แม่น้ำแซน จุดขายกีฬาโอลิมปิก 2024 ของประเทศฝรั่งเศส ที่อาจแฝงเร้นไปด้วยอันตรายจากปัญหามลพิษ...“แม่น้ำแซน” ซึ่งถูกใช้เป็นหนึ่งในไฮไลต์สำคัญสำหรับการดึงดูดสายตาชาวโลกในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส มี “ภัยร้าย” อะไรแฝงเร้นอยู่ในแม่น้ำที่ทอดยาวถึง 777 กิโลเมตร ที่ทำให้นักกีฬาต้องเฝ้าระวังบ้าง และในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทางการฝรั่งเศสพยายามแก้ไขปัญหามลพิษในแม่น้ำสายหลักของประเทศนี้อย่างไรบ้างแล้ว วันนี้ “เรา” ไปตรวจสอบ “ข้อมูล” เหล่านั้นร่วมกัน… แม่น้ำแซน : มีระยะทางยาวรวมกันทั้งสิ้น 777 กิโลเมตร โดยไหลผ่านเมืองทรัว (Troyes), กรุงปารีส และเมืองรูอ็อง (Rouen) ก่อนจะผ่านเข้าสู่ช่องแคบอังกฤษในท้ายที่สุดสำหรับกรุงปารีสนั้น ระยะทางที่แม่น้ำแซนไหลผ่านจากปารีสตะวันออกไปยังตะวันตก มีระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร และอยู่ในระดับความสูง 26.72 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล โดยตลอดระยะทางแม่น้ำแซนจะมีความกว้างตั้งแต่ 30-200 เมตร และมีความลึกระหว่าง 3.4-5.7 เมตร ปัญหาแม่น้ำแซน : ปัญหาสำคัญที่ทำให้แม่น้ำแซนต้องประสบปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนานนั้น เป็นเพราะตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ทั้งโรงงานอุตสาหกรรมและมนุษย์ได้ปล่อยของเสียในรูปแบบต่างๆ ลงสู่แม่น้ำโดยตรง อีกทั้งการที่กรุงปารีสเป็นเมืองเก่า ที่ยังคงใช้ระบบบำบัดน้ำเสียแบบรวม (Combined Sewer System) เพื่อนำสิ่งปฏิกูลต่างๆ รวมถึงน้ำจากพายุฝน ผ่านท่อระบายน้ำไปยังโรงบำบัดน้ำเสียในทุกๆ วัน ด้วยเหตุนี้โครงสร้างพื้นฐานสำหรับระบบการบำบัดน้ำเสียดังกล่าว จึงสามารถทำงานได้อย่างจำกัด ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อใดก็ตามที่กรุงปารีสต้องเผชิญกับพายุฝนในระดับรุนแรง ปริมาณน้ำที่ยังไม่ได้ผ่านการบำบัดจำนวนมาก ก็จะยิ่งไหลลงสู่แม่น้ำแซนในปริมาณมหาศาลด้วย ซึ่งในกรณีที่เกิดฝนตกหนักนั้น นอกจากน้ำที่ยังไม่ผ่านการบำบัดแล้ว บรรดาสารพัดสัตว์ที่อาศัยอยู่ในท่อระบายน้ำ ก็จะถูกกระแสน้ำนำพาลงสู่แม่น้ำแซนด้วยเช่นกัน อะไรที่อยู่ในแม่น้ำแซน :ทางการฝรั่งเศสได้สั่งห้ามว่ายน้ำในแม่น้ำแซน มาตั้งแต่ปี 1923 เนื่องจากพบปัญหามลพิษในระดับอันตราย จากทั้งสารเคมีที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ที่มีชื่อเรียกว่า Polycyclic Aromatic Hydrocarbon หรือ PAHs, ขยะพลาสติก, ยาฆ่าแมลง, ยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการเกษตรและการเลี้ยงปศุสัตว์ รวมถึงสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถนำอันตรายมาสู่มนุษย์ได้ ขณะเดียวกัน ยังมีการตรวจพบเชื้อแบคทีเรียเอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia coli) หรือ “อีโคไล” (E.coli) ซึ่งมาจากของเสียมนุษย์และสัตว์ (อุจจาระและปัสสาวะ) และเป็นตัวการของการก่อโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะและโรคท้องเดินด้วย ซึ่งวิกฤติแม่น้ำแซนที่เกิดขึ้นนี้ ทางการฝรั่งเศสได้พยายามหาทางแก้ไขปัญหามาโดยตลอด แต่ที่ดูเหมือนจะมีความเป็นจริงเป็นจังและดูจะเป็นรูปธรรมมากที่สุด ก็คือในช่วงปี 1988 ที่ นายฌากส์ ชีรัค (อดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศส) ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรีกรุงปารีส ได้ประกาศให้คำมั่นต่อชาวปารีเซียงอย่างหนักแน่นว่า “ภายใน 3 ปี ผมจะว่ายน้ำในแม่น้ำแซนต่อหน้าทุกๆ คน เพื่อพิสูจน์ความก้าวหน้าการขจัดมลพิษให้กับแม่น้ำสายหลักของประเทศ” อย่างไรก็ดี เมื่อครบวาระการดำรงตำแหน่ง ในท้ายที่สุดแล้ว