ที่มารูป : obayashi.co.jp
เชื่อ คิด และทำอย่างวิทยาศาสตร์ กับเบื้องหลัง "ลิฟต์อวกาศ" กับบทบาทที่สำคัญของประเทศญี่ปุ่น
วันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 2024 เว็บไซต์ Businessinsider รายงานสถานการณ์โครงการลิฟต์อวกาศของญี่ปุ่นถึงล่าสุด!
เมื่อปี ค.ศ.2012 บริษัทญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง ประกาศแผนโครงการสร้างลิฟต์อวกาศภายในปี ค.ศ. 2050
บริษัทญี่ปุ่นยืนยันกับ Businessinsider ว่า บริษัทยังเดินหน้าต่อ และยืนยันว่า ปี ค.ศ. 2050 ยังเป็นเป้าหมายของบริษัท!
“เชื่อ คิด และทำอย่างวิทยาศาสตร์” วันนี้ ขอนำท่านผู้อ่านไปดูพัฒนาการ ความคิดและโอกาสจะเกิดขึ้นได้จริง (หรือไม่) ของลิฟต์อวกาศ หรือ space elevator โดยเริ่มจากประวัติศาสตร์ย่อของลิฟต์อวกาศ
ประวัติศาสตร์ย่อของลิฟต์อวกาศ
ความคิดเรื่องลิฟต์อวกาศ เมื่อเปิดใช้จริงก็จะช่วย:-
*ลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งสัมภาระขึ้นสู่อวกาศ ไม่ว่าจะเป็นดาวเทียม วัสดุสิ่งจำเป็นสำหรับการใช้ในอวกาศ หรือการก่อสร้าง เช่น สถานีอวกาศ โรงแรมอวกาศ ฯลฯ
...
*ลดความเสี่ยง และค่าใช้จ่ายมหาศาลกับการใช้จรวด ซึ่งรวมทั้งเชื้อเพลิงที่ต้องใช้มาก อันตรายและแพง
*ลดค่าใช้จ่ายและความเสี่ยง ในการนำมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศโดยจรวด
*ใครก็ตามที่มีสภาพร่างกายแข็งแรงพอสมควร ก็สามารถขึ้นลิฟต์สู่อวกาศได้ ไม่ต้องมีการตรวจและเตรียมสภาพร่างกายดังมนุษย์อวกาศ
*ไม่มีปัญหาการสร้างแก๊สเรือนกระจกจากการส่งจรวดขึ้นสู่อวกาศ
*สร้างชุมทางสถานีอวกาศสำหรับการสำรวจระบบสุริยะ
*สร้างทางด่วนการเดินทางระหว่างโลกกับดาวเคราะห์ ดังเช่น ดาวอังคาร จากปรกติต้องใช้เวลาประมาณ 6-8 เดือน เหลือเพียง 4 เดือน หรือแม้แต่แค่ 40 วัน
ลิฟต์อวกาศสูงเสียดฟ้า ความคิด...ข้อดี...มหัศจรรย์ที่ไม่มีใครปฏิเสธ แต่น่าจะเป็นเพียง “ความคิดจินตนาการบริสุทธิ์” เกิดขึ้นได้จริงในนิยายวิทยาศาสตร์เท่านั้น...หรือไม่?
