ความเหลื่อมล้ำ เศรษฐกิจตกต่ำ และความยั่งยืน 3 ปัญหาหลักที่เป็นเสียงสะท้อนของเยาวชนจาก 14 เขตเศรษฐกิจ เสนอแก่ผู้นำเอเปกเพื่อเร่งหาแนวทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน
ความน่าสนใจของการประชุมเอเปกในปีนี้ นอกจากการประชุมเพื่อเสนอความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจากผู้นำของประเทศต่างๆ แล้ว อีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ APEC Voices of The Future 2022 เป็นเวทีที่เหล่าตัวแทนเยาวชนในประเทศต่างๆ มารวมตัวกันเพื่อร่วมสะท้อนวิสัยทัศน์อนาคตของภูมิภาค ซึ่งในปีนี้มีตัวแทนเยาวชนและผู้ให้ความรู้รวม 86 คนจาก 14 เขตเศรษฐกิจเดินทางมาเข้าร่วมทำกิจกรรมเพื่อนำเสนอหัวข้อที่เป็นประเด็นปัญหาและส่งผลต่ออนาคตของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
สำหรับปัญหาหลักที่เหล่าเยาวชนมองเห็นและต้องการสะท้อนให้เหล่าผู้นำในแต่ละประเทศพิจารณามี 3 ประเด็นหลักด้วยกัน ได้แก่ ความเหลื่อมล้ำ เศรษฐกิจตกต่ำ และความยั่งยืน
ตัวแทนเยาวชนไทย
ชูประเด็นความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา เนื่องจากเด็กที่ได้รับโอกาสทางการศึกษาและมีชีวิตที่ดีส่วนใหญ่จะมาจากครอบครัวที่มีฐานะดี ขณะที่เด็กที่มีพื้นฐานรอบครัวไม่ได้ร่ำรวยจะไม่ได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต โดยเฉพาะทรัพยากรด้านการศึกษาไม่ได้กระจายไปอย่างทั่วถึง การเข้าถึงอุปกรณ์เทคโนโลยี อินเทอร์เน็ต และแหล่งความรู้ไม่เท่ากัน อีกทั้งครูอาจารย์มีภารกิจนอกเหนือจากการสอนมากเกินจำเป็น ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานหลายปีแต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยตัวแทนเยาวชนไทยเห็นว่าการยกระดับการแนะแนวอาชีพ ด้วยการให้เด็กๆ เข้าถึงความรู้และการแนะแนวเหล่านี้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายผ่านการประสานกับภารกิจด้านสังคมขององค์กรเอกชนและภาครัฐต่างๆ จะช่วยสร้างเส้นทางสำหรับเด็กที่ขาดโอกาสให้มีอาชีพที่ดี และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้
...
ตัวแทนเยาวชนญี่ปุ่น
ชูปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเพศในที่ทำงานของผู้หญิงที่ไม่เท่าเทียมกับผู้ชาย ที่มักโดนกดดันให้อยู่บ้านเพื่อทำหน้าที่เป็นแม่บ้านมากกว่าออกมาทำงาน ซึ่งเป็นค่านิยมที่ไม่ควรเกิดขึ้นในยุคนี้ อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องอัตราการเกิดต่ำที่ส่งผลกระทบต่อแรงงาน รวมถึงอาหารที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของจำนวนประชากรในประเทศจนต้องมีการนำเข้าจากประเทศอื่นๆ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ควรเป็นปัญหาของรัฐบาลหรือเอกชนเท่านั้น แต่เยาวชนก็สามารถมีส่วนช่วยแก้ไขเพื่อขับเคลื่อนสังคมในประเทศได้ด้วย
ตัวแทนเยาวชนจีน
ชูประเด็นเรื่องความขัดแย้งเรื่องการเซนเซอร์สื่อในประเทศ ทำให้ไม่มีอิสระในการแสดงความคิดเห็นหรือการสื่อสาร ทำให้เยาวชนจีนมีความท้อแท้ต่อปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งจะส่งผลกระทบในระยะยาว โดยมองว่าการมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยทำให้โลกแคบลง แต่เราไม่สามารถอยู่ตัวคนเดียวได้ ทุกคนต้องพึ่งพากัน และเยาวชนก็ต้องการมีส่วนร่วมเพื่อที่จะแก้ปัญหานี้ให้ทุกคนหันหน้ามาคุยกัน
...
