ถอดรหัส “สมอง” กับ “หัวใจ” กับเรื่องราวของ ที่สุดนักวิทยาศาสตร์โลก อริสโตเติล และไอน์สไตน์ ยังคิดผิด ...
เมื่อคนคนหนึ่งถูกกล่าวถึงว่า “เธอเป็นคนหัวดี” คนทั่วไปและนักวิทยาศาสตร์ ก็จะยิ้ม เพราะเข้าใจตรงกันหมดว่า เธอที่ถูกกล่าวถึง เป็นคนเก่ง มีไอคิวสูง มี “สมอง” ดี.....แต่ถ้าคนคนหนึ่งถูกกล่าวถึงว่า “เขาเป็นคนใจดี” คนทั่วไปก็จะยิ้ม และอาจนึกถึงหัวใจ...
ยกเว้นนักวิทยาศาสตร์ที่คิดลึก ก็จะยิ้มด้วย แต่ในใจก็จะนึกบอกว่า “ใจดีหรือ? ไม่เกี่ยวกับหัวใจสักหน่อย”....
แถมยังอาจนึกต่อว่า “ความเคยชิน ตายยากจริง ๆ”
“เชื่อ คิด และทำอย่างวิทยาศาสตร์” วันนี้ ขอนำท่านผู้อ่านไปถอดรหัสสองเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ ที่เรื่องหนึ่ง เป็นความรู้ความเข้าใจที่ผิด แต่ตายยากจริงๆ คือ บทบาทของสมองกับหัวใจ ....
อีกเรื่องหนึ่ง เป็นความรู้ความเข้าใจที่น่าจะผิด แต่ก็กลายเป็นเรื่องที่ “ตายยาก” ไปด้วย คือ เรื่องค่านิจจักรวาล (Cosmological constant) ของไอน์สไตน์
บทบาทของสมองกับหัวใจ!
ตามความรู้ความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน ทั้งสมองและหัวใจ มีบทบาท และหน้าที่ชัดเจนในร่างกายมนุษย์
สรุปอย่างสั้นๆ สมอง เป็นศูนย์รวมของความรู้สึกนึกคิด และทำหน้าที่สั่งการ กับควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายมนุษย์
ส่วนหัวใจ เป็นอวัยวะทำหน้าที่เพียงอย่างเดียวคือ สูบฉีดเลือดแดง ไปหล่อเลี้ยงสมอง และส่วนต่างๆ ของร่างกาย และส่งเลือดดำ ไปฟอก (รับออกซิเจน) ที่ปอดให้เป็นเลือดแดง
...
ดังนั้น อวัยวะสำคัญที่สุดของร่างกายมนุษย์ ที่แสดงความเป็นตัวตนของมนุษย์ แต่ละคน ทั้งเรื่องของความสามารถทางสติปัญญา, ไอคิว, ความรู้สึกนึกคิด, อุปนิสัยใจคอ และอีคิว คือ สมอง โดยไม่เกี่ยวกับ หัวใจ
นั่นคือ เรื่องของความเป็นคนเก่ง หรือไม่ และเป็นคนใจดี หรือไม่ จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับ สมอง เป็นสำคัญ ไม่เกี่ยวกับ หัวใจ ...
แล้วความเข้าใจที่ผิด เกี่ยวกับ บทบาทของสมอง กับหัวใจ เกิดขึ้นได้อย่างไร?
อริสโตเติลกับเกเลน และบทบาทของสมองกับหัวใจ
น่าสนใจว่า ตั้งแต่แรกที่มนุษย์เริ่มเอาใจใส่เกี่ยวกับ กลไกการทำงานของร่างกาย ก็มองเห็น และเข้าใจตรงกันอย่างรวดเร็วว่า อวัยวะสำคัญที่สุดในร่างกายมนุษย์ มีอยู่ 2 อย่าง คือ สมอง กับ หัวใจ ...
แต่ก็น่าสนใจอย่างมากเช่นกันว่า มนุษย์ในระยะแรกๆ ...และต่อเนื่องกันมายาวนานเป็นหลายพันปี ...มองว่า หัวใจ สำคัญกว่าสมอง!
เพราะอะไร?
เพราะหัวใจ ดูจะเป็นอวัยวะที่มนุษย์สัมผัสได้ กับความเป็นตัวตนของมนุษย์เอง ดังเช่น การเต้นแรงของหัวใจ เมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ตื่นเต้น หรือการพองโต ของหัวใจ เมื่อพบกับ “คนรัก” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องความเป็นความตายของมนุษย์ ที่ถือว่า มนุษย์ตายเมื่อ หัวใจ หยุดเต้น ...
