เชื่อ คิด และทำอย่างวิทยาศาสตร์ กับ สุดยอดภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ที่เป็นที่สุด 5 ยุค ขึ้นหิ้ง ไม่มีวันตาย ...

ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ไม่มีวันตาย!

ในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์โลกกว่าหนึ่งร้อยปี ตามเว็บไซต์ Cinemadrop วันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 2022 อ้างข้อมูลจากเว็บไซต์ The Number มีภาพยนตร์จากทั่วโลกผลิตออกฉายแล้วกว่า 486,000 เรื่อง (ไม่นับภาพยนตร์ผลิตเผยแพร่ หรือเป็นดีวีดีโดยตรง) โดยมีข้อมูลน่าสนใจว่า ทั่วโลก มีเพียง 5 ประเทศผลิตภาพยนตร์มากที่สุด คือ อินเดีย, จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา

แล้วก็มีการจัดกลุ่มประเภทภาพยนตร์ที่นิยมกันมาก เกิดเป็นยุคทองดังเช่นของภาพยนตร์เพลง, ภาพยนตร์คาวบอยตะวันตก, ภาพยนตร์ตลก, ภาพยนตร์สงคราม, ภาพยนตร์มหากาพย์ และภาพยนตร์วิทยาศาสตร์...

แต่ยุคทองของภาพยนตร์ประเภทต่างๆ ส่วนใหญ่ ผ่านมา แล้วก็ผ่านไป...

ยกเว้นภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ที่ในบางยุคสมัย อาจจะไม่มีภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ระดับ “สุดยอด” แต่ก็จะมีภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ “สำคัญ” ออกมาให้ชมกันอยู่เสมอ และจึงเป็นคำกล่าวของผู้เขียนบ่อยว่า “ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ ไม่มีวันตาย !”

สำหรับประเด็นหลักของ “เชื่อ คิด และทำอย่างวิทยาศาสตร์” วันนี้ จะเป็นเรื่องการ “มองหา” และ “กล่าวถึง” ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ ซึ่งจริงๆ แล้ว ผู้เขียนก็ถูกสัมภาษณ์หรือเขียนเกี่ยวกับภาพยนตร์วิทยาศาสตร์มาแล้วบ่อยๆ ตั้งแต่เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2525 มา ที่ผู้เขียนเริ่มเขียนหนังสืออย่างจริงจังขึ้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นประเด็น เช่น “10 สุดยอดภาพยนตร์วิทยาศาสตร์”

...

แต่สำหรับ “เชื่อ คิด และทำอย่างวิทยาศาสตร์” วันนี้ จะเป็นการ “อัปเดต” อย่างเร็วๆ เกี่ยวกับโลกและภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ที่ “สำคัญ” แห่งยุคสมัย มิใช่การ “จัดอันดับ” สุดยอดภาพยนตร์วิทยาศาสตร์

ในการแบ่งยุคสมัยที่ผู้เขียนกล่าวถึงวันนี้ ผู้เขียนแบ่งเป็น 5 ยุคดังนี้ ยุคหนึ่ง : ค.ศ. 1902-1949  ยุคสอง : ค.ศ. 1950-1974  ยุคสาม : ค.ศ. 1975-1999 ยุคสี่ : ค.ศ. 2000-2019 และยุคห้า : ค.ศ. 2020-2024 เพื่อให้พื้นที่แก่ภาพยนตร์แห่งยุคสมัย ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเป็นลำดับ โดยในแต่ละยุค ผู้เขียนจะฉายภาพรวมอย่างเร็วๆ เกี่ยวกับโลกและภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ในยุคสมัยนั้น กล่าวถึง ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์สำคัญบางเรื่อง โดยจะโฟกัสเป็นพิเศษสำหรับภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพียงหนึ่งเรื่อง

เราไปเริ่มต้นกันกับภาพยนตร์ “สำคัญที่สุด” เรื่องแรกในโลกภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ยุคแรกของเรา คือ Metropolis

