ย้อนดูความขัดแย้งระหว่าง IOC และ IBA ที่นำไปสู่ "ดราม่านักกีฬาเพศกำกวม" และจริงหรือไม่? ที่ประเด็นร้อนนี้ทำให้เกิดความได้เปรียบ-เสียเปรียบ ในการแข่งขันโอลิมปิก 2024...ความขัดแย้งในแบบฉบับ “มหาสงคราม” ระหว่าง 2 องค์กรกีฬายักษ์ใหญ่ของโลก คือ คณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC และสหพันธ์มวยสากลสมัครเล่นระดับนานาชาติ หรือ IBA ได้ดำเนินมาถึงจุดพีก จนกระทั่งระเบิดออกมาจนกลายเป็น “ความดราม่าในระดับปรากฏการณ์” ในระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2024 ที่กรุงปารีส อะไรคือปฐมบทของความขัดแย้ง? และข้อพิพาทเรื่องความได้เปรียบเสียเปรียบในกลุ่มนักกีฬาหญิงจากประเด็น “เพศกำกวม” ที่เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในโลกเวลานี้ มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถ “ยืนยัน” ได้หรือไม่? วันนี้ “เรา” ไปร่วมกันพิจารณาจาก “ข้อมูล” ที่เราได้หยิบยกมา “เพื่อประกอบการ คิด วิเคราะห์ และแยกแยะ” ไปด้วยกัน!ปฐมบทความขัดแย้ง ปี 2019 คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee) หรือ IOC ได้ประกาศเพิกถอนสิทธิ์การจัดการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่นในกีฬาโอลิมปิก ของ สหพันธ์มวยสากลสมัครเล่นระดับนานาชาติ (International Boxing Association) หรือ IBA โดย IOC ให้เหตุผลว่า เป็นเพราะ IBA มีปัญหาด้านธรรมาภิบาล จากประเด็นอื้อฉาวเรื่องการทุจริตและความโปร่งใสในการบริหารองค์กรมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะกรณีอื้อฉาวเมื่อปี 2017 ที่กรรมการผู้ตัดสินถึง 36 คน ถูกสั่งพักงานจากข้อกล่าวหาเรื่องการ “ล็อกผลการแข่งขัน” ในกีฬาโอลิมปิกปี 2016 ที่ประเทศบราซิล จนเป็นผลให้อดีตประธาน IBA “ชิง กั๊วะ หวู” (Ching kuo Wu) ชาวไต้หวันต้องประกาศลาออกจากตำแหน่ง จากนั้นเป็นต้นมา “รอยร้าว” ระหว่าง องค์กรกีฬายักษ์ใหญ่ทั้ง 2 องค์กรก็ดูจะยิ่ง “บาดหมาง” กันมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อ ประธานไอบาคนต่อๆ มา เริ่มมีความใกล้ชิดกับ “รัฐบาลรัสเซีย” ซึ่งกำลังเป็นปฏิปักษ์กับชาติตะวันตกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับประธานคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นชาวรัสเซีย ที่มีชื่อว่า “อูมาร์ เครมเลฟ” ที่เพิ่งเข้าดำรงตำแหน่งไปเมื่อปี 2020 และประกาศเจตนารมณ์ออกมาอย่างชัดเจนว่า จะพยายามทุกวิถีทางเพื่อนำ IBA กลับคืนสู่โอลิมปิกให้ได้อีกครั้งแต่แล้วทุกอย่างก็ดำเนินมาถึง “จุดแตกหัก” เมื่อ IOC ประกาศตัดสัมพันธ์กับ IBA อย่างเป็นทางการ เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2024 ภายใต้ข้ออ้างที่ว่า “IBA ไม่สามารถแก้ไขข้อกังวลใดๆตามที่ถูกกล่าวหาได้!” ซึ่งการ “สะบั้นความสัมพันธ์” นี้เอง ได้นำมาซึ่งวรรคทองจากฝั่งของ “อูมาร์ เครมเลฟ” ที่ว่า “การขับไล่ครั้งนี้ไม่ต่างอะไรกับการรุกรานสหภาพโซเวียตของกองทัพเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2”และสถานการณ์ความขัดแย้งก็ยิ่งดูจะ “เลวร้าย” ลงไปอีก หลังศาลอนุญาโตตุลาการการกีฬา (Court Arbitration for