ไขดราม่า เกราะป้องกันที่มีชื่อว่า Disney+ หลังการเสียชีวิตของ แพทย์หญิงกนกพร แต่งสวน จากภาวะภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน” (Anaphylaxis) ทำให้เกิดเสียวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง...ความสูญเสีย ช่วงเย็นของวันที่ 5 ตุลาคม 2023 “แพทย์หญิงกนกพร แต่งสวน” (Kanokporn Tangsuan) วัย 42 ปี แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว (Family Medicine Doctor) จาก New York University Langone Hospital หรือ NYU Langone Hospital ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงลำดับต้นๆ ของ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เข้าไปรับทานอาหารเย็นที่ร้านอาหาร Raglan Road Pub and Restaurant ซึ่งตั้งอยู่ภายในสวนสนุกดิสนีย์เวิร์ดรีสอร์ต รัฐฟลอริด้า ประเทศสหรัฐอเมริกา พร้อมกับ “เจฟฟรีย์ พิคโคโล” (Jefferey Piccolo) ผู้เป็นสามี และแม่ของสามี โดยก่อนจะสั่งอาหาร “แพทย์หญิงกนกพรและสามี” ได้สอบถามกับพนักงานของร้านอาหารหลายต่อหลายครั้งว่า สามารถปรุงเมนูอาหารให้ปราศจาก “สารก่อภูมิแพ้” (Allergen Free) ได้หรือไม่? เนื่องจากเธอ “มีอาการแพ้ผลิตภัณฑ์จากนมและถั่วในระดับรุนแรง” ซึ่งคำตอบที่ได้รับจากพนักงานหลังการหารือกับเชฟ คือ “สามารถปรุงอาหารตามที่เธอต้องการได้” อีกทั้งยังได้ให้ความมั่นใจด้วยว่า อาหารที่จะนำมาเสิร์ฟจะมีความปลอดภัย กับ แพทย์หญิงกนกพร แน่นอน ทั้ง 3 คน จึงได้สั่งอาหารประกอบด้วย หอยเชลล์ , พายมังสวิรัต และ หัวหอมทอด อย่างไรก็ดี เมื่ออาหารถูกนำมาเสิร์ฟที่โต๊ะ แพทย์หญิงกนกพร พบว่า อาหารไม่ได้มีการติดธงที่ระบุว่า “ปราศจากสารก่อภูมิแพ้” จึงได้มีการสอบถามพนักงานเรื่องความปลอดภัยของอาหารอีกครั้ง แต่ทางพนักงานก็ยังคงยืนยันว่า “อาหารที่ถูกนำมาเสิร์ฟให้กับแพทย์หญิงกนกพร “ปราศจากสารก่อภูมิแพ้แน่นอน” ทั้งหมดจึงได้ร่วมกันรับทานอาหารทั้ง 3 จาน เวลา 20.00 น. เมื่อรับทานอาหารเสร็จ “เจฟฟรีย์ พิคโคโล” ได้ขอตัวเดินทางกลับไปที่ห้องพัก ส่วนแพทย์หญิงกนกพรและแม่สามี แยกตัวออกไปเดินช็อปปิ้งที่ร้านค้าในสวนสนุกดิสนีย์เวิร์ดรีสอร์ตกันต่อ กระทั่งเวลา 20.45 น. ขณะกำลังช็อปปิ้งภายในร้าน Planet Hollywood แพทย์หญิงกนกพร ได้เกิดอาการแพ้อย่างเฉียบพลันและรุนแรง หายใจได้อย่างยากลำบาก จนกระทั้่งล้มลงไปกับพื้น และต้องฉีดยาแก้แพ้ฉุกเฉิน “เอพิ-เพ็น” (Epi-Pen) เข้าสู่ร่างกายด้วยตัวเอง ก่อนที่จะมีการแจ้งเหตุฉุกเฉิน 911 เพื่อรีบพาเธอส่งโรงพยาบาล แต่ทุกอย่างก็สายเกินไป เมื่อแพทย์หญิงกนกพร ได้ไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล โดยเอกสารรายงานการชันสูตรพลิกศพอย่างเป็นทางการ ระบุว่า สาเหตุการเสียชีวิตของแพทย์หญิงกนกพร คือ “ผลจากภาวะภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน” (Anaphylaxis) นอกจากนี้ รายงานการชันสูตรพลิกศพดังกล่าวยังระบุอีกด้วยว่า... “พบสารก่อภูมิแพ้จากผลิตภัณฑ์ถั่วและนมในระดับที่สูงมากๆ” ในร่างกายของผู้ตาย รู้หรือไม่? เอมี่ หรือ “แพทย์หญิงกนกพร แต่งสวน” สัญชาติอเมริกัน เป็นบุตรสาวของ คุณอำนวย แต่งสวน และ คุณกาญจนา แต่งสวน เกิดเมื่อวันที่ 6ก.