(1) Metropolis : ยุคหนึ่ง (ค.ศ. 1902-1949)

ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ เกิดขึ้นพร้อมๆ กับภาพยนตร์โดยทั่วไป

ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ ที่มี “เรื่องราว” เรื่องแรกที่สำคัญของโลก คือ A Trip To The Moon เป็นภาพยนตร์ฝรั่งเศส จากนิยายวิทยาศาสตร์เรื่อง From The Earth To The Moon และ Around The Moon ของ จูลส์ เวิร์น ออกฉายปี ค.ศ. 1902 มีความยาว 18 นาที

สำหรับผู้เขียน ความสำคัญของภาพยนตร์ A Trip To The Moon คือ การปักหมุดหมายของภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ ควบคู่กับภาพยนตร์ประเภทอื่นๆ ของโลก และภาพยนตร์ก็อยู่กับโลกภาพยนตร์ตลอดมา และจึงเป็นเหตุผลที่ผู้เขียนเลือกกำหนดให้มี ค.ศ. 1902 เป็นปีเริ่มต้นของโลกภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ยุคที่หนึ่ง

ส่วนความยาวของภาพยนตร์ A Trip To The Moon ที่ยาวเพียง 18 นาที ต่อๆ มา ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ที่ยาวระดับนี้ ก็จะถูกจัดเป็น “ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์สั้น” แยกจากภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เรื่องยาว หรือ “feature science fiction film” ที่ส่วนใหญ่จะมีความยาวตั้งแต่ 60 นาทีขึ้นไป

ความเคลื่อนไหวสำคัญที่สุดของโลกภาพยนตร์ในยุคที่หนึ่งของเรานี้ คือ พัฒนาการจากภาพยนตร์เงียบ มาเป็นภาพยนตร์เสียง

สำหรับภาพยนตร์ที่ออกฉายในช่วงยุคที่หนึ่งของเรา ส่วนใหญ่และที่ประสบความสำเร็จสูง จะมีอยู่สองประเภท

...

หนึ่ง : คือ ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์สร้างจากนิยายวิทยาศาสตร์ของนักเขียนดัง คือ จูลส์ เวิร์น, เอช.จี. เวลส์, โรเบิร์ต หลุยส์ สตีเวนสัน ฯลฯ ดังเช่น :-

*20,000 Leagues Under The Sea ออกฉาย ค.ศ. 1916

*Dr.Jekyll And Mr.hyde ออกฉาย ค.ศ. 1931

*The Invisible man ออกฉาย ค.ศ. 1933

สอง : คือภาพยนตร์ผจญภัยในอวกาศโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชุด Flash Gordon ค.ศ. 1936 ถูกนำมาสร้างใหม่ออกฉายปี ค.ศ. 1980 และถึงขณะนี้ ก็มีบริษัทสร้างภาพยนตร์กำลังทำงานสร้างภาพยนตร์ Flash Gordon ตอนใหม่ขึ้นมาอีก

จากนี้ ก็มาถึงภาพยนตร์ที่ผู้เขียนเลือกมาเป็นภาพยนตร์สำคัญเป็นพิเศษของยุคที่หนึ่ง คือ Metropolis เป็นภาพยนตร์เยอรมัน ออกฉายปี ค.ศ. 1927 สร้างและกำกับโดย ฟริต ลอง นำแสดงโดย อัลเฟรด อะเบล และ บริจิตต์ เฮล์ม

ภาพยนตร์ Metropolis เป็นเรื่องของโลกอนาคตในมหานครตึกระฟ้า อยู่ภายใต้การปกครองของผู้นำเผด็จการ การต่อต้านของกลุ่มคนผู้ถูกกดขี่ และเทคโนโลยีล้ำยุคสร้างหุ่นยนต์ที่เหมือนกับผู้นำการต่อต้านสาวดั่งฝาแฝด เพื่อทำงานก่อกวนและทำลายผู้นำสาว