Sport) หรือ CAS มีคำสั่ง “ยกคำร้อง” อุทธรณ์ของ IBA ไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยข้อพิจารณาสำคัญที่นำไปสู่การตัดสินดังกล่าว คือ IBA ไม่ได้รับประกันว่า จะมีการดำเนินการตามมาตรการที่ถูกเสนอโดย “Governance Reform Group” ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นโดย IOC อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมในการทำงานด้วย! ผลลัพธ์ความขัดแย้ง การตัดสัมพันธ์ดังกล่าว ทำให้ IOC เริ่มเข้าไปจัดการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่นในกีฬาโอลิมปิก ตั้งแต่โอลิมปิก 2021 ที่กรุงโตเกียว และครั้งล่าสุดกับ ปารีส 2024 และหากความขัดแย้งดังกล่าวยังคงไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งรวมไปถึงกรณีที่ประธาน IBA ยังคงเป็นชื่อของ “อูมาร์ เครมเลฟ” บางทีในกีฬาโอลิมปิก 2028 ที่ลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็อาจจะยังคงไร้ชื่อของ IBA จัดการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่นในกีฬาโอลิมปิกต่อไปก็เป็นได้อย่างไรก็ดี การจัดการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่นในกีฬาโอลิมปิก ระหว่าง IOC และ IBA นั้น มี “กฎเกณฑ์” สำหรับผู้เข้าร่วมการแข่งขันที่ “แตกต่างกัน” โดยเฉพาะกรณีนักกีฬาหญิง อะไรคือความแตกต่าง? หลักเกณฑ์ของ IBA : สำหรับนักกีฬาหญิง จะต้องเข้าทดสอบการ “ตรวจเพศ” (Gender Tests) หลักเกณฑ์ของ IOC : สำหรับนักกีฬาหญิง หากหนังสือเดินทางระบุไว้อย่างชัดเจนว่าเป็น “เพศหญิง” ก็สามารถเข้าร่วมการแข่งขันได้ โดยไม่จำเป็นต้องผ่านการ “ตรวจเพศ” ฟัง 2 มุมเหตุผล เหตุผลของ IBA : IBA ระบุว่า ความไม่สมดุลของฮอร์โมนทำให้นักกีฬาที่มีเพศกำกวม มีความได้เปรียบในเรื่องความแข็งแกร่งของร่างกายเหนือกว่านักกีฬาหญิงที่มีน้ำหนักเท่ากันอย่างชัดเจน และอาจเป็นอันตรายต่อนักมวยหญิงคนอื่นๆ ที่เข้าร่วมการแข่งขันเหตุผลของ IOC : IOC ยืนยันว่า การตรวจเพศ ถือเป็นการละเมิดสิทธิของนักกีฬา และทุกคนมีสิทธิในการเล่นกีฬาโดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติปมขัดแย้งที่นำไปสู่ดราม่า นักมวยหญิงที่มีปัญหา1. อิมาน เคลิฟ (Imane Khelif) นักชกแอลจีเรีย 2. หลิน ยู่-ถิง (Lin Yu ting) นักชกไต้หวัน ข้อโต้แย้ง มุมแดง : IBA อ้างอิงจากถ้อยแถลงของ สหพันธ์มวยสากลสมัครเล่นระดับนานาชาติ ระบุว่า “อิมาน เคลิฟ” เข้าร่วมการแข่งขันที่อยู่ภายใต้การดูแลของ IBA มาตั้งแต่ปี 2018 ส่วน “หลิน ยู่-ถิง” เข้าร่วมมาตั้งแต่ปี 2017 แต่เนื่องจาก คณะกรรมการบริหาร IBA ชุดปัจจุบัน เริ่มต้นการทำงานในเดือนธันวาคม ปี 2020 จึงไม่ขอแสดงความคิดเห็นต่อการทำงานของคณะกรรมการ IBA ชุดก่อนหน้านี้ ซึ่งดูแลการจัดการแข่งขันที่มีนักชกสาวทั้งสองคนเข้าร่วม สำหรับสาเหตุที่ทำให้คณะกรรมการ IBA ชุดปัจจุบัน เริ่มต้นการ “ตรวจเพศ” ในกลุ่มนักมวยสากลสมัครเล่นหญิงอย่างจริงจังนั้น เป็นเพราะมีการร้องเรียนเข้ามาอย่างมากมายเรื่อง “ความไม่เป็นธรรรม” ในการแข่งขันด้วยเหตุนี้ ในการจัดการแข่งขันมวยสากลหญิงชิงแชมป์โลก เมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2022 