กลุ่มกบฏล้มรัฐบาล โค่นตระกูลอัล-อัสซาด ปิดฉากเผด็จการ 53 ปี เปิดเบื้องหลังความตึงเครียดของ "ซีเรีย" พื้นที่ทับซ้อน ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และสงครามตัวแทนของมหาอำนาจโลก

ปลายเดือนพฤศจิกายน 2567 กลุ่มกบฏนำโดย 'ฮายัต ทาห์รีร์ อัล-ชาม' (Hayat Tahrir al-Sham - HTS) และพันธมิตร เริ่มทำการรุกคืบ ณ อเลปโป เมืองใหญ่ที่สุดของซีเรีย ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ หลังจากนั้นประมาณ 10 วัน หลังจากไม่มีใครต่อต้านพวกเขา กบฏกลุ่มนี้สามารถยึด 'กรุงดามัสกัส' เมืองหลวงของซีเรียได้สำเร็จ เป็นผลให้ 'บาชาร์ อัล-อัสซาด' (อดีต) ประธานาธิบดี ต้องลาออกจากตำแหน่งและหลบหนีลี้ภัยออกนอกประเทศ

แม้การกระทำของกลุ่มบุคคลดังกล่าวจะถูกเรียกว่า 'กบฏ' แต่นั่นกลับสร้างความยินดีให้กับชาวซีเรียจำนวนมาก เนื่องจากการล่มสลายของรัฐบาลภายใต้การนำของ 'ประธานาธิบดีบาชาร์' ถือเป็นบทอวสานการปกครองของตระกูลอัล-อัสซาด และเป็นจุดสิ้นสุดยุคแห่งเผด็จการที่กินเวลายาวนานกว่า 53 ปี

29 พ.ย. 2567 : นักดับเพลิงดับไฟรถบรรทุก ที่โดนโจมตีทางอากาศโดยกองกำลังรัฐบาลซีเรีย ในใจกลางเมืองอิดลิบทางตอนเหนือ
29 พ.ย. 2567 : นักดับเพลิงดับไฟรถบรรทุก ที่โดนโจมตีทางอากาศโดยกองกำลังรัฐบาลซีเรีย ในใจกลางเมืองอิดลิบทางตอนเหนือ

...

ปิดฉากเผด็จการ "ตระกูลอัล-อัสซาด" :

กว่าครึ่งศตวรรษที่ 'ตระกูลอัล-อัสซาด' ทำการปกครองซีเรีย นับตั้งแต่ นายพลฮาเฟซ อัล-อัสซาด ผู้พ่อ ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำสูงสุดเมื่อ 14 มีนาคม 2514 ด้วยการก่อรัฐประหารและยึดอำนาจ หลังจากปกครองประเทศกว่า 30 ปี ฮาเฟซถึงแก่อสัญกรรม แต่อำนาจได้ถูกส่งต่อให้ลูกชายในปี 2543

ตั้งแต่รุ่นพ่อจนถึงรุ่นลูกเส้นทางของตระกูลเต็มไปด้วยความรุนแรง ตัวของบาชาร์เองก็ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่า สั่งปราบปรามและการล้อมทางทหารต่อผู้ชุมนุมอาหรับสปริง จนนำสู่สงครามกลางเมืองซีเรีย อีกทั้งหลักฐานหลายอย่างยังบ่งชี้ว่า เขาเกี่ยวพันกับ อาชญากรรมสงคราม แต่เขาก็ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ และวิจารณ์ว่าการที่สหรัฐฯ พยายามแทรกแซงการเมืองในประเทศ เพราะต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองของซีเรีย

8 ธ.ค. 2567 : เปลวไฟลุกลามทั่วหน่วยงานรักษาความปลอดภัยทางอาญาของกระทรวงมหาดไทยซีเรียในกรุงดามัสกัส
8 ธ.ค. 2567 : เปลวไฟลุกลามทั่วหน่วยงานรักษาความปลอดภัยทางอาญาของกระทรวงมหาดไทยซีเรียในกรุงดามัสกัส

กระแสต่อต้าน บาชาร์ อัล-อัสซาด ปะทุขึ้นตั้งแต่ปี 2554 จากการเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างสงบของประชาชน แต่กลับถูกรัฐบาลโต้กลับด้วยความรุนแรง คร่าชีวิตคนนับแสน และประชาชนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคนต้องอพยพลาจากมาตุภูมิ กลายเป็นความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมานาน 13 ปี

