สงครามยูเครนดำเนินเข้าสู่ปีที่ 3 รัสเซียไม่ลดละในการบุกรุกรานยูเครน พยายามกดดันให้ถอนตัวจากการสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต และยกแคว้นแคร์ซอน โดเนตสก์ ลูฮันสก์ และซาปอริชเชีย ให้กับรัสเซียภายหลังเข้ายึดครองได้ จบแทบไม่เห็นหนทางแห่งสันติภาพ ยิ่งการเดินทางเยือนเกาหลีเหนือของวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย เมื่อค่ำวันที่ 18 มิ.ย. 2567 อย่างเป็นทางการครั้งแรกในรอบ 24 ปี ตามคำเชิญของคิมจองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ
ยิ่งถูกจับตามองจากชาติตะวันตก หรือโลกกำลังจะแตกแยกครั้งใหญ่ นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 จากการกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นมากขึ้นระหว่างรัสเซียกับเกาหลีเหนือ และก่อนการเดินทางเยือนเกาหลีเหนือ ปูตินได้ชื่นชมผู้นำเกาหลีเหนือ ที่ให้การสนับสนุนปฏิบัติการทหารในการบุกรุกรานยูเครน และก่อนหน้านั้นคิมจองอึน เคยเยือนรัสเซีย ด้วยรถไฟส่วนตัว เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ปีที่แล้ว เพื่อพบกับปูติน จนสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรคาดการณ์กันว่า มีการหารือในการส่งอาวุธ เพื่อช่วยรัสเซียทำสงครามในยูเครน ถือเป็นการละเมิดมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
...
จนมาถึงคิวปูติน เยือนเกาหลีเหนืออย่างเป็นทางการเป็นเวลา 2 วัน และร่วมลงนามข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบครอบคลุม รวมไปถึงรัสเซียและเกาหลีเหนือ จะช่วยเหลือซึ่งกันและกันในกรณีประเทศใดประเทศหนึ่งถูกรุกราน ก่อนเดินทางต่อไปเยือนเวียดนาม ท่ามกลางความกังวลของ “เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก” เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต เกรงว่ารัสเซียอาจให้การสนับสนุนเกาหลีเหนือด้านโครงการขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์
พร้อมเตือนว่า การทำสงครามรุกรานยูเครนของรัสเซียที่ได้รับความช่วยเหลือจากจีน อิหร่าน และเกาหลีเหนือ เพราะต่างต้องการเห็นนาโตล้มเหลว เป็นความท้าทายด้านความมั่นคงที่เชื่อมโยงกันระหว่างยุโรปและเอเชีย โดยเฉพาะจีนจะต้องรับผลที่ตามมาจากการสนับสนุนสงครามของรัสเซียในยูเครน และหากจีนยังไม่เปลี่ยนแนวทาง ทั้งสนับสนุนการทำสงครามของรัสเซีย พร้อมๆ กับพยายามรักษาความสัมพันธ์ทางการค้ากับพันธมิตรยุโรป ทำแบบนี้ไม่ได้ผลในระยะยาว ขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้เกิดสงครามครั้งใหญ่ที่สุดในยุโรป นับจากสงครามโลกครั้งที่ 2
ยุทธวิธีใหม่ ‘ปูติน’ เดินสายหาพวก งัดข้อชาติตะวันตก
แต่ในมุมมองของ “ดร.อดุลย์ กำไลทอง” ผู้เชี่ยวชาญด้านรัสเซีย กลับเห็นว่า การเยือนเกาหลีเหนือของปูติน เป็นการใช้นโยบายการทูตเชิงรุก เพราะตั้งแต่สงครามยูเครนเกิดขึ้น รัสเซียอยู่ในลักษณะตั้งรับมาตลอด และปูติน ก็บัญชาการอยู่ในรัสเซียตลอด ขณะเดียวกันก็ถูกแซงก์ชันจากประชาคมโลก จนต่อมารัสเซียได้เปลี่ยนกลยุทธ์สู้กับชาติตะวันตก โดยลากสงครามยูเครนให้ยาวนาน เพื่อให้สหรัฐฯ และชาติตะวันตก แตกแยกทางความคิด แม้ว่าเป็นสงครามรัสเซียกับยูเครน แต่ใครๆ ก็ดูออกว่าเป็นเรื่องการต่อสู้ระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตก
“รัสเซียต้องทำอย่างไรให้ชาติตะวันตกและสหรัฐฯ แตกแยกทางความคิด โดยเฉพาะภาคประชาชน ไม่ให้เห็นด้วยในการช่วยเหลือยูเครน เพราะมีต้นทุนสูง ทำให้ค่าครองชีพแพง ขณะที่ฝรั่งเศสฝ่ายขวาจัด ก็จะเข้ามาแทนที่เอ็มมานูเอล มาครง หลังประกาศยุบสภาไป ประกอบกับรัสเซีย รอเวลารอการเลือกตั้งในสหรัฐฯ หากจำกันได้สมัยโดนัลด์ ทรัมป์ มีสัมพันธ์กับรัสเซีย ค่อนข้างราบรื่น และให้ความสำคัญกับ America First อเมริกาต้องมาก่อน ทำให้รัสเซียพยายามลากสงครามให้ยาว รอการเปลี่ยนแปลงในสหรัฐฯ เพื่อให้รัสเซียไม่มีต้นทุนสูงในการทำสงคราม”
...