ประวัติศาสตร์เรื่องราวของลิฟต์อวกาศ เริ่มต้นจากข้อเขียนของนักวิทยาศาสตร์ ผู้ได้รับการยกย่องเป็นบิดาแห่งจรวดและการบุกเบิกอวกาศชาวรัสเซีย (โดยที่ความรู้ในระยะแรกทั้งหมด มาจากการเรียนรู้ด้วยตนเอง เพราะปัญหาเรื่องสุขภาพ) ชื่อ คอนสแตนติน โซลคอฟสกี (Constantin Tsiolkovsky : ค.ศ. 1857-1935) ในปี ค.ศ. 1895 เรื่อง “Daydream About The Earth And The Heaven”
เขาเสนอความคิดการเดินทางขึ้นสู่อวกาศโดยลิฟต์อวกาศจากพื้นโลก
แต่เป็นการนำเสนอโดยไม่มีหลักการรายละเอียดทางวิทยาศาสตร์ และตัวเขาเองก็ไม่แน่ใจว่า จะสร้างกันได้จริงๆ หรือไม่ จึงเสนอเป็นแนวความคิดแบบ “ฝันเฟื่องเวลากลางวัน”
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ก็เป็นที่ยอมรับกันว่า โซลคอฟสกีเป็นผู้ให้กำเนิดความคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ของลิฟต์อวกาศ
หลังการนำเสนอความคิดเรื่องลิฟต์อวกาศของโซลคอฟสกี เรื่องลิฟต์อวกาศก็ได้รับการเขียนเป็นบทความ มีรายละเอียดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ โดย ยูริ อาตซูตานอฟ (Yuri Artsutanov : ค.ศ. 1929-2019) ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Pravda ฉบับวันที่ 31 กรกฎาคม ค.ศ.1960 เรื่อง “To The Cosmos By Electric Locomotion” (สู่จักรวาลโดยรถไฟฟ้า)
อย่างไรก็ตาม เรื่องลิฟต์อวกาศก็ยังไม่ได้รับความสนใจจากวงการวิทยาศาสตร์โดยทั่วไปนัก เพราะข้อเขียนของโซลคอฟสกี และอาตซูตานอฟ เผยแพร่เป็นภาษารัสเซีย
ก้าวต่อมา เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1966 เมื่อนักวิทยาศาสตร์อเมริกัน 4 คน คือ จอห์น ดี. ไอแซกส์ (John D. Isaacs), ฮิวจ์ เบรดเนอร์ (Hugh Bradner) , จอร์ช อี. แบกคัส (George E. Backus) และ อัลลีน ซี. ไวน์ (Allyn C. Vine) เขียนในรูปของจดหมายแสดงความคิดใหม่ทางวิทยาศาสตร์เรื่อง “Satellite Elongation Into A True “Sky-Hook” ตีพิมพ์ในวารสาร Science ฉบับวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1956
ต่อมาอีก เจอโรม เพียร์สัน (Jerome Pearson) นักวิทยาศาสตร์อเมริกัน เขียนบทความเชิงวิชาการเสนอทฤษฎีและรายละเอียดสำหรับการสร้างลิฟต์อวกาศ เรื่อง “The Orbital Tower : A Spacecraft Launcher Using The Earth’s Rotattional Energy” ลงตีพิมพ์ในวารสาร Acta Astronautica ฉบับเดือนกันยายน-ตุลาคม ค.ศ. 1975
บทความของ เพียร์สัน ทำให้เรื่องของลิฟต์อวกาศได้รับความสนใจจากวงการวิทยาศาสตร์จริงจังขึ้น แต่ยังไม่พอที่จะ “ขับเคลื่อน” เรื่องของลิฟต์อวกาศ ให้เกิดขึ้นได้อย่างจริงจัง
...
ก้าวต่อมา จึงเป็นบทบาทของ อาเธอร์ ซี. คลาร์ก ที่ทำให้เรื่องของลิฟต์อวกาศเกิด “โมเมนตัม” ขับเคลื่อนกันอย่างจริงจัง
อาเธอร์ ซี. คลาร์ก, The Fountains Of Paradise กับลิฟต์อวกาศ
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1980 ผู้เขียนได้พบกับ อาเธอร์ ซี. คลาร์ก ที่เมืองโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา (ดู “2 ชั่วโมง 5 นาทีกับอาเธอร์ ซี. คลาร์ก”, ชัยวัฒน์ คุประตกุล, วารสารมิติที่ 4 ฉบับเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2523)
เรื่องหลักๆ ที่เราคุยกัน แบ่งเป็น 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ เรื่องเกี่ยวกับนิยายวิทยาศาสตร์ และเรื่องวิทยาศาสตร์จริงๆ
นิยายวิทยาศาสตร์โด่งดังที่สุดของคลาร์ก คือ 2001 : A Space Odyssey แต่เมื่อผู้เขียนถามคลาร์ก ว่า 2001 : A Space Odyssey เป็นนิยายวิทยาศาสตร์ของเขาที่เขาชอบมากที่สุดใช่ไหม ?
