ใกล้เข้าสู่โค้งสุดท้าย เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2024 วันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ เทียบนโยบายพรรคตัวเต็ง “ผศ.ดร.วิบูลพงศ์” ที่ปรึกษาสมาคมอเมริกาศึกษา ประเมินปัญหาใหญ่ในอเมริกา ต้องจัดการภาวะเศรษฐกิจ และผู้อพยพที่ส่งผลกระทบต่อการจ้างแรงงาน ด้านนโยบายต่างประเทศถ้า "โดนัลด์ ทรัมป์" คว้าชัยชนะ จะเปลี่ยนระเบียบโลกใหม่ ไทยต้องรวมกลุ่มชาติอาเซียน สร้างการต่อรองให้มากที่สุด 

ผศ.ดร.วิบูลพงศ์ พูนประสิทธิ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่ปรึกษาสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย วิเคราะห์การชิงประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาครั้งนี้ "โดนัลด์ ทรัมป์" ได้เปรียบ เพราะคู่แข่งมีการเปลี่ยนท้าชิงเป็น “คามาลา แฮร์ริส” เสมือนเป็นการ “เปลี่ยนม้ากลางศึก” ประกอบกับทรัมป์ พยายามหาเสียงว่า ที่ผ่านมาพรรคเดโมแครต บริหารงานล้มเหลว เศรษฐกิจไม่ดี ปล่อยให้คนต่างชาติเข้ามาแย่งงาน เกิดภาวะเงินเฟ้อ

...

ด้าน “คามาลา แฮร์ริส” ถือเป็นคนที่โชคดี เพราะไม่ใช่เรื่องปกติ ที่จะเปลี่ยนตัวผู้ท้าชิงประธานาธิบดีในช่วง 3 – 4 เดือนก่อนการเลือกตั้ง เพราะปกติต้องใช้เวลาเป็นปี แต่ข้อดีที่การเปลี่ยนตัวราบรื่น ทำให้การหาเสียงต่อเนื่อง หลังจาก “โจ ไบเดน” ถอนตัว

ถ้าประเมินในช่วงโค้งสุดท้าย การแข่งขันครั้งนี้ค่อนข้างสูสี น่าสนใจว่า คนอเมริกันกว่าครึ่งประเทศยังมีแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม มีแนวคิดว่าอเมริกาดีต้องกว่านี้ ซึ่งตอนนี้คนอเมริกามองว่าตัวเองเสียเปรียบ โดยรัฐบาลไปจัดการกับคนภายนอกประเทศมากมาย แต่ไม่ได้มาดูแลคนในประเทศ สอดคล้องกับแนวทางของ "โดนัลด์ ทรัมป์"

นโยบายด้านต่างประเทศของ "โดนัลด์ ทรัมป์" ค่อนข้างรุนแรง เพราะเขามองว่านโยบายที่เป็นอยู่ตอนนี้ไม่ตอบสนองกับผลประโยชน์อเมริกา โดยเสนอว่า จะเปลี่ยนแปลงให้ประธานาธิบดีมีอำนาจมากขึ้น ซึ่งเนื้อในของนโยบายมีความเป็นเผด็จการค่อนข้างสูง ในการที่ประธานาธิบดีมีอำนาจสั่งการทำงาน หรือไล่ออกข้าราชการทั่วประเทศได้ เปรียบเสมือนผู้นำที่เป็นเผด็จการทางประชาธิปไตย

“ถ้ามองแนวโน้มการเลือกตั้งครั้งนี้ ในอเมริกามีความขัดแย้งค่อนข้างรุนแรงระหว่างกลุ่มอนุรักษ์นิยม และกลุ่มเสรีนิยม แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ โดนัลด์ ทรัมป์ สู้สุดชีวิตเพราะมีคดีต่างๆ มากมาย ซึ่งถ้าได้กลับมาเป็นประธานาธิบดี จะมีอภิสิทธิ์ในการป้องกันตัวเองได้”

“คามาลา แฮร์ริส” ตีตื้นสร้างคะแนนนิยม

“ผศ.ดร.วิบูลพงศ์” มองความนิยมของ “คามาลา แฮร์ริส” ก่อนหน้านั้นก็คงไม่ได้คาดฝันว่าจะได้มาเป็นตัวแทนพรรคในการเลือกตั้งประธานาธิบดี เพราะตอนนั้น “โจ ไบเดน” ไม่มีท่าทีว่าจะยอมเปลี่ยนตัว แต่มาถึงจุดนี้ต้องยอมรับว่า “คามาลา แฮร์ริส” ทำได้ดีพอสมควร เพราะถ้าเปรียบเทียบจากผลโพล ตอนที่เป็น “โจ ไบเดน” กับ “ทรัมป์” คะแนนนิยมทรัมป์มีมากกว่าไบเดน แต่พอเปลี่ยนเป็น “คามาลา แฮร์ริส” กลับมีคะแนนตีตื้นขึ้นมามากขึ้น เพราะตอนแรกคนที่คิดว่าจะไม่ไปเลือกตั้ง ก็เปลี่ยนใจว่าจะมาเลือกตั้งมากขึ้น เพราะเริ่มมีความหวัง

...

ทำให้ตอนนี้คะแนนนิยมของ “คามาลา แฮร์ริส” กับ "โดนัลด์ ทรัมป์" เริ่มมีคะแนนไล่เลี่ยกัน สิ่งนี้ทำให้ต้องมาตัดสินในคะแนนเลือกตั้งในรัฐที่เป็นตัวแปรสำคัญ เพราะฝั่งคนที่สนับสนุนเดโมแครต ก็มองว่านโยบายของทรัมป์อันตราย เช่น ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงทำแท้ง หรือนโยบายขับไล่ชาวต่างชาติที่เข้าประเทศโดยไม่ถูกกฎหมาย ซึ่งเป็นประเด็นที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะในอเมริกามีคนต่างชาติที่เข้ามาทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมายหลายล้านคน

“การเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ใช่มีผลกระทบกับอเมริกาอย่างเดียว แต่มีผลกระทบกับเศรษฐกิจ ระบบความสัมพันธ์ของนานาประเทศทั่วโลก เพราะระเบียบโลกตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้ง 2 ถูกกำหนดโดยฝั่งชนะสงคราม ซึ่งมีอเมริกาเป็นชาติหลัก และมีองค์กรระดับโลกที่คอยสนับสนุนนโยบายของชาติมหาอำนาจ ทรัมป์ไม่ได้มองเห็นความสำคัญของระบบนี้ ซึ่งทรัมป์ก็นำเสนอว่า ถ้าได้เป็นประธานาธิบดีอีกสมัย จะต้องเปลี่ยนระเบียบโลกใหม่ โดยอเมริกาจะไม่ต้องเข้าร่วมยูเอ็น ถ้าไม่ให้ประโยชน์กับอเมริกา”

ปัญหาสำคัญสังคมอเมริกัน

...

“ผศ.ดร.วิบูลพงศ์” มองปัญหาสำคัญที่คนอเมริกันต้องการให้แก้ไขคือ การเข้ามาแย่งงานของผู้อพยพ ขณะที่นโยบายของทรัมป์เองก็รู้สึกว่าเศรษฐกิจกำลังเสียเปรียบ โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าจำนวนมากมาจากจีน เลยพยายามเสนอนโยบายในการแก้ไขให้สินค้าหลายอย่างที่ผลิตในต่างประเทศกลับเข้ามาผลิตในอเมริกาอีกครั้ง

ปัญหาเศรษฐกิจเป็นประเด็นหลักที่คนอเมริกันอยากจะคิดเปลี่ยนใจว่าจะลองของใหม่หรือไม่ แต่อย่าลืมว่าช่วงโควิดที่ผ่านมา ทรัมป์ไม่ได้บริหารประเทศในช่วงนั้น มีผู้อพยพเข้ามาอเมริกามากมาย ทำให้พรรคที่ได้รับตำแหน่งใหม่ต้องจัดการกับปัญหาเหล่านี้ให้ได้

สำหรับ “คาเมลา แฮร์ริส” นโยบายที่จะมากระตุ้นเศรษฐกิจก็มีบางอย่างที่คล้ายกันกับคู่แข่ง เช่น การจะไม่เก็บภาษีรายได้จากการทิป นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจพรรคเดโมแครตต้องใช้ความพยายามอย่างมาก