จึงมีการทำข้อตกลงกับบรรดานักมวยที่เข้าร่วมการแข่งขันว่า “จะต้องเข้ารับการตรวจเพศและเก็บตัวอย่างเลือด” ซึ่งผลลัพธ์จากการตรวจเพศที่ได้จากห้องปฏิบัติการ เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2022 พบว่า “อิมาน เคลิฟ” ซึ่งได้รับเหรียญเงิน ในรุ่น 63 กิโลกรัม และ “หลิน ยู่-ถิง” ที่ได้รับเหรียญทองในรุ่น 57 กิโลกรัม “ไม่ตรงตามเกณฑ์” สำหรับข้อกำหนดในการเข้าร่วมการแข่งขันของ IBA และทางสหพันธ์มวยสากลสมัครเล่นระดับนานาชาติ ได้แจ้งเรื่องนี้ให้ทาง IOC ได้รับทราบแล้ว แต่กลับไม่ได้รับการตอบสนองใดๆ อย่างไรก็ดี ด้วยเหตุที่ประเด็นดังกล่าวถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับวงการมวยสากลสมัครเล่น ทาง IBA จึงจัดการทดสอบครั้งที่ 2 ขึ้น ก่อนที่จะตัดสินใจตัดสิทธิ์นักมวยทั้งคู่ เพื่อหวังให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย โดยการตรวจเพศ ครั้งที่ 2 สำหรับนักมวยทั้งคู่ เกิดขึ้นในระหว่างการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่นชิงแชมป์โลกปี 2023 ที่ประเทศอินเดีย โดยทั้ง “อิมาน เคลิฟ” และ “หลิน ยู่-ถิง” ต่างเข้ารับการตรวจและเก็บตัวอย่างเลือดด้วยความยินยอมพร้อมใจ สำหรับการตรวจเพศ ครั้งที่ 2 นั้น การตรวจเพศของนักชกทั้งคู่ ยังคงให้ “ผลลัพธ์” ที่ตรงกับผลการตรวจเพศครั้งแรกทุกประการ! จากนั้นทาง IBA จึงได้แจ้งให้ทั้ง “อิมาน เคลิฟ” และ “หลิน ยู่-ถิง” รับทราบ และลงนามในเอกสารผลการตรวจดังกล่าวพร้อมกับประกาศ “ตัดสิทธิ์” การเข้าร่วมการแข่งขันเนื่องจากมีคุณสมบัติไม่ตรงตามเกณฑ์ของ IBA แต่ยังคงให้สิทธิ์นักกีฬาในการยื่นขออุทธรณ์ต่อ CAS ได้ภายใน 21 วัน แต่ “หลิน ยู่-ถิง” ก็ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์การถูกตัดสิทธิ์ดังกล่าว ส่วน “อิมาน เคลิฟ” ที่ในตอนแรกได้มีการยื่นอุทธรณ์ แต่ในเวลาต่อมาได้ตัดสินใจ “ถอนคำร้อง” ในระหว่างการพิจารณาของ CAS ด้วยเหตุนี้ คำสั่งตัดสิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขันจึงมีผลผูกพันตามกฎระเบียบของ IBAต่อมาในวันที่ 12 พ.ค. 2023 ทาง IBA จึงตัดสินใจแก้ไขหลักเกณฑ์ในการเข้าร่วมการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่นทั้งหมดว่า จะเป็นการแข่งขันระหว่างนักกีฬาชาย (ผู้ชาย VS ผู้ชาย) และระหว่างนักกีฬาหญิงเท่านั้น (ผู้หญิง VS ผู้หญิง) โดยให้เหตุผลว่า การมีส่วนร่วมของ “นักกีฬาที่มีความแตกต่างในการพัฒนาทางเพศ” (Differences in sex development) หรือ DSD สำหรับการแข่งขันชกมวยสากลสมัครเล่น ถือเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของผู้ร่วมการแข่งขัน ซึ่งในเวลาต่อมาหลักกฎเกณฑ์นี้มีชื่อว่า “T&C Rules” (Technical & Competition Rules) ซึ่งมีการระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า….