ตัวแทนเยาวชนเม็กซิโก
ได้ชูปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชากรที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ทุกคนอย่างเท่าเทียม แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามเร่งแก้ปัญหานี้ แต่เยาวชนเองก็ต้องการเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเหลือในการแก้ปัญหานี้ เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนของสังคม
ตัวแทนเยาวชนนิวซีแลนด์
ได้พูดถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำของชนเผ่าเมารีซึ่งเป็นชนพื้นเมืองของนิวซีแลนด์ที่ไม่สามารถเข้าถึงโอกาสต่างๆ ได้ ในฐานะเยาวชนจึงต้องการให้คนกลุ่มนี้มีโอกาสทางสังคมมากขึ้นด้วยการดึงศักยภาพที่ชนเผ่าเมารีมีเข้ามามีส่วนร่วมในสังคมโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วย นอกจากนี้ยังชูปัญหาเรื่องความยั่งยืนในการบริโภคทรัพยากรโดยไม่จำเป็น โดยนำเสนอให้มีการลดจำนวนการใช้สิ่งที่ไม่จำเป็นเพื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม
ตัวแทนเยาวชนเวียดนาม
ชูปัญหาเรื่องความยากจนในประเทศ ที่เป็นผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ประชาชนต้องดิ้นรนมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อทำให้เศรษฐกิจเติบโต โดยมองว่าเยาวชนและประชาชนต้องร่วมมือเพื่อช่วยเหลือกันแก้ปัญหา โดยเฉพาะเรื่องค่าเล่าเรียนในการศึกษาที่ต้องช่วยเหลือกันเอง ดังนั้นเยาวชนจึงมีส่วนร่วมในการผลักดันเพื่อสร้างโอกาสให้กับสังคม โดยมีรัฐบาลเป็นผู้ช่วย
...
ซึ่งนี่เป็นตัวอย่างเพียงบางส่วนจากตัวแทนเยาวชนทั้ง 14 เขตเศรษฐกิจ ที่ร่วมกันนำเสนอประเด็นปัญหาเพื่อสะท้อนสังคมในประเทศของตนเอง โดยมีความคาดหวังว่าสิ่งที่นำเสนอในการประชุมนี้จะสร้างผลกระทบหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
ตัวแทนเยาวชนญี่ปุ่น
บอกว่าถึงแม้ญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วแต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศอยู่ สิ่งที่เขาอยากส่งเสริมก็คือความเท่าเทียมกันของผู้หญิงในที่ทำงานให้เท่ากับผู้ชาย ซึ่งต้องเริ่มสนับสนุนตั้งแต่การศึกษาและสนับสนุนให้ผู้หญิงออกมาทำงาน ที่จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้หญิงในหลายๆ ด้าน
ตัวแทนเยาวชนจีน
มองว่าการเปลี่ยนแปลงหลังจากนี้มีความเป็นไปได้แน่นอนอยู่แล้ว เพราะเยาวชนก็เป็นเสียงสำคัญที่ทำให้คนหันมาสนใจ เพราะเป็นการทำงานจากล่างขึ้นบนไม่ใช่จากบนลงล่าง ให้คนทั่วไปและคนท้องถิ่นรับรู้และเข้าใจถึงปัญหา และเป็นการร่วมมือกันในหลายๆ ภาคส่วนในหลายๆ องค์กร ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล หน่วยงานไม่แสวงหากำไรหรือเอ็นจีโอต่างๆ มาร่วมมือกันให้ประสบความสำเร็จ และเกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา
...
ตัวแทนเยาวชนเม็กซิโก
มองว่าการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลด้วยเช่นกัน การที่เยาวชนออกมาพูดในครั้งนี้ก็อาจทำให้ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจสามารถหันมารับฟังและทำให้เป็นจริงได้ อาจจะทำให้เป็นเรื่องง่ายขึ้นที่จะประสบความสำเร็จ
ตัวแทนเยาวชนไทย
บอกว่าผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมจากการประชุมนี้คือ ‘Youth Declaration’ หรือปฏิญญา ซึ่งกลุ่มตัวแทนเยาวชนได้ร่วมกันร่างขึ้นหลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมการนำเสนอ เพื่อสะท้อนมุมมองของเยาวชนที่มีต่อปัญหา ความท้าทาย และโอกาสในประเด็นทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศเอเปก พร้อมเสนอแนะวิธีแก้ไขปัญหาตามสถานการณ์ในปัจจุบัน รวมถึงแนวทางการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยนำไปยื่นต่อพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำของเขตเศรษฐกิจเจ้าภาพฯ ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 เพื่อปูทางสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในยุคต่อๆ ไป
สำหรับการประชุม APEC Voices of the Future 2022 กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ได้เป็นผู้สนับสนุนหลักของการประชุมนี้ ด้วยการจัดเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เพื่อให้เยาวชนได้ทำการศึกษาประเด็นปัญหาอย่างเจาะลึกและร่วมระดมแนวคิดกัน พร้อมจัดหาผู้เชี่ยวชาญมาให้ข้อมูลเสริมเพื่อนำไปใช้ประโยชน์กับสังคมในวงกว้างได้ ซึ่งการได้เป็นตัวแทนประเทศถือเป็นอีกหนึ่งก้าวที่เยาวชนจะได้เก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ เป็นพื้นฐานที่ดีเพื่อการต่อยอดการเรียนรู้ในอนาคต