คำตอบของคลาร์กคือ ไม่ใช่ หากเป็น The Fountains Of Paradise นิยายวิทยาศาสตร์เรื่องใหม่ของคลาร์กในเวลานั้น ตีพิมพ์ครั้งแรกปี ค.ศ. 1978
...
The Fountains Of Paradise เป็นเรื่องของการสร้างลิฟต์อวกาศจากพื้นผิวโลก ถึงสถานีปลายทางในอวกาศที่ระดับความสูง 36,000 กิโลเมตร เหนือเส้นศูนย์สูตร
ผู้เขียนยังไม่ได้อ่าน The Fountains Of Paradise แต่ก็ได้คุยกับคลาร์กอย่างลงลึกพอสมควร มาภายหลัง ผู้เขียนจึงได้หนังสือ The Fountains Of Paradise มาอ่าน
หลังการตีพิมพ์ The Fountains Of Paradise ทั้งวงการนิยายวิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์จริง ก็ตื่นตัวกันทั่วโลกอย่างมากเกี่ยวกับลิฟต์อวกาศ
สำหรับวงการนิยายวิทยาศาสตร์ มีนิยายวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับลิฟต์อวกาศ จากนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์มีชื่อหลายคน...หลายเรื่อง...
ส่วนในวงการวิทยาศาสตร์จริง ลิฟต์อวกาศก็กลายเป็นเรื่องร้อนได้รับความสนใจอย่างเป็นวิชาการจริงๆมากขึ้น เกิดการศึกษาวิจัย กลุ่มผู้สนใจ และการประชุมเชิงวิชาการทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ...
ที่สำคัญ เริ่มจากการประชุมสัมมนาเรื่อง “Advanced Space Infrastructure Workshop On Geostationary Orbiting Tether Space Elevator Concepts” จัดโดย นาซา ในปี ค.ศ. 1999 ที่เมืองฮันต์วิลล์ รัฐแอละบามา
...
บทสรุปใหญ่ คือ ลิฟต์อวกาศเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้จริง แต่ไม่ใช่ใน 50 ปีข้างหน้า
ทว่า ในการประชุมสัมมนาลิฟต์อวกาศประจำปีครั้งที่ 2 (Second Annual Space Elevator Conference) ระหว่าง 12-15 กันยายน ค.ศ. 2003 ที่เมืองซานตาเฟ รัฐนิวเม็กซิโก จัดโดยห้องปฏิบัติการแห่งชาติลอสอะลามอส (Los AlamosNational Laboratory) และไอเอสอาร์ (ISR : The Institute For Scientific Research , Ine : บริษัทสถาบันเพื่อการวิจัยวิทยาศาสตร์) ซึ่ง อาเธอร์ ซี. คลาร์ก เป็นผู้บรรยายเปิดการประชุมสัมมนา (จากศรีลังกาทางเทเลคอนเฟอเรนซ์) และแบรดลีย์ เอ็ดเวิร์ดส์ (Bradley Edwards) ผู้ได้รับทุนจากนาซาศึกษาเรื่องความก้าวหน้าและความเป็นไปได้ (หรือไม่) ของการสร้างลิฟต์อวกาศ เป็นผู้บรรยายหลักเชิงวิชาการ
ผลจากการประชุมสัมมนาลิฟต์อวกาศครั้งที่ 2 สร้างความมั่นใจเพิ่มขึ้นมากในวงการวิทยาศาสตร์สำหรับเรื่องลิฟต์อวกาศ
บทสรุปชัดเจนที่สุด มาจากคลาร์ก ซึ่งเคยให้ความเห็นว่า ลิฟต์อวกาศจะเป็นเรื่องของอนาคตในศตวรรษที่ 22
แต่หลังการเขียน The Fountains Of Paradise จบใหม่ๆ คลาร์กเปลี่ยนความคิดใหม่ว่า ลิฟต์อวกาศจะเกิดขึ้นได้ในศตวรรษที่ 21...
