"โดนัลด์ ทรัมป์" หวนคืนเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กูรูมองเสี่ยงทำความขัดแย้งยืดเยื้อ ยังไม่เห็นโอกาสดับไฟสงครามตะวันออกกลาง คาดอาจเลิกสนับสนุนยูเครน
"ผมอยากขอบคุณชาวอเมริกันสำหรับเกียรติยศอันสูงสุด ที่ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนที่ 47 และประธานาธิบดีคนที่ 45 ของพวกคุณ" ถ้อยแถลงของ 'โดนัลด์ ทรัมป์' ที่กล่าวต่อมวลชนที่ส่งเสียงเชียร์เขาในเวสต์ปาล์มบีช รัฐฟลอริดา หลังจากที่คะแนนเลือกตั้งเริ่มทิ้งห่างคู่แข่งอย่าง 'คามาลา แฮร์ริส'
มุมมองต่อการหวนคืนสู่อำนาจของทรัมป์ 'ดร.จิระโรจน์ มะหมัดกุล' รองคณบดีฝ่ายวิชาการ อาจารย์ประจำคณะการทูตและการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวฯ ว่า ไม่ได้รู้สึกแปลกใจสำหรับผลที่ออกมา เพราะโพลก็ชี้นำมาพอสมควรว่าทรัมป์จะได้
"ส่วนของคามาลาช่วงที่ผ่านมาอาจยังไม่มีผลงานชัดเจนเท่าไร ทำให้คุณสมบัติของเขาดูไม่แข็งแกร่ง บวกกับสถานการณ์ในตะวันออกกลางยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรมาก และทรัมป์เองอยู่ในช่วงจังหวะที่ดี คือไม่ได้อยู่ในช่วงสงคราม เขาเลยพูดได้ว่าจะหยุดสงคราม ทรัมป์จึงดูได้เปรียบในหลายภาคส่วน"
...
ทรัมป์กับพื้นที่ตะวันออกกลาง :
หากย้อนกลับไปในช่วงหาเสียง ทรัมป์เคยออกมาพูดว่า หากเขาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง เขาสามารถยุติสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนได้ภายในวันเดียว แม้หลายคนจะส่ายหัวและบอกว่าทำไม่ได้ แต่ในอีกมุมหนึ่งก็น่าสงสัยว่า คำกล่าวนี้ซ่อนอะไรไว้หรือไม่
ทีมข่าวฯ สอบถาม ดร.จิระโรจน์ ว่า การที่ทรัมป์ได้นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีอีกครั้ง คาดว่าจะมีผลกระทบต่อพื้นที่ตะวันออกกลางและโลกมุสลิมอย่างไรบ้าง?
อาจารย์ประจำคณะการทูตฯ แสดงความคิดเห็นว่า ยังมีความน่ากังวลอยู่บ้าง เพราะที่ผ่านมาทรัมป์ก็ให้การสนับสนุนอิสราเอล ซึ่งตรงนี้ต้องเข้าใจว่า ไม่ว่าจะเป็นคนจากพรรคริพับลิกัน หรือเดโมแครตเขาก็สนับสนุนอิสราเอลอยู่แล้ว
"ทางสหรัฐฯ เขาโปรอิสราเอลและให้เงินสนับสนุนจำนวนมาก ในส่วนของทรัมป์จะเห็นว่าเขามีความใกล้ชิดกับเนทันยาฮู (นายกรัฐมนตรีอิสราเอล) อยู่แล้ว ประกอบกับลูกเขยของทรัมป์ จาเร็ด คุชเนอร์ ก็เป็นชาวยิวและมีความสนิทสนมกับอิสราเอลค่อนข้างมาก ผมเลยมีความกังวลเล็กน้อย"
ดร.จิระโรจน์ ย้อนเรื่องราวที่ทรัมป์เคยทำกับพื้นที่ตะวันออกกลาง เมื่อครั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยแรกว่า ทรัมป์ยอมรับ 'เยรูซาเล็ม' เป็นเมืองหลวงของอิสราเอล ทำให้ประชาคมโลกแปลกใจ และเกรงว่าจะเกิดเรื่องขึ้น เพราะไม่เคยมีประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนไหนกล้าทำแบบนี้เนื่องจากเป็นเรื่องที่อ่อนไหว หรืออีกเรื่องคือการมอบอธิปไตยของซีเรียให้อิสราเอล
นอกจากนั้นทรัมป์ยังเคยสั่งการโดยตรง ให้สังหาร 'นายพลคาเซม สุเลมานี' ผู้บัญชาการกองกำลังคุดส์ของอิหร่าน (ในขณะนั้น) เนื่องจากมีบทบาทสำคัญต่อการเชื่อมโยงและสร้างเครือข่ายกลุ่มต่อต้านอิสราเอล ส่งผลให้อิหร่านเคืองทรัมป์มาก
"ทรัมป์ยังสั่งยกเลิกข้อตกลงนิวเคลียร์ที่โอบามาสร้างขึ้นกับอิหร่าน โดยข้อตกลงนั้นมีเพื่อให้อิหร่านยกเลิกการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ และให้ใช้นิวเคลียร์เชิงสันติ แต่สุดท้ายทรัมป์กลับมายกเลิก"
เสี่ยงสงครามยืดเยื้อ :
ด้วยบุคลิกที่มีความไม่แน่นอนสูง และการตัดสินใจที่ยากเกินคาดเดาของทรัมป์ ทำให้ ดร.จิระโรจน์ มองว่าจะส่งผลไปถึงเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ณ ฉนวนกาซาหรือเลบานอน มีความเสี่ยงว่าสงครามจะยืดเยื้อออกไปอีก
...