นายฌากส์ ชีรัค ก็ได้ออกมายอมรับว่า ไม่สามารถรักษาสัญญาที่ให้กับชาวฝรั่งเศสได้ จนกระทั่งในช่วงระหว่างปี 2016-2017 ความพยายามในการรณรงค์เพื่อขอเป็นเจ้าภาพจัดการการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน ปี 2024 คณะกรรมการจัดการแข่งขันของฝรั่งเศสได้นำเสนอแผนการอันน่าตื่นเต้นและเร้าใจ กับคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC โดยให้คำมั่นว่า “จะจัดการแข่งขันกีฬาทางน้ำในแม่น้ำแซนที่ใสสะอาดและบริสุทธิ์” ซึ่งคำมั่นสัญญาดังกล่าวนี้เอง ได้กลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ “กรุงปารีส” ได้เป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก ปี 2024 ในเวลาต่อมาแก้ปัญหา : เพื่อให้คำมั่นสัญญาดังกล่าว “เกิดขึ้นได้จริง” ทางการฝรั่งเศสจึงได้มีการระดมเงินทุนมากถึง 1,400 ล้านยูโร หรือประมาณ 54,587 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 30 ก.ค. 24) สำหรับการดำเนินโครงการคืนความใสสะอาดให้กับแม่น้ำแซน ที่ประกอบไปด้วย… 1. การทำความสะอาดระบบระบายน้ำทิ้งทั้งระบบ 2. การยกเครื่องระบบการบำบัดน้ำเสียอย่างขนานใหญ่ เพื่อให้แน่ใจว่าน้ำที่จะไหลมายังกรุงปารีสจะอยู่ในสภาพที่ใสสะอาด ซึ่งแผนการดังกล่าวนี้ยังเชื่อมโยงถึงบ้านพักอาศัยมากกว่า 23,000 หลัง และเรือบ้าน ให้มาเข้ากับระบบบำบัดน้ำเสียของเทศบาล ก่อนปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติด้วย 3. การสร้างท่อระบายน้ำที่มีขนาดความยาวถึง 8.8 กิโลเมตร และแท็งก์น้ำขนาดยักษ์ที่สามารถเก็บกักน้ำได้มากถึง 50,000 ลูกบาศก์เมตร หรือเท่ากับสระว่ายน้ำที่ใช้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกรวมกันถึง 20 สระ ในกรุงปารีส เพื่อให้สามารถเก็บกักน้ำไว้รอการบำบัดได้มากพอ ก่อนปล่อยลงสู่แม่น้ำแซน ซึ่งหากแผนการฟื้นฟูแม่น้ำแซนนี้ลุล่วง นอกจากจะสามารถจัดการแข่งขันทางน้ำในกีฬาโอลิมปิกได้แล้ว ภายในฤดูร้อนของปี 2025 ทางกรุงปารีสยังมีแผนที่จะเปิดจุดว่ายน้ำสาธารณะอย่างน้อย 3 จุด เพื่อให้ชาวปารีเซียงสามารถกลับมาเล่นน้ำในแม่น้ำแซนได้อีกครั้งด้วยโอลิมปิก 2024 : แม่น้ำแซน นอกจากจะถูกใช้เป็นพิธีเปิดการแข่งขันที่ทั้งแปลกและแหวกแนว ด้วยการให้ทัพนักกีฬาจากแต่ละชาตินั่งขบวนเรือแทนการเดินพาเหรดในสนามกีฬา เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 24 แล้ว ยังจะถูกใช้ในการแข่งขันไตรกีฬา ในวันที่ 30-31 ก.ค. และวันที่ 5 ส.ค. 24 รวมถึงการแข่งขันว่ายน้ำมาราธอนในวันที่ 8-9 ส.ค. 24 ด้วย คุณภาพน้ำที่แข่งขันกีฬาได้ : สหพันธ์ไตรกีฬาโลก (The World Triathlon Federation) ได้ตั้งค่ามาตรฐานเอาไว้ว่า หากพบ “เชื้ออีโคไล” (E.coli) ที่เกินกว่าระดับ 900 cfu ต่อ 100 มิลลิลิตร ถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่ปลอดภัย ** หมายเหตุ Colony forming unit หรือ cfu เป็นหน่วยที่ได้จากวิธีตรวจนับจุลินทรีย์ ซึ่งเจริญขึ้นมาบนผิวหน้าของอาหารแข็งในจานเลี้ยงเชื้อ โดยเจริญและแบ่งตัวจนเป็นกลุ่มที่เรียกว่า โคโลนี ซึ่งสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ** อันตรายที่อาจเกิดกับนักกีฬา ในกรณีที่นักกีฬาว่ายน้ำที่มีแบคทีเรียในระดับที่ไม่ปลอดภัย อาจทำให้เกิดอาการท้องเสียอย่างรุนแรง, การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ หรือในลำไส้ หรือในกรณีที่เลวร้ายที่สุด คือ เกิดภาวะติดเชื้อที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิต จากการกลืนน้ำเข้าไปในร่างกายโดยไม่ตั้งใจ หรือเกิดการติดเชื้อจากบาดแผลที่เกิดขึ้นบนร่างกาย ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงานกราฟิก : สถิตย์ เชื้อพรรณงาม