คำจำกัดความของ ผู้ชาย/เพศชาย/เด็กชาย คือ บุคคลที่มีโครโมโซม XYคำจำกัดความของ ผู้หญิง/เพศหญิง/เด็กหญิง คือ บุคคลที่มีโครโมโซม XXสำหรับกรณีที่ได้รับ “ผลตรวจเพศ” ออกมาแล้ว นักมวยจะได้รับการแจ้งผลในทันที และในกรณีที่เกิดผลการแข่งขันที่ “ไม่พึงประสงค์” นักมวยจะถูกตัดสิทธิ์จากการแข่งขันดังกล่าวโดยมีผลทันที อีกทั้งจะถูก “ห้ามเข้าร่วมการแข่งขัน” ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ IBA ทั้งหมดด้วย อ้างอิงจาก เอกสารแถลงการณ์อย่างเป็นทางการของ IBA มุมน้ำเงิน : IOC IOC ยอมรับว่า ได้รับแจ้งข้อมูลการตัดสิทธิ์และผลตรวจเพศของนักกีฬาทั้ง 2 คน ตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2023 หรือก่อนหน้าการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2024 มากกว่า 1 ปีจริง แต่ IOC ยังคงย้ำจุดยืนในเรื่องที่ว่า “กระบวนการตรวจเพศ” ของ IBA เป็นกระบวนการที่ “ไม่ถูกต้องและขาดความน่าเชื่อถือ” รวมถึงยังเข้าข่ายการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เนื่องจากมีการเปิดเผยรายละเอียดข้อมูลส่วนตัวของนักกีฬาต่อสาธารณะ สำหรับประเด็นเรื่องการ “ปกป้องนักกีฬาหญิง” จากข้อได้เปรียบต่างๆ นั้น IOC ยอมรับว่า…ยังเป็นประเด็นที่ต้องมีการเปิดกว้างสำหรับข้อถกเถียง แต่ทั้งหมดนั้น “ไม่ใช่เหตุผล” ที่ถึงขั้นต้องย้อนกลับไปใช้วิธี “ตรวจเพศ” เช่นในอดีต อ้างอิงจากถ้อยแถลงของ “มาร์ก อดัมส์” (Mark Adams) โฆษกของ IOC รู้หรือไม่? เพศกำกวม (Intersex)อ้างอิงจาก “สถาบันวิจัยฮัดสัน” (Hudson Institute) ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า “เพศกำกวม” เป็นคำที่ใช้เรียกบุคคลที่มีอวัยวะสืบพันธุ์ กายวิภาคทางเพศ หรือรูปแบบโครโมโซมแตกต่างจากข้อจำกัดความทางชีววิทยาของเพศชาย หรือเพศหญิง อย่างไรก็ดี การมีเพศกำกวมเป็นความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของมนุษย์ ไม่ถือเป็น “ความผิดปกติ” แต่อย่างใด โดยเบื้องต้น อ้างอิงข้อมูลจาก สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Right Office of the High Commissioner) หรือ OHCHR ระบุว่า มีประชากรมากถึง 1.7% เกิดมาพร้อมกับภาวะเพศกำกวมประเภทของภาวะเพศกำกวม 1. 46, XX intersex : มีโครโมโซมและรังไข่เช่นเดียวกับเพศหญิง แต่อวัยวะเพศภายนอกปรากฏเป็นเพศชาย สำหรับกรณีนี้ อาจเกิดจากการได้รับฮอร์โมนเพศชายมากเกินไป ก่อนเกิด 2. 46, XY intersex : มีโครโมโซมเพศชายแต่อวัยวะเพศภายนอกมีรูปแบบไม่สมบูรณ์ หรือไม่ชัดเจน หรือเป็นเพศหญิง แต่มีอัณฑะผิดรูปแบบ หรือขาดหายไป สำหรับกรณีนี้ อาจเกิดจากปัญหาฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) หรือฮอร์โมนเพศชาย และพัฒนาการอื่นๆ ของทารกในครรภ์ 3. Sex Chromosomes intersex : อาจมีความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของโครโมโซมหลายรูปแบบที่ส่งผลต่อพัฒนาการทางเพศ แต่ไม่ก่อให้เกิดความแตกต่างระหว่างอวัยวะเพศภายในและภายนอก แต่อาจเกิดปัญหากับระดับฮอร์โมนเพศและพัฒนาการทางเพศโดยรวมความชุกของเพศกำกวม “ความแตกต่างในด้านพัฒนาการทางเพศ” (Differences in Sex Development) หรือ DSD ในกลุ่ม XY DSD (มีโครโมโซมเพศชายแต่อวัยวะเพศภายนอกมีรูปแบบไม่สมบูรณ์ หรือไม่ชัดเจน หรือเป็นเพศหญิง) ในกลุ่มประชากรทั่วไป คาดว่าอยู่ที่อย่างน้อย 1 คนต่ออัตราการเกิด 20,000 คน แต่หากนำไปเปรียบเทียบความชุกของภาวะดังกล่าวในกลุ่มนักกีฬาหญิงที่เข้าร่วมการแข่งขันในระดับโลกจะอยู่ที่ประมาณ 7 คน ในนักกีฬาหญิง 1,000 คน หรือ “สูงกว่าในอัตราในกลุ่มประชากรทั่วไปถึง 140 เท่า!”