แม้แต่เมื่อมนุษย์เริ่มมีการผ่าตัดร่างกายใน อียิปต์โบราณ ซึ่งน่าจะเป็นวิธีการดีที่สุดที่มนุษย์จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับกลไกการทำงานของร่างกาย แต่การผ่าตัดร่างกายใน อียิปต์โบราณ ก็เป็นการผ่าตัด เพื่อการทำมัมมี่ มิใช่การ “ผ่าตัด” ร่างกายเพื่อศึกษาการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย
ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของ สมองกับหัวใจ จึงยังคงเดิม คือ หัวใจ เป็นส่วนสำคัญที่สุดของชีวิตมนุษย์
ต่อมา เมื่อเข้าสู่ยุคได้ชื่อเป็น “ยุคทองของนักปราชญ์ชาวกรีก” กับนักปราชญ์ และนักวิทยาศาสตร์กรีกโบราณ ดังเช่น โสคราตีส, พลาโต และอริสโตเติล...
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อริสโตเติล (384-322 ปี ก่อนคริสตกาล) ผู้เปลี่ยนความคิดว่า “โลกกลม” มิใช่ “โลกแบน” ดังที่เชื่อกันมา และเป็นผู้วางรากฐานของ “ระเบียบวิธีวิทยาศาสตร์” (scientific method) ที่ยังใช้กันอยู่ในวงการวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน ได้เขียนสรุปบทบาทของ “หัวใจ” กับ “สมอง” ของมนุษย์ในหนังสือเล่มหนึ่งชัดเจนว่า ...
“หัวใจ เป็นศูนย์รวมของชีวิต เป็นศูนย์กลางของความรู้สึกนึกคิดของคน สมองเป็นเพียงอวัยวะ ที่รวมโลหิตเท่านั้น”
อริสโตเติล เป็นนักวิทยาศาสตร์และเป็นนักเขียนที่น่าจะเป็นผู้เขียนหนังสือมากที่สุดตลอดกาล เพราะมีบันทึกกล่าวถึง อริสโตเติล ว่า เขาน่าจะเขียนหนังสือไว้มาก ระหว่างสี่ร้อยถึงหนึ่งพันเล่มครอบคลุมสาขาหลากหลาย ทั้งปรัชญา วิทยาศาสตร์ การเมือง วรรณคดี จริยธรรม และคณิตศาสตร์
...
หลายสิ่งหลายเรื่องราวในหนังสือ มิใช่ผลงานโดยตรงของอริสโตเติล แต่ความสำคัญของ สิ่งที่อริสโตเติลเขียน เป็นเสมือนกับหนังสือรวมข้อมูลความรู้ในศาสตร์ต่างๆ ถึงขณะที่อริสโตเติลเขียน และจากชื่อเสียงของ อริสโตเติล ก็จึงทำให้ผลงานการเขียนของ อริสโตเติล เป็นที่ยอมรับกันในวงการวิทยาศาสตร์ และต่างๆ ต่อมาเป็นเวลายาวนาน จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ....
แต่ก็มิใช่ทุกเรื่อง!
เพราะหลายเรื่องที่อริสโตเติล เขียนเอาไว้ ต่อๆ มาก็ได้รับการพิสูจน์ ว่า “ผิด”
สำหรับเรื่องบทบาทของสมองกับหัวใจ ที่อริสโตเติลเขียนไว้นั้น ในที่สุด ก็ได้รับการพิสูจน์ว่า “ผิด” และบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการพิสูจน์ คือ เกเลน (Galen) แพทย์และนักปรัชญาโรมันเชื้อสายกรีก มีชีวิตอยู่ระหว่างปี ค.ศ.130-200 หรือประมาณ 500 ปี หลังยุคสมัยของอริสโตเติล
เกเลน เป็นแพทย์มีชื่อเสียงมากในยุคสมัยที่เขายังมีชีวิตอยู่ และต่อๆ มา อีกยาวนาน จนกระทั่งถึงยุคการแพทย์สมัยใหม่ ในตะวันตก และหลายเรื่องที่ เกเลนทำ ก็ยังเป็นเรื่องที่ “น่าทึ่ง” แม้แต่ในยุคปัจจุบัน ดังเช่น วิธีการรักษาต้อกระจก โดยใช้เข็ม ที่ไม่มีแพทย์คนใดในยุคสมัยเก่าก่อนกล้าทำ
...
