เชื่อ คิด และทำอย่างวิทยาศาสตร์ กับชีวิต คิง โคล วงแจ๊ซที่ไม่มีกลอง และการค้นพบและสร้างสิ่งประดิษฐ์ยิ่งใหญ่ในวงการวิทยาศาสตร์ จากความบังเอิญและอุบัติเหตุ ... 

คืนวันหนึ่งในชิคาโก ปี ค.ศ. 1937 แนท คิง โคล นำวงดนตรีแจ๊ซของเขาไปเปิดแสดงในคลับแห่งหนึ่ง

แต่การแสดงเกือบจะไม่ได้เกิดขึ้น เพราะ “อุบัติเหตุ” มือกลองไม่มา!

แนท คิง โคล แก้ปัญหาโดยการเดินหน้าเล่นดนตรีแจ๊ซต่อ โดยไม่มีกลอง!

ผลที่ออกมา ปรากฏว่า แนท คิง โคล ชอบ โดยที่การแสดงดนตรีคืนวันนั้น มีเขาเล่นเปียโน และอีกสองคนเล่นเบสและกีตาร์

จากนั้นมา วงแจ๊ซและเพลงของ แนท คิง โคล ล้วน “ไม่มีกลอง” จนกระทั่งกลายเป็น “ซิกเนเจอร์” วงแจ๊ซและเพลงของ แนท คิง โคล ตลอดมา

อุบัติเหตุ...เหตุที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด...โดยทั่วไป ไม่มีใครอยากให้เกิด เพราะสิ่งที่มักจะตามมา คือ ความเดือดร้อน ความสูญเสีย ร้ายแรงที่สุด ก็เสียชีวิต หรือพิการตลอดชีวิต

แต่ก็มีอุบัติเหตุอีกแบบหนึ่ง ให้ผลตรงกันข้าม แบบ “ต้นร้ายปลายดี” ดังกรณีของ แนท คิง โคล กับอุบัติเหตุมือกลองไม่มาตามนัด

“เชื่อ คิด และทำอย่างวิทยาศาสตร์” วันนี้ ขอนำท่านผู้อ่านไปดูตัวอย่างเรื่องราวในวงการวิทยาศาสตร์ ที่เริ่มต้นจาก “อุบัติเหตุ” หรือ “ความบังเอิญ” สื่อถึงความผิดพลาดหรือความล้มเหลว หรือความสูญเสีย แต่สุดท้ายกลับกลายเป็น “ต้นร้ายปลายดี” ก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ เทคโนโลยีใหม่ ยาชนิดใหม่ ความรู้ใหม่ ซึ่งบางเรื่องก็เป็นการค้นพบใหม่ ที่เป็นเรื่องใหญ่ระดับกำเนิดของจักรวาล

...

ที่สำคัญ นอกเหนือไปจากการรับรู้เรื่องราวสิ่งดีๆ ที่เริ่มต้นจาก “เหตุคาดไม่ถึง” หรือ “อุบัติเหตุ” แล้ว การที่อุบัติเหตุจะเปลี่ยน “จากร้ายกลายมาเป็นดี” ได้นั้น ขึ้นอยู่กับอะไร? คนแบบไหน? อย่างไร? จึงจะสามารถเปลี่ยน “อุบัติเหตุ” เป็น “อุบัติแห่งความสำเร็จ” ได้

แต่ก่อนจะไปเปิดแฟ้มดูตัวอย่าง “เรื่องร้ายปลายดี” ทางวิทยาศาสตร์ เราไปดูเรื่องราวเกี่ยวกับ แนท คิง โคล ผู้ช่วยเปิดประเด็นเรื่องของเราวันนี้ อย่างลงลึกพอสมควร...ในฐานะ “นักวิทยาศาสตร์เกียรติยศ” ของเราวันนี้

แนท คิง โคล : แจ๊ซวงเล็กและเพลงที่ไม่มีกลอง!

แนท คิง โคล จากโลกไปแล้ว เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1965 ถึงวันนี้ ก็นับเป็นเวลา 59 ปีแล้ว...