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการประชุมสัมมนาลิฟต์อวกาศ ครั้งที่ 2 คลาร์กกล่าวว่าลิฟต์อวกาศจะถูกสร้างขึ้นประมาณ 10 ปี หลังจากที่ทุกคนหยุดหัวเราะ และตอนนี้ พวกเขาหยุดหัวเราะกันแล้ว!
สำหรับผู้เขียน หลังจากที่ได้พบกับคลาร์กที่ศรีลังกาแล้ว เรื่องของลิฟต์อวกาศก็ “ติดอยู่ในหัว” ตลอดมา ผู้เขียนจึงเจาะศึกษาเรื่องของลิฟต์อวกาศอย่างจริงจัง
ผลความพยายามของผู้เขียน จึงเกิดเป็นนิยายวิทยาศาสตร์เรื่องยาวขนาดสั้น “จี้ลิฟต์อวกาศ” และบทความเกี่ยวกับลิฟต์อวกาศ ตีพิมพ์ในนิตยสารและหนังสือพิมพ์หลายฉบับ
ในส่วนของนิยายวิทยาศาสตร์ “จี้ลิฟต์อวกาศ” ผู้เขียนยกให้ “ชัยคุปต์” เขียน และสำนักพิมพ์ประเสริฐวาทิน และสำนักพิมพ์ พี. วาทิน พับลิเคชั่น (ต่าย’ตูน) ได้จัดพิมพ์เป็นเล่มในปี พ.ศ. 2529 (ค.ศ. 1986)
สำหรับส่วนเป็นบทความ เรื่องแรก คือ “ลิฟต์จากโลกสู่อวกาศ” ลงตีพิมพ์ในนิตยสารแมน ฉบับเดือนตุลาคม พ.ศ. 2527 (ค.ศ. 1984) และเรื่องล่าสุด คือ “ลิฟต์จากโลกสู่อวกาศ อัปเดต 2546” ในนิตยสารสารคดี ฉบับเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2546 (ค.ศ. 2003)
ปี ค.ศ. 2004 สำนักพิมพ์สารคดี จัดพิมพ์รวมบทความทั้งหมดเกี่ยวกับลิฟต์อวกาศของผู้เขียนและนิยายวิทยาศาสตร์ “จี้ลิฟต์อวกาศ” โดย “ชัยคุปต์” เป็นเล่ม ชื่อ “ลิฟต์อวกาศ” ตีพิมพ์ครั้งที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2547 (ค.ศ. 2004)
เรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นมาและความเคลื่อนไหวสำคัญเกี่ยวกับลิฟต์อวกาศตั้งแต่ต้น จนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 2003 จึงมีอยู่ในหนังสือ “ลิฟต์อวกาศ” (ชัยวัฒน์ คุประตกุล, สำนักพิมพ์สารคดี, พ.ศ. 2547)
ต่อจากปี ค.ศ. 2003 มา ลิฟต์อวกาศก็ยิ่งได้รับความสนใจอย่างจริงจังในวงการวิทยาศาสตร์และมีการศึกษาระดับประเทศ มิใช่เฉพาะในสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นเท่านั้น ประเทศอื่นๆ ดังเช่น อังกฤษ ก็ให้ความสนใจอย่างจริงจังด้วย...