สำหรับเรื่องบทบาทของสมองกับหัวใจ!
ถึงยุคสมัยของเกเลน ความรู้ที่เป็น “หลัก” ในสมัยนั้น ก็เป็นตามที่อริสโตเติลเขียน แต่ เกเลน มิได้เพียงแค่ “ยึดตาม” หากพยายามศึกษาด้วยตนเอง ...
และวิธีที่จะทราบได้...สำหรับ เกเลน .... อย่างตรงๆ ก็ต้องมาจากการศึกษาสมอง และหัวใจโดยตรง
ตั้งแต่ยุคสมัยของอียิปต์โบราณ ในการ “ผ่าตัด” ร่างกาย เพื่อทำมัมมี่ หลังจากนั้นมา เรื่องของการผ่าตัดร่างกาย ด้วยวัตถุประสงค์ใดก็ตาม ก็เป็นเรื่อง “ต้องห้าม” ด้วยเหตุผลใหญ่ทางศาสนา ....
ต่อๆ มาจนกระทั่งถึงยุคสมัยของ เกเลน การผ่าตัดร่างกายมนุษย์ ทั้งคนเป็น และคนตาย ก็ยังเป็นสิ่งต้องห้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในจักรวรรดิโรมันที่เกเลนทำงานอยู่
เกเลน จึงไม่สามารถผ่าตัดร่างกาย เพื่อการศึกษาทางการแพทย์ได้ เขาจึงเลือกทำการผ่าตัด เพื่อการศึกษากับสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลิง และศึกษากับ “กลาดิเอเตอร์” (gladiator) นักรบนักต่อสู้ในสนามการต่อสู้ ระหว่าง กลาดิเอเตอร์ หรือกลาดิเอเตอร์ กับสัตว์ดังเช่น สิงโต และ เสือ ...
...
ในระหว่างที่ เกเลน ได้รับตำแหน่งเป็นแพทย์อย่างเป็นทางการของการต่อสู้ของ กลาดิเอเตอร์ เขาได้ช่วยชีวิต กลาดิเอเตอร์ ที่บาดเจ็บจากการต่อสู้ไว้เป็นจำนวนมาก และในขณะเดียวกัน เขาก็ทำการศึกษา (ในขณะที่รักษาบาดแผล) กลาดิเอเตอร์ เพื่อการศึกษาทางการแพทย์ของร่างกายมนุษย์ด้วย ....
แล้วก็มีการกล่าวถึง เกเลน ว่า เขาแอบไปผ่าตัดศพมนุษย์ด้วย ทำให้เขาได้ความรู้ทางการแพทย์โดยตรง จากร่างกายมนุษย์ ซึ่งในที่สุด จึงนำมาสู่บทสรุปเกี่ยวกับบทบาทของสมอง กับหัวใจของ เกเลน ซึ่งตรงกันข้ามกับ อริสโตเติล ว่า ....
“สมอง เป็นศูนย์รวมความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ ส่วนหัวใจ เป็นอวัยวะทำหน้าที่สำคัญอย่างเดียว คือ สูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงการทำงานของร่างกาย”
แต่ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับบทบาทของสมองกับหัวใจ ของ เกเลน ก็ต้องใช้เวลายาวนาน กว่าจะเป็นที่ “ยอมรับ” กันในวงการวิทยาศาสตร์ ยุคใหม่ถึงปัจจุบัน
ดังนั้น ถึงในปัจจุบัน จะเป็นที่ทราบกันว่า ความเป็นคนใจดีหรือไม่ของคนเรา ขึ้นอยู่กับการทำงานของ สมอง เป็นสำคัญ มิได้ขึ้นอยู่กับหัวใจ เลยก็คงจะไปเปลี่ยนคำกล่าวถึง “คนใจดี” ว่า ไม่เกี่ยวกับหัวใจเลย ไม่ได้ง่ายๆ ....
และดังนั้น เมื่อนักวิทยาศาสตร์วันนี้ ได้ยินการกล่าวถึงคนบางคน ว่า “เขาหรือเธอ เป็นคนใจดี” ก็จึงน่าจะยิ้ม และถึงแม้จะรู้แก่ใจว่า เป็นความเข้าใจในบทบาทของสมองกับหัวใจที่ผิด แต่ก็คงต้องยอมรับต่อไป ว่า ...