แต่สิ่งที่หลายคนคงไม่ปฏิเสธกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้เขียน แนท คิง โคล เป็นนักร้องอเมริกันผิวดำที่ “ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกตลอดกาล”

เรื่องราวชีวิตและงานของ แนท คิง โคล อย่างเผินๆ ก็ดูจะ “เกิดขึ้นเร็ว” “ประสบความสำเร็จระดับสุดยอดเร็ว” อย่างน่าทึ่ง

แต่จริงๆ แล้ว ทุกย่างก้าวชีวิตและงานของ แนท คิง โคล “ไม่ง่าย” เลย และบางเรื่องราวที่เกิดขึ้นก็รุนแรง อย่างที่คนเกิดมาเพื่อสร้างความสุขให้กับคนอื่น ไม่น่าจะต้องเผชิญ

แนท คิง โคล หรือชื่อจริง แนธาเนียล อดัมส์ โคลส์ (Nathaniel Adam Coles) เกิดวันที่ 17 มีนาคม ค.ศ. 1919 ที่เมืองมอนต์โกเมอรี รัฐอลาบามา อายุ 4 ปี ย้ายตามครอบครัวไปอยู่ที่ชิคาโก เรียนหนังสือ เรียนการเล่นเปียโนจากแม่ และเก่งเปียโนถึงขั้นอายุ 15 ปี ก็ตั้งวงแจ๊ซลาออกจากโรงเรียน เล่นดนตรีเป็นอาชีพ จนกระทั่งอายุ 17 ปี ที่เกิดเรื่อง “มือกลองไม่มาตามนัด” ...!

ซึ่งก็มีการตั้งข้อสงสัยว่า เหตุมือกลองไม่มาตามนัดนั้น เกิดขึ้นจริงหรือไม่ เพราะไม่มีบันทึกหลักฐานปรากฏชัดเจน และก็มี “เรื่องเล่า” ที่แตกต่างออกไป ถึงสาเหตุที่วงแจ๊ซและเพลงของ แนท ไม่มีกลอง...

แต่ตัว แนท คิง โคล เอง ก็ “ไม่ปฏิเสธ” หรือ “ยืนยัน” ทำให้เรื่องนี้ยังคงปรากฏอยู่ถึงทุกวันนี้

ตัวผู้เขียนเองก็เชื่อว่า การที่วงแจ๊ซและเพลงของ แนท คิง โคล (แทบ) ทั้งหมดไม่มีกลอง ก็น่าจะมีสาเหตุที่มา แต่มุมมองหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นคือ เพลงของ แนท คิง โคล และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สไตล์การร้องเพลงของ แนท คิง โคล เหมาะที่สุดกับดนตรีประกอบที่ไม่ต้องมีกลอง...

เพราะการไม่มีกลองที่คอยกำกับจังหวะ ทำให้ แนท คิง โคล ร้องเพลงได้อย่างลงตัว

...

อย่างไรหรือ?

เพราะเพลงของ แนท คิง โคล ถ้าตั้งใจฟังจะเห็นว่า เขาร้องแต่ละครั้ง จะไม่เหมือนเดิม หรือ “ต้นฉบับ” ทุกครั้ง แต่ฟังได้อย่างลงตัวเสมอ...

เช่นเพลง Nature Boy เวอร์ชันแรกที่เขาบันทึกแผ่น กับเวอร์ชันที่เขาร้องสดและบันทึกภายหลัง จะไม่เหมือนกัน แต่ “ลงตัว”

ในเชิงวิทยาศาสตร์ เรื่องราวของ แนท คิง โคล เฉพาะในส่วนการเริ่มต้น เข้าสู่ดนตรีอย่างเป็นอาชีพ ก็เหมือนกับนักวิทยาศาสตร์มือใหม่ ยังไม่พร้อมจะ “เล่น” กับโจทย์ใหญ่ของวิทยาศาสตร์ แต่ก็ต้อง “กล้าพอ” ที่จะ “เล่น” กับโจทย์ที่ไม่ใหญ่ แต่ “สำคัญ” และนักวิทยาศาสตร์หลายคน ก็ทำได้อย่างดี จนกระทั่งกลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้นำ หรือผู้บุกเบิก “โจทย์ใหญ่” ของวิทยาศาสตร์...