ค.1981 นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา และสำเร็จการศึกษาจาก NYIT College of Osteopathic Medicine ในปี 2008 และได้รับใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมในปี 2009 โดย แพทย์หญิงกนกพร เป็นแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัว (Family Medicine) จนกระทั่งได้เข้าทำงานในโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง เช่น New York University Langone Hospital รวมถึง Northwell Health ผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพเอกชนชั้นนำของนครนิวยอร์ก สำหรับชีวิตส่วนตัว “เอมี่” สมรส กับ “เจฟฟรีย์ พิคโคโล” โดยทั้งคู่ครองรักกันมายาวนานและชื่นชอบการเดินทางเพื่อผจญภัยและสำรวจจุดหมายปลายทางใหม่ๆร่วมกันอยู่เสมอๆ ก่อนที่จะเกิดเรื่องเศร้าขึ้นการฟ้องร้อง 31พ.ค.2024 หลังความสูญเสีย “เจฟฟรีย์ พิคโคโล” สามีของแพทย์หญิงกนกพร ได้ยื่นฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ (1,715,325 บาท) กับทางสวนสนุกดิสนีย์ และร้านอาหาร Reglan Road Pub and Restaurant ในข้อหาประมาทเลินเล่อ จนกระทั่งส่งผลโดยตรงหรือใกล้เคียง ให้แพทย์หญิงกนกพร ถึงแก่ความตาย โดยทนายความของ “เจฟฟรีย์ พิคโคโล” ระบุถึงการฟ้องร้องในครั้งนี้ว่า มีเป้าหมายสำคัญ คือ เพื่อให้แน่ใจว่าเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวจะไม่เกิดซ้ำรอยกับครอบครัวอื่นๆอีกในอนาคต! เหตุผลผู้สูญเสีย ในคำบรรยายฟ้องของฝ่ายโจทย์ (สามีของแพทย์หญิงกนกพร) ที่ยื่นต่อศาล Orange County Circuit Court ระบุว่า เหตุผลสำคัญที่ทำให้ แพทย์หญิงกนกพร ซึ่งมีอาการแพ้ผลิตภัณฑ์จากนมและถั่วในระดับรุนแรง ตัดสินใจเลือกรับทานอาหารที่ร้านดังกล่าว ซึ่งตั้งอยู่ในสวนสนุกดิสนีย์เวิร์ดรีสอร์ต เนื่องจากทั้ง ร้านอาหาร Reglan Road Pub and Restaurant และ บริษัทดิสนีย์ มีการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ต่อสาธารณชนบนเว็บไซต์ Walt Disney World อย่างชัดเจนว่า... “การแพ้อาหารและที่พักสำหรับผู้ที่มีอาการแพ้อาหารถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ฉะนั้น ลูกค้า จึงสามารถปรึกษากับเชฟ หรือ ผู้เกี่ยวข้องที่ได้รับการฝึกอบรมเรื่องการปรุงอาหารสุดพิเศษ ที่ปราศจาก “สารก่อภูมิแพ้” (Allergen Free) ก่อนทำการสั่งซื้ออาหารได้” ด้วยเหตุนี้ ในคำบรรยายฟ้องดังกล่าว จึงมีการระบุด้วยว่า ร้านอาหาร Reglan Road Pub and Restaurant ล้มเหลวในการฝึกอบรมและให้ความรู้พนักงานอย่างเหมาะสมจนกระทั่งไม่สามารถ ตักเตือน หรือ เตรียมอาหารที่ปราศจากสารก่อภูมิแพ้ ตามที่ร้องขอหลายต่อหลายครั้งได้อย่างเหมาะสม ขณะที่ฝ่าย สวนสนุกดิสนีย์เวิร์ดรีสอร์ต เองก็มีความประมาทเลินเล่อในเรื่องที่ไม่สามารถใช้อำนาจควบคุมร้านอาหารให้เกิดความปลอดภัยตามนโยบายที่กำหนดเอาไว้ได้ สำหรับข้อเรียกร้องที่เป็นค่าเยียวยามูลค่า 