“ความเคยชิน ตายยากจริงๆ!”
ค่านิจจักรวาลของไอน์สไตน์!
ไอน์สไตน์ กล่าวว่า ในชั่วชีวิตของเขา มีเรื่องที่เสียใจมากที่สุด 2 เรื่อง
หนึ่ง คือ ค่านิจจักรวาล (Cosmological constant) ที่รู้จักเรียกกันเป็น ค่านิจจักรวาลของไอน์สไตล์
สอง คือ การลงชื่อในจดหมายถึง ประธานาธิบดี ทีโอดอร์ รูสเวลต์ ของสหรัฐอเมริกา ทำให้โครงการแมนฮัตตัน (Manhattan Project) เพื่อสร้างระเบิดอะตอมเกิดขึ้น และทำให้เกิดโศกนาฏกรรมนิวเคลียร์ ที่ฮิโรชิมา และนางาซากิ
รายละเอียดของทั้งสองเรื่องนี้ ท่านผู้อ่านที่สนใจก็เปิดอ่านได้ใน “เชื่อ คิด และทำอย่างวิทยาศาสตร์ ตอน สองเรื่องที่เสียใจของ ไอน์สไตน์” (ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2565) แต่วันนี้ ผู้เขียนขอโฟกัสในเรื่องเกี่ยวกับ ค่านิจจักรวาล ในส่วนที่เกี่ยวเนื่องต่อมา ซึ่งก่อนที่ ไอน์สไตล์ จะจากโลกไปในวันที่ 18 เมษายน ค.ศ.1955 สำหรับไอน์สไตล์ ถือว่าเรื่องของ ค่านิจจักรวาลจบแล้ว คือ ตายไปแล้ว ...
แต่ต่อมา ค่านิจจักรวาล ก็กลายเป็นเรื่องหนึ่งของวิทยาศาสตร์ ที่น่าจะผิด ... แต่ตายยาก! .....
อย่างเร็วๆ เรื่องค่านิจจักรวาลของ ไอน์สไตน์ เริ่มต้นจากการตั้ง ทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคทั่วไปของไอน์สไตน์ เมื่อปี ค.ศ. 1915 ....
แล้ว ไอน์สไตน์ ก็ทดลองใช้ทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคทั่วไป กับสภาพของจักรวาล เพื่อทดสอบความถูกต้องหรือไม่ของ ทฤษฎี ด้วยความหวังว่า ผลที่ได้ออกมา จะตรงกับสภาพที่เป็นจริง (ตามความเข้าใจของวงการวิทยาศาสตร์ ในขณะนั้น) ของจักรวาล ซึ่งก็จะทำให้ตัวไอน์สไตน์เอง และวงการวิทยาศาสตร์ ยอมรับว่า ทฤษฎีสัมพัทธภาพภาค ทั่วไป นั้น ถูกต้อง ... และใช้ประโยชน์ได้จริง
แต่ผลที่ได้ออกมา ก็ทำให้ไอน์สไตน์ ต้อง “ช็อก” เพราะผลจากสัมพัทธภาพภาคทั่วไป ขัดแย้งกับสภาพของจักรวาลที่ยอมรับกันมาเป็นเวลายาวนานว่า จักรวาลมีสภาวะคงที่ ....
แล้วไอน์สไตน์ ก็ทำในสิ่งที่เขายอมรับว่า เป็นหนึ่งในสองสิ่ง ที่เขาเสียใจมากที่สุด คือ สร้าง “ค่านิจจักรวาล” ขึ้นมา ใส่ลงในสมการจากสัมพัทธภาพภาคทั่วไป เพื่อทำให้ผลการพยากรณ์ โดยสัมพัทธภาพภาคทั่วไป ตรงกับสภาพของจักรวาล ที่คิดว่า “ถูกต้อง”
จนกระทั่งเมื่อ เอ็ดวิน ฮับเบิ้ล (Edwin Hubble) ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ทันสมัยที่สุด ขณะนั้น ส่องสำรวจท้องฟ้าและจักรวาล เมื่อปี ค.ศ.1929 แล้วพบว่า จักรวาล มีสภาพกำลังขยายตัว มิใช่เป็นแบบสภาวะคงที่ และไอน์สไตน์ ก็ได้เห็นด้วยตาของไอน์สไตน์เองว่า จักรวาล กำลังขยายตัว สอดคล้องกับทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคทั่วไป โดยไม่ต้องมีค่านิจจักรวาล
จากนั้นมา ทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคทั่วไป จึงกลายเป็นหนึ่งในสองทฤษฎีเสาหลักของวิทยาศาสตร์ ยุคใหม่ คู่กับทฤษฎีควอนตัม
ค่านิจจักรวาลกับพลังงานมืด
หลังการจากไปของไอน์สไตน์ เมื่อกลางศตวรรษที่ยี่สิบ เรื่องค่านิจจักรวาล ก็ “ดูจะ” ตายไปกับไอน์สไตน์ด้วย!