และ แนท คิง โคล ก็ “กล้าพอ” ที่จะตั้งวงแจ๊ซของตนเอง เพื่อแข่งกับวงแจ๊ซรุ่นใหญ่ โดยเริ่มจากวงแจ๊ซขนาดเล็ก ทั้งหมดมีเพียง 4 คน แล้วต่อมาก็เหลือแค่ 3 คน...

...

ทว่า ด้วยความมุ่งมั่นและผลงานต่อเนื่อง เขาก็สร้างตำนานเป็นผู้บุกเบิก “แจ๊ซวงเล็ก” ที่กลายเป็นต้นแบบของ “แจ๊ซวงเล็ก” รุ่นต่อๆ มาถึงปัจจุบัน

หลังความสำเร็จของ แนท คิง โคล ที่สามารถตั้งแจ๊ซวงเล็กให้เป็น “ตำนาน” แก่วงการแจ๊ซแล้ว แนท คิง โคล ก็เดินหน้าต่อ สู่อาชีพสายดนตรีที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม คือ การร้องเพลง เริ่มตั้งแต่ทศวรรษที่สี่สิบ...

แล้วก็ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ กับเพลง (I Love You) For Sentimental Reason ในปี ค.ศ. 1946 ติดชาร์ตอันดับหนึ่งอยู่นานถึงหกสัปดาห์ และเพลง The Christmas Song ในปี ค.ศ. 1947 ที่กลายเป็นเพลงชาวคริสต์ทั่วโลกร้องกันเป็นประจำทุกเทศกาลคริสต์มาสถึงปัจจุบัน

หลังความสำเร็จจากการเป็นนักร้องเต็มตัว แนท คิง โคล ก็มีทั้งชื่อเสียงและเงินทอง และก็ก้าวหน้าต่อ ได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา คือ ได้จัดรายการโทรทัศน์ The Nat King Cole Show ที่ช่อง NBC ในปี ค.ศ. 1965 นับเป็นรายการโทรทัศน์แรกในสหรัฐอเมริกาที่มีคนอเมริกันผิวดำเป็นผู้ดำเนินรายการ ตามมาด้วยการแสดงภาพยนตร์ ดังเช่น เรื่อง Cat Ballou กับ เจน ฟอนดา และ ลี มาร์วิน

แต่ตลอดชีวิตต่อมา หลังการมีชื่อเสียงจริงๆ แนท คิง โคล ก็ต้องเผชิญกับอุปสรรคและปัญหามากมาย รวมทั้งความรุนแรงต่อครอบครัว และถูกทำร้ายร่างกาย ที่หนักๆ มีเช่น :-

*เมื่อ แนท คิง โคล ซื้อบ้านในลอสแอนเจลีส ซึ่งเป็นย่านของคนผิวขาว ก็ถูกคุกคามจากเพื่อนบ้านและกลุ่มคนเหยียดผิวหัวรุนแรง คู คลักซ์ แคลน (Ku Klux Klan) ถูกเพื่อนบ้านขับไล่ เผาไม้กางเขนในสวนหน้าบ้าน สุนัขถูกวางยาพิษ มีการยิงปืนเข้าไปในบ้าน

...

*ถูกชาย 3 คน บุกขึ้นเวทีทำร้ายขณะกำลังแสดงคอนเสิร์ตร้องเพลงที่เมืองเบอร์มิงแฮม รัฐอลาบามา เมื่อวันที่ 10 เมษายน ค.ศ. 1956

แต่ทุกอุปสรรคและปัญหา แนท คิง โคล ก็ผ่านมาได้ จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิตที่ซานตา โมนิกา, ลอสแอนเจลีส ขณะมีอายุเพียง 45 ปี จากสาเหตุการสูบบุหรี่จัดตั้งแต่วัยหนุ่ม

ในช่วงชีวิตที่นับว่าสั้นของ แนท คิง โคล เขาได้สร้าง “ปาฏิหาริย์” มากมาย จาก “ต้นทุน” แสนน้อยนิด จบลงด้วยการเป็น “ฮีโร่” ของคนอเมริกันทั้งผิวดำและผิวขาวทั่วประเทศ และคนอื่นๆ ทั่วโลก รวมทั้งผู้เขียนด้วย

เขาทำได้อย่างไร?