9 ธันวาคม 2567 กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียเปิดเผยว่า อดีตประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด เดินทางถึงกรุงมอสโกและยื่นคำร้องขอลี้ภัย หลังจากรัฐบาลซีเรียปราชัยแก่กลุ่ม HTS เมื่อ 8 ธันวาคม 2567 ด้านผู้ประกาศสถานีโทรทัศน์ทางการซีเรียกล่าวอย่างปิติว่า "ยุคมืดสิ้นสุดลงแล้ว ซีเรียกำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่"

8 ธ.ค. 2567 : ชายคนหนึ่งเหยียบรูปอดีตประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ขณะที่ผู้คนเข้าไปในบ้านพักบาชาร์ในพื้นที่มัลกีของดามัสกัส
8 ธ.ค. 2567 : ชายคนหนึ่งเหยียบรูปอดีตประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ขณะที่ผู้คนเข้าไปในบ้านพักบาชาร์ในพื้นที่มัลกีของดามัสกัส

...

"ซีเรีย" พื้นที่แห่งความซับซ้อน :

'ดร.อารีฝีน ยามา' นักวิจัยศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับทีมข่าวฯ ไทยรัฐออนไลน์ว่า "นี่คือจุดจบของตระกูลอัล-อัสซาด เชื่อว่าพวกเขาไม่มีทางกลับมาเป็นรัฐบาลได้อีก"

สถานการณ์ความตึงเครียดในซีเรียไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่ถูกสะสมมาอย่างยาวนาน มีความซับซ้อนสูง เนื่องจากมีกบฏหลายกลุ่ม จนนำไปสู่ความวุ่นวายในการบริหารประเทศ! นักวิจัยศูนย์มุสลิมศึกษา เลกเชอร์สรุปให้เราฟังว่า หลัก ๆ แล้วกบฏของซีเรียมีอยู่ 3 กลุ่ม ที่ยังไม่นับรวมกลุ่มย่อยอีกจำนวนมาก

8 ธ.ค. 2567 : ภาพถ่ายดาวเทียม แสดงให้เห็นผู้คนรวมตัวกันที่จัตุรัส Saadallah al-Jabiri ในเมืองอเลปโป เพื่อเฉลิมฉลองการสิ้นสุดระบอบการปกครองของบาชาร์ อัล-อัสซาด ผู้นำเผด็จการแห่งซีเรีย
8 ธ.ค. 2567 : ภาพถ่ายดาวเทียม แสดงให้เห็นผู้คนรวมตัวกันที่จัตุรัส Saadallah al-Jabiri ในเมืองอเลปโป เพื่อเฉลิมฉลองการสิ้นสุดระบอบการปกครองของบาชาร์ อัล-อัสซาด ผู้นำเผด็จการแห่งซีเรีย

...

กลุ่มที่ 1 : กลุ่มกบฏ จาบัต อัล-นุสรา (Jabhat an-Nusra) ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น 'ฮายัต ทาห์รีร์ อัล-ชาม' (Hayat Tahrir al-Sham - HTS) โดยกลุ่มนี้แตกหน่อจากกลุ่ม อัลไคดา (อัลกออิดะห์) หลังถูกกล่าวหาว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย "ซึ่งกลุ่ม HTS นี่แหละ ที่เป็นกองกำลังหลัก ๆ ในการบุกเมืองหลวงของซีเรีย"

กลุ่มที่ 2 : กองทัพซีเรียเสรี (Free Syrian Army - FSA) ได้รับการสนับสนุนจาก 'ตุรกี' ซึ่งผลักดันให้โค่นล้มการปกครองโดยรัฐบาลของบาชาร์ อัล-อัสซาด

กลุ่มที่ 3 : 'ชาวเคิร์ด' (Kurd) กลุ่มนี้ไม่ใช่แค่ต้องการล้มรัฐบาลอัสซาด หรือเข้ามามีอำนาจเท่านั้น แต่พวกเขาต้องการ 'ปกครอง' สร้างประเทศเป็นของตัวเอง กลุ่มนี้ถือว่าเป็นคู่อริของตุรกี

"ฉะนั้น เราจะเห็นว่าโครงสร้างทางการเมืองของซีเรีย มีทั้งฝ่ายรัฐบาลที่ได้รับการอุ้มชูจากอิหร่านและรัสเซีย และมีฝ่ายต่อต้านที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ตุรกี และอิหร่าน ซึ่งตอนนี้เห็นแล้วว่ารัฐบาลล่มสลาย และเกิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของซีเรีย ซึ่งเรายังไม่รู้อนาคตว่าจะเป็นอย่างไรต่อ แต่ผมเชื่อว่าต้องมีการสู้รบเพื่อแย่งชิงอำนาจ เพราะว่ามันมีหลายกลุ่มมาก"

8 ธ.ค. 2567 : นักสู้ต่อต้านรัฐบาลสวดมนต์ที่ลานมัสยิดอุมัยยะฮ์ สถานที่อันเก่าแก่แห่งดามัสกัส หลังจากที่กลุ่มกบฏประกาศว่าพวกเขายึดเมืองหลวงได้สำเร็จ
8 ธ.ค. 2567 : นักสู้ต่อต้านรัฐบาลสวดมนต์ที่ลานมัสยิดอุมัยยะฮ์ สถานที่อันเก่าแก่แห่งดามัสกัส หลังจากที่กลุ่มกบฏประกาศว่าพวกเขายึดเมืองหลวงได้สำเร็จ

...

