ตอบไม่เคลียร์มี 2 เรื่องใหญ่

เป็นบทสรุปศึกซักฟอก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หลังฝ่ายค้าน นำโดยพรรคประชาชนยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปเพื่อไม่ไว้วางใจนายกฯ ตามที่ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ประธานคณะกรรมาธิการการทหาร (กมธ.) สภาผู้แทนราษฎร และ สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน ชี้ให้เห็นในภาพรวม

เป็น 2 เรื่องที่นายกฯไม่สามารถมอบหมายให้รัฐมนตรีตอบแทนได้ คือ กรณีพฤติกรรมที่ถูกกล่าวหาทำนิติกรรมอำพรางเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีการรับให้ จากการใช้ตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory Note:P/N) ยังตอบไม่เคลียร์

และกรณีที่ดินโรงแรมเทมส์ วัลลีย์ เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ที่ถูกกล่าวหาตั้งอยู่ในเขตป่าต้นน้ำลำธารนิคมพัฒนาตนเอง ลำตะคอง ไม่สามารถออกโฉนดได้แต่ให้ครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ คำถามคือได้โฉนดมาได้อย่างไร ยังตอบไม่เคลียร์เช่นกัน

ทั้ง 2 กรณียังเดินหน้าตรวจสอบต่อ และยังมีอีกหลายเรื่องที่นายกฯตอบไม่เคลียร์แม้ให้รัฐมนตรีคนอื่นแทนได้

รวมถึงประเด็นความมั่นคง ดีลแรกประเทศ มีการเปิด “องค์กรเหนือรัฐ” คล้ายๆรัฐซ้อนรัฐ ควบคุมทิศทางรัฐบาลและประเทศ ฝ่ายค้านเตรียมขยายผลอย่างไรต่อ นายวิโรจน์บอกว่า เอกสารที่ได้มาทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ

โดยเอกสารไม่เป็นทางการได้ทวนซ้ำ ทวนสอบกับดิจิทัลฟุตปรินต์ที่เกิดขึ้นจริงในอดีต ล้วนสอดคล้องตรงกัน ถึงเชื่อมั่นในระดับสูงว่าเป็นเอกสารจริง เมื่อเทียบเคียงกับเอกสารทางการล้วนสอดคล้องตรงกัน

“ความน่ากลัวอยู่ที่ข้อมูลในเอกสารยืนยันพุ่งเป้าไปที่นายกฯ เหมือนเป้าหมายแวะเวียน เป้าหมายจร คุณทักษิณ ชินวัตร (อดีตนายกฯ) ก็ตกเป็นเป้าหมายด้วยในบางช่วงเวลา

คุณภูมิธรรม เวชยชัย รมว.กลาโหม ในฐานะผู้บัญชาการสูงสุด ยังตกเป็นเป้าหมายชี้ให้เห็นว่าองค์กรนี้เป็นอาชญากรหรือไม่

...

มีอำนาจเหนือรัฐซ้อนรัฐที่ไม่รู้ว่าเจ้านายคนนี้ หัวหน้าขบวนการนี้คือใคร ปฏิบัติอุกอาจแบบนี้”

ขอตั้งข้อสังเกตเชื่อมโยงท่าทีพรรคเพื่อไทย (พท.) เดิมสนับสนุนแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เอาทหารที่ทุจริตมาขึ้นศาลอาญาทุจริต ในวาระ 1 รับหลักการ ในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญฯล้วนเห็นด้วยแต่มาคว่ำในวาระที่ 3

ขณะที่พฤติกรรมองค์กรนี้เข้าข่ายอาชญากร ผิด พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.ไซเบอร์ มันเป็นคดีทุจริตแน่นอน

ถ้ากฎหมาย ป.ป.ช.ผ่าน แล้วมีการดำเนินคดี ศาลทหารจะปกป้ององค์กรลายพรางนี้ไม่ได้อีกต่อไป จุดนี้พรรค พท. รู้อยู่แก่ใจหรือไม่ เป็นคำถามที่ถามไปยังหัวหน้าพรรค พท.และนายกฯ แม้เชื่อว่านายกฯไม่น่าจะเกี่ยวเพราะเป้าหมายขององค์กรนี้มีนายทักษิณอยู่ด้วย นายกฯคงไม่เอาพ่อของตัวเองมาเป็นเป้าหมายแน่