แต่จนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 2012 ก็ยังไม่มีประเทศใด ที่มีโครงการสร้างลิฟต์อวกาศจริงๆ จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2012 ญี่ปุ่นก็เป็นประเทศแรกที่มีการประกาศสร้างลิฟต์อวกาศอย่างเป็นทางการ
ก่อนจะเปิดบทบาทของประเทศญี่ปุ่น ผู้เขียนก็ขอสรุปประเด็นสำคัญเกี่ยวกับลิฟต์อวกาศถึงล่าสุดรวม 5 เรื่องอย่างเร็วๆ เพื่อให้เห็นภาพอย่างชัดเจนขึ้น เมื่อกล่าวถึงบทบาทของประเทศญี่ปุ่น
5 เรื่องน่ารู้สำหรับลิฟต์อวกาศ
อย่างเร็วๆ มีดังต่อไปนี้
(1) ตำแหน่งของลิฟต์อวกาศ
มีสองตำแหน่งสำคัญ คือ บนผิวโลกในแนวเส้นศูนย์สูตร และในอวกาศ ที่ระดับความสูงประมาณ 36,000 กิโลเมตรเหนือเส้นศูนย์สูตร ซึ่งเป็นตำแหน่งของ “ดาวเทียมค้างฟ้า” หรือ “วงโคจรค้างฟ้า” (geostationary orbit)
(2) ความยาวทั้งหมดของลิฟต์อวกาศ
ความยาวทั้งหมดของลิฟต์อวกาศจากผิวโลกจะเป็นประมาณ 100,000 กิโลเมตร เพื่อให้เกิดความสมดุลของลิฟต์อวกาศระหว่างแรงดึงดูดโน้มถ่วง (ยิ่งสูง ยิ่งน้อยลง) กับแรงหนีศูนย์กลาง (ยิ่งสูง ยิ่งมากขึ้น) ที่ตำแหน่ง 36,000 กิโลเมตร แรงดึงดูดโน้มถ่วงกับแรงหนีศูนย์กลางจะเท่ากัน
(3) ระบบขับเคลื่อนลิฟต์อวกาศ
ที่มีการพิจารณาศึกษากัน คือ (1) ระบบใช้แม่เหล็กไฟฟ้า (2) ระบบใช้พลังงานนิวเคลียร์ และ (3) ระบบการลอยตัวด้วยสนามแม่เหล็ก คือ magnetic levitation ที่ใช้กับรถไฟความเร็วสูงแมกเลฟ (maglev)
(4) วัสดุสายเคเบิลลิฟต์อวกาศ
ต้องอาศัยวัสดุมีความแข็งแรงเป็นพิเศษ เช่น เหล็ก แต่ทำจริงๆ ไม่ได้ เพราะลิฟต์อวกาศจะมีลักษณะคล้ายภูเขากลับหัว โดยมีฐานหรือสถานีลิฟต์ในอวกาศใหญ่กว่าระบบสุริยะ
วัสดุที่แข็งแรงดังเช่น เคฟลาร์ ก็ใช้ไม่ได้ เพราะลิฟต์อวกาศจะมีขนาดใหญ่โตมโหฬารมาก
ล่าสุด วัสดุที่เป็นเสมือนกับ “พระเอกขี่ม้าขาว” คือ ท่อนาโนคาร์บอน (carbon nanotube) เพราะเป็นวัสดุแข็งแรงที่สุดถึงปัจจุบัน และเบามาก
แต่ท่อนาโนคาร์บอนยังมีปัญหาเรื่องการผลิตให้ได้เป็นปริมาณมาก
(5) การก่อสร้างลิฟต์อวกาศ
วิธีการที่คาดว่า ดีที่สุด คือ สร้างจากอวกาศลงมา โดยอาศัยยานอวกาศ หย่อน (ปล่อย) สายเคเบิลของลิฟต์ลงมาถึงพื้นผิวโลก
บทบาทของประเทศญี่ปุ่น
บทบาทของประเทศญี่ปุ่นกับลิฟต์อวกาศที่ทราบกัน มักจะเริ่มจากปี ค.ศ. 2012 ที่บริษัทโอบายาชิ (Obayashi) ประกาศโครงการสร้างลิฟต์อวกาศ โดยระบุเป้าหมายว่า จะเกิดขึ้นภายในปี ค.ศ. 2050
แต่สำหรับผู้เขียน มองว่า บทบาทของญี่ปุ่นเกี่ยวกับลิฟต์อวกาศ เริ่มต้นจริงๆ มาแล้วก่อนปี ค.ศ. 2012 เสียอีก ตั้งแต่การค้นพบท่อนาโนคาร์บอน...