ภูมิรัฐศาสตร์ ความขัดแย้ง ตัวแทนของมหาอำนาจ :

จากกลุ่มตัวอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น นักวิจัยศูนย์มุสลิมศึกษา ระบุว่า "เราจะเห็นว่าภูมิรัฐศาสตร์ในซีเรียค่อนข้างจะวุ่นวาย" จากนี้ต้องติดตามต่อว่ารัสเซียจะทำอย่างไรกับการเข้ามาของกลุ่มกบฏ แต่ผมเชื่อว่าทั้งอิหร่านและรัสเซียจะไม่ปล่อยให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองแน่นอน เนื่องจากซีเรียถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ อย่างรัสเซียเองก็มีท่าเรือสำคัญและฐานทัพของตัวเองอยู่ในนั้น

ในความเป็นจริงแล้วสหรัฐฯ พยายามโค่นล้มรัฐบาลอัสซาดมาตั้งแต่ 13 ปีที่แล้ว แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากช่วงนั้นรัสเซียมีความเข้มแข็ง แต่ปัจจุบันมหาอำนาจนี้กำลังทำสงครามกับยูเครน จึงทำให้เกิดความอ่อนแอทางทหาร ทรัพยากร และเศรษฐกิจ จึงเกิดการปล่อยให้ระบบอัสซาดล่มสลาย

"ผมมองว่าผู้ได้เปรียบตอนนี้คือสหรัฐฯ และอิสราเอลโดยเฉพาะอิสราเอล เพราะถือว่าความไม่สงบในภูมิภาคตะวันออกกลาง ถือเป็นความมั่นคงของอิสราเอล ถ้าเมื่อไรที่ตะวันออกกลางมีความสงบ กลุ่มอาหรับจับมือกันและสร้างความลำบากใจให้กับอิสราเอล"

8 ธ.ค. 2567 : 'อาบู โมฮัมเหม็ด อัล-โจลานี' ผู้นำกลุ่ม HTS กล่าวปราศรัยต่อฝูงชน ณ มัสยิดอุมัยยะฮ์
8 ธ.ค. 2567 : 'อาบู โมฮัมเหม็ด อัล-โจลานี' ผู้นำกลุ่ม HTS กล่าวปราศรัยต่อฝูงชน ณ มัสยิดอุมัยยะฮ์

เมื่อถามว่า เพราะอะไรซีเรียจึงกลายเป็นพื้นที่แห่งความขัดแย้งเช่นปัจจุบัน?

ดร.อารีฝีน ระบุว่า ซีเรียเป็นอู่อารยธรรมโบราณ เช่น เมโสโปเตเมียที่อยู่ในประเทศอิรัก ก็กินพื้นที่ของซีเรียด้วย ส่วนในปัจจุบันซีเรียมีความหลากหลายของชาติพันธุ์ แต่กลุ่มสำคัญที่ปกครองซีเรียมากว่า 50 ปี คือ กลุ่มนิกายชีอะห์ ที่มีประชากรประมาณ 20-30% แต่ผู้อยู่ใต้ปกครองเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามนิกายซุนนี ซึ่งตรงนี้จะเป็นปัญหามาโดยตลอด ส่วนใหญ่ชาวเคิร์ด กลุ่มกบฏ หรือกลุ่มต่อต้านรัฐบาลก็นับถือนิกายซุนนี

แต่หลัก ๆ แล้วปัญหาสืบเนื่องมาตั้งแต่ 'ข้อตกลงไซกส์-ปิโกต์' (Sykes-Picot) ซึ่งเป็นข้อตกลงตั้งแต่ยุคสมัยของอังกฤษและฝรั่งเศสชนะสงคราม โดยแบ่งอิทธิพลการปกครองซีเรีย ซึ่งประเทศมหาอำนาจถือเป็นจุดที่ทำให้เกิดความแตกแยก