อย่างน่าสนใจ Metropolis เป็นภาพยนตร์เงียบ มีความยาวถึง 153 นาที แต่สร้างออกมาได้ยิ่งใหญ่ ชวนติดตามอย่างที่สุด และแก่นของเรื่อง ก็ “ทันสมัย” อย่างไม่น่าเชื่อ

ก่อนเขียนเล่าสู่ท่านผู้อ่านวันนี้ ผู้เขียนก็ได้นำภาพยนตร์ Metropolis มาเปิดดูอีก และก็ตัดสินใจได้ไม่ยากในการคัดเลือก Metropolis เป็นภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ที่ “สำคัญเป็นพิเศษ” สำหรับยุคที่หนึ่งของเรา

...

(2) 2001 : A Space Odyssey : ยุคสอง (ค.ศ. 1950-1974)

ช่วงยุคที่สอง นับเป็นช่วงยุคทองของภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เกี่ยวกับมนุษย์ต่างดาว จานบิน การสำรวจอวกาศและจักรวาล

รายงานการพบฝูงจานบิน 9 ลำของ เคนเนท อาร์โนลด์ ในปี ค.ศ. 1947 นับเป็นตัวจุดประกายยุคทองภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เกี่ยวกับจานบินและมนุษย์ต่างดาว ที่สร้างกันออกมาจำนวนมากในยุคที่สองของเรา

ความสำเร็จและการแข่งขันทางด้านอวกาศระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต (เดิม) ในการส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศ ส่งมนุษย์ไปโคจรรอบโลกและลงสู่ดวงจันทร์ สร้างแรงกระตุ้นสำหรับภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เกี่ยวกับอวกาศและจักรวาล การผจญภัยในอวกาศ

ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์สำคัญในยุคที่สองของเรา ที่สมควรได้รับการกล่าวถึง มีเช่น :-

*The Day The Earth Stood Still ออกฉาย ปี ค.ศ. 1951 นำแสดงโดยไมเคิล เรนนี ซึ่งถูกนำมาสร้างใหม่ ออกฉายปี ค.ศ. 2008 นำแสดงโดย คีอานู รีฟส์ ถึงแม้ภาพยนตร์เรื่องนี้ฉบับสร้างใหม่ จะเด่นด้านเทคนิคพิเศษ แต่โดยภาพรวม The Day The Earth Stood Still ฉบับเก่า ได้รับการยอมรับเป็นหนึ่งในภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ดีที่สุดของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดีกว่าฉบับสร้างใหม่

*The War of The Worlds ภาพยนตร์ออกฉายปี ค.ศ. 1953 มี ยีน แบร์รี แสดงนำ ซึ่งก็ถูกนำมาสร้างใหม่โดย สตีเวน สปีลเบิร์ก ออกฉายปี ค.ศ. 2005 นำแสดงโดย ทอม ครูส เป็นภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ เทคนิคพิเศษยอดเยี่ยม ประสบความสำเร็จได้รับทั้งเงินและกล่อง แต่ The War of The World ฉบับปี ค.ศ. 1953 ได้รับการ “ยกย่อง” ในเชิงความเป็นภาพยนตร์ที่เด่นทั้งการแสดงและองค์ประกอบอื่นๆ มากกว่าฉบับใหม่ ซึ่งผู้เขียนก็เห็นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรยากาศของเรื่อง

...

สำหรับภาพยนตร์ที่ผู้เขียนคัดเลือกให้เป็นภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ “สำคัญที่สุด” สำหรับยุคที่สองเรา คือ 2001 : A Space Odyssey ออกฉายปี ค.ศ. 1968

2001 : A Space Odyssey นำแสดงโดย เคียร์ คัลเลีย และ แกรี ล็อกค์วูด แต่ผู้ชมมักจะจำชื่อดารานำแสดงหรือตัวละครไม่ได้ เพราะมักจะไปติดอยู่กับชื่อของซูเปอร์คอมพิวเตอร์ “ฮัล” (HAL) ที่ควบคุมการทำงานทั้งหมดของยานอวกาศ พูดคุยกับมนุษย์ได้ และมี “ภารกิจลับ” เฉพาะที่ฮัลได้รับมา และไม่ยอมให้มนุษย์ทำอะไรที่เบี่ยงเบนไปจากภารกิจลับ

