จากกรณีวันที่ 28 มี.ค. 2568 เวลาประมาณ 13.20 น. เกิดแผ่นดินไหวที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา ขนาด 7.7 ที่ระดับความลึก 10 กม. แรงสั่นสะเทือนรับรู้และสร้างความเสียหายในหลายจังหวัดของประเทศไทย โดยพบว่าสาเหตุของแผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดจากการเคลื่อนตัวของ “รอยเลื่อนสะกาย” (Sagiang Fault) ที่ถูกขนานนามว่า "ยักษ์หลับกลางเมืองเมียนมา"

นายพิชิต สมบัติมาก อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดจากการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนสะกาย ในประเทศเมียนมา ตามแนวระนาบแบบเหลื่อมขวา มีอัตราเคลื่อนตัวประมาณ 2 ซม.ต่อปี และรอยเลื่อนสะกายนี้ก็เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอดีต
ขณะที่ข้อมูลจากบทความวิชาการ “รอยเลื่อนสะกาย: พฤติกรรมและพิบัติภัยต่อประเทศไทย” พบว่า รอยเลื่อนสะกาย เป็นหนึ่งในรอยเลื่อนมีพลังที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยมีความยาวประมาณ 1,200 กิโลเมตร วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ ผ่ากลางประเทศเมียนมาพาดผ่านเมืองสำคัญมากมาย จากทางเหนือของเมืองมิตจีนา ลงมามัณฑะเลย์, ตองยี, เนปิดอว์, พะโค, ย่างกุ้ง และต่อยาวลงไปในทะเลอันดามัน
...
แผ่นดินไหวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกไว้ว่าเกิดจากรอยเลื่อนสะกาย มีขนาด 8.0 ริกเตอร์ เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2455 มีจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่เมืองมัณฑะเลย์ ทางตอนเหนือของรอยเลื่อนสะกาย โดยฐานข้อมูลแผ่นดินไหวที่ได้จากเครื่องมือตรวจวัด ( Instrumental Records) ระบุว่าในช่วงปี พ.ศ. 2507-2555 เคยเกิดแผ่นดินไหวหลัก (Mainshock) บริเวณรอบๆ รัศมี 100 กิโลเมตรจากรอยเลื่อนสะกายประมาณ 276 ครั้ง ขนาดตั้งแต่ 2.9-7.3
ทั้งนี้แผ่นดินไหว ครั้งล่าสุด 28 มี.ค. 2568 ขนาด 7.7 ถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 95 ปี ตั้งแต่ขนาด 7.5 บริเวณเมืองพะโค เมื่อปี 2473 ครั้งนั้นมีคนตายมากกว่า 500 คน