นี่เองคือหัวใจประเด็นสำคัญของเรา ที่ผู้เขียนขอยก แนท คิง โคล เป็น “โมเดล” ของคนมีจิตวิญญาณแบบเดียวกับนักวิทยาศาสตร์ ที่กล้าคิดใหม่ ทำใหม่ เดินไปในเส้นทางใหม่ที่รู้ว่า “ยาก” และอาจ “เจ็บตัว” คือ ล้มเหลว และเมื่อเผชิญกับอุปสรรค ก็ถือว่า “อุปสรรค” คือ สิ่งท้าทายที่จะต้อง “ข้าม” ไปให้ได้ อย่าง “สร้างสรรค์” เพราะสำหรับวงการวิทยาศาสตร์แล้ว “ความไม่เป็นไปตามคาดหวัง” จริงๆ แล้ว ก็อาจเป็น “ปัญหาใหม่” “ทางออกใหม่” สู่การค้นพบใหม่ได้!

จาก แนท คิง โคล สู่โลกวิทยาศาสตร์จริง!

ในโลกของวิทยาศาสตร์จริง มีตัวอย่างเรื่องราวมากมาย ที่ความก้าวหน้าใหม่สำคัญ เกิดจากจุดเริ่มต้นที่เป็น “อุบัติเหตุ” หรือ “ความล้มเหลว” แต่กลับกลายเป็นเรื่องต้นร้ายปลายดี

วันนี้ ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่ท่านผู้อ่าน 3 เรื่อง คือ (1) การค้นพบเพนิซิลลิน : ยาปฏิชีวนะชนิดแรกของโลก (2) เตาไมโครเวฟ : สิ่งประดิษฐ์จากเหตุบังเอิญ และ (3) รังสีคอสมิกไมโครเวฟฉากหลัง : หลักฐานแรกกำเนิดจักรวาลแบบบิ๊กแบง

การค้นพบเพนิซิลลิน : ยาปฏิชีวนะชนิดแรกของโลก

การค้นพบเพนิซิลลิน (penicillin) โดย เซอร์ อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง (Sir Alexander Fleming) เป็นตัวอย่างคลาสสิกการค้นพบสำคัญทางวิทยาศาสตร์ ที่เกิดจาก “อุบัติเหตุ”

อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง (16 สิงหาคม ค.ศ. 1881-11 มีนาคม ค.ศ. 1955) เป็นแพทย์และนักจุลชีววิทยาชาวสกอต มีบทบาทสำคัญช่วยชีวิตและรักษาอาการบาดเจ็บของทหารฝ่ายสัมพันธมิตรมากมายในระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (ค.ศ. 1914-1918)

หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ก็กลับเข้าทำงานประจำที่โรงพยาบาลเซนต์แมรี คณะแพทยศาสตร์ในกรุงลอนดอน

เฟลมมิง ได้ชื่อว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ไม่ค่อยจะมีระเบียบนัก และห้องทดลองเขาที่โรงพยาบาลเซนต์แมรี ก็ไม่ค่อยจะสะอาดเรียบร้อย...

แต่จากพี่ๆ และเพื่อนร่วมงาน ก็กล่าวตรงกันว่า ความไม่สู้จะเป็นคนเจ้าระเบียบ และห้องทดลองที่ไม่ค่อยเรียบร้อย เป็นส่วนหนึ่งของ “ปัจจัย” ส่งให้เขาค้นพบสิ่งสำคัญทางวิทยาศาสตร์ ดังเช่น เพนิซิลลิน

เรื่องราวการค้นพบเพนิซิลลินของ เฟลมมิง เริ่มต้นเมื่อปี ค.ศ. 1927 เมื่อเขาเริ่มต้นเพาะศึกษาแบคทีเรียชนิดหนึ่ง (staphylococcus) 

วันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 1928 เฟลมมิงกลับจากการพักผ่อนหลายวันกับครอบครัว แล้วพบว่า ในถาดเพาะเชื้อถาดหนึ่งของเขา เกิดคราบเชื้อรา ในขณะที่ไม่มีเชื้อราเกิดขึ้นในถาดเพาะเชื้ออื่นๆ ทั้งหมด

ในตอนแรก เฟลมมิงก็เกือบจะโยนผลการเพาะเชื้อในถาดนั้นทิ้ง...