ภาพยนตร์ 2001 : A Space Odyssey ได้รับการยกย่องจากผู้เชี่ยวชาญและสถาบันเกี่ยวกับภาพยนตร์โดยทั่วไป ให้เป็น “ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ดีที่สุดตลอดกาล” จนกระทั่งถึงทุกวันนี้

อย่างน่าสนใจ ก่อน 2001 : A Space Odyssey ภาพยนตร์ Metropolis ได้รับการยกย่องโดยทั่วไป เป็นภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ดีที่สุดตลอดกาล แต่เมื่อ 2001 : A Space Odyssey ออกฉาย และได้รับการยกย่องต่อๆ มาถึงปัจจุบัน ให้เป็นภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ดีที่สุด ภาพยนตร์ Metropolis ก็ได้รับการปรับให้เป็น “ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์คลาสสิกดีที่สุดตลอดกาล” 

(3) Jurassic Park : ยุคสาม (ค.ศ. 1975-1999) 

ในยุคที่สามของเรา โลกภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ก็เปิดกว้างเต็มที่ มีภาพยนตร์วิทยาศาสตร์หลากหลายแนวและประเภทเกิดขึ้นมากมาย ที่ผู้เขียนขอยกมากล่าวถึงเป็นภาพยนตร์สำคัญแห่งยุคสมัยที่สาม มีเช่น :-

*Star Wars (ภาคแรกของภาพยนตร์ ชุด Star Wars) ออกฉายปี ค.ศ. 1977 แสดงนำโดย มาร์ค ฮามิลล์ และ แฮร์ริสัน ฟอร์ด นับเป็นภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ “สนุก” ที่สุดตลอดกาล เมื่อเทียบกับ 2001 : A Space Odyssey ที่มิใช่ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์สนุก...แต่ล้ำลึก...ที่ถูกถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ได้

*Contact ภาพยนตร์ออกฉายปี ค.ศ. 1999 สร้างจากนิยายวิทยาศาสตร์เรื่องเดียวของ คาร์ล เซแกน แสดงนำโดย โจดี พอสเตอร์ กับ แมทธิว แม็คคอนาเฮย์ ก่อนออกฉาย เป็นที่คาดหวังกัน (รวมทั้งผู้เขียนด้วย) ว่าจะมาเป็น ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ดีที่สุดตลอดการแทน 2001 : A Space Odyssey หลังการออกฉาย Contact ก็ได้รับการยอมรับว่า เป็นภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ที่ดีมากเรื่องหนึ่ง แต่ยังแทนที่ 2001 : A Space Odyssey ไม่ได้

*The Matrix ออกฉายปี ค.ศ. 1999 นำแสดงโดย คีอานู รีฟส์ เป็นภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เด่นที่สุดเรื่องหนึ่งของนิยายวิทยาศาสตร์ประเภทไซเบอร์พังค์ (Cyber Punk) เกี่ยวกับโลกไซเบอร์ (คอมพิวเตอร์) ที่แยกกันไม่ออกระหว่าง “โลกจริง” กับ “โลกเสมือน”

สำหรับภาพยนตร์ที่ผู้เขียนคัดเลือกให้เป็นภาพยนตร์วิทยาศาสตร์สำคัญที่สุดแห่งยุคที่สามของเรา คือ Jurassic Park ออกฉายปี ค.ศ. 1993 กำกับโดย สตีเวน สปีลเบิร์ก จากนิยายต้นฉบับชื่อเดียวกันของ ไมเคิล ไครช์ตัน แสดงนำโดย แซม นีล

