แคว้นบาเลนเซีย ประเทศสเปน เจอปัญหา "ระเบิดฝน" หรือ “Rain Bomb” น้ำท่วมจากฝนตกหนักในพื้นที่จำกัด หนักสุดในรอบ 50 ปี ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 65 ราย "ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์" มองสัญญาณเตือนโลกเดือด ปีนี้เกิดขึ้นถี่ หลายพื้นที่ทั่วโลก แม้เมืองที่มีระบบการระบายน้ำทันสมัย ก็อาจป้องกันไม่ทัน โดยเฉพาะไทย ควรมีระบบเตือนภัย ไม่เช่นนั้นจะเกิดเหตุซ้ำรอย เหมือนน้ำท่วม อ.แม่สาย จ.เชียงราย
สเปน เผชิญปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในรอบ 50 ปี เนื่องจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2567 ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในภาคตะวันออกของสเปน โดยเฉพาะแคว้นบาเลนเซีย ได้รับผลกระทบหนัก สะพานถูกตัดขาด ประชาชนหนีน้ำขึ้นหลังคา หรือปีนขึ้นไปบนต้นไม้ เพื่อรอความช่วยเหลือ เบื้องต้นมีรายงานผู้เสียชีวิตแล้ว 95 ราย มีผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนอีกจำนวนมาก
สถานการณ์โลกปีนี้ มีเหตุทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันหลายพื้นที่ทั่วโลก "ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์" นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิเคราะห์ว่า โลกร้อนทำให้สภาพภูมิอากาศแปรปรวนสุดขีด เกิดฝนแบบ Rain Bomb ถล่มลงมาแค่ 8 ชั่วโมง มากกว่าฝนทั้งปีรวมกัน เกิดน้ำท่วมฉับพลันระดับหายนะในวาเลนเซีย และเมืองใกล้เคียงของสเปน
...
Rain Bomb เป็นฝนที่ตกหนักในเวลาสั้น จากสภาวะอากาศแปรปรวนสุดขีด (Extreme Weather) เกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อน ทำให้มีฝนตกมาอย่างหนักมากในระยะเวลาสั้น ในพื้นที่ไม่กว้างมากนัก
ซึ่งคำว่า Rain Bomb ไม่ได้เป็นชื่อทางวิชาการแบบตรงตัว แต่เป็นในเชิงการบอกถึงลักษณะที่มีฝนตกมาก ในพื้นที่ไม่กว้างด้วยปริมาณฝนจำนวนมาก
"เอลนีโญ และลานีญา เป็นปรากฏการณ์ภาพใหญ่ แต่ลักษณะของ Rain Bomb สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีพายุเข้ามา เช่น น้ำท่วมสนามบินดูไบ หรือตัวอย่างในไทยที่เห็นชัดสุดคือ น้ำท่วมแม่สาย แม่แตง โดยเป็นตัวสำคัญทำให้ฝนตกหนัก ในพื้นที่ไม่กว้าง"
ตัวอย่าง Rain Bomb ที่เกิดขึ้นในบาเลนเซีย ประเทศสเปน เป็นปรากฏการณ์เหมือนกับเหตุการณ์น้ำท่วมใน อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี มีลักษณะฝนตกหนักในพื้นที่ไม่กว้าง โดยฝนมีปริมาณ 130 – 140 มิลลิเมตร ในช่วงเวลาสั้น ไม่สามารถสังเกตได้จากตัวก้อนเมฆ เหมือนกับปรากฏการณ์ฝนตกทั่วไป
ตัวอย่างในกรุงเทพฯ มีปรากฏการณ์ที่เป็นเหมือน Rain Bomb มีฝนตกหนักเฉพาะจุด อยู่ในพื้นที่เขตเดียว แต่พื้นที่เขตอื่นไม่มีฝนตก โดยกรณีที่ฝนตกหนักในสเปน ที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เกิดจากปรากฏการณ์นี้ ที่ไม่มีการเตือนภัยมาก่อนว่าจะเกิดขึ้น ทำให้ประชาชนบางส่วนไม่มีการเตรียมตัว
กรณีน้ำท่วมฉับพลัน หรือ flash flood มาคู่กับการที่ฝนตกแบบ Rain Bomb ซึ่งตัวอย่างในกรุงเทพฯ ถ้าเกิดขึ้นจะมีลักษณะเป็นแบบน้ำรอระบาย แต่ถ้าเกิดขึ้นในพื้นที่ภูเขา ก็มีโอกาสดินถล่ม
การป้องกันเหตุน้ำท่วมจาก Rain Bomb เมืองนั้นต้องมีระบบเตือนภัยเกี่ยวกับน้ำท่วมให้ประชาชนทั่วไปรับทราบอย่างทั่วถึง เพื่อจะได้อพยพ และบางพื้นที่อาจมีดินโคลนถล่ม หลายเมืองที่มีการพัฒนาระบบระบายน้ำอย่างทันสมัย เช่น กรุงโซล เกาหลีใต้ ก็ยังไม่สามารถรับได้
สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือ ลักษณะฝนตกหนักแบบ Rain Bomb ในอดีตที่ผ่านมาเคยเกิดขึ้น แต่นานๆ ทีจะเกิดขึ้นตัวอย่างเช่น 30 – 40 ปี เกิดขึ้น 1 ครั้ง แต่สิ่งสำคัญ ต้องมีระบบการตั้งรับ เตือนภัยก่อนเกิดเหตุทุกครั้ง
...