต้นปีใหม่ มีการแจกอั่งเปาและอวยพรให้อยู่ดีมีสุขเหลือกินเหลือใช้ เพราะเชื่อว่าการเริ่มต้นที่ดีต่อไปก็จะดีตามไปด้วย
การส่งต่อวัฒนธรรมและประเพณีตรุษจีนที่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่นเป็นเวลาหลายศตวรรษจนถึงปัจจุบัน คนจีนเจเนอเรชันใหม่ก็มีวิธีปฏิบัติที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ซึ่งนักวิชาการด้านวัฒนธรรมจีนได้วิเคราะห์ไว้ดังนี้
“ความหมายของตรุษจีนไม่เปลี่ยน แต่รายละเอียดอาจจะเปลี่ยนไปตามเวลา หลักๆ คือการเน้นความเป็นสิริมงคลให้ปีหน้าทำมาค้าขึ้น ถ้าเปิดปีเริ่มไม่ดี ดังนั้นตอนปิดปีต้องปิดให้ดี ติดบุญคุณอะไรใครไว้ก็ปิดให้ดี ในวันไหว้ช่วงเช้าต้องไหว้เจ้าที่ และไหว้บรรพบุรุษ จากนั้นก็ไหว้ฮ้อเฮียตี๋ (สัมภเวสี) ให้ดีๆ พอถึงวันเที่ยวซึ่งเป็นวันตรุษจีนเป็นวันเปิดปีก็ฉลอง หลักมันอยู่ที่ว่าทำยังให้เฮงๆ ปังๆ ทำมาค้าขึ้น ไม่ติดขัด” จิตรา ก่อนันทเกียรติ นักสะสมความรู้เรื่องจีน กล่าว
...
นอกจากนี้ในวันตรุษจีนยังเป็นวันที่ได้พบเจอญาติๆ ทำให้ได้อัปเดตเรื่องราวของลูกหลานแต่ละคนว่ามีชีวิตเป็นอย่างไร ผู้ใหญ่มีการแจกอั่งเปาให้เด็ก ส่วนลูกหลานที่ทำงานแล้วก็ให้อั่งเปากับพ่อแม่ พร้อมทั้งอวยพรปีใหม่ให้กัน ผู้ใหญ่อวยพรให้เด็กเจริญเติบโตแข็งแรง หากทำงานแล้วก็ขอให้มีหน้าที่การงานเจริญรุ่งเรือง ส่วนลูกหลานก็อวยพรผู้ใหญ่ให้มีอายุมั่นขวัญยืน
ส่วนเรื่องการเปลี่ยนผ่านของตรุษจีนในคนรุ่นใหม่นั้น จิตรามองว่าสำหรับเด็กๆ การได้รับอั่งเปาและได้เล่นไพ่ร่วมกันกับญาติๆ ก็มีความสุขแล้ว ส่วนเรื่องพิธีการต่างๆ นั้นก็แล้วแต่บางบ้าน หากมีฐานะดีหน่อยพอที่จะทำได้ก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะการไหว้เจ้าไม่ใช่เรื่องงมงาย ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่คนจีนทำสืบต่อกันมาหลายรุ่นแล้ว เพียงแต่คนจีนยุคใหม่อาจมีการปรับเปลี่ยนของไหว้ไปตามยุคสมัย เช่น เปลี่ยนจากไหว้ไก่ต้มเป็นไก่ทอดเคเอฟซี หรือไก่ทอดบอนชอนแทน
“สิ่งที่ชอบในตรุษจีนยุคใหม่คือได้เห็นความสนุกสนานในการแต่งกายชุดกี่เพ้าหลากสีสันสวยงาม เพราะเมื่อก่อนการจะหาซื้อชุดจีนเป็นเรื่องยากมากและมีราคาแพง นอกจากนี้ยังเห็นแบรนด์แฟชั่นลักชูรีหลายๆ แบรนด์ออกแบบซองอั่งเปาสวยๆ ให้น่าสะสมทุกปี ต่างจากเมื่อก่อนที่ซองอั่งเปามีแต่สีชมพูเท่านั้น” จิตรา เล่าถึงความประทับใจของการเปลี่ยนผ่านตรุษจีนในคนรุ่นใหม่
ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับการสังเกตพฤติกรรมคนไทยเชื้อสายจีนรุ่นใหม่ ที่ดร.ณัฐฌาภรณ์ เดชราช หัวหน้าภาควิชาภาษาจีน วิทยาลัยศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เผยไว้ดังนี้
“เนื่องจากต้องทำงานคลุกคลีกับนักศึกษาซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่จึงทำให้เห็นพฤติกรรมที่แตกต่างออกไปจากคนรุ่นก่อนพอสมควร เด็กๆ มาสนใจเรื่องแฟชั่นและอั่งเปาในวันตรุษจีนมากกว่าเรื่องความหมายที่แท้จริงของประเพณีตรุษจีน จึงทำให้มองข้ามความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติลดลงไปด้วย”
ในฐานะอาจารย์ ดร.ณัฐฌาภรณ์ จึงได้ออกแบบการเรียนการสอนที่สอดแทรกวัฒนธรรมของประเพณีตรุษจีนผ่านการจัดกิจกรรม โดยให้นักศึกษาไปศึกษาค้นคว้าหาความหมายของตรุษจีนด้วยตนเอง ซึ่งทำให้ได้เรียนรู้และเข้าใจว่าตรุษจีนไม่ได้มีแค่การเฉลิมฉลองเท่านั้นแต่ยังมีความหมายทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่น่าสนใจอีกด้วย
...
“พอให้นักศึกษาได้ลองทำและเรียนรู้ด้วยตนเองเขาก็เกิดความสนใจมากขึ้น เช่น ให้จัดโต๊ะไหว้เจ้าตรุษจีนด้วยตนเอง เขาก็มีความภูมิใจที่ตัวเองทำได้และมีการถ่ายรูปลงโซเชียลต่างๆ ซึ่งก็เป็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย”
อย่างไรก็ตาม นอกจากพฤติกรรมและความสนใจของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อตรุษจีนจะต่างไปจากคนรุ่นก่อนแล้ว ผลกระทบหลังจากการแพร่ระบาดของโควิดก็ส่งผลต่อตรุษจีนในไทยด้วยเช่นกัน สังเกตได้จากภาพบรรยากาศของตรุษจีนในวันนี้ที่ไม่คึกคักเหมือนช่วงก่อนมีโควิด เห็นได้จากการรวมตัวของวงศาคณาญาติที่มีขนาดเล็กลง ไม่ได้เป็นกลุ่มใหญ่เหมือนที่ผ่านมา อาจเพราะเป็นผลจากกลัวการแพร่เชื้อโควิดรวมถึงเศรษฐกิจที่ซบเซาลง