Jurassic Park เป็นภาพยนตร์สร้างกระแสการนำสัตว์ยักษ์ไดโนเสาร์ ให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่ โดยกำลังดำเนินการกันแล้วกับช้างโบราณ แมมมอธ ด้วยวิธีการทำโคลนนิ่ง

(4) Interstellar : ยุคสี่ (ค.ศ. 2000-2019)

ช่วงยุคที่สี่ของเรา เป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านจากศตวรรษที่ยี่สิบ เข้าสู่ศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด มีเหตุการณ์เรื่องราวมากมายเกิดขึ้นในวงการวิทยาศาสตร์ รวมทั้งกระแสเรื่อง “วันโลกาวินาศ”

สำหรับวงการภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ในช่วงยุคที่สี่ของเรา นอกเหนือไปจากภาพยนตร์ตามกระแสวันโลกาวินาศแล้ว ก็มีภาพยนตร์วิทยาสาสตร์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เชิงแฟนตาซีฟอร์มใหญ่และดีหลายเรื่อง เช่น :-

*The Lord Of The Rings ทั้ง 3 ภาค คือ ภาค 1 The Fellowship Of The Ring ออกฉายปี ค.ศ. 2001 ภาค 2 The Two Towers ออกฉายปี ค.ศ. 2002 และภาค 3 The Return Of The King ออกฉาย ค.ศ. 2003 มี ปีเตอร์ แจ็กค์สัน เป็นผู้สร้างและกำกับจากนิยายวิทยาศาสตร์แฟนตาซี The Lord Of The Rings ของ เจ.เอ.อาร์ โทลคีน ซึ่งได้รับการยกย่องจาก อาเธอร์ ซี. คลาร์ก ว่า เป็นนิยายวิทยาศาสตร์แฟนตาซียิ่งใหญ่ที่สุด เทียบเท่ากับนิยายวิทยาศาสตร์ Dune ของ แฟรงค์ เฮอร์เบิร์ต ตัวภาพยนตร์ The Lord Of The Rings ประสบความสำเร็จได้ทั้ง “เงินและกล่อง” ทั้งสามภาพ

*Avatar ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์แฟนตาซีออกฉาย ปี ค.ศ. 2009 สร้าง, กำกับ และเขียนบท โดย เจมส์ คาเมรอน แสดงนำโดย แซม เวิร์ธธิงตัน สร้างประวัติศาสตร์เป็นภาพยนตร์ทำรายได้สูงสุดตลอดกาล

ภาพยนตร์สำคัญที่สุดแห่งยุคที่สี่ของเรา ผู้เขียนขอยกให้แก่ Interstellar ออกฉายปี ค.ศ. 2014 เป็นภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ประเภทฮาร์ดไซไฟ (Hard Si-Fi) ที่พยายามอิงข้อมูลความรู้จริงทางวิทยาศาสตร์ให้มากที่สุด

Interstellar ร่วมสร้าง เขียนบท และกำกับ โดย คริสโตเฟอร์ โนแลน มีนักฟิสิกส์รางวัลโนเบล คิป ธอร์น เป็นที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ นำแสดงโดย แมทธิว แม็คคอนาเฮย์ และ แอนน์ แฮททาเวย์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเดินทางผ่าน รูหนอนอวกาศ เกี่ยวข้องกับหลุมดำ และคลื่นความโน้มถ่วง (gravitational wave)

หนึ่งปีหลังการออกฉายของ Interstellar ก็ได้มีการค้นพบคลื่นความโน้มถ่วงของจริง ที่ ไอน์สไตน์ ได้พยากรณ์เอาไว้เมื่อหนึ่งร้อยปีก่อน ทำให้ คิป ธอร์น ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำ ปี ค.ศ. 2017 (ดู “Interstellar, รูหนอนอวกาศ และหลุมดำ...จินตนาการกับวิทยาศาสตร์จริง, เชื่อ คิดและทำ อย่างวิทยาศาสตร์, ไทยรัฐออนไลน์, วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2565)