เนื่องจากคะแนนเสียงของพรรคเป็นคนชั้นกลางและระดับล่างที่หาเช้ากินค่ำ ดังนั้นจึงมีการคาดหวังเรื่องเพิ่มค่าแรง ลดการเก็บภาษี “น่าสนใจว่ามีคนอีกบางส่วนที่ไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกใคร คนเหล่านี้อยู่ในรัฐ Swing State ซึ่งเป็นรัฐที่มีความนิยมเปลี่ยนไปมา ต่างจากบางรัฐที่คนอยู่มานานอย่างรัฐแคลิฟอร์เนีย 10 กว่าปีที่ผ่านมา พรรคเดโมแครตก็ยังชนะการเลือกตั้งมาโดยตลอด”

นโยบายต่างประเทศส่งผลต่อสงคราม

นโยบายการต่างประเทศที่เกี่ยวโยงกับการสนับสนุนการทำสงคราม หากวิเคราะห์จากนโยบายของผู้ชิงชัยประธานาธิบดี “ผศ.ดร.วิบูลพงศ์” มองว่า สงครามในยูเครน ถ้าเป็นนโยบายของทรัมป์ ก็ต้องการให้ยุติสงครามโดยเร็ว ด้วยวิธีการหยุดให้เงินสนับสนุน และให้ยูเครนไปเจรจาสันติภาพกับรัสเซีย

ส่วน “คาเมลา แฮร์ริส” จะดำเนินนโยบายคล้ายกับที่เป็นอยู่เดิมของ “โจ ไบเดน” โดยอาจให้เงินสนับสนุนยูเครน แต่ก็พยายามให้มีการเจรจา เพื่อนำสู่สันติภาพ

...

ด้านการดำเนินนโยบายทางตะวันออกกลาง นโยบายของทั้งสองพรรคยังมีความคล้ายกันในการสนับสนุนอิสราเอล เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างคนอเมริกากับอิสราเอลค่อนข้างใกล้ชิดกันด้านเชื้อชาติ

ส่วนนโยบายกับจีน ทั้งสองพรรคมีแนวทางตรงกันในการลดบทบาทของจีน แต่นโยบายที่กระทบกับไทยคือ ถ้าทรัมป์เข้ามาจะไม่มีนโยบายปกป้องไต้หวันอย่างที่อเมริกาเป็นอยู่ในตอนนี้

ไทยต้องเตรียมพร้อมอย่างไร

“ผศ.ดร.วิบูลพงศ์” ประเมินผลกระทบและการปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศของไทย หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาว่า หากทรัมป์กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง ไทยจะลำบากพอสมควร เพราะทรัมป์มีนโยบายชาตินิยม และไม่เข้าไปยุ่งในระบบภาคี แต่ติดต่อเป็นประเทศไป ต่างจาก “คามาลา แฮร์ริส” นโยบายจะกระทบต่อไทยน้อย ซึ่งต้องมีการปรับเปลี่ยนในเรื่องสิทธิมนุษยชนให้มีความเท่าเทียม เพื่อให้อเมริกายอมรับมากขึ้น

“ทรัมป์จะมองแบบเหมารวมว่า ไม่ว่าประเทศไหนที่มีโรงงานผลิตจีน ก็ถือเป็นสินค้าจีน จึงจะถูกกีดกันด้วยกำแพงภาษี แต่ก็อาจทำให้สินค้าในอเมริกาแพงขึ้น”

สิ่งที่ไทยควรทำคือ การปรึกษากับประเทศในอาเซียน เพื่อสร้างการต่อรองร่วมกันกับอเมริกา เพราะอเมริกาก็มีฐานทัพเรือที่สำคัญอยู่ไม่ไกลจากพื้นที่อาเซียน โดยเฉพาะถ้าทรัมป์ก้าวขึ้นมารับตำแหน่งอีกครั้ง จะมีนโยบายที่บีบคั้นประเทศในอาเซียน

“การที่คนไทยต้องสนใจการเลือกตั้งของสหรัฐ เพราะเป็นมหาอำนาจของโลก ถ้าทรัมป์เข้ามา ไทยก็ต้องปรับตัว เพราะมีการปรับเปลี่ยนระบบโลก กระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทย และการเมืองของโลก ซึ่งต้องทำให้เราปรับตัวล่วงหน้าตั้งแต่ต้น ดีกว่าปล่อยไว้จนให้เขาบุกมา โดยที่ไทยไม่ได้เตรียมตัว”.