อ้างอิงจากรายงาน “ภาวะฮอร์โมนแอนโดรเจนสูงผู้หญิงและนักกีฬาชั้นยอด” (Female Hyperandrogenism and Elite Sport) ของ พญ.แอนเจลิกา ลินเดน เฮิร์ชเบิร์ก “Angelica Linden Hirschberg” สูตินรีแพทย์ชาวสวีเดน ของ Karolinska Institutet ซึ่งเผยแพร่ในปี 2019ได้เปรียบ-เสียเปรียบ? จริงหรือที่ว่า... “ความแตกต่างในด้านพัฒนาการทางเพศ” (Differences in Sex Development) หรือ DSD ทำให้เกิดความได้เปรียบ-เสียเปรียบ ในการแข่งขันกีฬา? ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน หรือ ฮอร์โมนเพศชาย ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) เป็นฮอร์โมนที่ผลิตโดยอัณฑะ (Testis) ซึ่งเป็นอวัยวะสืบพันธุ์ของผู้ชาย เป็นฮอร์โมนที่นอกจากจะช่วยส่งเสริมสมรรถภาพทางเพศแล้ว ยังส่งผลต่อการทำงานส่วนอื่นๆ ของร่างกาย โดยช่วยในการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง เพิ่มมวลกล้ามเนื้อ และลดระดับไขมันสะสมในร่างกาย ทำให้ในด้านหนึ่ง จึงถูกมองว่าถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ “การสร้างความสำเร็จ” ในการเล่นกีฬาบางประเภทที่ต้องอาศัยพละกำลัง ด้วยเหตุนี้ในอดีต “ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน” จึงถือเป็น “สารต้องห้าม” สำหรับวงการกีฬาโดยจากการศึกษาวิจัยของ “สหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ” (World Athletics) ซึ่งในอดีตมีข้อพิพาทมากมายกับ “นักกีฬาหญิงที่เข้าข่าย DSD” รวมถึงเคยพ่ายแพ้ต่อศาลอนุญาโตตุลาการการกีฬามาแล้ว พบว่า นักกีฬาหญิงที่มีระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนสูง สามารถทำผลงานได้ดีกว่านักกีฬาเพศหญิงที่มีระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนต่ำกว่า ในกีฬาบางประเภท เช่น การแข่งขันวิ่งระยะ 400 เมตร และ 800 เมตร, กีฬาขว้างค้อน และกระโดดค้ำถ่อ อย่างไรก็ดี ในกรณีกีฬาประเภทอื่นๆ เช่น การแข่งขันวิ่งระยะ 1,500 เมตร กลับ “ไม่พบความแตกต่างที่มีนัยสำคัญ” ด้วยเหตุนี้ มันจึงยังคงเป็น “ข้อถกเถียง” ที่ยังไม่มีข้อสรุปได้อย่างชัดเจนว่า “ฮอร์โมนเพศชาย” ทำให้เกิดความได้เปรียบหรือเสียเปรียบในการแข่งขันกีฬา เนื่องจาก “ยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์รองรับได้มากพอ” รวมถึงการศึกษาวิจัยยังขาดแคลนกลุ่มตัวอย่างที่จะเข้าร่วม อีกทั้งที่ผ่านมายังเป็นเพียงเฉพาะ “การศึกษาเชิงสังเกต” (Observational Studies) และไม่มีการเปรียบเทียบกับ “กลุ่มควบคุม” (Control Group) โดยตรงแต่อย่างใด อ้างอิงจากรายงาน “ประสิทธิภาพและความเป็นเลิศทางกีฬา และนักกีฬาที่มีความแตกต่างในด้านการพัฒนาการทางเพศ” (Performance, Inclusion and Elite Sports-Athletes with Differences in Sex Development) ของ ดร.ซาลาห์ บุนน์ (Dr.Sarah Bunn) ซึ่งมีการเผยแพร่โดยรัฐสภาสหราชอาณาจักร เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2022 ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงานกราฟิก : wimonrat jongjaipanitjarern