"ทรัมป์อาจจะไปร่วมกับเนทันยาฮูโดยตรง ส่วนเนทันยาฮูก็ต้องการยืดสงครามออกหรือทำให้เบ็ดเสร็จ เพราะมีชนักปักหลังอยู่ว่าถ้าแพ้ก็อาจจะโดนเสียเอง เนื่องจากมีทั้งปัญหาคอร์รัปชัน การปฏิรูปตุลาการ และเรื่องอื่น ๆ ที่ประชาชนในประเทศออกมาประท้วง"
"ล่าสุดเนทันยาฮูสั่งปลด โยอาฟ กัลแลนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอิสราเอล เนื่องจากแนวทางไม่ลงรอยกัน เนทันยาฮูต้องการให้สงครามยืดเยื้อ ต้องการทำให้เบ็ดเสร็จในกาซาและพื้นที่อื่น โดยไม่คำนึงถึงชีวิตของตัวประกัน ในขณะที่กัลแลนต์บอกว่าควรหยุดยิง เพื่อให้มีการปล่อยตัวประกันมากขึ้น"
ดร.จิระโรจน์ มองว่า การที่ทรัมป์เคยประกาศว่า สามารถหยุดสงครามได้ก็คงไม่ง่ายอย่างที่พูด เพราะนั่นเป็นการพูดเชิงหาเสียง การหยุดสงคราม ใน 24 หรือ 48 ชั่วโมงเป็นเรื่องที่ยากมาก อย่างที่บอกว่าจะหยุดสงครามยูเครน ทรัมป์ก็เคลมว่าเขาสนิทกับปูติน และชี้ว่านโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ มีความผิดพลาดจึงทำให้จีนกับรัสเซียเหนียวแน่นกันมากขึ้น เลยมีความพยายามจะดึงสองชาติออกจากกัน และมีแนวโน้มว่าจะไม่ให้การสนับสนุนยูเครน เพราะที่ผ่านมามีค่าใช้จ่ายที่อเมริกาต้องจ่าย
...
"ทรัมป์มีแนวคิดอยู่แล้วว่า American first หรือ อเมริกาต้องมาก่อน ดังนั้น สงครามที่อเมริกาไม่ได้มีส่วนร่วมโดยตรงทำไมอเมริกาต้องจ่ายเงินให้ด้วย แนวคิดแบบนี้ทำให้ยุโรปเริ่มกังวลว่าถ้าสหรัฐฯ ไม่เอา แล้วใครจะมาช่วยสนับสนุนยูเครน"
ดร.จิระโรจน์ กล่าวเสริมว่า ยุคโจ ไบเดนให้ยูเครนเต็มที่ ไม่ได้มีค่าใช้จ่ายที่ยูเครนต้องตอบแทนคืนสหรัฐฯ แต่ทรัมป์มีแนวคิดคนละแบบ การเลิกสนับสนุนยูเครนจึงอาจจะเป็นจุดหนึ่ง ในแง่ที่เขาบอกว่าจะหยุดสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน
"ทรัมป์มีภาวะผู้นำที่ค่อนข้างเข้มแข็ง และมีความคิดเป็นของตัวเองสูง เลยอาจจะมีการกระทำใหม่ ๆ เกิดขึ้น ผมยังมองไม่ออกว่าทรัมป์จะมาช่วยหยุดความขัดแย้งในพื้นที่ตะวันออกกลางอย่างไร แค่กลัวว่ามีแนวโน้มจะขยายมากขึ้นด้วยซ้ำ"
ท่าทีของโลกมุสลิม :
เมื่อถามถึงท่าทีของประเทศในโลกมุสลิมที่มีต่อผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ดร.จิระโรจน์ให้คำตอบว่า โดยรวมเขาเข้าใจว่านโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ก็อุ้มอิสราเอลเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพราะอิสราเอลเป็นผลประโยชน์ของอเมริกา ถ้าทรัมป์บอกว่า American First เขาก็ยังน่าจะสนับสนุนอิสราเอล เพราะอิสราเอลเหมือนเป็นหูเป็นตาและเป็นเครื่องมือให้อเมริกาดูผลประโยชน์ของตัวเองในพื้นที่ตะวันออกกลางโดยเฉพาะเรื่องน้ำมัน
...
"ประเทศต่าง ๆ อยู่ในช่วงดูว่าทรัมป์จะดำเนินนโยบายอย่างไร แต่ทรัมป์เคยพูดถึงการมีแนวคิดอยากให้ประเทศอาหรับคืนดีกับอิสราเอล ทั้งทางการทูต ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และอื่น ๆ ที่ผ่านมาสหรัฐฯ เคยทำสำเร็จอยู่บ้าง เช่น การเป็นตัวกลางทำให้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โมร็อกโก และซูดาน ฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล"
ดร.จิระโรจน์กล่าวว่า ที่จริงก็เคยมีกระบวนการลักษณะนี้กับซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นพี่ใหญ่ของตะวันออกกลาง แต่ดันมีกรณีของปาเลสไตน์และฉนวนกาซาขึ้นมาก่อน ทำให้ดีลฟื้นฟูความสัมพันธ์ต้องหยุดชะงัก
"ผมก็หวังให้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น การเมืองระหว่างประเทศเป็นเรื่องของมหาอำนาจ แต่เราควรให้ความสนใจชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ตกเป็นเป้าหมายของสงครามทั้งสองฝ่าย เช่น การทำลายสาธารณูปโภคต่าง ๆ ในฉนวนกาซา ส่งผลให้เกิดความรุนแรงต่อการดำรงชีวิต จนตอนนี้บริเวณนั้นเกิดวิกฤติขาดมนุษยธรรมที่ใหญ่มาก จะเรียกว่าอันดับ 1 ของโลกเลยก็ว่าได้"
ภาพ : AFP