องค์กรเหนือรัฐทำให้มิติความมั่นคงอื่นดูเล็กลงไป เช่น ปฏิรูปกองทัพ นายวิโรจน์ บอกว่าใช้ปฏิรูปกองทัพเป็นขั้นบันไดที่ควรทำ โดยคาดหวังเห็น “สมุดปกขาว” กระทรวงกลาโหม เป็นทิศทางพัฒนากองทัพระยะยาว

สอดรับบริบทของความมั่นคงในโลกทุกใบ ประเมินภัยคุกคามรอบคอบ รอบด้าน จัดลำดับความสำคัญรับมือภัยสงคราม เช่น ดาวเทียมวงโคจรต่ำ โลกในอนาคตไม่ใช่ระบบออพติก แต่เป็นระบบดาวเทียมอินเตอร์เน็ต กองทัพจะปกป้องผลประโยชน์ของประเทศอย่างไรในยุคภัยคุกคามของโลกยุคใหม่

เป้าหมายขององค์กรเหนือรัฐจะมีผลกระทบต่อนายกฯ และมีผลต่อการเมืองอย่างไร นายวิโรจน์ บอกว่า ดูพฤติกรรมรวมไม่ใช่แค่สอดแนม ทำไอโอ พยายามแฮกเข้าไปในพาสเวิร์ดของเป้าหมาย

องค์กรนี้เป็นภัยความมั่นคง ยิ่งปล่อยให้องค์กรนี้ ดำรงอยู่ โดยไม่รู้ว่านายกฯไปอิงกับใคร ถึงถูกตั้งข้อสังเกตว่าปิดตาข้างเดียวให้องค์กรนี้เหิมเกริม ปฏิบัติหน้าที่เล่นงานแม้กระทั่งนายกฯ เล่นงาน รมว.กลาโหม เล่นงานพ่อของนายกฯ

นับเป็นภัยที่รุนแรงมากต่อสาธารณะ

อาจใช้กลไกของ กมธ.ทหารสืบสาวข้อเท็จจริงว่าเป็นความผิดของใคร ต้องหาแนวทางดำเนินการผ่าน ป.ป.ช.ต่อไป แต่ตอนนี้ยังตอบอะไรไม่ได้

เท่าที่ได้หารือกับ ผบ.ทหารสูงสุด (พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี) เชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า ผบ.ทหารสูงสุด บรรดา ผบ.เหล่าทัพ ผบ.ตร. และ รมว.กลาโหมไม่ได้เกี่ยวข้องแน่ๆ เพราะองค์กรนี้ลายพราง ดำเนินการโดยอิสระ คงต้องหาทางเชิญมาสอบว่าทำงานภายใต้คำสั่งใคร หรือเป็นอิสระที่ปกครองตัวเอง ทำไปเพื่ออะไร

รัฐบาลไม่สะทกสะท้านหลังฝ่ายค้านเปิดข้อมูลองค์กรเหนือรัฐ เตรียมขยับอย่างไรต่อ นายวิโรจน์ บอกว่า เชื่อว่านายกฯ และ รมว.กลาโหม รู้ว่ามีองค์กรลึกลับนี้ แต่ไม่รู้ว่าทำอะไร ปล่อยให้ทำตามอำเภอใจ

ขอคาดเดาว่าดีลมาต้องรับเงื่อนไขขององค์กรนี้ แม้โจมตีคุณก็ต้องยอม ที่ผมคิดเช่นนี้มีต้นเหตุมาจากนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายประเด็นชั้น 14 ให้นายกฯลาออกจากความเป็นลูกปรากฏว่านายกฯโกรธ ไม่พอใจ

แต่พ่อของนายกฯถูกองค์กรนี้ล็อกเป้าหมาย นายกฯในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ผอ.กอ.รมน.) เป็นผู้บัญชาการสูงสุดในส่วนงานความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ยังไม่รู้สึกโกรธอะไร

อาจรู้อยู่ก่อนหน้านี้ว่ามีองค์กรนี้ในดีลดังกล่าว คำถามคือองค์กรที่ทำผิดแบบนี้ประเทศไทยปลอดภัยหรือไม่

ทั้งคุกคามประชาธิปไตย–สิทธิเสรีภาพประชาชน

แต่ดูเหมือนกับรัฐบาลวางเฉย เอาหูไปนา เอาตาไปไร่ ประชาชนจะไว้วางใจสิทธิเสรีภาพของตัวเองได้อย่างไร แสดงว่ามี “บิ๊กบราเธอร์” จนถูกตั้งคำถามกฎหมายคุมครองคน สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญมีอยู่จริงหรือไม่ นับเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก

ฝ่ายค้านพยายามชี้ให้เห็นบุคคลที่มีรายชื่อตกเป็นเป้าหมายรวมถึงนายกฯอิ๊งค์ สุดท้ายมีโอกาสหลุดจากตำแหน่งได้ นายวิโรจน์ บอกว่า ฝ่ายค้านไม่ปลอดภัย นักวิชาการไม่มีเสรีภาพไม่ปลอดภัย

รัฐบาลไม่ปลอดภัย ถูกโจมตีได้ทุกเมื่อ โดยถูกขบวนการนี้ดิสเครดิต สร้างสตอรี ยุยงปลุกปั่นประชาชน

สร้างเหตุนำไปสู่รัฐประหารได้ตลอดเวลา

น่ากลัวมาก ระบอบประชาธิปไตยอยู่ในสถานะคลอนแคลน พร้อมถูกองค์กรนี้เซาะกร่อนบ่อนทำลายได้ตลอด

กล่าวหานายกฯดีลแลกประเทศ หลังซักฟอกและเตรียมใช้กลไกของ กมธ.ทหารเอกซเรย์ตรงนี้ต่อ ยังมี กมธ.ชุดไหนที่จะตรวจสอบเครือข่ายองค์กรนี้ นายวิโรจน์ บอกว่า ขอย้ำว่าองค์กรนี้ใช้เงินภาษีของประชาชน มาทำร้ายประชาชน เป็นภัยต่อทั้งสถาบันและประชาชน เรื่องใหญ่มาก

ฉะนั้นต้องดูหลักฐานต่างๆ ให้รอบคอบ ถ้านายกฯ ยังวางเฉยอยู่ก็ต้องใช้กลไกของ ป.ป.ช.ดำเนินการต่อไป

พรรคประชาชนพยายามตรวจสอบนายกฯ แต่ไม่เห็นด้วยที่ยื่นยุบพรรคเพื่อไทย หรือเอาผิดจริยธรรมของนายกฯ ในประเด็นที่ส่อขัดรัฐธรรมนูญ จึงพยายามหาช่องที่ไม่ขัดกับหลักการของพรรคในการตรวจสอบ นายวิโรจน์ บอกว่า ใช่ เราคาดหวังอยากได้กลไกเหมือนประเทศที่พัฒนาแล้ว

เช่น จริยธรรมต้องกลั่นกรองให้ดี อธิบายกับประชาชนได้ว่าเรื่องแบบนี้ขัดจริยธรรมจริง ไม่ใช่หยิบยกเป็นข้ออ้างเพื่อกลั่นแกล้ง ตอนนี้ผมดู “พฤติกรรมการหลบเลี่ยงภาษี” เข้าข่ายจริยธรรมหรือไม่

เพราะกรณีเช่นนี้ถ้าเกิดในประเทศที่พัฒนาแล้ว จับได้กลางสภาฯแบบนี้ “นายกฯระบุว่าปีหน้าจะจ่ายแล้ว” ประเทศที่พัฒนาแล้วผู้นำเขาโค้งคำนับแล้วลาออกเลยใช่หรือไม่ ไม่ใช่มาตอบแบบนี้ เรื่องนี้เข้าข่ายจริยธรรมเหมือนกัน แต่ขอไตร่ตรองให้รอบคอบที่สุดก่อน

ท้ายสุดข้อกล่าวหาดีลแลกประเทศเมื่อยื่น ป.ป.ช. จะถึงนายกฯ อย่างไร นายวิโรจน์ บอกว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน

แต่องค์กรนี้เหิมเกริมโดยไม่สนใจรัฐธรรมนูญ คุกคามเสรีภาพประชาชน

สุดท้ายนายกฯปล่อยให้มีองค์กรแบบนี้ ย่อมเข้าข่ายละเว้นปฏิบัติหน้าที่.

ทีมการเมือง

คลิกอ่านคอลัมน์ “วิเคราะห์การเมือง” เพิ่มเติม