แต่อย่างช้าๆ ค่านิจจักรวาล ก็มีทีท่าจะฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่
สาเหตุใหญ่ มาจากความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับจักรวาล ที่มาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสำรวจอวกาศ ทำให้นักดาราศาสตร์ได้ข้อมูลความรู้ ที่ผิดแผกไปจากความเข้าใจ เกี่ยวกับจักรวาลที่ยึดถือกันมา ...
เช่น จักรวาล มิได้มีรูปร่างเป็นแบบทรงกลม ที่กำลังขยายตัวจากจุดระเบิด บิ๊กแบง ตามทฤษฎีกำเนิดจักรวาลแบบบิ๊กแบง (Big Bang Theory) หากมีรูปร่างอย่างหยาบๆ เป็นแบบ “แบน” หรือเป็นแบบ “อานม้า” คือ “แบนและโค้ง”
ในความพยายามของนักดาราศาสตร์ ที่จะอธิบายสภาพของจักรวาล ที่มิใช่เป็นรูปทรงกลม ก็เริ่มมีเสียงในวงการดาราศาสตร์ดังขึ้น “อย่างเบาๆ” ว่า “หรือจะเกี่ยวกับค่านิจจักรวาลของไอน์สไตน์”
แต่ก็เป็นเสียงที่เบาจริงๆ จนกระทั่งก่อนขึ้นศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด เพียงสองปี คือในปี ค.ศ.1998 ก็เหมือนกับมี “ลูกระเบิด” ตกกลางวงการดาราศาสตร์ที่ปลุกเรื่องค่านิจจักรวาลขึ้นมาใหม่ จากผลงานของนักดาราศาสตร์สองกลุ่ม ...
กลุ่มหนึ่ง นำโดย ซอล เพิร์ลมัตเทอร์ (Saul Perlmutter) อีกกลุ่มหนึ่ง นำโดย ไบรอัน ชมิดต์ (Brian Schmidt) และ อดัม รีสส์ (Adam Riess )
ทั้งสองกลุ่ม ได้รายงานผลการศึกษาซูเปอร์โนวา เป็นจำนวนรวมมากกว่า 50 ซูเปอร์โนวา ด้วยเป้าหมายที่ตรงกัน คือ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ละเอียดขึ้น เกี่ยวกับการขยายตัวของจักรวาล
แล้วทั้งสองกลุ่ม ก็ได้ผลออกมาตรงกันว่า แทนที่จักรวาล จะกำลังขยายตัวช้าลง ดังที่เข้าใจกันในวงการดาราศาสตร์ จักรวาลกลับกำลังขยายตัว เร็วขึ้น
จากการขยายตัวเร็วขึ้นของจักรวาล สู่พลังงานมืด และค่านิจจักรวาล!
การค้นพบว่า จักรวาล กำลังขยายตัวเร็วขึ้น ทำให้ ซอล เพริลมัตเทอร์ , ไบรอัน ชมิดต์ และ อดัม รีสส์ ได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์ ร่วมกัน ประจำปี ค.ศ. 2011 และยิ่งทำให้เรื่องการขยายตัวเร็วขึ้นของจักรวาล มีความสำคัญมากยิ่งขึ้น
แล้วเรื่องการขยายตัวเร็วขึ้นนี้ ไปเกี่ยวกับเรื่อง ค่านิจจักรวาลของไอน์สไตน์ ได้อย่างไร?