"ซีเรียเสมือนเป็น Proxy war (สงครามตัวแทน) สำหรับมหาอำนาจในการแย่งชิงทรัพยากร และแย่งชิงพื้นที่ตามภูมิรัฐศาสตร์ ความวุ่นวายนี้เป็นผลพวงความขัดแย้งของมหาอำนาจโลก ต้องรอดูต่อไปว่ามหาอำนาจเหล่านั้นจะมีท่าทีอย่างไรต่อจากนี้"

9 ธ.ค. 2567 : ภาพนี้ถูกถ่าย ณ กรุงมอสโก เป็นหน้าแรกของหนังสือพิมพ์ระดับชาติของรัสเซียบางฉบับ แสดงเรื่องราวเกี่ยวกับการล่มสลาย ของอดีตประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด
9 ธ.ค. 2567 : ภาพนี้ถูกถ่าย ณ กรุงมอสโก เป็นหน้าแรกของหนังสือพิมพ์ระดับชาติของรัสเซียบางฉบับ แสดงเรื่องราวเกี่ยวกับการล่มสลาย ของอดีตประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด

ฉากทัศน์ต่อจากนี้และท่าทีของสงคราม :

สำหรับท่าทีที่อาจจะเกิดสงครามต่อไปนั้น ดร.อารีฝีน มองว่า เป็นไปได้หลายฉากทัศน์ แต่หลัก ๆ ที่มองเห็นและคาดว่ามีความเป็นไปได้ คงคล้ายกับที่เกิดขึ้นในลิเบียหลังจากยุคของ 'มูอัมมาร์ กัดดาฟี' ซึ่งมีคนกลุ่มหนึ่งขึ้นมามีอำนาจในประเทศ UN รองรับความชอบธรรม แต่มีความไม่ลงรอยกับกลุ่มอื่น ฉากทัศน์นี้ก็อาจเป็นไปได้ในซีเรีย

"ผมคิดว่าไม่มีทางเป็นไปได้ที่กลุ่มในซีเรียจะรวมตัวสร้างเป็นรัฐบาลเดียวกัน เพราะแต่ละกลุ่มมีเป้าหมายแตกต่างกัน การสร้างรัฐที่มั่นคงจึงเป็นไปได้ยาก จะมีการแย่งชิงอำนาจอยู่แบบนี้เรื่อยไป นี่อาจจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นความขัดแย้งของกลุ่มกบฏ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอัฟกานิสถาน"

"ส่วนท่าทีของอเมริกาต้องบอกว่า ยังไม่ชัดเจนเท่าไรนัก ต้องรอทรัมป์ได้รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ แต่คิดว่าอย่างไรทรัมป์ก็ต้องทำบางสิ่งที่เอาใจอิสราเอล เพราะทุกการเลือกตั้งของสหรัฐฯ จะมีนโยบายโปรอิสราเอลอยู่แล้ว ซึ่งดูจากท่าทีอิสราเอลก็มีความกังวลต่อกลุ่มกบฏเช่นเดียวกัน"

9 ธ.ค. 2567 : รูปถ่ายของอดีตประธานาธิบดี 'บาชาร์ อัล-อัสซาด' ถูกทิ้งในย่านชานเมืองดามัสกัส
9 ธ.ค. 2567 : รูปถ่ายของอดีตประธานาธิบดี 'บาชาร์ อัล-อัสซาด' ถูกทิ้งในย่านชานเมืองดามัสกัส

ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์อาจดูไกลด้วยระยะทาง แต่หากมองถึงความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงของนานาประเทศ ดร.อารีฝีน ยามา ชี้ความสำคัญให้เห็นว่า ความขัดแย้งเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมันส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก

"ผมยกตัวอย่าง การขึ้นลงของราคาน้ำมัน สงครามมีผลอย่างมาก เพราะหลายประเทศในตะวันออกกลางส่งออกสินค้านี้ รวมไปถึงประเทศแถบนั้นเป็นคู่ค้าสำคัญของไทยในการส่งออก เช่น ผลไม้ อาหารทะเล หรือข้าว หากเกิดความไม่สงบ การค้าขายระหว่างไทยกับประเทศอาหรับจะลดลง ถ้าประเทศหนึ่งล้มที่เหลือก็จะล้มเหมือนกับโดมิโน่"

9 ธ.ค. 2567 : ผู้คนในดามัสกัสออกมาเฉลิมฉลอง หลังจากที่กลุ่มกบฏประกาศว่าพวกเขายึดเมืองหลวงของซีเรียได้สำเร็จ
9 ธ.ค. 2567 : ผู้คนในดามัสกัสออกมาเฉลิมฉลอง หลังจากที่กลุ่มกบฏประกาศว่าพวกเขายึดเมืองหลวงของซีเรียได้สำเร็จ

ภาพ : AFP