แต่แล้ว ก็ฉุกใจคิดว่า หรือจะมีอะไรที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น?

หลังจากนั้นมา เรื่องราวการค้นพบยาปฏิชีวนะชนิดแรก คือ เพนิซิลลิน ก็กลายเป็นเรื่องรู้จักกันดีที่สุดเรื่องหนึ่ง ในประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ของโลก

เฟลมมิง ก็กลายเป็นนักวิทยาศาสตร์มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของโลก ได้รับการแต่งตั้งเป็น “อัศวิน” ได้รับรางวัลโนเบล และได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งใน “100 บุคคลสำคัญที่สุดแห่งศตวรรษที่ยี่สิบ” โดยนิตยสาร TIME

อะไรเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เฟลมมิงค้นพบเพนิซิลลิน?

ไม่ใช่ความไม่เป็นคนมีระเบียบวินัยกับตนเอง และห้องทดลองของเฟลมมิงเองเท่านั้น สิ่งสำคัญที่สุด ก็คือ ความเป็นคนมีจิตวิญญาณแห่งวิทยาศาสตร์ ช่างสังเกต และยึดมั่นในกระบวนการของเหตุและผลว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ล้วนต้องมีสาเหตุ ซึ่งสาเหตุที่ไม่ทราบมาก่อน ก็อาจจะหมายถึง “สิ่งใหม่” ที่สามารถนำไปสู่ความก้าวหน้าสำคัญใหม่ๆ ของวิทยาศาสตร์ได้

เตาไมโครเวฟ : สิ่งประดิษฐ์จากเหตุบังเอิญ

วันหนึ่งในปี ค.ศ. 1945 ขณะที่สงครามโลกครั้งที่สองยังไม่ยุติ...

เหตุบังเอิญอย่างหนึ่ง กับคนไม่ธรรมดาคนหนึ่ง สิ่งประดิษฐ์ที่กลายเป็นสิ่งจำเป็นในบ้านของผู้คนจำนวนมากทั่วโลก ก็เกิดขึ้น!

สิ่งประดิษฐ์นั้น คือ เตาไมโครเวฟ

เหตุบังเอิญ คือ ขนมช็อกโกแลตแห่งหนึ่ง ที่บังเอิญไปอยู่ในกระเป๋าเสื้อของคนไม่ธรรมดาคนหนึ่งชื่อ เพอร์ซี สเปนเซอร์ (Percy Spencer)

เพอร์ซี สเปนเซอร์ นับเป็นคนไม่ธรรมดา เพราะในวันที่เกิดเหตุบังเอิญนั้น เขาทำงานอยู่กับบริษัทเรธีออน (Ratheon) ในฐานะวิศวกรผู้เชี่ยวชาญระบบเรดาร์ โดยที่ตัวเขาเอง เรียนไม่จบชั้นมัธยม แต่ใฝ่รู้ เรียนรู้ด้วยตนเอง จนกระทั่งมีความรู้ความสามารถ กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารด้วยเรดาร์ และเป็นกำลังสำคัญของบริษัทเรธีออน ที่มีสัญญาผลิตอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสารกับกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง

นี่คือส่วนความ “ไม่ธรรมดา” ของ สเปนเซอร์

ในส่วนเรื่องของความบังเอิญกับกำเนิดของเตาไมโครเวฟล่ะ?

เมื่อสเปนเซอร์พบว่า แท่งช็อกโกแลตในกระเป๋าเสื้อละลาย เมื่ออยู่หน้าเครื่องเรดาร์ที่กำลังทำงาน ก็เป็นเรื่องไม่ยากนัก ที่เขาจะตั้งข้อสงสัยว่าความร้อนคือสาเหตุการละลายของแท่งช็อกโกแลต น่าจะมาจากหลอดแมกนีตรอน (magnetron) ซึ่งทำหน้าที่ผลิตคลื่นไมโครเวฟสำหรับเรดาร์

วันต่อมา เขาจึงไปหาเมล็ดข้าวโพดมาถุงหนึ่ง จ่ออยู่หน้าหลอดแมกนีตรอน ผลคือเมล็ดข้าวโพดก็ปะทุแตกเหมือนถูกคั่ว...