คำตอบตรงๆ ก็คือ เป็นผลจากความพยายามของนักดาราศาสตร์ในการอธิบาย การขยายตัวเร็วขึ้นของจักรวาล ประกอบกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสำรวจอวกาศและจักรวาล ทำให้วงการดาราศาสตร์ ประมวลผลออกมาว่า จักรวาลของเราดูจะประกอบด้วยสามส่วนใหญ่ๆ คือ
หนึ่ง : อนุภาค หรือสสารปกติทั่วไป ที่ประกอบเป็นวัตถุต่างๆ ของจักรวาล รวมทั้งมนุษย์
สอง : สสารมืด (Dark matter) ที่ทำให้สิ่งต่างๆ ดังเช่น กาแล็กซี เคลื่อนที่ไปในทิศทางแปลกๆ เหมือนกับการถูกดึงดูดด้วยสสารที่มองไม่เห็น และ
สาม : พลังงานมืด (Dark energy) ที่ทำให้จักรวาลกำลังขยายตัวเร็วขึ้น
โดยจักรวาลของเรา ดูจะประกอบด้วยสสารปรกติธรรมดา เพียงประมาณ 4% สสารมืดประมาณ 26% และพลังงานมืดมากที่สุด คือประมาณ 74% ในส่วนของสสารปกติธรรมดา และสสารมืด ดูจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ การทำให้จักรวาลกำลังขยายตัว อย่างรวดเร็ว คำตอบที่เหลือจึงถูกมองไปที่ พลังงานมืด ซึ่งก็จะชี้เป้าต่อไปเป็นเรื่องของ ทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคทั่วไป .....
เพราะทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคทั่วไปของไอน์สไตน์ จริงๆ แล้ว ก็เป็นทฤษฎีความโน้มถ่วง เช่นเดียวกับ ทฤษฎีความโน้มถ่วง ของ นิวตัน แต่ทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคทั่วไปของไอน์สไตน์ ละเอียดและถูกต้องกว่า
ดังนั้น พลังงานมืด จึงถูกโยงเข้าสู่ทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคทั่วไป อย่าง “ค่อนข้างเป็นธรรมชาติ” และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส่วนที่เป็น “ค่านิจจักรวาล” ที่ไอน์สไตน์ตั้งขึ้นมา แล้วก็ยอมรับไปเองในที่สุด ว่า ไม่จำเป็น หรือไม่มีจริง ...
ทั้งหมดทั้งปวงถึงขณะนี้ ค่านิจจักรวาล ซึ่งน่าจะตายไปแล้ว จึงกำลังถูกพยายามปลุก ให้คืนชีพขึ้นมาใหม่
แนวโน้ม “บทบาทของสมองกับหัวใจ” กับ “ค่านิจจักรวาล”!
สำหรับ เรื่องบทบาทของ สมองกับหัวใจ แนวโน้มก็ชัดเจน คือ ความเข้าใจที่ผิดระหว่าง บทบาทของสมองกับหัวใจ ต่อเรื่อง “คนใจดี” ว่า ไม่เกี่ยวกับหัวใจ ก็คงจะ “ตายยาก” คือ จะอยู่กับมนุษย์เราต่อไป ...
และสำหรับเรื่องค่านิจจักรวาล ของไอน์สไตน์ ที่น่าจะตายไปกับไอน์สไตน์ มีทีท่าว่า จะ “ ตายยาก” จริง ๆ เพราะถึงขณะนี้ เรื่องของ พลังงานมืด กับเรื่อง ค่านิจจักรวาล กำลังเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่ง สำหรับการศึกษาวิจัยเชิงทฤษฎีของนักดาราศาสตร์ทั่วโลก ....
และกำลังเป็นเป้าหมายใหญ่ของโครงการอวกาศ ดังเช่น ยูคลิด (Euclid) ของ องค์การอวกาศยุโรป หรืออีซา (ESA) โดยความร่วมมือของ นาซา (NASA)
นอกเหนือไปจากเรื่องวิทยาศาสตร์ผิด หรือน่าจะผิด ที่ “ตายยาก” สองเรื่อง ที่ผู้เขียนนำมาเล่าสู่ท่านผู้อ่านวันนี้ ยังมีเรื่องคล้ายกันอีกหลายเรื่องในวงการวิทยาศาสตร์ ที่ “ตายยาก” และ “น่าสนใจ” ซึ่งผู้เขียนจะนำมาเล่าสู่ท่านผู้อ่านต่อไปในอนาคต
แล้วท่านผู้อ่านล่ะครับ นึกถึงเรื่องวิทยาศาสตร์ หรือมิใช่เรื่องวิทยาศาสตร์โดยตรง อะไรบ้าง ที่ผิด หรือน่าจะผิด ที่ “ตายยาก” และ “น่าสนใจ”?