เพราะผู้ค้นพบ เป็นชาวญี่ปุ่น ชื่อ ซูมิโอะ อิจิมะ (Sumip Iijima) เมื่อปี ค.ศ. 1991
ถึงแม้ก่อนปี ค.ศ. 1991 จะมีการกล่าวถึงท่อนาโนคาร์บอนมาก่อนแล้ว แต่อิจิมะ เป็นคนแรกที่ถ่ายภาพและตีพิมพ์ในวารสารวิชาการคุณลักษณะของท่อนาโนคาร์บอน จึงได้รับการกล่าวถึงในวงการวิทยาศาสตร์ เป็น “ผู้ค้นพบ” ท่อนาโนคาร์บอน
หลังปี ค.ศ. 1991 มา ท่อนาโนคาร์บอนก็กลายเป็นวัสดุหลักสำหรับลิฟต์อวกาศ รวมทั้งในการประชุมสัมมนาลิฟต์อวกาศประจำปีครั้งที่สองเมื่อปี ค.ศ. 2003 ที่มี อาเธอร์ ซี. คลาร์ก และเบรดลีย์ เอ็ดเวิร์ด เป็นผู้บรรยายหลัก ซึ่งท่อนาโนคาร์บอนก็ถูกกล่าวถึงในฐานะเป็นวัสดุดีที่สุดถึงขณะนั้น ที่จะทำให้ลิฟต์อวกาศเกิดขึ้นได้จริง
แล้วก็มาถึงบทบาทของบริษัทโอบายาชิ
โอบายาชิกับโครงการสร้างลิฟต์อวกาศ
โอบายาชิ เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการก่อสร้างแห่งหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น อยู่ในกรุงโตเกียวมีสาขาอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยด้วย
โยจิ อิชิกาวะ (Yoji Ishikawa) เป็นผู้จัดการฝ่ายการวิจัยและพัฒนาของบริษัทโอบายาชิ และเป็นผู้จัดการโครงการสร้างลิฟต์อวกาศ
ปี ค.ศ. 2012 บริษัทโอบายาชิประกาศโครงการสร้างลิฟต์อวกาศ โดยกำหนดปี ค.ศ. 2050 เป็นปีเป้าหมายของโครงการ
ปี ค.ศ. 2014 บริษัทโอบายาชิ เผยแพร่รายละเอียดแผนงานการสร้างลิฟต์อวกาศ โดยบนพื้นผิวโลก สถานีลิฟต์อวกาศจะอยู่ในทะเล มีอุโมงค์เชื่อมต่อกับ “เมืองลิฟต์อวกาศ” บนฝั่ง
ระหว่างโลกกับสถานีลิฟต์ในอวกาศที่ระดับความสูง 36,000 กิโลเมตร จะมีสถานีย่อยน่าสนใจสองแห่ง คือ Lunar Gravity Center (ศูนย์ความโน้มถ่วงดวงจันทร์) และ Mars Gravity Center (ศูนย์ความโน้มถ่วงดาวอังคาร) สำหรับผู้สนใจอยากจะทดลองอยู่บนดวงจันทร์และดาวอังคาร ที่มีความโน้มถ่วงประมาณหนึ่งในหกและหนึ่งในสามของโลกตามลำดับ
โดยภาพรวม แผนการสร้างลิฟต์อวกาศของโอบายาชิ คาดว่า จะเริ่มต้น (การสร้างลิฟต์อวกาศบางส่วน) ในปี ค.ศ. 2025 และคาดว่าจะเดินหน้าสร้างลิฟต์อวกาศได้เต็มที่ หรือใกล้จะสำเร็จ หรืออาจจะสำเร็จ ภายในปี ค.ศ. 2050
ดังนั้น เมื่อถึงปี ค.ศ. 2024 (ปีนี้) เว็บไซต์ Businessinsider และสำนักข่าวอีกหลายแห่ง จึงถามโอบายาชิว่า โครงการสร้างลิฟต์อวกาศของบริษัทกำลังเป็นอย่างไร? แผนการสร้างลิฟต์อวกาศที่จะเริ่มในปีหน้า (ค.ศ. 2025) ยังเป็นไปตามแผนหรือไม่?