(5) Dune : ยุคห้า (ค.ศ. 2020-2024)

ช่วงยุคที่ห้าของเรา ซึ่งก็คือยุคปัจจุบัน มีภาพยนตร์วิทยาศาสตร์น่าสนใจหลายเรื่อง แต่ผู้เขียนขอคัดมากล่าวถึงเพียงสองเรื่อง คือ Everything Everywhere All At Once และ Dune 

ภาพยนตร์ Everything Everywhere All At Once ออกฉายปี ค.ศ. 2022 ไม่ใช่ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ ทั้งๆ ที่แก่นของเรื่อง เป็นเรื่องท้าทายระดับยักษ์ของทั้งโลกภาพยนตร์วิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์จริง เกี่ยวกับพหุจักรวาลหรือมัลติเวิร์ส แต่สร้างปรากฏการณ์สำหรับภาพยนตร์สร้างและแสดง (เกือบทั้งหมด) โดยคนเอเชีย ได้รับรางวัลออสการ์ประจำปี ค.ศ. 2023 ถึง 7 รางวัล และ มิเชล โหย่ว ก็กลายเป็นดาราเอเชียคนแรก ได้รับรางวัลนักแสดงนำ (หญิง) ยอดเยี่ยม (ดู ซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์ส : บทเรียน “เกรดเอ” ภาพยนตร์และนิยายวิทยาศาสตร์แฟนตาซี, เชื่อ คิดและทำ อย่างวิทยาศาสตร์, ไทยรัฐออนไลน์, วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2566)

แต่ภาพยนตร์ที่ผู้เขียนคัดมาเป็นภาพยนตร์ “สำคัญ” ที่สุดแห่งยุคที่ห้าของเรา คือ Dune ออกฉายปี ค.ศ. 2021

Dune เป็นภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ของ เดอนี วิลเลอเนอฟ์ ผู้ร่วมผลิต, เขียนบท และกำกับชาวแคนาดาเชื้อสายฝรั่งเศส จากนิยายวิทยาศาสตร์ของ แฟรงค์ เฮอร์เบิร์ต เป็นเรื่องราวการต่อสู้เพื่อยึดครองดาวเคราะห์ Arrakis หรือ Dune ซึ่งเป็นดาวเคราะห์ทะเลทราย แต่มีทรัพยากรล้ำค่าคือ เครื่องเทศ เป็นต้นเหตุแห่งมหากาพย์การทำสงครามอันซับซ้อนเพื่อยึดครอง Dune 

เมื่อ Dune ฉบับนิยายได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1965 บนปกโปรยคำนิยมของ อาเธอร์ ซี. คลาร์ก ว่า “I know nothing comparable to it except The Lord Of The Rings” (ผมไม่เห็นอะไรเทียบได้เลย ยกเว้น The Lord Of The Rings) ทำให้ Dune และ The Lord Of The Rings เป็นที่รู้จักกันว่า เป็นนิยายวิทยาศาสตร์ดีที่สุดในโลกสองเรื่อง

สำหรับภาพยนตร์ Dune เมื่อออกฉายก็ประสบความสำเร็จอย่างสูง ได้ทั้งเงินและกล่อง และเมื่อภาพยนตร์ Dune Part Two ออกฉาย (ต้นปี ค.ศ. 2024) ก็ประสบความสำเร็จ ได้ทั้งเงินและกล่องเช่นกัน ทีมงานผู้สร้างจึงกำลังเดินหน้าสร้าง Dune ภาค 3 ต่อ

จาก 5 ภาพยนตร์สำคัญที่สุดแห่ง 5 ยุคสมัยโลกภาพยนตร์ของเรา มีเรื่องไหน ตรงกับใจของท่านผู้อ่านบ้าง?

และนอกเหนือไปจากเรื่องอื่นๆ ที่ผู้เขียนได้กล่าวถึง มีภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เรื่องไหนอีกบ้าง ที่ฉายแสง “สำคัญ”  ในใจของท่านผู้อ่านครับ?