วันต่อมาอีก เขาก็ทดลองเอาไข่สดฟองหนึ่ง ใส่เข้าไปในกาน้ำที่ไม่มีน้ำ ตัดผิวกาน้ำเป็นช่อง แล้วหันหลอดแมกนีตรอนใส่เข้าไป เปิดเครื่อง...

ผู้ร่วมทดลองคนหนึ่ง ชะโงกหน้าดูด้านบนที่เปิดฝาอยู่ของกาน้ำ ผลคือไข่ในกาก็สุกกระเด็นกระจายใส่หน้า

หลังการศึกษาเพิ่มเติม ในที่สุด สเปนเซอร์และบริษัทเรธีออน ก็นำสิ่งประดิษฐ์ใหม่ เตาไมโครเวฟ ไปจดทะเบียนสิทธิบัตรในสหรัฐอเมริกา วันที่ 8 ตุลาคม ค.ศ. 1945

ต่อจากนั้น ก็เป็นเรื่องของการพัฒนา...ปรับปรุง...จนกระทั่งเตาไมโครเวฟกลายเป็นอุปกรณ์ส่วนหนึ่งในบ้านของคนอเมริกัน และต่อมาก็ทั่วโลก

ถ้าจะถามว่า การค้นพบจากเหตุบังเอิญนำมาสู่เตาไมโครเวฟ ที่เกิดกับสเปนเซอร์ หากเหตุบังเอิญนั้น เกิดกับคนอื่นที่ไม่ใช่สเปนเซอร์ แล้วผลจะเหมือนกันหรือไม่?

สำหรับผู้เขียน คำตอบคือ ก็เป็นไปได้ ถ้าเกิดขึ้นกับคนที่มีคุณลักษณะแห่งความเป็นวิทยาศาสตร์ ที่มองว่า “ทุกผลที่เกิดขึ้น ล้วนมีสาเหตุที่มา” แล้วก็มีความรู้ที่ “จำเป็น” ที่ “ดีพอ” จนกระทั่งพบสาเหตุที่ “ใช่” แล้วเดินหน้าต่อจนกระทั่งเกิดเป็นนวัตกรรมใหม่อย่างเป็นรูปธรรมขึ้นมา

รังสีคอสมิกไมโครเวฟฉากหลัง : หลักฐานแรกกำเนิดจักรวาลแบบบิ๊กแบง

ปี ค.ศ. 1964 สองนักดาราศาสตร์วิทยุ อาร์โน เพนเซียส (Arno Penzias) และ โรเบิร์ต วิลสัน (Robert Wilson) ใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุ ที่ห้องปฏิบัติการโทรศัพท์เบลล์ (Bell Telephone Laboratories) ในนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งทั้งคู่มีส่วนร่วมในการปรับปรุงและพัฒนา ให้เป็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุมีความไวมากเป็นพิเศษ...

เป้าหมาย คือ สำรวจและทำแผนที่รังสีคลื่นวิทยุจากกาแล็กซีให้ละเอียดที่สุด...

ผลที่ได้...เกินคาด...ได้พบรังสีคลื่นวิทยุมากกว่าที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งรังสีคลื่นไมโครเวฟ ที่อ่อนกว่าจากกาแล็กซีทางช้างเผือก แต่สม่ำเสมอ!

เพนเซียสและวิลสันจึงพยายามค้นหาสาเหตุส่วนที่เกิด โดยคาดว่า น่าจะเป็นรังสีรบกวนจากสภาพแวดล้อมบนโลก เช่น จากกรุงนิวยอร์ก...

แต่ก็ไม่ใช่!

หรือจะมาจากตัวเสาอากาศรูปเขาสัตว์ของระบบโทรทรรศน์วิทยุของเบลล์เอง ที่สกปรกเต็มไปด้วยมูลค้างคาวและนกพิราบ?