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ นั้น เป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเสียชีวิตจากผลการกระทำอันผิดกฎหมายของรัฐฟลอริด้า (Florida Wrongful Death Act) ซึ่งเป็นกฎหมายที่จะช่วยให้แน่ใจได้ว่า บุคคลที่ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิตโดยมิชอบ ซึ่งเป็นผลมาจากความประมาทเลินเล่อของบุคคลอื่น จะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตน และผู้รอดชีวิตและครอบครัวของผู้เสียชีวิตจะได้รับค่าชดเชยที่ยุติธรรม สำหรับความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานทางจิตใจ การสูญเสียรายได้ ค่ารักษาพยาบาลและการจัดพิธีศพ "Agree & Continue"หลังถูกฟ้องร้อง “ดิสนีย์” กลับทำในสิ่งที่น่าตกตะลึง ด้วยการหยิบยก “ข้อต่อสู้ทางกฏหมายอันน่าเหลือเชื่อ” ที่ว่า… เนื่องจาก “เจฟฟรีย์ พิคโคโล” เคย “กดยอมรับเงื่อนไขการสมัครทดลองใช้งานบริการสตรีมมิง Disney+ ช่วงทดลองใช้งานฟรี 1 เดือน” รวมถึง “กดยอมรับเงื่อนไขการซื้อตั๋วเข้าสวนสนุกดิสนีย์เวิร์ดรีสอร์ต บนเว็ปไซต์ Walt Disneys Parks” ที่มีข้อตกลงและเงื่อนไขก่อนใช้งานซึ่งมีผลผูกพันทางกฎหมาย และฝ่ายคู่ความได้ตกลงให้ความยินยอม ซึ่งมีข้อความที่ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า….“บุคคลใดที่สมัครใช้งาน Disney+ ในช่วงการทดลองใช้งานฟรี 1 เดือน และไม่สมัครใช้งานต่อหลังสิ้นสุดระยะเวลาการทดลองใช้งานฟรี รวมถึง กดยอมรับเงื่อนไขการซื้อตั๋วเข้าสวนสนุกดิสนีย์เวิร์ดรีสอร์ต จะต้องสละสิทธิ์การฟ้องร้องข้อพิพาทใดๆต่อบริษัทดิสนีย์และบริษัทในเครือทั้งหมด ผ่านกระบวนการพิจารณาโดยศาลยุติธรรม และจะต้องเข้าระงับข้อพิพาทผ่านทางกระบวนการอนุญาโตตุลาการ (Arbitration) ที่มีผลผูกพันเฉพาะบุคคล และห้ามเข้าชื่อรวมกันเพื่อดำเนินคดีแบบรวมกลุ่มอีกด้วย” ซึ่งสอดคล้องกับเอกสารที่ทนายความของดิสนีย์ ได้ยื่นต่อศาลเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งระบุเอาไว้ว่า ควรยกฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายจากการเสียชีวิตของ “แพทย์หญิงกนกพร” และนำคดีดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการของอนุญาโตตุลาการ ด้วยเหตุเพราะ “สามีของผู้ตาย” เป็นฝ่ายยอมรับเงื่อนไขจากการสมัครเข้าใช้งาน Disney+ และการซื้อตั๋วเข้าสวนสนุก ก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกัน โฆษกของดิสนีย์ ยังได้ชี้แจงผ่านการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว NBC โดยระบุว่า... “เรารู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้งกับความสูญเสียและความเศร้าโศกของครอบครัวผู้เสียชีวิต หากแต่ร้านอาหารดังกล่าว ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทดิสนีย์ เราจึงมีความจำเป็นต้องปกป้องตนเองจากความพยายามของทนายความฝ่ายโจทย์ ที่จะนำดิสนีย์ไปรวมไว้กับการฟ้องร้องดังกล่าว ย่ิงไปกว่านั้น การพิจารณาคดีของ อนุญาโตตุลาการ ซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปนั้น