ภาพตึกสตง.ย่านจตุจักรที่กำลังก่อสร้างถล่มทลายลงมา หลังแผ่นดินไหวรุนแรงระดับ 8.2 ที่รู้สึกถึงความสั่นสะเทือนรุนแรงในกรุงเทพมหานคร กลายเป็นภาพติดตาที่ยากจะลบเลือนไปจากความทรงจำได้ง่ายๆ และหลายคนยังคงมีอาการตกใจ รู้สึกขวัญผวาไม่หาย จนเกิดความเครียด

อาการเหล่านี้บางคนอาจคลี่คลายได้ในเร็ววัน แต่หลายคนต้องใช้เวลา และอาจเสี่ยงอยู่ในภาวะ PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) หรือภาวะป่วยทางจิตใจจากเหตุการณ์รุนแรง

ลักษณะอาการของ PTSD เช่น

  • เราจะนึกถึงภาพเหตุการณ์รุนแรงหรือร้ายแรงนั้นบ่อยๆ จนถึงฝันเห็นบ่อยครั้ง (re-experiencing)
  • อาการตื่นตัวมากเกินไป (hyperarousal) มีความรู้สึกนึกถึงขณะที่เกิดเหตุการณ์นั้นๆ เช่น รู้สึกตื่นตัวว่าเห็นเหตุการณ์นั้นๆ กำลังจะเกิดขึ้น
  • อารมณ์เปลี่ยนไปจากเดิมไม่เป็น คือหงุดหงิด โมโหง่าย ก้าวร้าว นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย เครียดง่าย ตกใจง่าย ใจสั่น ความดันโลหิตสูง ไม่มีสมาธิ
  • บางคนมีความเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์ในเชิงลบ เช่น รู้สึกหม่นหมอง ไม่มีความสุข ไม่สนใจกิจกรรมที่เคยชอบหรือเคยทำมาก่อน บางคนที่เจอเหตุการณ์รุนแรงมาก ๆ อาจทำให้คิดฆ่าตัวตาย หรือใช้สารเสพติดต่าง ๆ เพื่อต้องการให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น
  • อยากหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้นึกถึงเหตุการณ์ (avoidance) หรือมีอารมณ์เฉยชา (emotional numbing) หลายคนจึงหลีกเลี่ยงพูดหรือนึกถึงเหตุการณ์ที่ทำให้หวาดกลัว ไม่กล้าดูข่าวนี้ในโทรทัศน์ เพราะเมื่อเห็นแล้วจะรู้สึกกระวนกระวายขึ้นมาอีก

วิธีแก้ไขให้หายจากอาการโรค PTSD

การบำบัดทางจิตใจ (Psychotherapy) ให้ความรู้ทางสุขภาพจิต ผ่อนคลายร่างกายและอารมณ์ ซึ่งสามารถทำได้หลายรูปแบบ มีการพูดคุยกับจิตแพทย์ ฝึกรับมือกับความเครียด เพื่อเรียนรู้วิธีการจัดการอารมณ์ที่เกิดจากความทรงจำเลวร้ายในอดีตด้วยตัวเอง เพื่อเยียวยาสภาพจิตใจให้แข็งแรง รวมถึงการกินยารักษาตามอาการ ที่สำคัญคือการให้กำลังใจจากครอบครัวและคนรอบข้าง เพื่อให้ก้าวผ่านโรค PTSD ไปได้

...

ที่มา: กรมสุขภาพจิต โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลพญาไท