จำนวนผู้เสียชีวิตในเมียนมาจากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรง เพิ่มขึ้นจนมากกว่า 2,700 ศพแล้ว ขณะที่ผู้รอดชีวิตกำลังขาดแคลนที่อยู่และอาหารอย่างหนัก
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า องค์กรช่วยเหลือในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวมากที่สุดในเมียนมา ออกมาเตือนถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องจัดหาที่พักชั่วคราว, อาหาร และน้ำดื่ม ให้แก่ผู้ประสบภัย หลังแผ่นดินไหวทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้น สงครามกลางเมืองยังขัดขวางการส่งความช่วยเหลือไปยังคนที่ต้องการด้วย
พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา เปิดเผยในการแถลงทางโทรศัพท์เมื่อวันอังคารที่ 1 เม.ย. 2568 ว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงระดับ 7.7 แมกนิจูดที่เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อน เพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 2,719 ศพแล้ว ขณะที่ผู้บาดเจ็บเพิ่มเป็น 4,521 ราย และมีผู้สูญหายอีก 441 คน
แผ่นดินไหวดังกล่าว นับเป็นหนึ่งในแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดที่เกิดขึ้นในเมียนมาในรอบมากกว่า 100 ปี สร้างความเสียหายแก่สิ่งปลูกสร้าง เจดีย์เก่าแก่ ท้องถนน และอื่นๆ ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ นอกจากนั้นยังส่งแรงสั่นสะเทือนไปทั่วภูมิภาค สร้างความเสียหายในกรุงเทพมหานครของไทย กับมณฑลยูนนานและเสฉวนของจีน
ที่เมืองมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับ 2 ของเมียนมา เจ้าหน้าที่ของสำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNOCHA) ยืนยันว่า มีเด็ก 50 คน กับครูอีก 2 คน เสียชีวิตหลังโรงเรียนอนุบาลที่พวกเขาอยู่พังถล่มลงมาเพราะแผ่นดินไหวเมื่อ 28 มี.ค.
UNOCHA บอกด้วยว่า ในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายรุนแรงที่สุดอย่างเช่น มัณฑะเลย์ ผู้คนกำลังดิ้นรนหาของใช้จำเป็น เช่น น้ำสะอาดและสุขภัณฑ์ต่างๆ ในขณะที่ทีมกู้ภัยกำลังทำงานอย่างไม่ลดละ เพื่อค้นหาผู้รอดชีวิตที่อาจติดอยู่ใต้ซากปรักหักพัง และให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย
...
ด้านคณะกรรมการการกู้ภัยระหว่างประเทศ (IRC) ระบุว่า ความช่วยเหลือด้านที่พัก, อาหาร, น้ำ และการแพทย์ เป็นสิ่งจำเป็นในสถานที่อย่างเมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งอยู่ใกล้จุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหว ในขณะที่ผู้คนต้องนอนกลางแจ้งเพราะกลัวเกิดอาฟเตอร์ช็อก จนทำให้อาคารถล่มซ้ำ
ไม่เพียงเท่านั้น สถานการณ์สงครามกลางเมืองในเมียนมา ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2564 ทำให้ความพยายามในการเข้าถึงผู้บาดเจ็บและผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวที่ต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน ซับซ้อนขึ้นไปอีก
องค์การนิรโทษกรรมสากล (แอมเนสตี อินเทอร์เนชันนัล) ออกมาระบุว่า รัฐบาลทหารจำเป็นต้องอนุญาตให้ความช่วยเหลือถูกส่งถึงพื้นที่อื่นๆ ในประเทศที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของพวกเขาด้วย หลังจากกองทัพมีพฤติกรรมขัดขวางการส่งความช่วยเหลือไปยังพื้นที่ของฝ่ายต่อต้านมาอย่างยาวนาน
แต่การควบคุมเครือข่ายสื่อสารอย่างเข้มงวดของรัฐบาลทหาร กับถนนและสะพาน และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว ก็ยังทำให้งานขององค์กรช่วยเหลือมีความท้าทายมากขึ้น ท่ามกลางรายงานว่า กองทัพยังคงโจมตีทางอากาศเข้าใส่ฐานที่มั่นของฝ่ายต่อต้าน แม้จะเกิดภัยพิบัติระดับชาติ
ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign
ที่มา : cna