ยังมีความรวดเร็วและมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีที่น้อยกว่าการพิจารณาคดีในระบบศาลยุติธรรมอีกด้วย” ยิ่งไปกว่านั้น ทนายความของดิสนีย์ ยังเน้นย้ำด้วยว่า ร้านอาหาร Reglan Road Pub and Restaurant ถือเป็น “ร้านอาหารที่มีเจ้าของและดำเนินการโดยอิสระ” (Independently Owned) และมีความสัมพันธ์กับดิสนีย์ในฐานะ “เจ้าของที่ดินและผู้เช่าเท่านั้น” (A Landlord and Tenant)Subscriber Agreementสำหรับประเด็นข้อกฎหมายจากเงื่อนไขการสมัครใช้บริการ Disney+ ช่วงทดลองใช้งานฟรี 1 เดือน รวมถึง เงื่อนไขการซื้อตั๋วเข้าสวนสนุก ซึ่งฝ่ายดิสนีย์ได้หยิบยกขึ้นมาเป็นต่อสู้ เพื่อหวังให้การดำเนินคดีไปสู่การกระบวนการของอนุญาโตตุลาการ นั้น ทนายของดิสนีย์ ระบุว่า “เจฟฟรีย์ พิคโคโล” เป็นฝ่ายที่ “ยินยอมและยอมรับเงื่อนไข” ถึง 2 ครั้ง โดยครั้งแรก “เจฟฟรีย์ พิคโคโล” ได้ให้ข้อมูลส่วนบุคคล , อีเมล์ และให้ความยินยอมตามเงื่อนไขและข้อตกลงการใช้งานต่างๆ เพื่อสร้างรหัสผ่านสำหรับขอใช้บริการ Disney+ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ปี 2019 สำหรับครั้งที่สอง เป็นการให้ความยินยอมตามเงื่อนไขการซื้อตั๋วเข้าไปภายในสวนสนุกดิสนีย์เวิร์ดรีสอร์ต ที่ระบุเอาไว้บนเว็ปไซต์ Walt Disneys Parks ในเดือนกันยายน ปี 2023 ใครบ้างที่อยู่ภายใต้ข้อตกลง นอกจาก Disney+ แล้ว สตรีมมิงในเครือของบริษัทดิสนีย์ ยังมี Hulu และ ESPN+ ด้วย ฉะนั้นสื่อในสหรัฐฯ จึงประเมินว่า มีผู้อยู่ในข่ายที่อาจจะต้องสละสิทธิ์การฟ้องร้องดิสนียต่อศาลยุติธรรมไปเป็นกระบวนการอนุญาโตตุลาการ ตามการตีความกฎหมายของทนายความดิสนีย์ โดยประเมินจากยอดสมัครสมาชิกในสหรัฐฯ จากทั้ง 3 แพลตฟอร์ม จึงอยู่ที่ประมาณ 193 ล้านคน ขณะเดียวกัน หากต้องนับรวมกรณีการซื้อตั๋วเข้าสวนสนุก ซึ่งทนายความของดิสนีย์อ้างว่า มีการใช้ข้อตกลงเดียวกันด้วย ตัวเลขที่ว่านี้จะเพิ่มสูงขึ้นอีกแน่นอน เนื่องจากในแต่ละปี จำนวนผู้เข้าสวนสนุกดิสนีย์ในสหรัฐฯ มีตัวเลขที่สูงถึง 58 ล้านคนในแต่ละปีด้วย! ข้อโต้แย้ง ทนายของสามีแพทย์หญิงกนกพร ตอบโต้ประเด็นข้อกฎหมาย ในเรื่อง “การยอมรับเงื่อนไขและข้อตกลงเพื่อเข้าใช้บริการ Disney+ เอาไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า…"ข้อกำหนดของ Disney ที่มอบหมายให้อนุญาโตตุลาการ มีอำนาจระงับ ข้อพิพาทใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ การตีความ การนำไปใช้ หรือการบังคับใช้ของข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการ และพิจารณาว่า ส่วนใดส่วนหนึ่งของสัญญา เป็น โมฆะหรือโมฆียะได้ ถือเป็นการตีความกฎหมาย ที่เกินเลยไปมาก"ขณะเดียวกัน ทนายความของ “เจฟฟรีย์ พิคโคโล” ยังได้ตอบโต้ดิสนีย์ ในกรณีที่มีหยิบยกประเด็นการสมัครใช้งาน Disney+ มาเป็นเกราะป้องกันเพิ่มเติมอีกด้วยว่า…. “โจทย์ในคดีนี้ คือ เจฟฟรีย์ พิคโคโล ซึ่งถือเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของ แพทย์หญิงกนกพร ไม่ใช่ นายเจฟฟรีย์ พิคโคโล ที่เป็นบุคคล