อิชิกาวะ ตอบว่า โครงการสร้างลิฟต์อวกาศของโอบายาชิยังกำลังเดินหน้าอย่างเต็มที่ ทั้งในการวิจัยและพัฒนา และอื่นๆ รวมทั้งการแสวงหา “พันธมิตร” ร่วมโครงการด้วย เพราะเป็นโครงการใหญ่ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล...
สำหรับเป้าหมายการเริ่มสร้างลิฟต์อวกาศในปีหน้า (ค.ศ. 2025) นั้น อิชิกาวะ ยอมรับว่า โอบายาชิคงยังไม่ได้สร้างอะไรชัดเจนในปี ค.ศ. 2025 เพราะยังมีประเด็นที่จะต้องศึกษากันอีกมาก รวมถึงวัสดุที่จะใช้ทำสายเคเบิลลิฟต์อวกาศ ซึ่งถึงขณะนี้ ก็ยังเป็นท่อนาโนคาร์บอน แต่ก็ยอมรับว่า การผลิตท่อนาโนคาร์บอนให้ได้เป็นปริมาณมากพอ ยังเป็นปัญหาอยู่...
และจริงแล้ว โคบายาชิก็กำลังวิจัยศึกษามองหาวัสดุอื่น ที่อาจจะเหมาะสำหรับลิฟต์อวกาศว่าท่อนาโนคาร์บอนเสียอีก
สำหรับคำถามใหญ่ว่า โอบายาชิยังกำหนดแผนสร้างลิฟต์อวกาศให้ได้เห็นกันในปี ค.ศ. 2050 หรือไม่?
อิชิกาวะ ตอบว่า เมื่อปี ค.ศ. 2050 มาถึง ลิฟต์อวกาศคงจะยังไม่ได้เปิดให้ใช้กัน...
แต่บริษัทยังมั่นใจว่า จะได้ลงมือสร้างลิฟต์อวกาศแล้ว อย่างแน่นอน!
ผู้เชี่ยวชาญและผู้รู้เกี่ยวกับลิฟต์อวกาศหลายคน เชื่อว่า การสร้างลิฟต์อวกาศ เป็นเรื่องใหญ่เกินไป สำหรับบริษัทเดียวดังเช่น โอบายาชิ เพราะควรจะเป็นโครงการร่วมของหลายประเทศมากกว่า...
แต่ผู้เชี่ยวชาญและผู้รู้เกี่ยวกับลิฟต์อวกาศจำนวนมาก ก็ยังเชื่อและมั่นใจว่า โอบายาชิจะสามารถสร้างลิฟต์อวกาศได้สำเร็จจริงตามเป้าหมาย
ผู้เขียนเองก็เชื่อว่า โอบายาชิ “น่าจะทำได้จริง!”
แล้วท่านผู้อ่านล่ะครับ คิดอย่างไร?