ขณะนี้ยุโรปก็เริ่มอ่อนแอเรื่องต้นทุนสนับสนุนยูเครน เป็นสาเหตุที่ปูตินใช้นโยบายการทูตเชิงรุก ในการไปพบผู้นำประเทศที่เข้าข้างรัสเซีย เริ่มจากจีน จากนั้นขยายสัมพันธ์กับอิหร่าน กับประเทศตะวันออกกลาง และล่าสุดเกาหลีเหนือ เพราะว่าคาบสมุทรเกาหลี เป็นพื้นที่จุดอ่อนไหวของโลก เมื่อปูติน มาใกล้ชิดคิมจองอึน ก็จะทำให้ความสัมพันธ์ของโลกกระทบกระเทือนในหลายด้าน กระทบชาติตะวันตก รวมถึงเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไทย จากการที่ปูติน เดินเกมเพื่อให้เกิดความกดดัน ใช้หลักเดียวกันกับนาโต ใช้มาตรา 5 ถ้าโจมตีสมาชิกของนาโต ถือเป็นการโจมตีสมาชิกทั้งหมด
ขณะเดียวกันปูติน ก็รุกมาอาเซียน เดินทางมาเยือนกรุงฮานอยของเวียดนาม และหลังจากนี้จะเห็นรัสเซียกระชับสัมพันธ์กับหลายๆ ประเทศทั่วโลก มีโอกาสจะกระชับสัมพันธ์กับไทย ซึ่งคิดว่ารัฐบาลไทยชุดปัจจุบันจะอ้าแขนรับ เพราะหากย้อนไปปี 2549 ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น มีสัมพันธ์ที่ดีมากกับปูติน มีสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ และมีข่าวอยู่บ้างในด้านคมนาคม ทำให้มีโอกาสสูงที่รัฐบาลไทยจะเห็นด้วยในการเอาเงินรัสเซียเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะเรื่องพลังงาน แต่ไทยต้องมีวิธีตั้งรับกับประเทศต่างๆ ไม่ให้เกิดความเสี่ยง
สงครามไม่น่าลุกลาม ต่างฝ่ายไม่อยากเจ็บตัว หมดไปเยอะ
สงครามที่จะขยายวงกว้างรุนแรง ไม่มีความเป็นไปได้ ไม่มีเหตุผลที่รัสเซียจะทำ หากทำต้องรีบทำตั้งแต่แรก และลงทุนสูง ในทางกลับกันการลงทุนน้อยอาจได้ผลที่กลับมาดีกว่า และการที่นาโตออกมาพูดเรื่องสงครามจะลุกลามบานปลาย เป็นการสร้างกระแส ทำให้เกิดดราม่าในแง่จิตวิทยา เพื่อให้เกิดความชอบธรรมในการตอบโต้รัสเซีย
แต่รัสเซียไม่ได้สนใจอยู่แล้ว ก็ต้องบอกว่าขณะนี้ยุโรปทำตัวลำบาก และสหรัฐฯ อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ทำให้รัสเซียใช้ช่วงเวลานี้ทำสงครามจิตวิทยา เพื่อให้ยุโรปเกิดความกังวล แม้แต่โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ก็ไม่สบายใจ อย่างล่าสุดการประชุมนานาชาติว่าด้วยสันติภาพในยูเครน มีหลายประเทศเพิกเฉยไม่ลงนามในแถลงการณ์หลังการประชุม ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศบริกส์ (BRICS) ที่รัสเซียเริ่มก่อตั้ง
...
“ถ้าไปต่อต้านรัสเซีย เข้าข้างยุโรป ก็จะมีปัญหา แม้แต่ไทยก็สมัครเป็นสมาชิก ทุกคนต้องพึ่งพาเศรษฐกิจ เพราะสงครามก็แค่ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น เรื่องปากท้องสำคัญกว่า และยุโรปมองว่ายิ่งแซงก์ชันรัสเซีย ก็ยิ่งต้องซื้อพลังงานแพงขึ้น กลายเป็นว่าผู้เสียหายมากสุดคือคนในยุโรป จึงคิดว่าทำไมต้องคล้อยตามคนที่อยู่แดนไกล เป็นเหตุให้ปูติน ต้องรุกกลับใช้ยุทธวิธีทางการทูต และจิตวิทยามากขึ้น จากเดิมตั้งรับมาตลอด เลยทำสงครามให้เป็นเรื่องปกติ เหมือนแข่งกันดำน้ำ”
การเยือนเกาหลีเหนือของรัสเซีย และไปต่อเวียดนาม ไม่น่ากังวลอะไร ก็ต้องลุ้นในอนาคตรัสเซียอาจจะกระชับสัมพันธ์กับไทย และไทยจะวางตัวอย่างไร ท่ามกลางความขัดแย้งของประเทศมหาอำนาจ ซึ่งการเจรจาสันติภาพกับยูเครนจะเกิดขึ้นได้ ต้องรอการเลือกตั้งสหรัฐฯ น่าจะเห็นภาพชัดขึ้น และขณะนี้เห็นอาการของเซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ไม่มีที่พึ่งแล้ว เพราะคนช่วยก็ช่วยไม่ไหว ลำพังตัวเองยังจะเอาตัวไม่รอด.
...