ซึ่งนั่นเท่ากับเป็นไปตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการเสียชีวิตจากผลการกระทำอันผิดกฎหมายของรัฐฟลอริด้า ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า มีเพียงผู้แทนโดยชอบธรรมเท่านั้น ที่สามารถดำเนินการฟ้องร้องคู่กรณีตามกฎหมายนี้ได้! ยิ่งไปกว่านั้น หากยึดการตีความกฎหมายตามอำเภอใจของทนายความดิสนีย์ เช่นนี้ ก็เท่ากับว่า บรรดาผู้ที่สมัครใช้งาน Disney+ ในช่วงทดลองใช้งานฟรี 1 เดือน จะถูกตัดสิทธิ์ในฐานะผู้บริโภค เพื่อเข้าสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาลยุติธรรมในกรณีพิพาทใดๆกับดิสนีย์ตลอดไป ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผลและไร้ซึ่งความยุติธรรมเป็นอย่างยิ่ง” รู้หรือไม่?อะไรคือความแตกต่างระหว่างการดำเนินคดีในศาลยุติธรรม ซึ่งสำหรับในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นระบบคณะลูกขุน และการดำเนินคดีในระบบอนุญาโตตุลาการ คำตอบ คือ การไต่สวนในระหว่างการดำเนินคดีตามระบบศาลยุติธรรม นั้น เป็นระบบเปิดซึ่งสามารถสามารถเปิดเผยข้อมูลต่างๆในระหว่างการไต่สวนต่อสาธารณชนได้ ในขณะที่ ระบบอนุญาโตตุลาการ นั้น จะมีความเป็นส่วนตัวและมีการรักษาความลับในระหว่างการไต่สวน และจะใช้ระยะเวลาในการพิจารณาคดีที่น้อยกว่า อนุญาโตตุลาการกับดิสนีย์สำหรับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายในสหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่ มองตรงกันว่า “ความพยายามของดิสนีย์” ในประเด็นนี้ เป็นกลยุทธ์ด้านกฎหมายทั่วไป เพื่อหวังหลีกเลี่ยงการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีแบบกลุ่ม ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงที่อาจจะต้องชดใช้ค่าเสียหายจำนวนมาก อีกทั้ง หากเป็นระบบอนุญาโตตุลาการ ย่อมสามารถ “จำกัดความเสียหาย” จาก “ข้อมูลต่างๆที่พรั่งพรูออกมาในระหว่างการพิจารณาคดี ซึ่งอาจกินระยะเวลาที่ยืดเยื้อและยาวนาน” ที่อาจนำไปสู่การสร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์องค์กรในระยะยาว เหมือนเช่นในระบบศาลยุติธรรมด้วย แรงกดดัน อย่างไรก็ดี หลังหลายสำนักข่าวทั่วโลก ได้นำเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นอย่างครึกโครม หนำซ้ำส่วนใหญ่ยังมักเน้นย้ำในประเด็นที่ว่า ทนายความของดิสนีย์ ได้หยิบยกประเด็น “การกดยอมรับเงื่อนไขและข้อตกลงเพื่อเข้าใช้บริการ Disney+” มาเป็นข้อต่อสู้เพื่อให้คู่ความยอมเข้าสู่กระบวนการของอนุญาโตตุลาการ จนนำไปสู่เสียงวิพากวิจารณ์ในวงกว้าง ล่าสุด “จอช ดามาโร” (Josh D’Amaro) ประธานกรรมการของดิสนีย์ปาร์ค และ เอ็กซ์พีเรียนซ์แอนด์โปรดักส์ (Chairman Disney Parks , Experiences and Products) ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า จะขอถอนคำร้องเพื่อร้องขอให้ยุติคดีนอกศาล ซึ่งเดิมมีกำหนดการพิจารณานัดแรกในวันที่ 2ต.ค.24 ซึ่งเท่ากับเป็นการยอมเปิดทางให้มีการดำเนินคดีต่อศาลยุติธรรม ตามระบบคณะลูกขุนในคดีนี้แล้ว ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน กราฟฟิก : Varanya.p