แต่เมื่อทำความสะอาดเสาอากาศเต็มที่แล้ว คลื่นรังสีไมโครเวฟส่วนเกินก็ยังไม่หายไป!

จนกระทั่งเพนเซียสและวิลสัน ได้อ่านพบความคิดเห็นของ โรเบิร์ต เอช. ดิกคี (Robert H. Dicke) นักฟิสิกส์และนักดาราศาสตร์มีชื่อเสียงว่า ผลจากการระเบิดบิ๊กแบงกำเนิดของจักรวาลน่าจะยังคงเหลืออยู่ในจักรวาลถึงทุกวันนี้

เพนเซียสโทรศัพท์ถึงดิกคี แล้วเพนเซียส, วิลสัน และดิกคี ก็มั่นใจว่า เพนเซียสและวิลสัน ได้ค้นพบหลักฐานแรกกำเนิดของจักรวาลที่ยังหลงเหลืออยู่ถึงปัจจุบัน ในรูปของรังสีคลื่นไมโครเวฟที่อุณหภูมิสามเคลวิน ซึ่งรู้จักเรียกกันในปัจจุบัน เป็นรังสีคอสมิกไมโครเวฟฉากหลัง (cosmic microwave background) หรือ ซีเอ็มบี (CMB)

ปี ค.ศ. 1965 เพสเซียส, วิลสัน และดิกคี ร่วมกันเขียนรายงานตีพิมพ์ประกาศ “การค้นพบหลักฐานแรกสุดกำเนิดจักรวาลแบบบิ๊กแบง” 

ปี ค.ศ. 1978 เพนเซียสและวิลสัน ได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์ร่วมกันจากการค้นพบรังสีคอสมิกไมโครเวฟฉากหลัง

การค้นพบรังสีคอสมิกไมโครเวฟฉากหลังของเพนเซียสและวิลสัน เป็นตัวอย่างเรื่องราวน่าทึ่งของโลกวิทยาศาสตร์อีกเรื่องหนึ่ง ที่เริ่มต้นจากเป้าหมายแบบหนึ่ง แต่ได้ “ของแถมยิ่งใหญ่กว่าเป้าหมาย” อย่างคาดไม่ถึง

สำหรับตัวเพนเซียสเอง มีเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของเขา ที่ต้องหนีภัยจากนาซีเยอรมันตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ไปอังกฤษ แล้วในที่สุดก็ปักหลักในสหรัฐอเมริกา สู่อาชีพนักฟิสิกส์และนักดาราศาสตร์

ส่วนวิลสัน เป็นคนอเมริกัน มีชีวิตไม่ตื่นเต้นโลดโผนเท่าเพนเซียส แต่สำหรับผู้เขียน วิลสันเป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลที่ผู้เขียนได้มีโอกาสพบ...

จากการเดินทางของวิลสัน มาร่วมงาน วทท.14 (การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 14) ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2531 และได้ไปบรรยายพิเศษที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร (มศวประสานมิตร) ด้วย

สำหรับ แนท คิง โคล ท่านผู้อ่านเห็นด้วยหรือไม่ กับการยกให้ แนท คิง โคล เป็น “นักวิทยาศาสตร์เกียรติยศ” ของเราวันนี้?

แต่...อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่า ท่านผู้อ่านทุกท่านที่มี “เพลงในหัวใจ” ก็จะมีเพลงของ แนท คิง โคล อยู่ในหัวใจอย่างน้อยหนึ่งเพลง

ใช่หรือไม่?

ถ้าใช่ คือเพลงอะไรครับ?

สำหรับเรื่องการค้นพบ...การประดิษฐ์คิดค้น...ทางวิทยาศาสตร์สำคัญ ที่เกิดจากอุบัติเหตุหรือเหตุบังเอิญ นอกเหนือไปจากสามเรื่องที่ผู้เขียนนำมาเล่าสู่ท่านผู้อ่านวันนี้ แล้วท่านผู้อ่านเอง นึกถึงเรื่องอื่นเรื่องอะไรอีกบ้างครับ?